svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ภูมิภาค

พระสายป่าทั่วอีสานสวดถวายกำลังใจพระเทพสารเมธี

05 ตุลาคม 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

พระสายป่า(ธ) จากหลายจังหวัดภาคอีสานสวดมนต์ขอขมาคาราวะสามีจิกรรม ถวายกำลังใจ “พระเทพสารเมธี” ขณะที่ยอดรายชื่อถวายฎีกาแตะห้าหมื่น เตรียมถวายฎีกา ขณะที่ มูลนิธิพิทักษ์พระพุทธศาสนาและวัฒนธรรม ชี้คำสั่งปลดไม่ชอบธรรม

กรณีปัญหาคำสั่งมหาเถรสมาคม ที่แต่งตั้งพระสังฆาธิการ และถอดถอนเจ้าคณะจังหวัด 3 รูป ปรากฏทางออนไลน์ เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2564 ซึ่งหนึ่งในนั้นมีพระเทพสารเมธี(เจ้าคุณบัวศรี) เจ้าคณะจังหวัดกาฬสินธุ์ (ธ)  ทำให้คณะสงฆ์จังหวัดกาฬสินธุ์(ธ) เคลื่อนไหว มีมติคัดค้านทันที เพราะมองว่าไม่เป็นธรรม ไม่มีเหตุที่จะปลด และคำสั่งนี้ทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธาต่อการปกครองในพุทธศาสนา เนื่องจากพระเทพสารเมธี เป็นพระที่มีปฏิปทาที่งดงาม จนมีการเคลื่อนไหวล่ารายชื่อหนึ่งแสนเพื่อถวายฎีกาคัดค้าน  เพราะเชื่อว่ามีการสอดไส้หวังทำลายพุทธศาสนาของไทย ตามที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น
เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2564 ที่วัดประชานิยม เทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ พระชั้นผู้ใหญ่ในระดับ สังฆาธิการจาก มหานิกาย และพระป่าจาก 4 จังหวัด(ธ) ประกอบด้วย จ.กาฬสินธุ์ จ.สกลนคร จ.อุดรธานี จ.อำนาจเจริญ จ.หนองบัวลำภู และจ.ศรีสะเกษ กว่า 100 รูป เดินทางเข้ามาขอกราบถวายกำลังใจต่อ เจ้าคุณบัวศรี หรือ พระเทพสารเมธี เจ้าอาวาสวัดประชานิยม เจ้าคณะจังหวัดกาฬสินธุ์(ธ) และเป็นครั้งแรกที่เจ้าคุณบัวศรีปรากฏตัว

พระสายป่าทั่วอีสานสวดถวายกำลังใจพระเทพสารเมธี

พระสายป่าทั่วอีสานสวดถวายกำลังใจพระเทพสารเมธี


 

