svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ไลฟ์สไตล์

Working Woman ยังต้องเจอกับปัญหาเหล่านี้ในที่ทำงาน

ในตอนนี้ ผู้หญิงถือเป็นอีกหนึ่งกำลังสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจและโลก ตัวตนของผู้หญิงไม่จำเป็นต้องติดอยู่กับบ้าน คอยเป็นแม่บ้านเลี้ยงลูกอีกต่อไป แต่การจะเป็น working woman นั้นไม่ง่าย และนี่คือปัญหาที่พวกเธอต้องเจอ

แม้ในปัจจุบัน ‘working woman’ จะเป็นคำที่ถูกใช้อย่างแพร่หลายในการอธิบายถึงผู้หญิงในพื้นที่การทำงาน (workplace) ทั้งนี้คำว่า working woman ยังเป็นภาพสะท้อนถึงปัญหาเกี่ยวกับเรื่องเพศในสังคมการทำงานได้ชัดเจนมากด้วยเช่นกัน

Working Woman ยังต้องเจอกับปัญหาเหล่านี้ในที่ทำงาน

แล้วผู้หญิงกลายเป็น Working Woman ได้อย่างไร?

จุดเริ่มต้นของคำว่า working woman ย้อนกลับไปต้นศตวรรษที่ 20 ในระหว่างช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ผู้ชายเกือบทั้งหมดในโลกตะวันตกถูกเกณฑ์ให้ไปเข้าร่วมรบในฐานะกองกำลังทหารของชาติ ส่งผลให้ตำแหน่งงานต่างๆ ในอุตสาหกรรมที่ผู้ชายเคยทำว่างลง ด้วยเหตุนี้เองผู้หญิงจำนวนมากที่แต่เดิมมีบทบาทและหน้าที่รับผิดชอบอยู่แค่ในครัวเรือน จึงจำเป็นต้องก้าวเท้าออกมานอกพื้นที่บ้าน เข้าสู่พื้นที่ทำงานอย่างเต็มตัวเพื่อทำงานแทนแรงงานผู้ชายที่หายไป นี่จึงเป็นครั้งแรกที่ผู้หญิงมีบทบาทชัดเจนมากขึ้นในสังคมการทำงาน 

เรียกได้ว่าผู้หญิงทำแทนผู้ชายแทบทุกอย่าง ณ เวลานั้น ไม่ว่าจะเป็น งานในโรงงาน คนขับรถรับจ้าง พนักงานไปรษณีย์ หรือแม้แต่ตำรวจ ล้วนถูกแทนที่โดยผู้หญิง ทว่าหลังสงครามเมื่อผู้ชายกลับมาสู่พื้นที่งานพวกเธอก็จำเป็นต้องกลับไปสู่พื้นที่ในครัวเรือนเหมือนก่อนช่วงสงคราม แต่ถึงอย่างนั้น ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ปรากฏการณ์เดิมเกิดขึ้นอีกครั้ง คราวนี้ผู้หญิงมีบทบาทมากขึ้นในอุตสาหกรรมการทำงานและเริ่มขยายพื้นที่ไปสู่อุตสาหกรรมที่หลากหลายขึ้นกว่าในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ไม่ว่าจะเป็น งานช่าง วิศวกร หรืองานที่โดยปกติแล้วจะเป็นของผู้ชายอย่างพนักงานดับเพลิง โดยจากการสำรวจในสหราชอาณาจักรปี 1943 พบว่า มีผู้หญิงโสดมากกว่า 90% และผู้หญิงแต่งงานแล้วกว่า 80% เข้าสู่การทำงานในภาคอุตสาหกรรมและการทำงานในกองทัพ คอนเซปต์คำว่า working woman จึงเริ่มถูกใช้นับตั้งแต่ช่วงเวลานี้เป็นต้นมา 
 

