svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สุขภาพ

ทำความรู้จัก 'แอสปาร์แตม' หลัง WHO เตรียมขึ้นบัญชีเป็นสารก่อมะเร็ง

04 กรกฎาคม 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

โทษทัณฑ์รสหวานไร้แคล องค์การอนามัยโลกเตรียมจัดประเภทสารให้ความหวานแทนน้ำตาล “แอสปาร์แตม” อยู่ในกลุ่มเป็นไปได้ว่าจะก่อมะเร็ง ขณะที่ สธ.ห้ามใช้น้ำตาลเทียม 3 ชนิดในไทย และห้ามใช้ขัณฑสกรในบางประเภท

กลายเป็นประเด็นร้อนในโลกคนรักสุขภาพขึ้นมา หลังจากที่องค์การอนามัยโลก (WHO) เตรียมบรรจุ “แอสปาร์แตม” เข้าในบัญชีสารที่อาจก่อมะเร็ง ซึ่งหลายคนอาจยังไม่รู้จักกับสารให้ความหวานนี้ทั้งที่เห็นทุกวันหรืออาจกินไปแล้วโดยไม่รู้ตัว

ทำความรู้จัก \'แอสปาร์แตม\' หลัง WHO เตรียมขึ้นบัญชีเป็นสารก่อมะเร็ง

แอสปาร์แตม (Aspartame) คืออะไร

แอสปาร์แตมเป็นสารให้ความหวานแทนน้ำตาล ซึ่งปัจจุบันนิยมใช้ในผลิตภัณฑ์หลายชนิด เช่น น้ำตาลเทียม เครื่องดื่มอัดลม หมากฝรั่งไร้น้ำตาล เป็นต้น

ความเป็นมาของแอสปาร์แตม

แอสปาร์แตม หรือ APM ถูกค้นพบครั้งแรกด้วยความบังเอิญ เมื่อปี ค.ศ.1965 โดยเจมส์ แชลเตอร์ (James Schlater) ขณะทำการสังเคราะห์สารที่ใช้รักษาโรคแผลในกระเพาะอาหาร โดยระหว่างทำการตกผลึก L-Aspartyl-L-phenylalanine methyl ester จากเอทานอล (ethanol) ปรากฏว่าสารละลายที่กำลังผสมหกรดมือ แต่เขาไม่ได้สนใจจึงไม่ได้ล้างมือ เมื่อเขาจะหยิบกระดาษกรอง เขาได้เลียนิ้วมือเพื่อให้หยิบกระดาษกรองได้ง่ายขึ้น ทว่าเมื่อเลียนิ้วมือ เขากลับได้รับรสหวานจากนิ้ว

แอสปาร์แตมเป็นเมทิลเอสเทอร์ (methyl ester) ของไดเพปไทด์แอสพาทิลเฟนนิลอะลานีน (dipeptide aspartylphenylalanine) เตรียมได้จากกรดอะมิโน (amino acid) 2 ชนิด คือ กรดแอล-แอสปาร์ติก (L-aspartic acid) และ แอล-เฟนนิลอะลานีน (L-phenylalanine) ได้ผลึกสีขาว ไม่มีกลิ่น ความสามารถในการละลายขึ้นอยู่กับ ความเป็นกรด-ด่าง (pH) และอุณหภูมิ

รสหวานของแอสปาร์แตมคล้ายน้ำตาลมาก แต่มีความหวานประมาณ 180-200 เท่าของน้ำตาล และเป็นรสหวานที่ติดลิ้นนานกว่ารสหวานที่ได้จากน้ำตาล หรือสารให้ความหวานชนิดอื่น ซึ่งมีคุณสมบัติที่เหมาะกับผลิตภัณฑ์อาหารบางชนิด แต่หากไม่ต้องการให้หวานติดนาน อาจปรับปรุงได้โดยการผสมแอสปาร์แตมกับสารให้ความหวานชนิดอื่น หรือเติมเกลือบางชนิด เช่น อลูมินัมโปแตสเซีมซัลเฟต (aluminium potassium sulfate) หรืออาจลดปริมาณลงได้

แอสปาร์แตมเป็นโปรตีน เมื่อถูกเผาผลาญจะให้พลังงาน 4 กิโลแคลอรีต่อกรัม ซึ่งเท่ากับน้ำตาล แต่เนื่องจากมีความหวานสูงกว่าน้ำตาลมาก ปริมาณที่ใช้จึงน้อยมาก ดังนั้น ปริมาณแคลอรีที่ได้รับจากผลิตภัณฑ์ที่ใช้แอสปาร์แตมเป็นสารให้ความหวานจะต่ำมาก ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ที่ใช้แอสปาร์แตมเป็นสารให้ความหวานแทนน้ำตาล ส่วนใหญ่จะเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีการโฆษณาสรรพคุณในเรื่องของแคลอรีต่ำ ไม่ทำให้อ้วน เช่น น้ำตาลเทียม หมากฝรั่งไร้น้ำตาล ยาสำหรับเด็กบางชนิด โดยเฉพาะเครื่องดื่มประเภทน้ำอัดลมสูตรไดเอททั้งหลาย ซึ่งนำแอสปาร์แตมมาใช้เป็นสารให้ความหวานแทนน้ำตาล เพื่อให้ได้เครื่องดื่มที่มีแคลอรีต่ำ แต่มีความหวานเหมือนน้ำตาล สัดส่วนปริมาณแอสปาร์แตมที่ใช้ จะอยู่ในช่วงร้อยละ 0.055-0.090 ขึ้นอยู่กับชนิดและยี่ห้อของเครื่องดื่มอัดลม