การเข้ากราบขอขมาเป็นการถวายคาราวะสามีจิกรรม ที่จะเกิดขึ้นเพื่อกราบถวายครูบาอาจารย์ในกลุ่มพระสงฆ์สายป่า พระซึ่งเป็นลูกศิษย์เคารพนับถือบูชาครูบาอาจารย์  โดยพิธีเกิดขึ้นอย่างเรียบง่ายภายในกฎิรับรองของเจ้าคุณบัวศรี มีพระญาณสิทธาจาร รองเจ้าคณะจังหวัดสกลนคร(ธ) เจ้าอาวาสวัดกุดเรือคำ เป็นผู้ถวายดอกไม้สักการะและนำกล่าวถวายเคารพบูชาครูบาอาจารย์แด่พระเทพสารเมธี ว่า “มหาเถเร ปะมาเทนะ” จากนั้นก็เป็นการสวดถวายกำลังใจ โดยใช้เวลาประมาณ 10 นาที ซึ่งพระทุกองค์อยู่ในอาการสำรวม ซึ่งเจ้าคุณบัวศรีได้รับพานและยิ้มอยู่ในอาการสงบ โดยไม่พูดถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้แต่อย่างใด แต่ขณะที่ลูกศิษย์ผู้ติดตามพระป่าหลายคนถึงกับหลั่งน้ำตาด้วยความเสียใจต่อการกระทำที่ไม่เป็นธรรมของ มหาเถรสมาคม ที่มีคำสั่งปลดเช่นนี้
รายงานแจ้งว่า จำนวนพุทธศาสนิกชนลงชื่อเพื่อถวายฎีกา ยอดเพิ่มขึ้นแตะเกือบห้าหมื่นคนจากจำนวนยอดออนไลน์และในสังคมออนไลน์ทั่วประเทศ ได้ส่งกำลังใจและพร้อมที่จะเคลื่อนไหวเพื่อความถูกต้องและเป็นธรรม ที่ต้องการปกป้องพุทธศาสนาเพราะเชื่อว่าหากปล่อยให้เกิดเรื่องเช่นนี้จะทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธาในพุทธศาสนาของไทยที่เป็นหนึ่งในเสาหลักของคนไทยทั้งประเทศ
ขณะที่วัดโสภณพัฒนาราม (วัดภูปูนในฝัน) บ้านดงบัง ต.มหาไชย อ.สมเด็จ จ.กาฬสินธุ์ ศ.ดร.ดุษฎีวัฒน์ แก้วอินทร์ ประธานมูลนิธิพิทักษ์พระพุทธศาสนาและวัฒนธรรม และประธานชมรมพิทักษ์พระพุทธศาสนา พร้อมด้วย นางสาวภูรดา  ศรีชญานันทน์ ผู้อำนวยการมูลนิธิพิทักษ์พระพุทธศาสนาและวัฒนธรรม ได้เดินลงพื้นที่ ติดตามความเคลื่อนไหวและร่วมหาแนวทางการต่อสู้ขอความเป็นธรรมให้กับพระสังฆาธิการ (ธ) กับพระญาณรักขิต (แผน โสภโณ) รองเจ้าคณะจังหวัดกาฬสินธุ์ (ธ) และเจ้าอาวาสวัดโสภณพัฒนาราม (วัดภูปูนในฝัน)

พระสายป่าทั่วอีสานสวดถวายกำลังใจพระเทพสารเมธี


 

