svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เจาะประเด็นร้อน

ไทม์ไลน์ที่ดินรถไฟ “เขากระโดง” บุรีรัมย์ใครคือเจ้าของ (1)

27 กรกฎาคม 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"เนชั่นออนไลน์" ย้อนไทม์ไลน์ประกาศพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตสร้างทางรถไฟหลวง 8 พฤศจิกายน 2462 ว่าที่ดินเขากระโดง นี้ ใครมีสิทธิ์ครอบครอง? รวมถึงการต่อสู้ของการรถไฟที่เรียกว่าเป็น "คดีมหากาพย์" คดีแรกๆ ที่รัฐเป็นฝ่ายชนะ

วันนี้ (27 ก.ค.2564) การทวงคืนสมบัติแผ่นดินของการรถไฟ ถือเป็นประเด็นร้อนโดยเมื่อวันที่ 23 มิ.ย.2564 นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ทำหนังสือที่ รฟ1/1911/2564 ถึงอธิบดีกรมที่ดิน ขอให้เพิกถอนโฉนดที่ดินที่ออกทับที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย ในพื้นที่เขากระโดง อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ เนื้อที่ประมาณ 5,083 ไร่ และขอให้อธิบดีกรมที่ดินแจ้งผลการพิจารณาให้ รฟท.ทราบภายใน 90 วัน แต่หากพ้นกำหนดระยะเวลาดังกล่าว รฟท.จะใช้สิทธิทางศาลต่อไป

นายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย (สร.รฟท.) เปิดเผย "เนชั่นออนไลน์" ว่า กรมที่ดิน ไม่ควรประวิงเวลาอีกแล้ว เพราะการต่อสู้ และพิสูจน์ข้อเท็จจริงได้มีการต่อสู้ทั้งที่ศาลจังหวัดบุรีรัมย์ ศาลอุทธรณ์ภาคสาม และศาลฎีกา ต่างยืนยันในทางเดียวกันว่าพื้นที่ 5,083 ไร่ เป็นของการรถไฟ 

 "เนชั่นออนไลน์" จึงจะย้อนให้เห็นไทม์ไลน์เรื่องนี้ ประกาศพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตสร้างทางรถไฟหลวง 8 พฤศจิกายน 2462 ว่าที่ดินนี้ ใครมีสิทธิ์ครอบครอง? รวมถึงการต่อสู้ของการรถไฟที่เรียกว่าเป็น "คดีมหากาพย์" คดีแรกๆ ที่รัฐเป็นฝ่ายชนะ8 พฤศจิกายน 2462
 - ประกาศพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตสร้างทางรถไฟหลวง ต่อจากนครราชสีมา ถึงอุบลราชธานี ให้กรมรถไฟหลวง ตรวจและวางแนวทางรถไฟ ตั้งแต่นครราชสีมา (ข้ามลำน้ำมูลราว ต.ท่าช้าง,อ.พิมาย) ไปยังบุรีรัมย์ จนถึง อุบลราชธานี (อ.วารินชำราบ) ให้เสร็จภายใน 2 ปี
• ที่ดินรกร้างว่างเปล่า (ห้ามผู้หนึ่งผู้ใดจับจองเป็นเจ้าของ) แต่งตั้งข้าหลวงพิเศษจัดการที่ดิน ดำเนินการปักหลักเขตที่ดินไว้ให้เห็นว่าเป็นเขตที่ดินของกรมรถไฟ และจัดทำแผนที่ไว้เป็นหลักฐาน
• ที่ดินที่มีการครอบครองก่อน 8 พ.ย.2462 (ห้ามมิให้เจ้าของนำที่ดินที่อยู่ในเขตที่ดินรถไฟตามที่ปรากฏในแผนที่ไปยกให้หรือขายซื้อ แลกเปลี่ยนกับผู้หนึ่งผู้ใด ห้ามมิให้สร้างบ้านเรือน ปลูกต้นไม้ หรือทำไร่ ก่อนได้รับอนุญาตจากข้าหลวงพิเศษ) ได้มาโดยพระราชกฤษฎีกาจัดซื้อที่ดินและอสังหาริมทรัพย์อย่างอื่นเพื่อสร้างทางรถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือ โดยกรรมการจัดซื้อที่ดิน และจัดทำแผนที่ไว้เป็นหลักฐาน
• ข้าหลวงพิเศษ ที่ได้แต่งตั้งให้จัดการที่ดินในเขตพระราชกฤษฎีกาฯลงวันที่ 8 พ.ย.2462 และกรมรถไฟหลวงเห็นว่าการก่อสร้างทางรถไฟมีความจำเป็นต้องใช้หินโรยทางจึงวางแนวและดำเนินการก่อสร้างทางรถไฟเข้าไปลำเลียงหินที่บริเวณเขากระโดงและบ้านตะโก อันเป็นแหล่งระเบิดและย่อยหิน มีระยะทาง 8 กิโลเมตร ในช่วง 4 กิโลเมตรแรก มีผู้เป็นเจ้าของที่ดินจำนวน 18 ราย ส่วนอีก 4 กิโลเตรต่อไปจนถึงบริเวณที่มีการระเบิดและย่อยหิน เป็นป่าไม้เต็งรังโปร่ง ไม่มีเจ้าของหรือผู้ครอบครอง โดยในช่วง 4 กิโลเมตรหลัง มีความกว้างจากแนวกึ่งกลางทางรถไฟข้างละ 1,000 เมตร มีการจัดทำแผนที่ และจัดทำบัญชีรายชื่อเจ้าของที่ดินจำนวน 18 ราย ระบุไว้ในแผนที่ด้วย  ตามแผนที่แสดงเขตที่ดินของกรมรถไฟแผ่นดิน สายนครราชสีมา ถึงอุบลราชธานี ตอนแยกไปยังที่ย่อยศิลาตำบลเขากระโดง จังหวัดบุรีรัมย์ กิโลเมตร 375 - 650 
 

