svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สุขภาพ

4 ระยะอาการของ ‘โรคฝีดาษลิง’ ตั้งแต่ติดเชื้อจนถึงหายจากโรค

05 กันยายน 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

เปิดเรื่องน่ารู้เกี่ยวกับ “ฝีดาษลิง” โรคติดต่อนี้ใกล้ตัวเราแค่ไหน เป็นผื่นแบบใดต้องระวัง! และ 4 ระยะอาการของโรคฝีดาษลิง ตั้งแต่ติดเชื้อจนถึงหายจากโรคเป็นอย่างไร มาดูกัน

หนึ่งในเรื่องจริงที่บางคนไม่เคยรู้คือ “โรคฝีดาษลิง” หรือ Monkeypox virus เคยระบาดมาแล้วมากกว่า 20 ปี โดยโรคนี้เป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน และติดจากคนสู่คนได้ พบมากในประเทศแถบแอฟริกากลาง และแอฟริกาตะวันตก ได้แก่ แคเมอรูน สาธารณรัฐแอฟริกากลาง คองโก กาบอง ไลบีเรีย ไนจีเรีย และเซียร์ราลีโอน แต่ก็มีการพบผู้ป่วยในประเทศนอกเขตแอฟริกา เช่น สหรัฐอเมริกา อิสราเอล สิงคโปร์ และสหราชอาณาจักร โดยมักเกิดจากการเดินทางระหว่างประเทศ หรือการนำเข้าสัตว์ที่ติดเชื้อ

โรคฝีดาษลิง เป็น double-stranded DNA virus เกิดจากเชื้อไวรัสกลุ่ม Poxviridae จัดอยู่ในจีนัส Orthopoxvirus เช่นเดียวกับไวรัสอีกหลายชนิด ได้แก่ ไวรัสที่ทำให้เกิดฝีดาษในคน หรือไข้ทรพิษ (variola virus) ไวรัสที่นำมาผลิตวัคซีนป้องกันฝีดาษในคน (vaccinia virus) และฝีดาษวัว (cowpox virus) เชื้อไวรัสฝีดาษลิงพบได้ในสัตว์หลายชนิด โดยเฉพาะสัตว์ตระกูลลิงและสัตว์ฟันแทะ เช่น กระรอก หนูป่า เป็นต้น รวมทั้งคนก็สามารถติดโรคได้ โดยมีระยะฟักตัวก่อนแสดงอาการประมาณ 5-21 วัน แต่ส่วนใหญ่พบแสดงอาการในช่วง 10-14 วัน

'ฝีดาษลิง' อันตรายแค่ไหน เป็นผื่นแบบใดต้องระวัง!!

ฝีดาษลิงส่วนใหญ่จะมีอาการไม่รุนแรง อาการที่พบ คือ มีไข้ ปวดศีรษะ ปวดกระบอกตา ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ต่อมน้ำเหลืองโต อ่อนเพลีย และมีผื่นตามใบหน้า แขน ขา ซึ่งมักจะปรากฏขึ้นหลังจากเป็นไข้ได้ 3 วัน โดยผื่นจากฝีดาษลิงจะเป็นลักษณะผื่นที่เริ่มจากการเป็นจุดแดงๆ ก่อนจะมีลักษณะนูน เป็นตุ่มน้ำ ตุ่มหนอง และตกสะเก็ดในที่สุด ในช่วงที่มีผื่นเป็นตุ่มน้ำ-ตุ่มหนอง ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษเพราะจะเป็นช่วงระยะเวลาที่สามารถแพร่เชื้อได้สูงสุด แต่หากผื่นเริ่มตกสะเก็ดแล้ว จะถือว่าพ้นจากระยะการแพร่เชื้อ สิ่งที่ควรรู้อีกอย่างหนึ่งคือผื่นของโรคฝีดาษลิงจะกินลึกถึงชั้นผิวหนังด้านใน ทำให้อาจทิ้งรอยแผลเป็นไว้ได้

 

4 ระยะอาการของโรคฝีดาษลิง ตั้งแต่ติดเชื้อจนถึงหายจากโรค

ระยะที่ 1 เรียกว่า ระยะฟักตัว : ระยะตั้งแต่รับเชื้อ จนเกิดอาการ ส่วนใหญ่มักไม่แสดงอาการ โดยจะอยู่ในช่วง 5-21 วันหลังจากได้รับเชื้อ

