svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

17 มี.ค. เวทีสังสรรค์พรรค SML "เล็ก กลาง ใหญ่ "ลุงตู่"หวังเช็กขุมกำลังรัฐบาล  

17 มีนาคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

17 มี.ค. พรรคร่วมรัฐบาลนัดสังสรรค์กันอีกครั้ง รอบนี้ เป็นไปแบบ ร่วมพลแกนนำพรรค SML เล็ก กลาง ใหญ่ ครบครัน ลีลาสไตล์แม่ทัพ ทั้ง ลุงตู่- ลุงป้อม สับขาหลอก แยกย้ายทำหน้าที่เคลียร์ใจพรรคใหญ่สยบพรรคเล็กคือ ความมุ่งหมาย เช็กขุมกำลัง อุ้มรัฐบาลให้ลากยาวจนครบวาระ

 

ไม่ว่าเป็นความสับสนก่อนหน้านี้  ตกลงว่า  พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี  ต้องการนัดหมายแกนนำพรรคเล็กมาร่วมรับประทานอาหารหรือไม่

 

เพราะจู่ๆก็มีแกนนำพรรคเล็กออกมาระบุ ไม่ได้นัดแล้ว บางราย เปิดเผยว่า นัดเฉพาะรายบุคคล ไม่ทั้งหมด     

 

หรือแม้แต่ การขยับของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ  รองนายกฯและหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน ด้วยการชิงจังหวะ เชิญแกนนำพรรคเล็กมาหารือล่วงหน้าเมื่อวันที่ 14 มีนาคมที่มูลนิธิป่ารอยต่อ 5 จังหวัด ก่อนจะออกมาคอนเฟริ์ม พรรคร่วมนัดหมาย เลี้ยงอาหารแกนนำพรรคการเมือง " SML" เล็ก กลาง ใหญ่ ในวันพรุ่งนี้ ( 17 มี.ค.)  ที่สโมสรราชพฤกษ์

 

การขยับทางการเมือง ผ่านกิจกรรมร่วมวงชามข้าวแบบหลายรอบเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา  จึงไม่ใช่ "ความปกติทางการเมือง"  

 

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 8 มี.ค. ปรากฎภาพข่าวหน้าหนึ่ง "ลุงตู่" ประคอง "ลุงป้อม" เข้าร่วมวงสังสรรค์บรรดาแกนนำพรรคการเมืองขนาดใหญ่ ที่สโมสรราชพฤกษ์  

 

17 มี.ค. เวทีสังสรรค์พรรค SML  "เล็ก กลาง ใหญ่ "ลุงตู่"หวังเช็กขุมกำลังรัฐบาล  

 

จากนั้น มีเหตุการณ์คั่นรายการความสมานฉันท์พรรคร่วมรัฐบาล  เมื่อ ร.อ.ธรรมนัส  พรหมเผ่า แกนนำพรรคเศรษฐกิจไทย นัดหมาย แกนนำพรรคเล็กบางรายมาร่วมรับประทานอาหารที่โรงแรมดังเมื่อวันที่ 11  มีนาคมที่ผ่านมา  

 

หากเวลาต่อมา มีการขยับจากห้องทำงานทำเนียบรัฐบาล ทั้งการปล่อยข่าว "ลุงตู่"  มีการนัดหมายพรรคเล็กร่วมรับประทานอาหารในวันที่ 17 มี.ค. 

 

ทั้งการขยับของ "ลุงป้อม"  ออกมาตัดหน้าประกาศคุยกับพรรคเล็ก(คอนโทรลได้)ก่อนถึงวันที่ 17  มี.ค.  

 

อย่าลืมว่า ในการพบปะแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลเมื่อวันที่ 8 มี.ค. ก่อเกิดข้อตกลง จะมีการจัดกิจกรรมร่วมวงรับประทานอาหาร ทุกเดือน ที่สโมสรราชพฤกษ์ โดยเดือนเม.ย. พรรคภูมิใจไทย ภายใต้การนำของ "เสี่ยหนู"  อนุทิน  ชาญวีรกูล รับเป็นเจ้าภาพ เดือนถัดไป พฤษภาคม  เป็นคิวของ พรรคประชาธิปัตย์ รับเป็นเจ้าภาพ 

 

เมื่อเป็นเช่นนี้ เหตุใดจึงเกิดรายการแหกคิว ด้วยการนัดหมายพรรค SML  ร่วมวงรับประทานอาหาร ในวันที่ 17 มี.ค. ชนิดปริศนาสายฟ้าแลบ   
      