แม้การเข้าสู่พื้นที่ทำงานของผู้หญิงจะเป็นการทำงานที่ได้รับค่าจ้างและเปิดพื้นที่ให้ผู้หญิงมีบทบาทในสังคมการทำงานมากขึ้น ทว่าผู้หญิงเหล่านี้กลับได้รับค่าจ้างน้อยกว่าครึ่งหนึ่งที่ผู้ชายได้รับในตำแหน่งเดียวกันเสียอีก อาจกล่าวได้ว่าการเข้าสู่สังคมการทำงานของผู้หญิง หรือ working woman อาจยิ่งเป็นการตอกย้ำถึงความแตกต่างทางเพศระหว่างผู้ชายและผู้หญิงให้เห็นชัดเจนยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาความไม่เท่าเทียมทางเพศที่ผู้หญิงต้องเผชิญ 

อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันผู้หญิงที่เป็น working woman ยังคงต้องเผชิญกับปัญหาที่เกิดขึ้นจากความไม่เท่าเทียมทางเพศอยู่ แม้ระยะเวลานับจากช่วงสงครามโลกจะผ่านมาแล้วเกือบจะ 100 ปี ทว่าปัญหาการได้รับค่าจ้างอย่างไม่เท่าเทียมยังคงเป็นปัญหาที่ผู้หญิงต้องแบกรับ ยิ่งไปกว่านั้นผู้หญิงยังต้องต่อสู้กับปัญหาเรื่องการพักผ่อนที่ไม่เท่าเทียม ข้อจำกัดในการเติบโตในสายงาน รวมถึงปัญหาทางเพศอื่นๆ ที่ต้องพบเจอในสถานที่ทำงาน…แล้วพวกเธอต้องเจอกับอะไรบ้าง?

 

1. ช่องว่างทางรายได้ระหว่างเพศ

ปัญหาเรื่องค่าจ้างคือปัญหาที่ชี้ให้เราเห็นถึงความแตกต่างในแง่ผลลัพธ์ระหว่างผู้ชายและผู้หญิงได้ชัดเจนมากที่สุดปัญหาหนึ่งในสถานที่ทำงาน ด้วยเหตุนี้เอง ‘ปัญหาช่องว่างทางรายได้ระหว่างเพศ’ (gender pay gap) จึงไม่ใช่แค่ความแตกต่างในเรื่องของตำแหน่งหน้าที่หรือโครงสร้างภายในองค์กรเพียงเท่านั้น ทว่ามันคือปัญหาที่แฝงไปด้วยความไม่เท่าเทียมทางเพศที่ก่อตัวขึ้นในสังคมการทำงาน 

งานศึกษาของ American Association of University Women ระบุถึงสาเหตุของปัญหาช่องว่างทางรายได้ระหว่างเพศจากการศึกษาผู้หญิงหลายกลุ่มที่แตกต่างกันพบว่า ปัญหาดังกล่าวมีความเกี่ยวข้องจากหลายปัจจัยด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น เชื้อชาติ ชาติพันธุ์ ความพิการทางร่างกาย การศึกษา และอายุ 
 

สำหรับปัญหาช่องว่างทางรายได้ที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงผิวดำ ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มตัวอย่างของงานศึกษาดังกล่าว พบว่า เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ชายผิวขาวที่ไม่ได้มีเชื้อชาติฮิสปานิก (non-Hispanic white men หมายถึง กลุ่มคนที่มีเชื้อชาติสเปนหรือลาตินอเมริกาที่อาศัยอยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกา) ผู้หญิงผิวดำได้รับอัตราค่าจ้างคิดเป็น 64% ของผู้ชาย ไม่เพียงแต่จะสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาเรื่องเพศเพียงเท่านั้น แต่ยังมีความเกี่ยวโยงกับเรื่องสีผิวและเชื้อชาติด้วย จึงอาจกล่าวได้ว่าปัญหาช่องว่างทางรายได้ระหว่างเพศมีความซับซ้อนและรายละเอียดที่แตกต่างกันขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง

 

