svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

ศาลปค.ชี้"ชัยวัฒน์"เผาเพิงกะเหรี่ยงพื้นที่เสี่ยงไม่ขัดพรบ.อุทยานฯ

25 สิงหาคม 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ศาลปกครองเพชรบุรี อ่านคำวินิจฉัยคำอุทธรณ์ ชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร คดีไม่ดำเนินการทุกขั้นตอน ตาม ม.22 พ.ร.บ อุทยานฯ 2504 ชี้ เจ้าหน้าที่สามารถทำได้เพราะเป็นสถานการณ์พื้นที่พิเศษ อันตราย ให้ชดใช้เพียง 45,148.05 บาท จากเคยตัดสินให้จ่าย 300,987 บาท

วันที่ 25 สิงหาคม 2564 นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร อดีตหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เปิดเผยว่า วานนี้ (24 ส.ค.) ศาลปกครองเพชรบุรี ได้วินิจฉัยคำอุทธรณ์ของนายชัยวัฒน์ สืบเนื่องจากเหตุ "ยุทธการตะนาวศรีครั้งที่ 4" นำมาซึ่งการฟ้องร้องและสิ้นสุดลงที่คำพิพากษศาลปกครองสูงสุด คดีหมายเลขดำที่ อส.77/2559 คดีหมายเลขแดงที่ อส.4/2561 ลงวันที่ 31 พ.ค.2561 "ให้กรมอุทยานฯ ผู้ถูกฟ้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทน นายโคอิ หรือคออี้ มีมิ กับพวกรวม 6 คน ผู้ฟ้อง จำนวน 300,987 บาท

 

และต่อมากรมอุทยานแห่งชาติฯ มีคำสั่งให้นายชัยวัฒน์ ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน จำนวน 300,987 บาท ให้แก่กรมอุทยานฯ นายชัยวัฒน์ จึงอุทธรณ์คำสั่ง โดยฟ้องกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ที่ 1 กับพวกรวม 1 คน คดีหมายเลขดำที่ 148/2562 ต่อศาลปกครองเพชรบุรี

 

ศาลปกครองเพชรบุรี นัดฟังพิพากษาวันที่ 24 ส.ค.64 สรุปคำพิพากษา ดังนี้ 

1. ผู้ฟ้องจะต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ฟ้องคดีที่ 1 เพียงใด แม้จะปรากฎข้อเท็จจริงว่า ผู้ฟ้องคดีไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และแนวทางการใช้อำนาจของพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม ม.22 พ.ร.บ.อุทยานฯ จริง จนทำให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทน

 

แต่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า เพิงพักหรือสิ่งปลูกสร้างของนายโคอิหรือคออี้ มีมิ กับพวกรวม 6 คน ตั้งอยู่ในป่าลึกที่มีลักษณะภูมิประเทศเป็นเทือกเขาสูงใกล้แนวชายแดนประเทศไทย-สหภาพเมียนมาร์ ในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน หากเดินเท้าต้องใช้ระยะเวลาการเดินเท้าเข้าไปไม่น้อยกว่า 3-4 วัน ไม่สามารถใช้ยานพาหนะสัญจรไปมาได้

 

ในการตรวจสอบพบพื้นที่บุกรุก ณ ขณะนั้นผู้ฟ้องคดี และคณะเจ้าหน้าที่ไม่ทราบว่าเป็นกลุ่มบุคคลใด หรือเป็นชนกลุ่มน้อย หรือเป็นของกองกำลังไม่ทราบฝ่าย หรือเป็นผู้ลักลอบเข้ามาปลูกพืชสารเสพติด ทำให้การสืบสวนนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษมีข้อจำกัดทางด้านของสภาพพื้นที่ประกอบกับการสื่อสารที่ไม่สามารถสื่อสารด้วยภาษาไทยได้ 

 

จากข้อเท็จจริงดังกล่าวทำให้เห็นว่าคำสั่งทางปกครองในสถานการณ์พิเศษเช่นนี้อาจทำโดยวาจาหรือในรูปแบบอื่นได้โดยไม่จำเป็นต้องทำเป็นหนังสือหรือปิดประกาศเสมอไปตามนัยมาตรา 34 แห่ง พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 

 

