svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

"นกแต้วแล้วท้องดํา" สัตว์ป่าหายากใกล้สูญพันธุ์ เจ้าตัวเล็กแห่งผืนป่าที่ราบต่ำเขานอจู้จี้

"วันพืชพรรณสัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์โลก" ตรงกับศุกร์ที่ 3 ของเดือนพฤษภาคมทุกปี ชวนอ่านความสำคัญของวันนี้ พร้อมชมความสวยงาม "นกแต้วแล้วท้องดํา" สัตว์ป่าหายากใกล้สูญพันธุ์ ซึ่งในไทยพบเจ้าตัวเล็กนี้ได้บริเวณป่าที่ราบต่ำเขานอจู้จี้ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาประ-บางคราม จ.กระบี่

เริ่มที่ความสำคัญของ "วันพืชพรรณสัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์โลก" (Endangered Species Day) ซึ่งตรงกับศุกร์ที่ 3 ของเดือนพฤษภาคมของทุกปี โดยปี 2567 นี้ ตรงกับวันนี้ (17 พ.ค.) จัดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2549 เพื่อตระหนักถึงคุณค่าของสิ่งมีชีวิตทุกชีวิต ที่ช่วยสร้างความสมดุลให้กับระบบนิเวศ รวมถึง เพื่อเป็นการระลึกว่าในโลกนี้ยังมีสัตว์ป่าและพืชพรรณที่กำลังตกอยู่ในสภาวะใกล้สูญพันธุ์ เป็นสิ่งที่เราทุกคนจะต้องช่วยกันรักษาเอาไว้

เนื่องในวันพืชพรรณสัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์โลก ปีนี้ "เนชั่นทีวี" ขอพาไปทำความรู้จักกับนกตัวน้อยสุดหายาก อย่าง "นกแต้วแล้วท้องดํา" สัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์ กัน

ภาพโดย Red ivory / shutterstock
ลักษณะ


อ้างอิงข้อมูลจาก กลุ่มงานวิจัยสัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ให้ความรู้เกี่ยวกับ นกแต้วแล้วท้องดํา หรือ นกแต้วแร้วท้องดํา มีชื่อสามัญว่า Gurney's pitta และชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Hydrornis gurneyi เป็นหนึ่งในนกแต้วแล้ว 12 ชนิดที่พบในประเทศไทย เป็นนกที่มีสีสันสวยงาม ลำตัวป้อม ยาวประมาณ 22 ซม. หัวโต หางสั้น ปราดเปรียว เพศผู้มีสีสันสวยงามกว่าเพศเมีย จัดเป็นนกที่สวยงาม 1 ใน 30 ชนิดของโลก จากการจัดอันดับของ Bird Best of the world 

โดยนกแต้วแล้วท้องดํา เพศผู้ กับ เพศเมีย มีลักษณะดังนี้

ภาพโดย กลุ่มงานวิจัยสัตว์ป่า / เฟซบุ๊ก ประชาสัมพันธ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
เพศผู้ 

  • หัวสีดำ
  • กระหม่อมและท้ายทอยสีน้ำเงินเหลือบฟ้า 
  • หางสีน้ำเงินอมเขียว 
  • ท้องสีเหลืองสดมีริ้วสีดำบางๆ พาดสลับตลอดช่วงท้อง 
  • ใต้ท้องมีแต้มสีดำ (สมชื่อ)

ภาพโดย กลุ่มงานวิจัยสัตว์ป่า / เฟซบุ๊ก ประชาสัมพันธ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
เพศเมีย 

  • กระหม่อมสีเหลืองอ่อน
  • มีแถบดำผ่านใต้ตาลงไปถึงแก้มท้องสีขาว
  • มีแถบสีน้ำตาลขวางจากอกลงไปถึงก้น

เสียงร้อง

นกแต้วแล้วท้องดํา เพศผู้ จะร้องหาคู่ด้วยเสียง 2 พยางค์เร็วๆ ว่า "ท-รับ" แต่ถ้าตกใจจะร้องเสียง "แต้ว แต้ว" เว้นช่วงแต่ละพยางค์ประมาณ 7-8 วินาที และอาจร้องนานเป็นชั่วโมง สำหรับเสียงที่ใช้สื่อสารกันระยะใกล้จะใช้เสียงนุ่มดัง "ฮุฮุ"  ฤดูผสมพันธุ์ของมันอยู๋ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-พฤษภาคม ออกไข่คราวละ 3-4 ฟอง 

การหากิน

อาหารของนกแต้วแล้วท้องดํา ได้แก่ พวกไส้เดือน มด ปลวก แมลง สัตว์ขนาดเล็กตามพื้นดิน มันเป็นสัตว์ที่หากินบนดิน มีการกระโดดบนพื้นอย่างคล่องแคล่ว และใช้ปากจิกหรือพลิกใบไม้ เพื่อหาอะไรมาลงท้อง