2. ช่องว่างการพักผ่อน

แม้เวลาการทำงานของผู้ชายและผู้หญิงจะเท่ากัน แต่ถึงอย่างนั้นเวลาในการพักผ่อนของผู้หญิงกับมีน้อยกว่าผู้ชาย ปรากฏการณ์ดังกล่าวเรียกว่า ‘ปัญหาช่องว่างการพักผ่อน’ (rest gap) เป็นแนวคิดที่อธิบายถึงการที่ผู้หญิงมีเวลาในการพักผ่อนไม่เท่าเทียมกับผู้ชาย โดยสาเหตุหลักมาจากความสัมพันธ์ระหว่างผู้หญิงกับสังคม เช่น คาดหวังทางสังคม การถูกตีกรอบ หรือการเหมารวม

ผู้หญิงหลายคนเมื่อก้าวเข้าสู่พื้นที่การทำงานแล้ว แต่พวกเธอยังคงต้องมีบทบาทและความรับผิดชอบต่อหน้าที่ในพื้นที่บ้านเหมือนกับก่อนที่จะออกมาสู่พื้นที่การทำงาน โดยความคาดหวังทางสังคมที่มีต่อผู้หญิงเหล่านี้ ตลอดจนการเหมารวมทางเพศของผู้หญิงทำให้ผู้หญิงจำเป็นต้องแบกรับ ‘งานที่ไม่ได้รับค่าจ้าง’  ไม่ว่าจะเป็น การทำงานบ้าน งานครัว การเลี้ยงดูลูก หรือแม้แต่การเลี้ยงดูผู้สูงอายุในบ้าน ซึ่งนำไปสู่เวลาในการพักผ่อนที่น้อยกว่าของผู้หญิงเมื่อเทียบกับผู้ชาย 

อย่างไรก็ตาม ปัญหาช่องว่างการพักผ่อน ไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยการปฏิเสธที่จะไม่ทำหรือมองข้ามหน้าที่รับผิดชอบเหล่านั้น ทว่าในความเป็นจริงผู้หญิงจำนวนไม่น้อยต้องแบกรับหน้าที่เหล่านี้ เพียงเพราะมันถูกกำหนดให้เป็นหน้าที่ของผู้หญิง พร้อมกับแบกรับหน้าที่การงานนอกบ้านไปพร้อมๆ กัน อีกทั้งสังคมยังมีความเชื่อว่างานบ้านและการเลี้ยงลูกคือบทบาทและหน้าที่ที่ผู้หญิงพึงทำ ดังนั้นหลายครั้งการปฏิบัติหน้าที่เหล่านี้ของผู้หญิงจึงยากต่อการหลีกเลี่ยง

Working Woman ยังต้องเจอกับปัญหาเหล่านี้ในที่ทำงาน

3. บทบาทความเป็นแม่

แน่นอนว่าเมื่อกล่าวถึงประเด็นเรื่องความเป็นหญิงแล้ว ‘ความเป็นแม่’ (motherhood) คืออีกหนึ่งประเด็นที่ละเลยไม่กล่าวถึงไม่ได้ เนื่องจากสังคมมีการยึดโยงความเป็นหญิงและความเป็นแม่เอาไว้ด้วยกัน ทำให้ผู้หญิงในสังคมหลายคนแม้จะเป็น working woman ก็ไม่สามารถหนีพ้นความเป็นแม่ไปได้ 

ในปัจจุบันมีผู้หญิงหลายคนที่ต้องเผชิญปัญหาความเป็นแม่ในพื้นที่ทำงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่สังคมหรือพื้นที่ทำงานที่ไม่รองรับความเป็นแม่ของพวกเธอมากพอที่จะทำให้เกิดความรู้สึกอยากทำงานต่อ นอกจากนี้ยังมีหลายองค์กรที่มีแนวโน้มจะจ้างผู้หญิงที่ไม่มีลูกมากกว่าผู้หญิงที่มีลูกแล้ว ยิ่งไปกว่านั้นผู้หญิงที่มีลูกแล้วมีโอกาสที่จะได้รับค่าจ้างต่ำกว่าผู้หญิงคนอื่นๆ ซึ่งปัญหาทั้งหมดที่เกิดขึ้นนี้ถูกเรียกรวมๆ ว่า ‘โทษของการเป็นแม่’ (motherhood penalty)

