svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ภูมิภาค

เกษตรกรเพาะเลี้ยงแหนแดง ช่วยเพิ่มรายได้งามยามโควิด-19

23 สิงหาคม 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

เพชรบูรณ์ - เกษตรกรเพาะเลี้ยงแหนแดง เลี้ยงไก่ไข่ ลดต้นทุนหัวอาหารได้เกินครึ่ง ต่อยอดเพาะขายมีออเดอร์เพียบ ช่วยเพิ่มรายได้งามยามโควิด-19

23 สิงหาคม 2564 นางนิตยา แดงสวัสดิ์ อายุ 39 ปี อาศัยอยู่เลขที่ 188 หมู่ 1 ตำบลหนองไผ่ อำเภอหนองไผ่ จังหวัดเพชรบูรณ์ ซึ่งมีอาชีพเลี้ยงไก่ไข่ กว่า 30 ตัว เพื่อเก็บไข่ขายตามชุมชน ซึ่งในแต่ละสัปดาห์ จะมีต้นทุนค่าหัวอาหาร เฉลี่ยสัปดาห์ละ 500 บาท จึงมีแนวคิดอยากลดภาระค่าใช้จ่ายให้น้อยลง จนมาเจอแนวทางเพาะเลี้ยงแหนแดง เพื่อนำมาเป็นอาหารให้ไก่และสัตว์เลี้ยง กระทั่งประสบความสำเร็จ ต้นทุนค่าหัวอาหารไก่ลดลงเหลือเพียงครึ่งเดียว แค่สัปดาห์ละ 250 บาทเท่านั้น จึงได้คิดต่อยอดความสำเร็จ ด้วยการหันมาเพาะเลี้ยงแหนแดงอย่างจริงจัง พร้อมทั้งส่งขายในชุมชน และส่งขายออนไลน์ตามออเดอร์ ในราคากิโลกรัมละ 100 บาท ปัจจุบัน มีรายได้เสริมจากการขายแหนแดง เฉลี่ยวันละ 5 กิโลกรัม หรือวันละ 500 บาทเลยทีเดียว
เกษตรกรเพาะเลี้ยงแหนแดง ช่วยเพิ่มรายได้งามยามโควิด-19

เกษตรกรเพาะเลี้ยงแหนแดง ช่วยเพิ่มรายได้งามยามโควิด-19

 

โดยนางนิตยา แดงสวัสดิ์ อายุ 39 ปี เกษตรกรดังกล่าว ได้แนะนำโรงเรือนเพาะเลี้ยงแหนแดง ซึ่งต่อเติมไว้ข้างบ้าน โดยแหนแดงเหล่านี้ หลักๆจะนำมาใช้สำหรับ เป็นอาหารเสริมให้ไก่พันธ์ไข่ จำนวนกว่า 30 ตัว โดยให้สลับกับหัวอาหารไก่ เพื่อช่วยลดภาระต้นทุน อีกทั้ง แหนแดง ยังพบว่า สามารถนำไปใช้ประโยชน์ ได้หลากหลายทั้งเลี้ยงไก่ เลี้ยงเป็ด เลี้ยงปลา หรือสามารถนำไปทำ เป็นปุ๋ยหมัก ปุ๋ยพืชสดได้อีกด้วย จึงทำให้เป็นที่ต้องการของท้องตลาด  เลยพยายามเพาะขยายพันธ์เพิ่มเติม ให้มีเพียงพอ สำหรับส่งขายตามชุมชน และส่งขายออนไลน์ ในราคา กิโลกรัมละ 100 บาท ซึ่งในแต่ละวัน จะมีออเดอร์ ทั้งสั่งซื้อ สั่งจอง เฉลี่ยมากกว่า 5 กิโลกรัม หรือ 500 บาทต่อวันเลยทีเดียว
เกษตรกรเพาะเลี้ยงแหนแดง ช่วยเพิ่มรายได้งามยามโควิด-19

 

นางนิตยา กล่าวว่า การเพาะเลี้ยงแหนแดง ก็ไม่ได้ยุ่งยาก เพียงหาน้ำจากแหล่งธรรมชาติ มาเติมใส่กะละมังหรือบ่อพลาสติกที่เตรียมไว้สักเล็กน้อย สูงราว 20 ซ.ม. จากนั้นเติมน้ำหมักขี้วัว ในอัตราส่วน 1 แก้ว ต่อ 1 กะละมัง และตามด้วยจุลินทรีย์สังเคราะห์แสง สักครึ่งแก้ว เพื่อให้เป็นอาหารสำหรับการเจริญเติบโตของแหนแดง โดยใช้ระยะเวลาในการเพาะเลี้ยง ราว 2 สัปดาห์ ก็สามารถนำไปใช้ประโยชน์ หรือ แบ่งขายสร้างรายได้ และนำไปเพาะขยายพันธ์ต่อไปได้เรื่อย ๆ จนกลายเป็นอีกหนึ่งอาชีพ ที่น่าสนใจในช่วงโควิดเช่นนี้ ซึ่งหากผู้ใด สนใจอยากมาศึกษาหาความรู้ หรืออยากได้พันธ์แหนแดงไปเพาะขยาย ก็สามารถเดินทางมาชมได้ที่บ้าน 188 หมู่ 1 ตำบลหนองไผ่ อำเภอหนองไผ่ จังหวัดเพชรบูรณ์ หรือโทรสอบถาม 087-0161359

เกษตรกรเพาะเลี้ยงแหนแดง ช่วยเพิ่มรายได้งามยามโควิด-19
โดย - สุนทร คงวราคม

 

logoline