svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สุขภาพ

วิจัยเผยบรรจุภัณฑ์พลาสติกอุ่นร้อนในไมโครเวฟ 3 นาที หนีไม่พ้นไมโครพลาสติก

12 กันยายน 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

สหรัฐฯ เปิดผลวิจัย พบผลข้างเคียงของการใช้ไมโครเวฟกับบรรจุภัณฑ์พลาสติก เตือนผู้คนควรตระหนักรู้ หลังรัฐบาลประเมินว่าชาวอเมริกันมากถึง 97 เปอร์เซ็นต์ มีสาร PFAS อยู่ในเลือด

เปิดรายงานการวิจัยชิ้นใหม่ของมหาวิทยาลัยเนแบรสกา ในสหรัฐอเมริกา เกี่ยวกับการใช้ไมโครเวฟอุ่นอาหาร โดยผู้เชี่ยวชาญพบผลข้างเคียงที่น่าตกใจ เมื่อเห็นว่าอนุภาคพลาสติกขนาดเล็กจิ๋วเข้าสู่ร่างกายของมนุษย์ได้มากอย่างคาดไม่ถึง

วิจัยเผยบรรจุภัณฑ์พลาสติกอุ่นร้อนในไมโครเวฟ 3 นาที หนีไม่พ้นไมโครพลาสติก

คาซี อัลบับ ฮุสเซน นักวิจัยและทีม ได้ต่อยอดการทดลองซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาที่เริ่มต้นในปี 2021 ด้วยการนำขวดนมพลาสติกของเด็กที่ได้รับการรับรองจาก FDA ว่าผ่านมาตรฐานความปลอดภัยสามารถนำเข้าไมโครเวฟได้ โดยมีการบรรจุน้ำและสารละลายอื่นๆ ที่ใช้เป็นตัวแทนอาหาร แล้วนำไปเข้าไมโครเวฟเป็นเวาลา 3 นาที จากนั้นนำไปให้เด็กดื่ม ผลปรากฏว่า "เด็กได้รับไมโครพลาสติกเข้าไปในร่างกาย"

สำหรับ  "ไมโครพลาสติก" คืออนุภาคพลาสติกขนาดจิ๋วที่พบในยอดเขาที่สูงที่สุดในโลก และมหาสมุทรที่ลึกที่สุด ตามรายงานของ Henry Ford Health องค์กรด้านการดูแลสุขภาพ เผยว่า ในการศึกษาครั้งหนึ่ง 77 เปอร์เซ็นต์ของผู้เข้ารับการทดสอบถูกพบว่า มีไมโครพลาสติกในเลือด โดยบางเคส พบไมโครพลาสติกถึง 4 ล้านชิ้นต่อตารางเซนติเมตร และนาโนพลาสติกมากกว่า 2 พันล้านชิ้น  ไมโครพลาสติกบางชนิดทำจากสารเปอร์และโพลีฟลูออโรอัลคิล (PFAS) หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า "สารเคมีตลอดกาล" เนื่องจากใช้เวลานานในการย่อยสลาย รัฐบาลสหรัฐฯ ประเมินว่า ชาวอเมริกันมากถึง 97 เปอร์เซ็นต์ มีสาร PFAS อยู่ในเลือด

นอกจากนี้ ทางผู้เชี่ยวชาญยังได้ทดลองนำเซลล์จากไต ไปสัมผัสกับสารไมโครพลาสติกที่ปล่อยออกมาระหว่างการทดลองใส่ขวดในไมโครเวฟ พวกเขาพบว่า ประมาณ 75 เปอร์เซ็นต์ของเซลล์เหล่านั้นถูกทำลาย ซึ่งมีความเชื่อมโยงที่เป็นไปได้ว่า ไมโครพลาสติกอาจเป็นอันตรายต่อไตของมนุษย์

สำหรับวิธีการหลีกเลี่ยงไมโครพลาสติกที่ดีที่สุด คือการงดนำบรรจุภัณฑ์พลาสติกเข้าไมโครเวฟ แม้ว่าจะมีการรับรองว่าสามารถนำเข้าไปไมโครเวฟได้ก็ตาม อย่างไรก็ดี เขาก็หวังว่าในอนาคต จะมีการผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติกแบบปลอดภัยอย่างแท้จริง เป็นชนิดที่ปลอดไมโครพลาสติก หรือปลอดนาโนพลาสติก