ตรงนี้ พอประเมินเหตุการณ์ได้ว่า ทั้ง "บิ๊กตู่" พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา  และ "พี่ใหญ่" พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ มี"แผนแบบไม่มีแผน"  ด้วยการต่อสายมอบหมายงานกันทำหน้าที่

 

โดย "ลุงตู่" เป็นผู้กระชับพื้นที่กับหัวหน้าพรรคการเมืองขนาดใหญ่ ขณะที่ "ลุงป้อม" ขันอาสาควบคุมแกนนำพรรคการเมืองขนาดเล็ก   

 

"ผมคุมมาตั้งแต่ต้น"  

 

คือ คำกล่าวของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและหัวหน้าพรรคพปชร. ตอบคำถามสื่อกรณีการดูแลพรรคการเมืองขนาดเล็กร่วมสนับสนุนรัฐบาล เมื่อวันที่ 15 มี.ค.65  

ปฏิบัติการคอนโทรลเสียงพรรคร่วมรัฐบาล ขณะนี้  เกิดจากความพยายาม "ผู้กองคนดัง"  ออกมาเดินเกมเช็คเสียงพรรคเล็กบางพรรคในการยืนอยู่คนละข้างกับรัฐบาลเมื่อวันที่ 14 มี.ค.  เช่นเดียวกับ ที่ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทยที่ทำหน้าที่ขย่มรัฐบาลเป็นการถาวร ออกมาชี้ว่า 30 เสียงที่กระจายสังกัดพรรคเล็ก คือตัวแปรสำคัญในการชี้ชะตาอนาคตรัฐบาล "ลุงตู่"      

 

ฉะนั้นแล้ว "พรรคเล็ก" อยู่ในสปอตไลต์การเมืองที่ทุกฝ่ายต่างจับจ้องจะโอนเอียงไปทางใด  

17 มี.ค. เวทีสังสรรค์พรรค SML  "เล็ก กลาง ใหญ่ "ลุงตู่"หวังเช็กขุมกำลังรัฐบาล  

หลายคนอาจจะงงว่า พรรคเล็กแบ่งเป็นกี่กลุ่มกี่ก๊วน หากไล่เรียงเฉพาะพรรคเล็กที่ยังสนับสนุนรัฐบาล ไม่นับพรรคเล็กที่อยู่กับฝ่ายค้าน คือ พรรคพลังปวงชนไทย กับพรรคไทยศรีวิไลย์  จะพบว่ามีพรรคเล็กที่ไม่มีตำแหน่งรัฐมนตรี มีอยู่ 12 พรรค  ในจำนวน 12 พรรคนี้ แบ่งเป็น 3 กลุ่มด้วยกัน คือ 

 

หนึ่ง กลุ่มที่แสดงท่าทีสนับสนุนรัฐบาล มี 8 พรรค 20 เสียง ประกอบด้วย พรรคพลังท้องถิ่นไท 5 เสียง / พรรคชาติพัฒนา 4 เสียง / พรรคเศรษฐกิจใหม่ 6 เสียง / พรรคประชาภิวัฒน์ 1 เสียง / พรรคครูไทยเพื่อประชาชน 1 เสียง / พรรคพลเมืองไทย 1 เสียง / พรรคพลังธรรมใหม่ 1 เสียง / พรรคพลังชาติไทย 1  เสียง 

17 มี.ค. เวทีสังสรรค์พรรค SML  "เล็ก กลาง ใหญ่ "ลุงตู่"หวังเช็กขุมกำลังรัฐบาล  

สอง กลุ่มที่ประหนึ่งเหยียบเรือสองแคม รอความชัดเจน มี 2 พรรค 4 เสียง ประกอบด้วย พรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย 2 เสียง / พรรคเพื่อชาติไทย 1 เสียง / พรรคไทรักธรรม 1 เสียง 

 

และสาม กลุ่มหนุน "ผู้กองธรรมนัส"  แน่นอน ปัจจุบันมีแสดงท่าทีชัดเจน 1 พรรค คือ พรรคประชาธิปไตยใหม่ ของ นายสุรทิน พิจารณ์ 

17 มี.ค. เวทีสังสรรค์พรรค SML  "เล็ก กลาง ใหญ่ "ลุงตู่"หวังเช็กขุมกำลังรัฐบาล  

จากท่าทีของพรรคเล็กที่แบ่งเป็น 3 กลุ่ม เมื่อนำมาพิจารณาเปรียบเทียบกับรายชื่อพรรคเล็กที่ได้รับการประสานเข้าไปเคลียร์ใจกับ "บิ๊กป้อม"  พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ที่มูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัดฯ จะทำให้เห็นร่องรอยว่าเหตุใดจึงต้องเรียกแกนนำพรรคเหล่านี้ไปเคลียร์ใจ 

