svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"ชัยชนะ"ย้ำโหวตไม่รับร่างประชาชนเหตุเนื้อหาทำลายอำนาจถ่วงดุล

17 พฤศจิกายน 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"ชัยชนะ เดชเดโช" ย้ำเหตุไม่ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน เพราะต้องการตัดไฟแต่ต้นลม เหตุเสนอที่มาตุลาการฯ ให้การเมืองมีส่วนร่วม ชี้เป็นการบ่อนเซาะหลักการตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจร้ายกาจ

17 พฤศจิกายน 2564 นายชัยชนะ เดชเดโช ส.ส.นครศรีธรรมราช และรองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยว่า การลงมติไม่รับหลักการร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ที่มีนายพริษฐ์ วัชรสินธุ กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวน 135,247 คนเป็นผู้เสนอนั้น เนื่องจากเป็นร่างทำลายหลักการกลั่นกรองกฎหมายโดยวุฒิสภา และหลักการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ โดยศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งทำให้ประชาชนเจ้าของอำนาจอธิปไตย ไม่ได้ประโยชน์อันใดจากร่างรัฐธรรมนูญ เป็นการเสนอขึ้นจากความต้องการทางการเมืองเฉพาะกลุ่มเท่านั้น

 

นายชัยชนะ กล่าวต่อว่า ขณะนี้ระเบียบวาระพิจารณาทั้งกฎหมายและญัตติที่เสนอให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาเรื่องต่างๆ เป็นการเฉพาะนั้น ยังคั่งค้างอยู่เป็นจำนวนมาก รวมทั้งขณะนี้ทางพรรคฝ่ายค้านเอง ก็กำลังดำเนินการเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไป เพื่อซักถามข้อเท็จจริงหรือเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยไม่มีการลงมติ ตามมาตรา 152 ของรัฐธรรมนูญอีกด้วย

 

"ผมเชื่อว่า ผู้เสนอร่างฯ ก็น่าจะทราบว่า ขณะนี้งานในสภาฯ ค่อนข้างจะล้นมือมาก และคงคาดด้วยว่า สมาชิกรัฐสภาส่วนใหญ่จะลงมติไม่รับหลักการ แต่ที่เสนอร่างฯ มาให้ทางรัฐสภาพิจารณานั้น ก็คงจะเป็นเพียงการหล่อเลี้ยงกระแสกลุ่มมวลชน เพื่อไม่ให้ฝ่อลงไปอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้" รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าว 

 

อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่ตนเห็นว่า เป็นสาเหตุสำคัญ ที่ตนและส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ไม่สามารถรับหลักการในร่างรัฐธรรมนูญ ที่นายพริษฐ์และคณะเสนอมาได้ นั่นก็คือ การเปิดโอกาสให้ฝ่ายการเมืองแทรกแซงอำนาจตุลาการจากสูตร 3:3:3 คือ ที่มาของตุลาการฯ จากร่างรัฐธรรมนูญฯ นั้น มี 3 ส่วน คือ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล 3 คน ส.ส.ฝ่ายค้าน 3 คน และที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาหรือศาลปกครองสูงสุด 3 คน ถือเป็นการแทรกแซง และบ่อนเซาะหลักการตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจอย่างร้ายกาจ

 

นอกจากนี้ ประชาชนต้องวิพากษ์วิจารณ์ตุลาการที่มาจากฝ่ายการเมือง ซึ่งรวมกันแล้วมีทั้งหมด 6 คน ถือเป็นการเริ่มกระบวนการสร้างความไม่น่าเชื่อถือต่ออำนาจตุลาการให้กับประชาชน และถ้าเมื่อใดตุลาการ มาจาก ส.ส.ทั้ง 2 ฝ่าย เกิดฮั้วกันในข้อพิพาท ที่ชี้เป็นชี้ตายของบ้านเมืองแล้ว ประเทศจะเกิดวิกฤตอย่างรุนแรงอีกด้วย ฉะนั้น เข้าใจว่าผู้เสนอร่างนี้คงอยากจะเสนอให้ยกเลิกศาลรัฐธรรมนูญด้วยซ้ำไป

 

 

"หากจะเขียนไปตรงๆ อย่างโจ่งแจ้งแล้ว ประชาชนคงไม่มีทางเห็นด้วยเป็นแน่ จึงได้ใช้วิธีการแบ่งสัดส่วนการเสนอตุลาการ ออกเป็นสูตร 3:3:3 เพื่อทำให้เห็นว่า ทุกฝ่ายการเมืองได้ประโยชน์ ทั้งๆที่หลักการในระบอบประชาธิปไตยก็ได้ระบุชัดเจนว่า อำนาจตุลาการเป็นอำนาจอิสระจากการเมือง จึงไม่สมควรให้ตุลาการในทุกศาลฯ มีที่มาจากฝ่ายการเมือง รวมทั้ง หากประเทศใดไม่มีกระบวนการ หรือมีแต่ทำให้องค์กรตุลาการหรือศาลผู้ใช้อำนาจตรวจสอบอ่อนแอแล้ว ประเทศนั้นก็ไม่ใช่ประเทศที่อวดอ้างได้ว่า เป็นประชาธิปไตยที่แท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผมจึงได้ตัดไฟตั้งแต่ก่อนที่จะก่อไฟโดยการลงมติไม่รับหลักการในร่างรัฐธรรมนูญฯ ฉบับนี้ " นายชัยชนะ กล่าว

logoline