จากการสำรวจของ Moms First องค์กรไม่แสวงผลกำไรที่ทำงานเพื่อส่งเสริมเสรีภาพทางเศรษฐกิจของสตรี และบริษัท APCO Worldwide พบว่า มีผู้หญิงน้อยกว่า 1 ใน 3 หรือคิดเป็น 28% ของผู้หญิงทั้งหมด  มีความรู้สึกอยากกลับไปทำงานหลังจากลาคลอด ส่วนผู้หญิงจำนวนมากกว่าครึ่งรู้สึกไม่สบายใจที่จะกลับเข้าสู่สังคมการทำงานอีกครั้ง โดยสาเหตุหลักๆ ที่ได้จากการสำรวจคือ ความรู้สึกถึงภาระที่ต้องเผชิญมากขึ้นหลังจากกลับไปทำงาน รวมถึงการรักษาสมดุลระหว่างการหน้าที่การงานและความรับผิดชอบต่อครอบครัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการเลี้ยงดูบุตร

ในอีกด้านหนึ่ง ผู้ชายกลับไม่ได้รับโทษของการเป็นพ่อ ต่างจากผู้หญิงที่ต้องเผชิญกับโทษของการเป็นแม่ ซึ่งพวกเธออาจต้องแบกรับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มมากขึ้น ช่องว่างทางรายได้ระหว่างเพศที่สูงขึ้น ทำให้ผู้หญิงหลายคนต้องลาออกหรือถูกผลักออกจากสังคมการทำงาน ส่วนหนึ่งมาจากการที่สังคมยังมีภาพจำว่า “ผู้ชายคือช้างเท้าหน้า ผู้หญิงเป็นช้างเท้าหลัง” หน้าที่การหาเงินเป็นของผู้ชาย ส่วนหน้าที่การดูแลบ้านเป็นของผู้หญิง ทำให้บางองค์กรเกิดทัศนคติทางลบต่อผู้หญิงที่เป็นแม่หรือเกิดแนวคิดที่ว่าภาระในการดูแลลูกของผู้หญิง ทำให้พวกเธอไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่การทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

 

4. เพดานกระจกที่มองไม่เห็น

ต้องยอมรับว่าสังคมการทำงานหลายแห่งทั่วโลกมีการนำเรื่องเพศมาเป็นข้อจำกัดในการเลือกปฏิบัติและสร้างความไม่เท่าเทียมทางเพศ อย่าง ‘เพดานกระจก’ (glass ceiling) ซึ่งเป็นการเปรียบเทียบถึงอุปสรรคหรือข้อจำกัดบางอย่างที่กีดกันไม่ให้ผู้หญิงสามารถก้าวหน้าขึ้นไปมากกว่าเดิมได้ง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในองค์กรถูกปกครองด้วยความเป็นชายสูง

อย่างไรก็ตาม เพดานกระจกที่เป็นตัวขวางกั้นความก้าวหน้าของผู้หญิงนั้นไม่ใช่อุปสรรคส่วนบุคคล อย่าง ความสามารถ ทักษะ หรือประสบการณ์ เพียงเท่านั้น ทว่ามันยังมีสิ่งที่เรียกว่าอุปสรรคทางวัฒนธรรมด้วยเช่นกัน กล่าวคือ อุปสรรคเหล่านี้อาจเกิดขึ้นจากการอคติต่อเพศตรงข้ามทั้งที่รู้และไม่รู้ตัว ซึ่งอาจทำให้นายจ้างมองข้ามคุณสมบัติหรือความสามารถของผู้หญิง ทำให้ผู้หญิงหลายคนไม่ได้เลื่อนตำแหน่งหรือได้รับการขึ้นค่าจ้าง