ทำความรู้จัก \'แอสปาร์แตม\' หลัง WHO เตรียมขึ้นบัญชีเป็นสารก่อมะเร็ง

โทษของแอสปาร์แตม

แม้ว่าแอสปาร์แตมจะเป็นสารให้ความหวานแทนน้ำตาลได้เป็นอย่างดี แต่แอสปาร์แตมนั้นได้จากกระบวนการสังเคราะห์ ซึ่งแตกต่างจากน้ำตาลซึ่งได้จากผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ ดังนั้น แอสปาร์แตมจึงเป็นสารเคมีชนิดหนึ่ง การที่จะบริโภคจึงต้องคำนึงถึงความปลอดภัย

ในสหรัฐอเมริกาได้มีการขอใช้แอสปาร์แตมครั้งแรกในปี ค.ศ.1974 แต่ยังไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้ เนื่องจากพบว่า ส่วนประกอบที่เป็นกรดอะมิโนของแอสปาร์แตมนั้น ทำให้สัตว์ทดลองเกิดภาวะผิดปกติเมื่อบริโภคในปริมาณสูง แต่หลังจากที่ได้มีการขอข้อมูลเพิ่มเติม และพิจารณาใหม่ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (FDA) ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้มีการอนุญาตให้ใช้แอสปาร์แตมได้ในปี ค.ศ.1981

จากนั้นในปีเดียวกันแคนาดาได้อนุญาตให้ใช้แอสพาร์แตมในอาหารต่างๆ เช่นกัน และในเวลาต่อมาก็ได้มีการใช้อย่างแพร่หลายในประเทศอื่นๆ

อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการใช้เแอสปาร์แตมอย่างกว้างขวางมากขึ้น ก็มีการศึกษาและวิจัยเกี่ยวกับผลของการใช้แอสปาร์แตมกันมากขึ้นเช่นกัน รวมทั้งผลการศึกษาที่ออกมาในเชิงคัดค้านการนำแอสปาร์แตมมาใช้ โดยกล่าวว่า แอสปาร์แตมสามารถสลายตัวได้ที่อุณหภูมิห้อง กลายเป็นสารพิษและองค์ประกอบที่เป็นอันตรายอื่นๆ เช่น เมธานอล (methanol) ดีเคพี (DKP หรือ difetopierzine) และสารก่อมะเร็งอื่นๆ

ก่อนหน้านี้เคยมีการศึกษาในอิตาลี ช่วงต้นคริสต์ทศวรรษที่ 2000 ที่ระบุว่า โรคมะเร็งที่พบในหนูทดลองมีส่วนเกี่ยวข้องกับสารแอสปาร์แตม และในปีที่ผานมา มีการศึกษาในฝรั่งเศส ที่เก็บข้อมูลของผู้ใหญ่ 100,000 คน พบว่าผู้ที่บริโภคสารให้ความหวานแทนน้ำตาลในบริมาณมาก ซึ่งรวมถึงแอสปาร์แตม มีความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งมากกว่าผู้ที่บริโภคสารเหล่านี้ในปริมาณที่น้อยกว่า

โดยล่าสุดสำนักข่าวต่างประเทศได้รายงานอ้างอิงแหล่งข่าววงในขององค์การอนามัยโลก (WHO) ว่าองค์กรระหว่างประเทศเพื่อการวิจัยโรคมะเร็ง หรือ IARC ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้เตรียมบรรจุแอสปาร์แตมเข้าในรายการสารที่อาจก่อให้เกิดมะเร็งในเดือน ก.ค.นี้ โดยมีเป้าหมายเพื่อกระตุ้นให้เกิดการวิจัยมากขึ้นเกี่ยวกับเรื่องนี้ เพื่อช่วยให้หน่วยงานกำกับดูแล ผู้บริโภค และผู้ผลิต ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนร่วมกัน

4 กลุ่มสารต่างๆ ที่ IARC จำแนกในปัจจุบัน

  1. กลุ่ม 1 สารก่อมะเร็งในมนุษย์ (carcinogenic) เช่น ยาสูบ, แร่ใยหินแอสเบสตอส (asbestos), ผลิตภัณฑ์เนื้อแปรรูป
  2. กลุ่ม 2A สารที่อาจก่อมะเร็งในมนุษย์ (probably carcinogenic) เช่น สารกำจัดวัชพืชไกลโฟเสต (glyphosate)
  3. กลุ่ม 2B สารที่มีความเป็นไปได้ว่าจะก่อมะเร็งในมนุษย์ (possible carcinogenic)
  4. กลุ่ม 3 ไม่สามารถจำแนกได้

