svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

พปชร.กวาด 150 ส.ส. ฝันใหญ่...ตายตอนจบ?

11 มีนาคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ประเด็น"ฝันให้ไกล"ทางการเมือง นาทีนี้คงไม่มีฝันไหนร้อนแรงเท่า "ฝันของพี่ใหญ่" พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ที่จะกวาด ส.ส.พลังประชารัฐ ให้ได้ 150 ที่นั่งในการเลือกตั้งครั้งหน้า 

"บิ๊กป้อม"หล่นคำพูด 150 ที่นั่ง กลางวงดินเนอร์พรรคร่วมรัฐบาล เมื่อเรื่องนี้ตกเป็นข่าว ก็กลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง 

 

หลายคนอาจสงสัยว่า ทำไมต้องเป็นตัวเลข 150 เพราะจริงๆ "บิ๊กป้อม" พูดตัวเลขนี้มาหลายครั้งแล้ว 

 

เหตุผลนอกจากปลุกใจลูกพรรค ปลุกใจตัวเอง เพื่อดึงกลุ่มก๊วนต่างๆ ให้มั่นใจ ไม่ย้ายหนีพลังประชารัฐแล้ว ยังเป็นตัวเลขยุทธศาสตร์ทางการเมืองด้วย เพราะจำนวนเสียง ส.ส. 150 เสียง เมื่อบวกกับ ส.ว. 250 เสียง ที่อาจแตกแถวไปบ้างตามกาลเวลา ก็จะได้เสียงเกิน 375 เสียงในที่ประชุมรัฐสภาค่อนข้างแน่ สามารถจองเก้าอี้นายกฯไว้ก่อน จากนั้นจึงค่อย"เคาะกะลา" เรียกพรรคการเมืองต่างๆ มาร่วมจัดตั้งรัฐบาล 

 

เสียงต่ำสุดที่ต้องการ คือ 126 เสียง เพราะเมื่อบวกกับ ส.ว. 250 เสียง จะได้ 376 เสียง มากกว่ากึ่งหนึ่งของ 2 สภา คือ 750 เสียง แต่อย่างที่บอก คือ ผ่านมา 3-4 ปี ส.ว.บางส่วนเริ่มเอาใจออกห่าง จึงต้องหาตุนไว้อีก 25 เสียง เพื่อความมั่นใจ 

 

พปชร.กวาด 150 ส.ส. ฝันใหญ่...ตายตอนจบ?

คำถามก็คือ 150 ที่นั่ง จะเอามาจากที่ไหน เซียนการเมืองรู้ดีว่าเป็นเรื่องยาก ด้วยเหตุผล 5 ข้อ ได้แก่

 

1.คะแนนนิยมในตัว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ไม่ดีเหมือนช่วงการเลือกตั้งเมื่อปี 62 ยุคนั้นคนยังเชื่อสโลแกน "เลือกความสงบจบที่ลุงตู่" ภาพลักษณ์ต่างๆ ของนายกฯก็ยังดี พรรคพลังประชารัฐยังได้ ส.ส.มาเพียง 116 ที่นั่ง แบ่งเป็น ส.ส.เขต 97 ที่นั่ง และบัญชีรายชื่อ 19 ที่นั่ง ฉะนั้นการจะหวัง 150 ที่นั่ง ต้องหามาเติมอีก 34 ที่นั่ง ทั้งเขตและปาร์ตี้ลิสต์ 

 

2.กลุ่มก๊วนต่างๆ ภายในพรรค โดยเฉพาะ "ส.ส.บ้านใหญ่" หายไปบางส่วน 

 

-กลุ่มใหญ่ที่สุดที่วันนี้ไม่ได้อยู่พรรคพลังประชารัฐแน่นอนแล้ว ก็คือ "กลุ่มผู้กองธรรมนัส" ที่ย้ายไปพรรคเศรษฐกิจไทย มี ส.ส.เขตในพื้นที่สำคัญๆ เช่น จ.พะเยา ตัวผู้กองเองและเครือข่าย จ.กำแพงเพชร ไผ่ ลิกค์ จ.ขอนแก่น สมศักดิ์ คุณเงิน สุรินทร์ ณัฏฐพล จรัสรพีพงษ์ ฯลฯ

 

เมื่อเสียคนเหล่านี้ไป โอกาสที่พรรคพลังประชารัฐ จะกวาด ส.ส.ยกจังหวัด หรือได้ ส.ส.พร้อมกันหลายๆ เขตในจังหวัดนั้นๆ ก็เป็นเรื่องยาก มีความเสี่ยงที่จะกลายเป็นพื้นที่ฟันหลอ หรือพากันสอบตกหมดมากกว่า 

 

-กลุ่มอื่นๆ ที่ออกจากพรรค แต่ไม่ได้ไปกับกลุ่มผู้กอง เช่น ขอนแก่น ตระกูลช่างเหลา ซึ่งออกไปอยู่กับพรรคภูมิใจไทย กลุ่มวิรัช รัตนเศรษฐ ซึ่งรอหาพรรคใหม่สวม สุพล ฟองงาม แม้จะเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ แต่มีฐานเสียงที่อุบลราชธานี ซึ่งปัจจุบันไปอยู่กับพรรคสร้างอนาคตไทย 