ทั้งนี้ เป็นการเข้าพบ ภายหลังพระญาณรักขิต ได้ร่วมกับพระสังฆาธิการ (ธ) จัดประชุมวาระเร่งด่วนพิเศษอีกครั้งหนึ่ง หลังมีการประชุมรอบแรกผ่านไปเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม ที่ผ่านมา เพื่อร่วมกันหาแนวทางการคัดค้านคำสั่งแต่งตั้งและถอดถอนของมหาเถรสมาคม ให้เป็นรูปธรรมชัดเจนยิ่งขึ้น หลังคณะสงฆ์ พระสังฆาธิการ (ธ) และชาวพุทธกาฬสินธุ์ ได้ร่วมกันตั้งโต๊ะลงชื่อให้ได้หนึ่งแสนรายชื่อ ทั้งระบบเปิดและออนไลน์ เพื่อนำไปถวายฎีกาในหลวงรัชกาลที่ 10 ในลำดับต่อไป
    ด้านพระครูโสภณธรรมอุดม เจ้าคณะอำเภอห้วยเม็ก (ธ) กล่าวว่า การประชุมพระสังฆาธิการ (ธ) กาฬสินธุ์ครั้งนี้  เพื่อร่วมกันหาแนวทางที่ชัดเจนในการคัดค้านและเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับพระเดชพระคุณพระเทพสารเมธี หรือเจ้าคุณบัวศรี ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือของคณะสงฆ์กาฬสินธุ์ และเป็นที่รักศรัทธายิ่งของญาติธรรม ตลอดจนสาธุชนทั่วไป โดยเดิมทีกำหนดกันว่าจะมีตัวแทนของพระสังฆาธิการ (ธ) ใน จ.กาฬสินธุ์ และญาติธรรมจำนวนหนึ่ง เดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพื่อยื่นหนังสือคัดค้านคำสั่งดังกล่าวเมื่อวานนี้ (4 ต.ค.) แต่เนื่องจากได้มีการเปิดช่องทางลงรายชื่อหนึ่งแสนรายชื่อ ทั้งระบบเปิดและระบบออนไลน์ เมื่อวันที่ 3 ต.ค. ซึ่งอยู่ในระหว่างดำเนินการ จึงยังรอความพร้อมเสียก่อน ทั้งนี้ คณะสงฆ์ พระสังฆาธิการ (ธ) และชาวพุทธกาฬสินธุ์ ยืนยันจะทางเข้ากรุงเทพมหานคร เข้ายื่นหนังสือที่กรุงเทพฯอย่างแน่นอน
    ขณะที่ ศ.ดร.ดุษฎีวัฒน์ แก้วอินทร์ ประธานมูลนิธิพิทักษ์พระพุทธศาสนาและวัฒนธรรม และประธานชมรมพิทักษ์พระพุทธศาสนา กล่าวว่าหลังจากทราบข่าวมหาเถรสมาคม แต่งตั้งและสั่งปลดพระสังฆาธิการ 3 รูป และที่ จ.กาฬสินธุ์ มีการเคลื่อนไหวคัดค้านคำสั่งดังกล่าว ในฐานะที่มูลนิธิฯ จัดตั้งขึ้นมาเพื่อพิทักษ์ปกป้องพระพุทธศาสนาจากภัยภายในและภัยภายนอก, เพื่อส่งเสริมสนับสนุนกิจกรรมของพระพุทธศาสนาและวัฒนธรรมไทยให้ยั่งยืน, เพื่อช่วยเหลือวัด/พระ ที่ถูกดำเนินคดี และถวายความรู้ด้านกฎมายแก่คณะสงฆ์/พุทธศาสนิกชน ดังนั้น เมื่อเกิดกรณี มส.มีคำสั่งแต่งตั้งและถอดถอนดังกล่าว ซึ่งคณะสงฆ์และญาติโยมชาวพุทธมีการเคลื่อนไหว คัดค้าน ไม่ยอมรับ ถือเป็นพฤติการณ์ที่มูลนิธิฯ จะต้องเข้ามาติดตาม  ให้ความรู้ช่วยเหลือและร่วมมือ เพื่อดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
ศ.ดร.ดุษฎีวัฒน์ยอมรับว่า จากกรณีดังกล่าว เมื่อดูข้อมูลคำสั่งของ มส.และประมวลเข้ากับกฎระเบียบต่างๆของ มส.ที่บัญญัติไว้ ในประเด็นของการแต่งตั้งและถอนถอน พบความผิดปกติที่เกิดขึ้น ตามที่ผู้ที่เข้าไปศึกษาในกฎระเบียบดังกล่าวจะเห็นชัดเจน เช่น กฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ 24 (พ.