ศาลปค.ชี้"ชัยวัฒน์"เผาเพิงกะเหรี่ยงพื้นที่เสี่ยงไม่ขัดพรบ.อุทยานฯ

นอกจากนั้น  หากผู้ฟ้องคดีและคณะเจ้าหน้าที่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการใช้อำนาจของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 22 พ.ร.บ.อุทยานฯ อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้ฟ้องคดีและคณะเจ้าหน้าที่ผู้เข้าไปปฎิบัติหน้าที่ ในการเข้าไปปิดประกาศคำสั่งหรือปิดประกาศแจ้งเตือนให้ผู้บุกรุกพื้นที่ที่เกิดเหตุหรือถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปให้พ้นจากเขตอุทยานฯ อีกด้วย เนื่องจากอาจมีกลุ่มผู้ลักลอบผลิตและขนยาเสพติดหรือกองกำลังไม่ทราบฝ่าย ที่อาศัยสภาพป่ารกทึบและสภาพอากาศปิดในการอำพรางตัวเข้าทำการโจมตีคณะเจ้าหน้าที่ที่ร่วมสนธิกำลังไปปฏิบัติงานครั้งดังกล่าวได้

 

ด้วยมีข้อมูลว่าในพื้นที่ที่เข้าปฏิบัติงานดังกล่าวเคยเกิดเหตุการณ์ประทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจตระเวนชายแดนกับกองกำลังไม่ทราบฝ่ายในขณะที่กำลังปฏิบัติภารกิจกวาดล้างปัญหายาเสพติดในพื้นที่ทำให้เจ้าหน้าที่บางรายได้รับบาดเจ็บและบางรายเสียชีวิต โดยไม่ปรากฏว่ามีการโต้แย้งข้อเท็จจริงในประเด็นนี้ว่าไม่เป็นความจริง

 

ดังนั้น ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ในฐานะหน่วยงานของรัฐจึงมีหน้าที่ที่ต้องกำหนดระเบียบหลักเกณฑ์ให้ชัดเจนรัดกุมและสอดคล้องกับการดำเนินการตามมาตรา 22 พ.ร.บ.อุทยานฯ โดยคำนึงถึงสภาพพื้นที่หรือสถานการณ์พิเศษในกรณีเช่นนี้ที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการปฎิบัติหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และแนวทางปฎิบัติที่เกี่ยวกับการใช้อำนาจของพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามมาตรา 22 ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้นได้โดยเคร่งครัด

 

และถึงแม้จะปรากฏว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ได้มีการแก้ไขหลักเกณฑ์และแนวทางปฏิบัติดังกล่าวให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้นแล้วบางประการก็ตาม แต่ก็เป็นเวลาภายหลังจากเกิดเหตุพิพาทแล้ว อีกทั้ง หากนำไปถือปฏิบัติในสถานการณ์พิเศษที่ผู้ฟ้องคดีและเจ้าหน้าที่ประสบพบเจอดังกล่าวข้างต้นก็ยังไม่แน่ว่าจะสามารถนำไปปฏิบัติในสภาพพื้นที่อันยากลำบากดังกล่าวได้สมบูรณ์ครบถ้วน

ศาลปค.ชี้"ชัยวัฒน์"เผาเพิงกะเหรี่ยงพื้นที่เสี่ยงไม่ขัดพรบ.อุทยานฯ

2.หากพิจารณาถึงอำนาจหน้าที่และสภาพความร้ายแรงแห่งการกระทำความผิดแล้วเห็นว่า ก่อนผู้ฟ้องจะเข้าปฏิบัติการภารกิจ “ยุทธการตะนาวศรี” ผู้ฟ้องคดีได้พยายามใช้วิธีการประสานกับผู้นำท้องถิ่นในเขตพื้นที่หมู่ที่ 1 บ้านบางกรอยล่าง และหมู่ที่ 2 บ้านโป่งลึก ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยง และเป็นที่อยู่ของนายโคอิ กับพวกรวม 6 คนด้วย เพื่อให้ประกาศประชาสัมพันธ์แจ้งคำสั่งให้ผู้ที่กระทำผิด ตาม พ.ร.บ.อุทยานฯ 2504 ยุติการบุกรุกแผ้วถางทำลายป่าในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน  ยุติการปลุกพืชเสพติด และให้หรือถอนหรือทำลายเพิ่งพักหรือสิ่งปลูกสร้างที่ผู้กระทำผิดได้ปลูกสร้างไว้ เนื่องจากผู้นำชุมชนในพื้นที่สามารถสื่อสารทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ที่ไม่เข้าใจภาษาไทยได้อันเป็นการแจ้งคำสั่งทางปกครองด้วยวาจา ตามมาตรา 34 และ 36 แห่ง พ.ร.บ.วิธีการปฏิบัติราชการทางปกครอง 2539 

 