 

3.ส.ส.นกแล หรือกลุ่มที่ไม่มีฐานเสียง แต่อาศัยกระแส "ลุงตู่" เข้าสภา เช่น ส.ส.ใต้ 13 คน (ตัวเลขผลการเลือกตั้งปี 62) กลุ่มเหล่านี้โอกาสที่จะได้เป็น ส.ส.กลับมาอีกครั้ง เป็นเรื่องยาก 

4.ส.ส.กรุงเทพ ที่เคยได้ถึง 12 ที่นั่ง ซึ่งนอกจากกระแสนิยม "ลุงตู่" แล้ว ยังเป็นฝีมือการทำพื้นที่ของ "กลุ่ม กปปส." ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ พุทธิพงษ์ ปุณณกัณฑ์ และ สกลธี ภัททิยกุล แต่วันนี้ทั้ง 3 คนไม่มีใครอยู่ในพลังประชารัฐแล้ว ดังนั้น พื้นที่ส.ส.กทม.จึงลำบาก สะท้อนได้จากผลเลือกตั้งซ่อมหลักสี่-ดอนเมือง เมื่อปลายเดือนม.ค.ที่ผ่านมา ก็พอมองเห็น

 

5.กลุ่มก๊วนที่เหลืออยู่ในพรรค จะยังมั่นคงอยู่กับพรรคหรือไม่ 

 

-กลุ่มสามมิตร - กลุ่มใหญ่ที่สุดในพรรคขณะนี้ ถ้า"ลุงตู่"หมดลุ้น หรือลุ้นยากในการหวนมาเป็นรัฐบาลอีกสมัย กลุ่มสามมิตรน่าจะหาบ้านใหม่ สถานะตอนนี้ คือ "อยู่รอย้าย"

 

-กลุ่มชลบุรี - แตกเป็น 2 ขั้ว คือ ขั้ว สุชาติ ชมกลิ่น กับ ขั้วคุณปลื้ม คำถามตอนนี้คือเคลียร์จบจริงหรือไม่ หรือกลุ่มคุณปลื้ม จะย้ายพรรค เพราะมีข่าวกับพรรคสร้างอนาคตไทย 

 

-กลุ่มเพชรบูรณ์ - นำโดย สันติ พร้อมพัฒน์ มีประมาณ 5-6 เก้าอี้ มีโอกาสอยู่หรือย้ายก็เป็นไปได้

 

-กลุ่มสิงห์บุรี - กลุ่มภาคกลาง-ตะวันออกที่ไม่ใช่ชลบุรี - กลุ่มภาคตะวันตก เช่น กาญจนบุรี ราชบุรี แกนนำเช่น ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ ตรีนุช เทียนทอง ปารีณา ไกรคุปต์ แม้จะยังอยู่กับพรรค แต่จำนวน ส.ส.มากพอที่จะพาพรรคเป็นแกนนำรัฐบาลหรือไม่ ขณะที่บางคน เช่น ปารีณา ก็ถูกสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่

 

ที่สำคัญทุกกลุ่มโดนกระแสดูดจากพรรคการเมืองอื่นๆ ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นเพื่อไทย หรือพรรคการเมืองใหม่ๆ 

 

พิจารณาจากความเป็นไปได้ ณ ขณะนี้ จำนวน ส.ส.พลังประชารัฐมีแต่จะลดลง ยังไม่เห็นแนวโน้มเพิ่มขึ้นเลย

 

กูรู-นักวิชาการ เตือนระวังสูญพันธุ์ 

 

ขณะที่ กูรูการเมือง ซึ่งเป็นระดับ"คีย์แมน"ของพรรคการเมืองใหม่ วิเคราะห์ให้ฟังว่า โอกาสของพรรคพลังประชารัฐในการเลือกตั้งครั้งหน้า ขึ้นอยู่กับ 2 ปัจจัย คือ  

 

1.กฎหมายลูก ใช้ระบบคำนวณแบบ "ส.ส.พึงมี" หรือไม่ ถ้าใช่ก็ยังพอมีความได้เปรียบอยู่บ้าง 

 

2.ถ้าสุดท้ายใช้ระบบบัตรสองใบเหมือนปี 40 หรือปี 54 โอกาสพ่ายแพ้อย่างยับเยินมีสูง 

 

ด้าน รศ.ดร.ยุทธพร อิสระชัย อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช อธิบายเสริมว่า พรรคพลังประชารัฐจะต้องเผชิญกับโจทย์ยาก

 

1.ปัญหาเศรษฐกิจ 

 

2.ปัญหาใครคือแคนดิเดตนายกฯ 

 

3.ปัญหาภายในพรรค 

 

4.เลือดไหลออก โดยเฉพาะสามมิตร หากย้ายพรรค เท่ากับพลังประชารัฐจบ เผลอๆ ไม่มีชื่อพรรคนี้ในการเลือกตั้งหนหน้าเลยทีเดียว

logoline