การทำลายเพดานกระจกที่มองไม่เห็นนั้นอาจเป็นเรื่องยาก เนื่องจากเป็นการต่อสู้กับสิ่งที่ผู้หญิงมองไม่เห็นและเป็นปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมได้ ทำให้มีหลายอาชีพทั่วโลกยังมีจำนวนผู้หญิงในสายงานที่ประสบความสำเร็จค่อนข้างน้อย ถึงแม้ว่าเพดานเหล่านี้จะเป็นอุปสรรคชิ้นใหญ่ที่กีดขวางความสำเร็จของผู้หญิง ทว่ามันก็ไม่อาจปิดกั้นความสามารถที่ผู้หญิงมีได้เสียทีเดียว ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มีผู้หญิงจำนวนไม่น้อยที่สามารถทลายเพดานกระจกเหล่านี้ลงได้ อาทิ โอปราห์ วินฟรีย์ ทำลายกระจกนี้ลงด้วยการกลายเป็นผู้หญิงแอฟริกันอเมริกันคนแรกที่เป็นพิธีกรรายการทอล์กโชว์ของสหรัฐฯ และเธอยังเป็นเศรษฐีหญิงชาวแอฟริกันอเมริกันคนแรกในปี 2003 ด้วย หรือ ฮิลลารี คลินตัน ที่สามารถทลายเพดานขึ้นไปชิงตำแหน่งประธานาธิบดีของสหรัฐฯ ถือเป็นหนึ่งในเรื่องท้าทายมากที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองสหรัฐฯ เลยก็ว่าได้ เนื่องจากโลกของการเมืองมักจะถูกมองว่าเป็นเรื่องของผู้ชายเสียส่วนใหญ่ นั่นจึงเป็นการตอกย้ำให้เห็นว่า ไม่ว่าคุณจะเป็นเพศไหน คุณก็สามารถประสบความสำเร็จได้ 

Working Woman ยังต้องเจอกับปัญหาเหล่านี้ในที่ทำงาน

5. การล่วงละเมิดทางเพศในที่ทำงาน

ปัญหาสุดท้ายที่ working woman ต้องเผชิญคือ ‘ปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศ’ (sexual harassment) ในที่ทำงาน ซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้งและเกิดขึ้นในหลายรูปแบบ ทั้งทางวาจา สายตา และการกระทำ โดยสามารถเกิดขึ้นได้จากเพื่อนร่วมงาน หัวหน้างาน ลูกค้า ฯลฯ

ถึงแม้จะขึ้นชื่อว่าเกี่ยวกับทางเพศ แต่แท้จริงแล้วการล่วงละเมิดยังรวมถึงการกลั่นแกล้ง การล้อเลียน หรือการแสดงความคิดเห็นที่ไม่เหมาะสมเกี่ยวกับร่างกายหรือรูปลักษณ์ภายนอก รวมถึงในบางครั้งอาจเกิดขึ้นจากความไม่ตั้งใจอย่าง การเล่นมุกตลกที่แฝงไปด้วยอคติทางเพศ (sexist humor) ซึ่งการล่วงละเมิดทางเพศนั้นอาจส่งผลกระทบทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ ไม่ว่าจะเป็น ความเครียด การวิตกกังวล โดยอาจรุนแรงถึงการแพนิกหรือเกิดบาดแผลทางจิตใจขึ้นได้ 