ระยะที่ 2 เรียกว่า ระยะไข้ หรือระยะก่อนออกผื่น : ระยะนี้สามารถเป็นได้ตั้งแต่ 1-4 วัน จะมีอาการเหมือนการติดเชื้อไวรัสทั่วไป ได้แก่ มีไข้ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดหัว เจ็บคอ หนาวสั่น อ่อนเพลีย มีแผลในปาก และต่อมน้ำเหลืองโตร่วมด้วย ซึ่งอาการต่อมน้ำเหลืองโตถือเป็นอาการเฉพาะของโรคฝีดาษลิง

ระยะที่ 3 เรียกว่า ระยะออกผื่น : อาการระยะนี้จะเป็นอยู่ประมาณ 1-2 สัปดาห์ บางรายอาจะเป็นนานถึง 4 สัปดาห์ จะมีผื่นหรือตุ่มขึ้นเป็นจำนวนมากตามร่างกาย โดยจะเริ่มจากผื่นแบน แล้วเป็นผื่นนูน ต่อด้วยตุ่มน้ำใส และตุ่มน้ำขุ่น หรือตุ่มหนอง จนกระทั่งเป็นผื่นแผลแห้งเป็นขุย เมื่อตุ่มหนองต่าง ๆ แห้งหมด จะถือว่าหมดระยะแพร่เชื้อ

ระยะที่ 4 เรียกว่า ระยะฟื้นตัว : ใช้เวลาหลายวันจนถึงหลายสัปดาห์

ทั้งนี้ แพทย์เฉพาะทางจะพิจารณาจากอาการเป็นหลัก โดยเฉพาะอาการมีไข้พร้อมกับตุ่มน้ำใสคือสัญญาณชัดเจนของโรคฝีดาษลิง โดยจะทำการตรวจหาสารพันธุกรรม Real – Time PCR โดยระยะเวลาการตรวจอยู่ที่ 24 – 48 ชั่วโมง และการตรวจลำดับนิวคลิโอไทด์ด้วยเทคนิค DNA Sequencing ที่ใช้ระยะเวลาการตรวจ 4 – 7 วัน

4 ระยะอาการของ ‘โรคฝีดาษลิง’ ตั้งแต่ติดเชื้อจนถึงหายจากโรค

ป้องกันตัวเองอย่างไรให้ปลอดภัยจากฝีดาษลิง?

แนะนำหลีกเลี่ยงการสัมผัสโดยตรงกับเลือด ตุ่มหนอง หรือสารคัดหลั่ง เช่น น้ำลาย ละอองฝอย หรือน้ำเหลืองของสัตว์ที่ติดเชื้อ สัตว์ป่า หรือจากผู้ที่สงสัยว่าป่วยหรือมีประวัติเสี่ยงติดเชื้อ หลีกเลี่ยงการกินเนื้อสัตว์ที่ปรุงสุกไม่เพียงพอ สวมหน้ากาก หมั่นล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่และน้ำหรือเจลแอลกอฮอล์ โดยแยกของใช้ส่วนตัวทุกชนิดไม่ใช้ร่วมกับผู้อื่น และหลีกเลี่ยงการใช้มือสัมผัสใบหน้า ตา จมูก และปาก เป็นต้น และทานอาหารที่ปรุงสุก สด ใหม่เสมอ การดูแลตัวเองแบบนี้ ไม่ใช่แค่ลดความเสี่ยงจากฝีดาษลิง แต่ยังช่วยลดความเสี่ยงจากไข้หวัดใหญ่ และ COVID-19 ได้ไปพร้อมๆ กัน และแม้ว่าจะยังไม่เคยมีการระบุชัดเจนว่า โรคฝีดาษลิงเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ แต่ Safe Sex ไว้ด้วยการสวมถุงยางอนามัย ไม่เปลี่ยนคู่นอน หรือจะให้ดีเว้นระยะการมีกิจกรรมในช่วงนี้ไปก่อน ก็เป็นการลดความเสี่ยงที่ดีเช่นเดียวกัน

 

 

 

source : โรงพยาบาลวิชัยเวช อินเตอร์แนชั่นแนล หนองแขม / โรงพยาบาลพญาไท / โรงพยาบาลกรุงเทพ

logoline