15 สิงหาคม 2464 
- พระราชบัญญัติจัดวางทางรถไฟแลทางหลวง พ.ศ.2464 มีผลบังคับใช้
• มาตรา 3 (2) “ที่ดินรถไฟ” หมายความว่า ที่ดินทั้งหลายที่ได้จัดหาหรือเช่าถือไว้ใช้ในการรถไฟโดยชอบด้วยพระราชกำหนดกฎหมาย
• มาตรา 6 (1) ห้ามไม่ให้ยกกำหนดอายุความขึ้นต่อสู้สิทธิของแผ่นดินเหนือที่ดินรถไฟ หรืออสังหาริมทรัพย์อย่างอื่นของรถไฟ 
                  (2) ห้ามไม่ให้เอกชน หรือบริษัทใด หวงห้ามหรือถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินรถไฟหรืออสังหาริมทรัพย์อย่างอื่น เว้นไว้แต่จะได้มีประกาศกระแสพระบรมราชโองการเป็นพิเศษว่าทรัพย์นั้นๆขาดจากเป็นที่ดินรถไฟแล้ว
                  (3) ห้ามมิให้ยึดที่ดินรถไฟ สิ่งปลูกสร้าง รถและพัสดุของรถไฟ
• มาตรา 20 ให้กรมรถไฟแผ่นดินเป็นธุระจัดการในเรื่องจัดหาซื้อที่ดินตามที่เห็นว่าจำเป็นเพื่อสร้างทางรถไฟ
• มาตรา 25 จำเดิมแต่วันที่ได้ออกประกาศพระราชกฤษฎีกาให้จัดซื้อที่ดินในหนังสือราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ให้กรรมสิทธิ์ในที่ดินและอสังหาริมทรัพย์อย่างอื่นดังได้ระบุกล่าวไว้ในพระราชกฤษฎีกานั้น ตกมาเป็นของกรมรถไฟแผ่นดินทันทีแต่กรมรถไฟแผ่นดินจะมีสิทธิเข้าปกครองยึดถือทรัพย์นั้นได้ต่อเมื่อได้ใช้เงินหรือวางเงินค่าทำขวัญแล้ว

7 พฤศจิกายน 2464 
- ประกาศพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตสร้างทางรถไฟหลวงต่อจากนครราชสีมาถึงอุบลราชธานี ขยายระยะเวลา 1 ปี นับแต่วันที่ 8 พฤศจิกายน 2464 
- ประกาศพระราชกฤษฎีกาจัดซื้อที่ดินและอสังหาริมทรัพย์อย่างอื่นเพื่อสร้างทางรถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้กรมรถไฟแผ่นดินจัดสร้าง
• ยกเลิกพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตสร้างทางรถไฟหลวงต่อจากนครราชสีมาถึงอุบลราชธานี ลงวันที่ 8 พฤศจิกายน 2462 เฉพาะตอนตั้งแต่ตำบลท่าช้าง จังหวัดนครราชสีมา ถึงจังหวัดสุรินทร์ ซึ่งตรวจและวางแนวทางรถไฟได้แน่นอนแล้ว และให้ใช้พระราชนี้ แทนในเขตเดียวกัน
• ให้กรมรถไฟแผ่นดินเป็นธุระในเรื่องจัดหาซื้อที่ดินและอสังหาริมทรัพย์อย่างอื่นตามที่เห็นว่าจำเป็นในการสร้างทางรถไฟ จากตำบลท่าช้าง จังหวัดนครราชสีมา ถึงจังหวัดสุรินทร์ โดยที่ดินและอสังหาริมทรัพย์อย่างอื่นซึ่งต้องจัดซื้อมีระบุไว้ท้ายพระราชกฤษฎีกาและให้นับว่าเป็นส่วนหนึ่งแห่งพระราชกฤษฎีกาด้วย

27 กันยายน 2465 
- ประกาศพระราชกฤษฎีกาจัดซื้อที่ดินและอสังหาริมทรัพย์อย่างอื่นเพื่อสร้างทางรถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้กรมรถไฟแผ่นดินจัดสร้าง
• ยกเลิกพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตสร้างทางรถไฟหลวงต่อจากนครราชสีมาถึงอุบลราชธานี ลงวันที่ 8 พฤศจิกายน 2462 และฉบับ ลงวันที่ 7 พฤศจิกายน 2464 ซึ่งตรวจและวางแนวทางรถไฟได้แน่นอนแล้วและให้ใช้พระราชกฤษฎีกา นี้ แทนในเขตเดียวกัน
• ให้กรมรถไฟแผ่นดินเป็นธุระในเรื่องจัดหาซื้อที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ อย่างอื่นตามที่เห็นว่าจำเป็นในการสร้างทางรถไฟ จากจังหวัดนครราชสีมา ถึงจังหวัดอุบลราชธานี โดยที่ดินและอสังหาริมทรัพย์อย่างอื่นซึ่งต้องจัดซื้อมีระบุไว้ท้ายพระราชกฤษฎีกาและให้นับว่าเป็นส่วนหนึ่งแห่งพระราชกฤษฎีกาด้วย
• ในระหว่างการตรวจและวางแนวทางรถไฟ มีการจัดทำแผนที่แสดงเขตที่ดินของกรมรถไฟแผ่นดินสายนครราชสีมา ถึงอุบลราชธานี ตอนแยกไปยังที่ย่อยศิลา ต.เขากระโดง จ.บุรีรัมย์ กม.375-650

ข่าว เนชั่นออนไลน์

logoline