svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สุขภาพ

เข้าใจเรื่องรักแบบนักวิทย์ รู้จัก “ออกซิโตซิน” เจ้าของฉายา LOVE HORMONE

14 กุมภาพันธ์ 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

14 กุมภาพันธ์ : วันวาเลนไทน์ เชื่อไหมว่า...ฮอร์โมนความรักมีอยู่จริง! มารู้จักกับ "ออกซิโตซิน (Oxytocin)" ฮอร์โมนที่สร้างจากต่อมใต้สมอง ส่งผลต่อความรักมากกว่าที่หลายคนคิด

สุขสันต์วันวาเลนไทน์ วันที่ LOVE HORMONE ทำงานหนักในนักรักหลายคน ซึ่งเรื่องนี้ในทางการแพทย์ได้มีความพยายามหาคำอธิบายถึงพฤติกรรมของมนุษย์เมื่อเกิด “ความรัก” จนได้พบว่าในร่างกายมีฮอร์โมนหลายต่อหลายตัวทำงานร่วมกันอย่างเป็นระบบในแต่ละขั้นตอนของความรัก ไม่ว่าจะเป็น

  • อะดรีนาลีน (Adrenalin) ทำให้ใจเต้นเร็ว หน้าแดง
  • เทสโทสเตอโรนและเอสโตรเจน (Testosterone & Estrogen) ฮอร์โมนเพศที่ทำให้เกิดตัณหาและความอยาก
  • เอนดอร์ฟิน (Endorphin) ฮอร์โมนแห่งความสุข
  • ออกซิโตซิน (Oxytocin) ฮอร์โมนที่ถือเป็นพระเอกของความรักจนได้ชื่อว่า LOVE HORMONE

รู้จัก “ออกซิโตซิน” เจ้าของฉายา LOVE HORMONE

ออกซิโตซิน (Oxytocin) คือฮอร์โมนที่สร้างจากต่อมใต้สมอง หน้าที่หลักคือ ฮอร์โมนที่จำเป็นสำหรับการคลอดลูกและให้นมบุตร ทำให้เกิดสายใยผูกพันที่ยิ่งใหญ่ของแม่และลูก ความสำคัญของออกซิโตซินคือการเป็นฮอร์โมนที่ทำให้เกิดความผูกพันกับคนอื่นด้วยเช่นเดียวกัน การกอด สัมผัสมือ หรือการมีเซ็กส์จะทำให้สมองหลั่งออกซิโตซินมากขึ้น สิ่งที่ตามมาคือ เราจะรู้สึกผูกพัน รัก เข้าอกเข้าใจคู่ชีวิตมากขึ้น มีความรักเดียวใจเดียว ด้วยเหตุนี้ออกซิโตซิน จึงมีชื่อเล่นมากมายว่า LOVE HORMONE, HUG HORMONE หรือ TRUST HORMONE

ออกซิโตซิน (Oxytocin) ฮอร์โมนความรัก

Oxytocin กับอาการคลั่งรัก

สังเกตไหมว่าเมื่อได้เดินจับมือ หอมแก้ม กอด จูบ และมีเซ็กส์ ความรู้สึกแนบแน่นทางความสัมพันธ์กับคนรักจากการสัมผัสทางกายส่งผลให้คุณมีความรักที่ดีและมากขึ้นได้ นั่นเพราะ Oxytocin ช่วยสานสัมพันธ์ให้เราอารมณ์ดี รู้สึกเชื่อใจ ไว้ใจ และไม่ใช่แค่กับคนรักแต่ทุกรูปแบบความรักไม่ว่าจากครอบครัว เพื่อน สิ่งนุ่มฟูที่เราเห็นแล้วเกิดอาการมันเขี้ยว Oxytocin จะหลั่งเพิ่มมากขึ้นทุกครั้งให้เรารู้สึก แต่ที่เรารักต่างบริบทกันนั่นเป็นเพราะประสบการณ์และจริยธรรมทางสังคม

นอกจากนี้ยังมีฮอร์โมนที่ออกฤทธิ์คล้ายคลึงกับออกซิโตซิน นั่นคือ เอนดอร์ฟิน (Endorphin) โดยเอนดอร์ฟินนั้นเป็นฮอร์โมนที่สร้างจากต่อมใต้สมองเช่นกัน เป็นฮอร์โมนที่ต้องให้ร่างกายสร้างและหลั่งสารนี้เอง เอนดอร์ฟินจะทำให้ร่างกายเกิดความสุข ความผ่อนคลาย ลดอาการปวด ชะลอความเสื่อมของร่างกาย เรามีความรัก จึงทำให้เกิดการกระตุ้นให้ร่างกายหลั่งทั้ง 2 ฮอร์โมนนี้ออกมา และทำให้เรามีความสุขนั่นเอง