นอกจากนี้อีกหนึ่งปัญหาที่สำคัญที่ working woman ต้องเผชิญคือการถูกจำกัดด้วยอำนาจในการต่อรองทั้งทางตรงและทางอ้อมขณะถูกล่วงละเมิดทางเพศ ในส่วนของอำนาจทางตรงอย่างการที่ผู้กระทำเป็นหัวหน้างานหรือบุคคลที่มีอำนาจสูงกว่า ทำให้ผู้หญิงหลายคนกลัวที่จะต่อต้านหรือแสดงออกถึงความรู้สึกที่ไม่พอใจ เนื่องจากอาจส่งผลกระทบต่อหน้าที่การงานได้โดยตรง โดยจากการสำรวจของ Science Leadership Academy พบว่าผู้หญิงกว่า 37% ได้รับผลกระทบต่อหน้าที่การงานของพวกเธอจากการรายงานพฤติกรรมล่วงละเมิดทางเพศ ในอีกทางหนึ่ง ผู้หญิงหลายคนอาจไม่ทันรู้ตัวที่จะไม่เห็นด้วยต่อพฤติกรรมบางอย่างที่เข้าข่ายการล่วงละเมิดทางเพศ เช่น การเล่นมุกตลกทางเพศ การวิพากษ์วิจารณ์รูปร่างหน้าตา หรือการถึงเนื้อถึงตัวในขณะที่เราไม่ทันตั้งตัว โดยจากการสำรวจเดียวกันนั้นเอง พบว่ามีผู้หญิงกว่า 32% ในที่ทำงานไม่รู้ว่าเรื่องตลกบางเรื่องอาจเป็นการล่วงละเมิดทางเพศ

Working Woman ยังต้องเจอกับปัญหาเหล่านี้ในที่ทำงาน

ในหลายๆ องค์กรอาจต้องพูดคุยกันถึงประเด็นเหล่านี้อย่างจริงจัง เพื่อให้เกิดการปรับใช้และกำหนดนโยบายที่เหมาะสมต่อผู้หญิงมากขึ้น ตลอดจนนโยบายลงโทษการกระทำผิดหรือการล่วงละเมิดทางเพศอย่างจริงจัง เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดพฤติกรรมล่วงละเมิดทางเพศขึ้นในสถานที่ทำงาน ทั้งนี้การมีนโยบายเหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญอย่างมากต่อการสร้างบรรยากาศที่ดีและสร้างแรงจูงใจในการทำงานให้กับพนักงาน รวมถึงการที่คนในองค์กรด้วยกันเองอาจต้องช่วยเป็นหูเป็นตาและสังเกตพฤติกรรมที่สุ่มเสี่ยงหรือเข้าข่ายการล่วงละเมิดทางเพศ 

แน่นอนว่าการจะแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่ working woman หลายคนกำลังเผชิญอยู่นั้นอาจเป็นเรื่องยากและซับซ้อน ทว่าหนึ่งในวิธีที่ทุกคนเริ่มทำได้เลยคือ การทำความเข้าใจประเด็นต่างๆ เหล่านี้ให้ดีขึ้น เมื่อเราเรียนรู้และเข้าใจถึงปัญหาที่เกิดขึ้น ในอนาคตปัญหาความแตกต่างและความไม่เท่าเทียมทางเพศจะค่อยๆ หมดลง

 

 

ข้อมูลอ้างอิง

  • Harlow, K.(2024, March 5). 5 Significant Moments in the History of Working Women. Charity Job. https://www.charityjob.co.uk/careeradvice/working-women/
  • The Simple Truth About the Gender Pay Gap. (n.d.). AAUW. https://www.aauw.org/resources/research/simple-truth/
  • Panades, R. (2023, August 15). 10 Real-Life Glass Ceiling Examples. Helpful Professor. https://helpfulprofessor.com/glass-ceiling-examples/
  • KNOW YOUR RIGHTS AT WORK: Sexual Harassment. (n.d.). Equal Rights. https://www.equalrights.org/issue/economic-workplace-equality/sexual-harassment/
  • Loggins, B. (2024, March 1). Too many new moms would rather leave the workforce than return to their jobs. Fast Company. https://www.fastcompany.com/91004705/new-moms-consider-leaving-workforce-not-returning-jobs?utm_campaign=social&utm_medium=linkedin&utm_source=newsletter2024-05-08%3Futm_content%3Dworkingmoms
  • Mitchell, A. (2021, March 25). Facing Sexual Assault. Science Leadership. https://scienceleadership.org/blog/facing_sexual_assault
  • ธนกฤต แดงทองดี. (2024, April 30), “Rest Gap” เหตุผลที่ผู้หญิงไม่ได้รับการพักผ่อนเท่าที่ควร. Nation STORY. https://www.nationtv.tv/lifestyle/378943246