ศ.2551) ว่าด้วยการแต่งตั้งและถอดถอนพระสังฆาธิการ ในส่วนที่ 3 กรณีเจ้าคณะจังหวัด ข้อที่ 14 ต่อการดำรงตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดนั้น ซึ่งกรณีที่เกิดขึ้นมีการแต่งตั้งพระครูนอกจังหวัด มาดำรงตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัด ขัดกับคุณสมบัติการปกครองสงฆ์ที่เคยปฏิบัติมาตั้งแต่ข้อแรก คือเป็นพระครูที่อยู่ในพื้นที่ จ.หนองคาย  ไม่มีสำนักอยู่ในเขต จ.กาฬสินธุ์ ไม่เคยดำรงตำแหน่งรองเจ้าคณะ จ.กาฬสินธุ์ไม่ต่ำกว่า 2 ปี ทั้งไม่เคยมีวัดหรือปฏิปทาที่ จ.กาฬสินธุ์   แต่กลับมีคำสั่งแต่งตั้งให้มาดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าคณะใน จ.กาฬสินธุ์ (ธ) เรื่องที่เกิดขึ้นจึงไม่เป็นธรรมกับพระสังฆาธิการที่ถูกสั่งปลด และ มส.กลืนน้ำลายตัวเอง คือบัญญัติไว้อย่างหนึ่ง แต่กลับปฏิบัติตรงข้ามกับที่บัญญัติไว้
    ศ.ดร.ดุษฎีวัฒน์กล่าวอีกว่า การลงพื้นที่ติดตามเรื่องดังกล่าวในครั้งนี้ หลังได้พูดคุย ทำความเข้าใจและแนวทางของพระสังฆาธิการ (ธ) ใน จ.กาฬสินธุ์แล้ว ก็จะเข้ามาช่วยคณะสงฆ์ และญาติโยมชาวพุทธกาฬสินธุ์ ในส่วนของการทำหนังสือและยื่นหนังสือคัดค้าน ต่อ มส.ตามลำดับต่อไป ทั้งนี้ ในทางปฏิบัติ และที่เคยดำเนินการมา เหตุการณ์ลักษณะนี้ พระหรือวัดที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากคำสั่งใดๆ สามารถคัดค้านส่วนที่เกี่ยวข้องทบทวนใหม่ได้ ขณะที่ในส่วนผู้มีส่วนรับผิดชอบในคำสั่ง ก็สามารถพิจารณายกเลิกคำสั่งได้ ตามความถูกต้องเหมาะสม
    ขณะที่ ดร.นิยม เวชกามา ส.ส.สกลนคร พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า  ตามที่รัฐมนตรีอนุชากล่าวถึงการปลดเจ้าคณะจังหวัด 3 รูป ว่า มส. ดำเนินการออกมติถูกต้องแล้ว ตนขอชี้แจงแทนชาวพุทธว่า มส. ปลดเจ้าคณะจังหวัดโดยไม่ได้ทำตามขั้นตอนของกฎหมายแต่อย่างใด ตามกฎหมายต้องตั้งกรรมการสอบก่อน แต่ไม่ได้มีการตั้งกรรมการสอบแต่อย่างใดทั้งสิ้น แล้วออกมติปลดมาเลย ชาวพุทธเขาจึงสงสัยกันว่า มีการสอดไส้หรือไม่ รัฐมนตรีไปฟังแต่สำนักพุทธเขียนให้อ่าน แต่ไม่ดูข้อกฎหมาย ซึ่งมส ตั้งขึ้นตามกฎหมายสงฆ์ มาตรา 12 และให้มีอำนาจหน้าที่ตามมาตรา 15 ตรี  เมื่อให้อำนาจมาแล้ว จะต้องใช้อำนาจนั้นให้ถูกต้อง ทั้งตามกฎหมายและพระธรรมวินัย ที่กำหนดไว้ในมาตรา 15 ตรี
    ขั้นตอนการถอดถอนพระสังฆาธิการ กฎหมายสงฆ์ระบุเอาไว้ชัดเจน ในกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ 24 (2541) หมวด 4 ส่วนที่ 1 การละเมิดจริยา ข้อ 55 การถอดถอนจากตำแหน่งหน้าที่นั้น จะทำได้ก็ต่อเมื่อพระสังฆาธิการละเมิดจริยา อย่างร้ายแรงข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้ 1. ทุจริตต่อหน้าที่ 2. ละทิ้งหน้าที่โดยไม่มีเหตุอันสมควรเกิดกว่า 30 วัน 3. ขัดคำสั่งอันชอบด้วยการคณะสงฆ์และการขัดคำสั่งเป็นให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่คณะสงฆ์ 4.ประมาทเลินเล่อ อันเป็นเหตุความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่คณะสงฆ์ และ 5. ประชั่วอย่างร้ายแรง  ซึ่งในกรณีเช่นนี้ให้ผู้บังคับบัญชาใกล้ชิดรายงานโดยลำดับจนถึงผู้มีอำนาจแต่งตั้ง เมื่อสอบสวนได้ความจริงตามรายงานแล้วให้ผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนจากตำแหน่งหน้าที่ได้  ดังนั้น เจ้าคณะผู้ปกครองจะปลด ต้องตั้งกรรมการสอบให้แจ้งชัดเสียก่อนว่า ท่านผิดร้ายแรงอย่างไร