ภาพโดย กลุ่มงานวิจัยสัตว์ป่า / เฟซบุ๊ก ประชาสัมพันธ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
ถิ่นอาศัย

นกแต้วแร้วท้องดํา เป็นนกที่มีถิ่นอาศัยเฉพาะในพื้นที่ป่าที่ราบต่ำระดับความสูงไม่เกิน 200 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง สภาพป่าบริเวณนั้นต้องมีแสงแดดส่องถึงพื้นรำไร มักพบตามที่ราบใกล้ร่องน้ำ หรือลำธารที่ชื้นแฉะ ไม่ชอบอยู่บริเวณที่มีไม้พื้นล่างขึ้นรกทึบ ทั่วโลกพบการกระจายพันธุ์เพียง 2 แห่ง คือ ประเทศไทย บริเวณป่าที่ราบต่ำเขานอจู้จี้ และผืนป่า Taninthayi ฝั่งตะวันออกของประเทศเมียนมา 

ศัตรูและภัยคุกคาม

อย่างที่กล่าวไป นกแต้วแร้วท้องดํา อาศัยในพื้นที่ลักษณะเป็นป่าที่ราบต่ำ ด้วยความเจาะจงนี้ ทําให้ถิ่นอาศัยที่สําคัญของมันในอดีตถูกบุกรุกเปลี่ยนแปลงเป็นพื้นที่เกษตรกรรมปลูกพืชเศรษฐกิจ โดยเฉพาะ ปาล์มน้ำมัน และยางพารา เป็นสาเหตุให้นกแต้วแล้วท้องดํามีจํานวนประชากรลดน้อยลงอย่างรวดเร็ว

นอกจากนี้ นกแต้วแร้วท้องดํา ยังถูกรบกวนจากศัตรูทางธรรมชาติ คือ งู กระรอก ชะมด อีเห็น ทำให้ลูกนกในแต่ละปีมีอัตราการรอดตายน้อย ไม่เพียงแค่นั้น มันถูกรบกวนจากกิจกรรมของ "มนุษย์" คือ การบุกรุกพื้นที่เพื่อการเกษตร ทำให้เกิดผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของมัน

สถานภาพในปัจจุบัน

จากข้อมูลของ ประชาสัมพันธ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช บอกไว้ว่า The IUCN Red List of Threatened Species ได้จัดสถานภาพนกแต้วแล้วท้องดํา เป็นสัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง (Critically Endangered) ซึ่งถือได้ว่าแนวโน้มประชากรนกแต้วแล้วท้องดําในธรรมชาติกําลังเผชิญหน้ากับการสูญพันธุ์ทุกวินาที

ในส่วนของประเทศไทย มีความพยายามในการคุ้มครองนกแต้วแล้วท้องดำมาตั้งแต่ปี 2530 ด้วยการเริ่มต้นประกาศพื้นที่อยู่อาศัยเป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาประ-บางคราม และประกาศให้นกชนิดนี้เป็นสัตว์ป่าสงวน ในปี 2535 จนในปี 2536 ยกสถานะเขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาประ-บางคราม เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเพื่อคุ้มครองประชากรนกแต้วแล้วท้องดำในที่สุด

ภาพโดย Butterfly Hunter / shutterstock
ในระบบนิเวศ มีสิ่งมีชีวิตต่างๆ ไม่ว่าจะสัตว์ป่า หรือพืชพรรณ ต่างก็ทำหน้าที่ของตัวเองอย่างแข็งขัน นกแต้วแล้วท้องดำเอง เปรียบเสมือนตัวชี้วัดความสมบูรณ์ของสภาพป่าดิบชื้นที่ราบต่ำ ซึ่งเป็นถิ่นอาศัย หากประชากรของมันลดลง ย่อมเป็นการชี้ให้เห็นว่าพื้นที่ป่าที่ราบต่ำเข้าสู่ภาวะวิกฤตเช่นเดียวกัน ดังนั้น การอนุรักษ์นกแต้วแล้วท้องดำ ก็ถือเป็นการช่วยอนุรักษ์พื้นที่ป่าที่ราบต่ำที่มีความหลากหลายทางชีวภาพทั้งของพืชและสัตว์ไว้ด้วย 

ทั้งนี้ หากพบเห็นการกระทำความผิดกฎหมายป่าไม้และสัตว์ป่า สามารถแจ้งเบาะแสได้ทางสายด่วนพิทักษ์ป่า 1362 ตลอด 24 ชั่วโมง

ขอขอบคุณข้อมูลและภาพจาก :
ประชาสัมพันธ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
กลุ่มงานวิชาการ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ ที่ 5 (นครศรีธรรมราช) กลุ่มงานวิจัยสัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
กลุ่มวิจัยสัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
WWF Thailand
กลุ่มงานวิจัยสัตว์ป่า
shutterstock