svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

18 พ.ค. ภูเขาไฟเซนต์เฮเลนส์ระเบิด หายนะภัยครั้งใหญ่ของสหรัฐฯ ในศตวรรษที่ 20

วันนี้ในอดีต 18 พฤษภาคม 2523 “ภูเขาไฟเซนต์เฮเลนส์” ระเบิดอย่างรุนแรง หายนภัยทางภูเขาไฟครั้งใหญ่ในศตวรรษที่ 20 ของสหรัฐฯ มูลค่าเสียหาย กว่า 3 พันล้านดอลลาร์

วันนี้ในอดีต 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2523 ภูเขาไฟ เซนต์ เฮเลนส์ (Mount St. Helens) ที่รัฐวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา เกิดระเบิดอย่างรุนแรง ภูเขาไฟแห่งนี้เป็นภูเขาไฟขนาดใหญ่อายุกว่า 40,000 ปี รู้จักกันในอีกชื่อว่า "ฟูจิแห่งอเมริกา” เพราะมีลักษณะคล้ายภูเขาไฟฟูจิในญี่ปุ่น 

สาเหตุการระเบิด

สาเหตุของการระเบิดครั้งนี้เป็นผลจากแผ่นดินไหวอย่างต่อเนื่อง 2 เดือนก่อนเกิดเหตุระเบิด ส่งผลให้ลาวาใต้ผิวโลกดันตัวขึ้นมา เมื่อมีแผ่นดินไหวอีกครั้ง ภูเขาไฟเซนต์ เฮเลนส์ จึงเกิดระเบิดอย่างรุนแรง

ความเสียหาย 

ภูเขาไฟเซนต์เฮเลนส์ระเบิดครั้งนี้ได้สร้างความเสียหายและสูญเสียทั้งคน สัตว์ สิ่งของ รวมถึงระบบสาธารณูปโภค ละอองลาวาและเถ้าภูเขาไฟพุ่งสูงขึ้นไปถึงชั้นบรรยากาศ สร้างความเสียหายแก่สิ่งมีชีวิตและสิ่งก่อสร้างในรัศมี 650 ตารางกิโลเมตร ในพื้นที่ถึง 11 รัฐ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตในครั้งนั้น 57 ราย บ้านเรือนพังเสียหาย 250 หลัง สะพาน 47 แห่ง ทางรถไฟยาว 24 กิโลเมตร และทางหลวงยาว 298 กิโลเมตร  มูลค่าความเสียหายกว่า 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ นับเป็นหายนภัยทางภูเขาไฟครั้งใหญ่ในศตวรรษที่ 20 ของสหรัฐอเมริกา

นอกจากนี้การระเบิดทำให้เกิดแผ่นดินถล่มขนาดใหญ่ ลดความสูงของยอดเขาจาก 2,950 เมตร เหลือ 2,550 เมตร และปล่องภูเขาไฟเปลี่ยนรูปกลายเป็นรูปคล้ายเกือกม้า

 

รู้จัก “ภูเขาไฟเซนต์เฮเลนส์”

ภูเขาไฟเซนต์เฮเลนส์ตั้งอยู่ในสกามาเนียเคาน์ตี รัฐวอชิงตัน สหรัฐอเมริกาในฝั่งตะวันตกเฉียงเหนือของแปซิฟิก ห่างจากเมืองซีแอตเทิลไปทางใต้ 154 กิโลเมตร และห่างจากเมืองพอร์ตแลนด์ไปทางตะวันออกเฉียงเหนือ 80 กิโลเมตร ถือเป็นภูเขาไฟกรวยภูเขาไฟสลับชั้น (Composite Cone Volcano)

ภูเขาไฟลูกนี้ตั้งอยู่ในเทือกเขาคาสเคด ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแนวภูเขาไฟคาสเคด ส่วนหนึ่งของวงแหวนแห่งไฟ ซึ่งมีภูเขาไฟมีพลังตั้งอยู่กว่า 160 ลูก โดยเทือกเขาคาสเคดเกิดจากแผ่นเปลือกโลกควนเดฟูกามุดตัวลงใต้แผ่นเปลือกโลกอเมริกาเหนือ

ลักษณะทางธรณี 

ภูเขาไฟเซนต์เฮเลนส์ มีลักษณะเป็นกรวยปะทุ ประกอบด้วยหินลาวา แบ่งชั้นด้วยเถ้า หินพัมมิซ และหินตะกอนอื่น ๆ ภูเขาประกอบด้วยชั้นของหินบะซอลต์ และหินแอนดีไซท์ ผ่านโดมลาวาที่เป็นหินเดไซท์โป่งออกมา โดยโดมหินเดไซท์ที่ใหญ่ที่สุดก่อตัวใกล้กับยอดเขา และโดมขนาดเล็กกว่าคือ โดมโกทร็อกส์ ตั้งอยู่ข้างภูเขาไฟทางตอนเหนือ ซึ่งโดมทั้งสองแห่งนี้ถูกทำลายไปจากการระเบิดเมื่อ ค.ศ. 1980