ประโยชน์ของ LOVE HORMONE

การที่ร่างกายหลั่งออกซิโตซินออกมา ทำให้เกิดประโยชน์อย่างอื่นอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นลดความเครียด เห็นอกเห็นใจผู้อื่น โรแมนติกมากขึ้น กล่าวคือเมื่อใดก็ตามที่ร่างกายหลั่งฮอร์โมนความรัก  ร่างกายเกิดความสุข ความผ่อนคลาย ลดความเครียด ลดอาการปวด ทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ ชะลอความเสื่อมของร่างกาย ดังนั้น เมื่อเรามีความรัก จะกระตุ้นให้ร่างกายหลั่งทั้งฮอร์โมนออกซิโตซิน คล้ายๆ กับเวลาที่ร่างกายหลั่งสารเอนดอร์ฟิน

ทั้งนี้ ออกซิโทซิน หรือ "ฮอร์โมนความรัก" ไม่ได้ทำหน้าที่แต่ในแง่ดีเพียงเท่า ในทางกลับกับยังสามารถสร้างเรื่องลบและอคติจนเกิดการ Bully หรือการเหยียดและการคุกคามได้เช่นกัน หากฮอร์โมนนี้ทำให้เรารู้สึกเชื่อใจคนที่เรารัก มันก็ทำให้เรารู้สึกไม่ไว้ใจคนอื่น และสามารถทวีความรุนแรงขึ้นจนกลายเป็นความเกลียดได้เช่นกัน

รักแบบโปรโมชั่นมีอยู่จริง

งานวิจัยเมื่อปี 2012 สนับสนุนเรื่องความรักโปรโมชั่นในช่วง 6 เดือนแรก สาเหตุทำให้ใจตื่นรัว ปั่นป่วน เพราะช่วงรักระยะแรกนี้มีกำหนด Oxytocin จะหลั่งออกมาอย่างมากและจะเริ่มลดน้อยลงเรื่อยๆ เมื่อเทียบกับคู่รักที่คบกันมานาน แต่อย่ากังวลไป หากเราคุณสร้างความผูกพันในช่วงโปรโมชั่นนั้นไว้อย่างดี เมื่อ Oxytocin ลดน้อยลงก็จะไม่มีผลกระทบและกลับสร้างให้รักแบบยืดยาวจนเป็นคู่ชีวิตแทนด้วยซ้ำ

ออกซิโตซิน (Oxytocin) ฮอร์โมนความรักซ่อมแซมหัวใจ

ความรักเยียวยารักษาแผลใจได้จริง

ทีมนักวิจัยด้านวิศวกรรมชีวการแพทย์ จากมหาวิทยาลัยมิชิแกนสเตต (MSU) ของสหรัฐฯ รายงานผลการศึกษา ในวารสาร Frontiers in Cell and Developmental Biology ว่าฮอร์โมนแห่งความรัก “ออกซิโตซิน” สามารถซ่อมแซมและฟื้นฟูเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจหลังเกิดอาการหัวใจวายได้ นับเป็นครั้งแรกที่มีการค้นพบว่า ฮอร์โมนออกซิโตซินมีคุณประโยชน์ต่อหัวใจในเชิงกายภาพ

โดยมีการทดลองกับปลาม้าลายที่หัวใจบางส่วนถูกแช่แข็งจนเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจของพวกมันขาดเลือดและตายไปถึง 1 ใน 4 ของทั้งหมด หลังจากได้รับออกซิโตซินแล้ว เซลล์ที่อยู่ตรงชั้นนอกของหัวใจปลาม้าลายดูเหมือนจะถูกตั้งโปรแกรมใหม่ โดยกลายเป็นเซลล์ที่เรียกว่า EpiPC ซึ่งมีสภาพคล้ายสเต็มเซลล์ แล้วเคลื่อนเข้าสู่ส่วนที่เสียหายด้านในเพื่อซ่อมแซมรวมทั้งฟื้นฟูเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจให้เจริญเติบโตขึ้นมาใหม่

ทั้งนี้ ตามปกติแล้วกระบวนการซ่อมแซมฟื้นฟูหัวใจแบบนี้ เกิดขึ้นได้ในอัตราที่ต่ำมากหากปราศจากการกระตุ้นด้วยออกซิโตซิน แต่กรณีของปลาม้าลายที่ถูกทำให้หัวใจวายดังข้างต้น ทีมผู้วิจัยพบการแสดงออกของเมสเซนเจอร์อาร์เอ็นเอ (mRNA) ที่เป็นสัญลักษณ์ของการผลิตออกซิโตซินเพิ่มขึ้นในสมองของปลากว่า 20 เท่า 

 

logoline