วิจัยเผยบรรจุภัณฑ์พลาสติกอุ่นร้อนในไมโครเวฟ 3 นาที หนีไม่พ้นไมโครพลาสติก

เรื่องราวน่ารู้เกี่ยวกับพลาสติกที่สามารถนำเข้าไมโครเวฟได้

ข้อมูลโดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ภญ. จิราพร เลื่อนผลเจริญชัย ภาควิชาเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายพลาสติกที่สามารถนำเข้าไมโครเวฟได้มี 2 ประเภทด้วยกัน คือ

1. พลาสติก C-PET ผลิตจากเม็ดพลาสติกโพลีเอทิลีนเทเรฟทาเลต (PETE หรือ PET) พลาสติกประเภทที่ 1 ชนิดเดียวกับที่ใช้ผลิตขวดน้ำพลาสติก ขวดน้ำมันพืช ขวดน้ำปลา แต่พลาสติก C-PET มีการเติมสารเร่งตกผลึกที่เรียกว่า nucleating agents เช่น triglyceride oils ที่ไม่อิ่มตัวและมีองค์ประกอบของหมู่ hydroxyl เป็นต้น เพื่อปรับปรุงคุณสมบัติให้ดีขึ้น ทำให้วัสดุมีความยืดหยุ่น ทนทานต่ออุณหภูมิและแรงดึง รวมถึงป้องกันการซึมผ่าน ไม่ให้อากาศเข้า-ออกได้ง่าย นิยมนำมาใช้เป็นกล่องใส่อาหารสำเร็จรูปแช่แข็งอย่างที่เห็นกันในร้านสะดวกซื้อทั่วไป และสามารถนำเข้าไมโครเวฟหรือเตาอบได้ โดยสามารถทนความร้อนได้สูงถึง 230 องศาเซลเซียส

2. พลาสติก PP พลาสติกรีไซเคิลได้ประเภทที่ 5 เป็นพลาสติกที่มีความเหนียว อากาศสามารถผ่านได้เล็กน้อย แต่น้ำไม่สามารถซึมผ่านได้ นอกจากจะใช้เก็บอาหารสด อาหารแปรรูป และอาหารแช่แข็งได้ดี ทนต่อสารเคมีและอาหารที่มีฤทธิ์กัดกร่อนได้เล็กน้อยแล้ว ยังทนความร้อนได้ถึง 110 องศาเซลเซียส ดังนั้นสามารถใช้ใส่อาหารเพื่ออุ่นร้อนในไมโครเวฟได้

อย่างไรก็ตาม เพื่อความมั่นใจและความปลอดภัย ก่อนจะนำบรรจุภัณฑ์หรือภาชนะพลาสติกเข้าไมโครเวฟทุกครั้ง แนะนำให้ดูที่บรรจุภัณฑ์หรือภาชนะพลาสติกนั้นว่ามีสัญลักษณ์ไมโครเวฟเซฟ (Microwave Safe) หรือ ไมโครเวฟเอเบิล (Microwavable)  ถ้ามีก็แสดงว่าเอาเข้าไมโครเวฟได้อย่างปลอดภัย นอกจากนี้ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) มีการกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) เกี่ยวกับภาชนะพลาสติกบรรจุอาหารสำหรับเตาไมโครเวฟ โดยแบ่งออกเป็น 1). มอก. 2493 เล่ม 1-2554 สำหรับการอุ่นแบบใช้ซ้ำ และ 2). มอก. 2493 เล่ม 2-2556 สำหรับการอุ่นครั้งเดียว ซึ่งพิจารณาคุณลักษณะด้านความปลอดภัย เช่น สีที่ใช้พิมพ์ สีที่ผสมในเนื้อพลาสติก ปริมาณสารที่ละลายออกมาจากภาชนะ โลหะในเนื้อพลาสติก เป็นต้น ความคงทนของตัวภาชนะ ได้แก่ ความทนความร้อนของภาชนะ ความทนแรงกระแทก เป็นต้น ดังนั้นผู้บริโภคจึงควรเลือกใช้ภาชนะที่ได้รับการรับรองตามมาตรฐานที่กำหนด เพื่อความปลอดภัยในการใช้งาน

 

source : thecooldown / คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

logoline