svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ต่างประเทศ

รัฐประหารยังไม่ตาย อ้างเหตุผลเดิมๆ นักการเมืองคอรัปชัน

07 กันยายน 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

การปฏิวัติรัฐประหารยังคงเกิดขึ้น โดยเฉพาะประเทศในแถบแอฟริกา ล่าสุดถูกตอกย้ำด้วยการรัฐประหารในประเทศกินี เหตุผลก็เหมือนเดิมคือนักการเมืองทุจริตคอรัปชั่น สืบทอดอำนาจและบริหารเศรษฐกิจล้มเหลว

เสียงไชโยโห่ร้องดังกึกก้องไปทั่วกรุงโคนากรี เมืองหลวงของกินีโดยเฉพาะในหมู่คนรุ่นใหม่ที่ดีใจกันแบบสุด บางคนตะโกนว่าชาวกินีเป็นอิสระแล้วๆ นี่เป็นชัยชนะของคนรุ่นใหม่และต้องขอบคุณทหารในหน่วยปฏิบัติการพิเศษที่โค่นล้มประธานาธิบดีอัลฟ่า คอนเด้ที่ครองอำนาจมายาวนานลงได้ในเช้าตรู่ของวันอาทิตย์ที่ 5 กันยายน ภายใต้การนำของพันเอกมามาดี้ โดมบูย่าที่ประกาศยุบรัฐบาล ยกเลิกรัฐูธรรมนูญ ปิดน่านฟ้าและพรมแดนของกีนี ควบคุมตัวประธานาธิบดีและแกนนำรัฐบาลไว้อีกหลายคนและประกาศเคอร์ฟิว

 

ประธานาธิบดีคอนเด้ชนะการเลือกตั้งเป็นสมัยที่ 3 หลังมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อเปิดทางให้เขาอยู่ในอำนาจต่อไปแม้จะมีการประท้วงอย่างรุนแรงและเกิดความกังวลว่าประเทศในแอฟริกาตะวันตกแห่งนี้จะกลับไปสู่ความวุ่นวายและวังวนของการรัฐประหารอย่างเช่นที่เพิ่งเกิดในมาลีและช้าด

ความจริงกินีเป็นประเทศที่ร่ำรวยด้วยแร่บ็อกไซท์ เหล็ก ทองคำและเพชร แต่ผลประโยชน์เหล่านี้อยู่ในกำมือของคนเพียงหยิบมือเดียว ประชาชนส่วนใหญ่ยังยากจนแถมเมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมารัฐบาลของคอนเด้ก็เพิ่งขึ้นภาษีอีกเป็นทวีคูณเพื่อหารายได้เข้ารัฐ ราคาน้ำมันเพิ่มขึ้นถึง 20 เปอร์เซ็นต์ สร้างความไม่พอใจให้กับประชาชนอย่างมาก

 

ผู้นำก่อรัฐประหารซึ่งเป็นผูับัญชาการหน่วยรบพิเศษกล่าวว่าคณะก่อการไม่สามารถฝากความไว้วางใจทางการเมืองไว้กับคนๆเดียว แต่ต้องฝากไว้กับประชาชน ทหารจึงต้องออกมาทำหน้าที่นี้เพื่อให้ประเทศเข้ารูปเข้ารอย จะมีการหารือกันเพื่อเปลี่ยนถ่ายอำนาจโดยสันติ และแก้ปัญหาความล้มเหลวทางเศรษฐกิจนับตั้งแต่กินีได้รับเอกราชจากฝรั่งเศสเมื่อ 63 ปีที่แล้ว

 

พันเอกโดมบูย่ายืนยันจะสร้างประชาธิปไตยภายใต้การทำงานของคณะฟื้นฟูและพัฒนาแห่งชาติ เขาจะเชิญบรรดาอดีตรัฐมนตรีและหัวหน้าองค์กรต่างๆมาหารือกัน หากใครไม่มาถือว่าเป็นกบฏ การก่อรัฐประหารครั้งนี้มีเสียงปืนดังขึ้นหลายชั่วโมงโดยเฉพาะรอบๆทำเนียบประธานาธิบดี เหตุผลหลักยังเป็นข้อกล่าวหาเรื่องทุจริต คอรัปชั่นและความยากลำบากของประชาชน มีรายงานว่ากองทัพไม่พอใจที่ถูกตัดงบกลาโหมด้วย

 

สหประชาชาติรวมถึงประชาคมเศรษฐกิจแอฟริกาตะวันตกหรือ ECOWAS ต่างประณามการก่อรัฐประหารในครั้งพร้อมทั้งเรียกร้องให้ปล่อยตัวประธานาธิบดีอัลฟ่า คอนเด้ในทันที

การก่อรัฐประหารดูจะเป็นเรื่องปกติในแอฟริกาซึ่งนับตั้งแต่ปลายทศวรรษ 1950 เกิดขึ้นกว่า 200 ครั้งโดยระหว่างปี 1960-2000 เกิดขึ้นเฉลี่ย 4 ครั้งต่อปี และนับตั้งแต่ปี 2000- จนถึงปัจจุบัน เฉลี่ย 2 ครั้งต่อปี และกว่าครึ่งหนึ่งเป็นการก่อรัฐประหารที่ประสบความสำเร็จ

 

นักวิเคราะห์มองว่าการเป็นประเทศที่เพิ่งได้รับเอกราช การผูกขาดอำนาจอย่างยาวนาน เผด็จการ ปัญหาความยากจนและเศรษฐกิจเป็นแรงกระเพื่อมให้เกิดการรัฐประหารซึ่งเกิดขึ้นในแอฟริกามากที่สุด โดยซูดานมากที่สุดคือ 15 ครั้ง ตามมาด้วยบุรุนดิ 11 ครั้ง กาน่า เซียร่าลีโอนประเทศละ 10 ครั้ง โคโมรอส 9 ครั้ง เบอร์กิน่าฟาโซ่ กินี มาลี เบนินและไนจีเรียประเทศละ 8 ครั้ง ช้าดและไนเจอร์ 7 ครั้ง ทั้งหมดเกิดในช่วง 70 ปีที่่ผ่านมา

 

ย้อนกลับมาดูประเทศไทย ตั้งแต่ 2475 หรือ 89 ปีที่่ผ่านมา ตัวเลขยังคงสับสน ส่วนใหญ่บอกว่า 13 ครั้ง บางตำราบอกว่า 17 ครั้ง วิกีพีเดียบอกว่ามีการปฏิวัติ รัฐประหาร ทั้งสำเร็จ ล้มเหลว รวมถึงปฏิวัติตัวเอง เกิดขึ้นรวม 21 ครั้ง

logoline