 

พรรคเล็กที่มีข่าวเข้ามูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อฯ มี  6 คน 6 พรรค และอีก 1 คนจากพลังประชารัฐ แต่เป็นอดีตพรรคเล็ก 

 

ประกอบด้วย พรรคประชาธิปไตยใหม่ คือ นายสุรทิน พิจารณ์  พรรคไทรักธรรม คือ นายพีระวิทย์ เรื่องลือดลภาค  พรรคเพื่อชาติไทย คือ นายคฑาเทพ เตชะเดชเรืองกุล  และ พรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย คือ นายดำรงค์ พิเดช กลุ่มนี้อยู่ในกลุ่มพลิ้ว รอความชัดเจนทางการเมือง และไปร่วมโต๊ะอาหารกับผู้กองธรรมนัส จึงไม่แปลกที่จะถูกเรียกเข้าไปเคลียร์กับ "บิ๊กป้อม" 

 

อีก 2 พรรค คือ พรรคเศรษฐกิจใหม่ โดย นายศุภดิช อากาศฤกษ์ และ พรรคพลเมืองไทย นางสาวศิลัมพา เลิศนุวัฒน์ โดย 2 พรรคนี้เป็นกลุ่มที่สนับสนุนรัฐบาล แต่เคยบ่นน้อยใจว่าไม่ค่อยได้รับการเหลียวแล โดยเฉพาะนายสัมพันธ์ เลิศนุวัฒน์ เคยเป็นอดีตรัฐมนตรี และอดีต ส.ส.หลายสมัย 

 

นอกจากนั้น ยังมี นายพิเชษฐ สถิรชวาล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะหัวหน้ากลุ่ม 16 ถูกเรียกเข้ามูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อฯด้วย โดย นายพิเชษฐ เคยเป็นหัวหน้าพรรคประชาธรรมไทย แต่ได้เลิกกิจการพรรค แล้วยุบรวมย้ายสังกัดเข้าพรรคพลังประชารัฐ แต่นายพิเชษฐสนิทสนมกับผู้กองธรรมนัส และมีแนวโน้มย้ายไปอยู่พรรรคเศรษฐกิจไทยด้วยกัน 

 

ส่วนพรรคเล็กที่มีข่าวไม่ได้เข้ามูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อฯ ได้แก่ พรรคพลังธรรมใหม่  พรรคครูไทยเพื่อประชาชน พรรคประชาภิวัฒน์  และพรรคพลังท้องถิ่นไท โดยพรรคเล็กกลุ่มนี้ ไม่มีปัญหาเรื่องท่าที และไม่เคยเคลื่อนไหวล้มรัฐบาล

 

ฉะนั้นกลุ่มนี้ ซึ่งรวมถึงพรรคพลังชาติไทยอีก 1 พรรค (อดีตหัวหน้าพรรค คือ พลตรีทรงกลด ทิพย์รัตน์ เสียชีวิตไปแล้ว) จะไปปรากฏตัวพบนายกฯในวันที่ 17 มีนาคมทีเดียวเลย

 

ภาพที่กำลังเกิดขึ้น ในวันที่  17 มี.ค. จึงเป็นการสร้างสัญญาใจก่อนเปิดสภาสมัยหน้าให้ "ลุงตู่"  ได้เห็นว่า ขุมกำลังที่มาพร้อมหน้าพร้อมตาในวงสังสรรค์  นี่คือ ของจริงไม่ทิ้งกัน 

 

พร้อมอุ้ม "นายกฯลุงตู่" ฝ่าด่านหินยกมือโหวตร่างกฎหมายสำคัญ รวมถึง ญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจของพรรคร่วมฝ่ายค้านที่กำลังมาถึง   

 

เมื่อมีเสียงสนับสนุนเพียงพอ ก็ไม่ต้องกังวลอุบัติเหตุทางการเมือง พากันไปต่อ ตามไทมไลน์ของ"ลุงป้อม" 

 

"เสร็จสิ้นภารกิจ เจ้าภาพเอเปค ในช่วงปลายปีถือเป็นช่วงเหมาะสม ยุบสภา"   
 

กล่าวตามประสาคอการเมืองไม่ต้องอ้อมค้อม นั่นคือ  อยู่จนครบวาระ มี.ค. 2566  จากนั้นนายกฯประกาศยุบสภา กำหนดเลือกตั้งใหม่ นั่นเอง 

logoline