    ดร. นิยม กล่าวอีกว่า เมื่อ มส. มีอำนาจในการออกมติ แต่มติดังกล่าวนั้นไม่ได้ตั้งกรรมการสอบมาก่อน ก็เป็นการออกมติที่ข้ามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดเอาไว้ มตินั้นจึงไม่มีผลบังคับใช้ และผู้ออกมติก็อาจมีความผิดได้ ส่วนที่รัฐมนตรีอนุชายืนยันว่า มติ มส. ปลด 3 เจ้าคณะจังหวัดถูกต้องแล้วนั้น ต้องตอบชาวพุทธให้ได้ว่า มหาเถรสมาคมดำเนินการถูกต้องอย่างไร มีการสอบหรือไม่ ถ้ามี ใครเป็นคณะกรรมการสอบบ้าง คำสั่งในการสอบว่าอย่างไร ผลการสอบเป็นอย่างไร  มีการรายงานตามลำดับชั้นการปกครองตามที่กฎหมายกำหนดไว้หรือไม่
    “ตนขอยกตัวอย่าง หากดูตามลำดับการปกครองคณะสงฆ์หนกลาง การปลดเจ้าคณะจังหวัดปทุมธานีนั้น  เจ้าคณะหนกลาง วัดไตรมิตร จะต้องสั่งการให้เจ้าคณะภาคหนึ่ง วัดหงส์  ตั้งกรรมการสอบ ซึ่งคณะกรรมการสอบอาจมีรองเจ้าคณะภาค หรือ เจ้าคณะจังหวัดในภาคหนึ่ง เป็นคณะกรรมการ หากได้ดำเนินการตามขั้นตอนนี้ครบถ้วน ก็เอาออกมาชี้แจง เชื่อว่า ชาวพุทธเรามีเหตุผล จะเข้าใจได้”ดร. นิยม  กล่าว
    ส่วนกรณีของนครศรีธรรมราช ยิ่งชัดแจ้งมาก ไม่มีการถอด แต่ มส. มีมติตั้งเจ้าคณะจังหวัดรูปใหม่ทับลงไปเลย แสดงว่า ไม่มีการตรวจสอบมาก่อน หากมติ มส. ถูกต้องตามที่รัฐมนตรียืนยัน ตอนนี้ จังหวัดนครศรีธรรมราช ก็มีเจ้าคณะจังหวัดสองรูป อย่างนี้จะเรียกว่า มส. ดำเนินการออกมติถูกต้องได้อย่างไร
สำหรับเจ้าคุณบัวศรี หรือพระเทพสารเมธี เจ้าอาวาสวัดประชานิยม เจ้าคณะจังหวัดกาฬสินธุ์(ธ) บรรพชา เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2507 ณ วัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพมหานคร โดยมีสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑุฒโน) สมเด็จพระสังฆราช เป็นพระอุปัชฌาย์  และอุปสมบท เมื่อวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2513 ณ วัดบวรนิเวศวิหารกรุงเทพมหานคร โดยมีสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) สมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ 19 ของกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นพระอุปัชฌาย์ จบนักธรรมชั้นเอก เปรียญธรรม 4  ประโยค สังกัดสำนักเรียนวัดบวรนิเวศวิหาร ได้รับถวายปริญญาศาสนศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ได้รับถวายรางวัลเสมาธรรมจักร ผู้ทำคุณประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนา จากกรมการศาสนา ได้รับถวายพุทธคุณูปการ จากสภาผู้แทนราษฎร และได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะจังหวัดกาฬสินธุ์ (ธ) เมื่อ พ.ศ.2530 และได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้รักษาการแทนเจ้าคณะภาค 8 (ธ) ระหว่าง พ.ศ.2561-2564 จากคำสั่งของมหาเถรสมาคม


 

logoline