แสดงให้เห็นว่า แม้ผู้ฟ้องคดีจะไม่ได้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และวิธีการตามที่ระเบียบและกฎหมายได้กำหนด แต่ผู้ฟ้องคดีก็พยายามหาแนวทางวิธีการ เพื่อประชาสัมพันธ์ให้ผู้กระทำผิด ยุติการบุกรุก แผ้วทางทำลายป่ายกเลิกการปลูกพืชสารเสพติดและให้รื้อถอน หรือทำลายเพิ่งพักหรือสิ่งปลูกสร้างในบริเวณที่เกิดเหตุ โดยไม่ได้เข้าหรือถอนเผาทำลายเพิ่งพักอาศัยหรือสิ่งปลูกสร้างในทันที อีกทั้งเพิงพักหรือสิ่งปลูกสร้างของนายโคอิ กับพวกรวม 6 คน ตั้งอยู่ในป่าลึกมีลักษณะภูมิประเทศเป็นเทือกเขาสูงใกล้แนวใช้แดนไทย-สหภาพเมียนมาร์  ในเขต อช.แก่งกระจาน หากเดินเท้าต้องใช้เวลาในการเดินทางเข้าไปไม่น้อยกว่า 3-4 วัน และก่อนการปฎิบัติการฯ มีข้อมูลว่าพื้นที่ที่ดังกล่าวเคยมีเหตุปะทะ ดังที่ได้กล่าวไปแล้วนั้น

 

การที่ผู้ฟ้องคดีพร้อมคณะเจ้าหน้าที่เร่งดำเนินการเข้าทำลายพืชเสพติดและทำลายเพิงพักในบริเวณที่มีการบุกรุกแผ้วทางป่าดังกล่าว โดยไม่นำเอาสิ่งของเครื่องใช้ในครัวเรือนออกมาเป็นเหตุให้เกิดความเสียหาย ก็ด้วยต้องรีบดำเนินการและรีบถอนตัวออกจากสถานที่เกิดเหตุ เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ร้ายแรง 

 

ประกอบกับตามคำพิพากษาศาลปกครองกลางและศาลปกครองสูงสุด ได้กล่าวไว้ว่า บริเวณที่เกิดเหตุที่มีการเผาทำลายเพิ่งพักอยู่ห่างไกลทางชุมชน การที่จะให้เจ้าหน้าที่ขนย้ายอุปกรณ์ที่รื้อถอนแล้วไม่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้มาเก็บไว้ที่ทำการ อช.แก่งกระจาน เพื่อรอให้เจ้าของที่แท้จริงมารับ เป็นการกระทำที่เกินกว่ากำลังของเจ้าหน้าที่ที่จะปฏิบัติได้

 

ดังนั้น การที่เจ้าหน้าที่เผาทำลายจึงเป็นการกระทำที่พอสมควรแก่กรณีแล้ว นอกจากนั้นการดำเนินโครงการยุทธการตะนาวศรี ก็เพื่อเป็นการป้องกันและแก้ไขปัญหาการบุกรุกแผ้วทางป่าในเขตพื้นที่ อช.แก่งกระจาน ซึ่งการปฎิบัติหน้าที่ในหลายๆ ครั้ง รวมถึงครั้งพิพาทเป็นไปด้วยความยากลำบากแต่ผู้ฟ้องคดีและเจ้าหน้าที่ผู้ใต้บังคับบัญชา ตลอดจนเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานต่างๆ เข้าเสี่ยงภัยไปปฎิบัติหน้าที่เพื่อปกป้อง คุ้มครอง อนุรักษ์ และดูแลรักษาพื้นป่าอช.แก่งกระจาน  ซึ่งเป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญของประเทศไทยและยังเป็นแหล่งต้นน้ำที่สำคัญของจังหวัดเพชรบุรีให้มีความอุดมสมบูรณ์และคงอยู่ในสภาพเดิมต่อไปไม่ให้ถูกทำลาย

 

เมื่อพิจารณาจากข้อเท็จจริงดังกล่าว โดยคำนึงถึงระดับความร้ายแรงแห่งการกระทำความผิดและความเป็นธรรมในการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ฟ้องด้วยแล้ว จึงสมควรให้ผู้ฟ้องคดีรับผิดชอบร้อยละ 30 ของจำนวนส่วนแห่งความรับผิดในร้อยละ 50 คิดเป็นจำนวนเงิน 45,148.05 บาท

ศาลปค.ชี้"ชัยวัฒน์"เผาเพิงกะเหรี่ยงพื้นที่เสี่ยงไม่ขัดพรบ.อุทยานฯ

logoline