ในครั้งนี้ IARC เตรียมจัดให้แอสปาร์แตมอยู่ในกลุ่ม 2B ซึ่งหมายถึงมีหลักฐานยืนยันจำนวนจำกัดจากผลวิจัยทางวิทยาศาสตร์ โดยพบการก่อมะเร็งในมนุษย์หรือสัตว์ทดลองเพียงไม่กี่กรณีเท่านั้น ซึ่งยังถือว่าเป็นหลักฐานที่ไม่หนักแน่นพอและไม่อาจใช้สรุปได้ว่าเป็นสารก่อมะเร็งอย่างแน่นอนหรือไม่

ทั้งนี้ มีสิ่งอื่นๆ ที่อยู่ในกลุ่ม 2B เช่นเดียวกัน ยังได้แก่น้ำมันดีเซล, นิกเกิล, แป้งทัลคัมที่ตกค้างบริเวณฝีเย็บของสตรี, ว่านหางจระเข้, ผักดองหลากชนิดของชาวเอเชีย รวมทั้งคลื่นสัญญาณโทรศัพท์มือถือซึ่งยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ว่าก่อมะเร็งจริงหรือไม่

น้ำตาลเทียม 3 ชนิดที่ไทยห้ามใช้-นำเข้า

ในส่วนของประเทศไทย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ประกาศห้ามใช้ใส่ในอาหารทุกชนิด รวมทั้งนำเข้าสารเคมีเข้ามาในราชอาณาจักร ได้แก่

  • โซเดียมไซคลาเมท
  • ดัลซิน
  • สติวิโอไซด์

ยังมีข้อก้าหนดห้ามใช้ซัคคารีน กับผลิตภัณฑ์อาหารบางประเภท ได้แก่ เครื่องปรุงรส และเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ทุกชนิด ด้วยเหตุผลที่ว่าซัคคารีนเป็นสารที่ไม่ให้พลังงานแก่ร่างกาย จึงไม่เกิดประโยชน์ต่อผู้บริโภค โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้บริโภคในวัยเด็กซึ่งอยู่ในช่วงที่ต้องการพลังงานสูง

ปริมาณน้ำตาลเทียมที่บริโภคได้ต่อวัน

พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 อนุญาตให้ใช้วัตถุที่ให้ความหวานแทนน้ำตาลหรือใช้รวมกับน้ำตาล ตามมาตรฐานอาหาร เอฟ เอ โอ/ดับบลิว เอช โอ, โคเด็กซ (Joint FAO/WHO, Codex) โดยปริมาณที่องค์การอาหารและยาสหรัฐอเมริกา (USDA) อนุญาตให้รับบริโภคได้ตามค่า acceptable daily intake levels (ADI)  น้ำตาลเทียมแต่ละชนิดจะมีค่า ADI แตกต่างกัน ดังนี้

 - แอสปาร์เทม ค่า ADI เท่ากับ 40-50 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมต่อวัน

- ซัคคาริน ค่า ADI เท่ากับ 5 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมต่อวัน

 - อะซิซัลเฟมโพแทสเซียม ค่า ADI เท่ากับ 15 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมต่อวัน

- ซูคราโลส เท่ากับ, ค่า ADI เท่ากับ 15 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมต่อวัน

ข้อควรระวัง

การดื่มน้ำอัดลมสูตรไม่มีน้ำตาล หากดื่มติดต่อกันและดื่มในปริมาณ มากๆ อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ติดรสหวาน มีความอยากบริโภคอาหารรสหวานเพิ่มขึ้น  ส่งผลให้เกิด พฤติกรรมการบริโภคที่ไม่พึงประสงค์ อาจส่งผลเสียต่อร่างกายในระยะยาว เป็นสาเหตุของโรคอ้วนลง พุง และโรคเบาหวาน เป็นต้น

โทษของน้ำตาลเทียม

1. แต่ละประเภทไม่เหมือนกัน หากเป็นซัคคารินหรือขัณฑสกร มีรายงานการวิจัย ว่าทำให้เกิดมะเร็งในหนูเมื่อใช้ในขนาดสูง ควรหลีกเลี่ยง

2. ทำให้น้ำหนัก เส้นรอบเอว และดัชนีมวลกายเพิ่มขึ้น และเพิ่มความเสี่ยงการ เกิดโรคอ้วนลงพุง

3. เป็นสาเหตุทำให้เกิดภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วนเพิ่มขึ้น จากงานวิจัย11 เรื่อง พบว่าการบริโภคเครื่องดื่มน้ำอัดลมที่มีน้ำตาล ท้าให้มีความเสี่ยงจะเป็นโรคอ้วนเพิ่มขึ้น 18 % ขณะที่มี 3 ผลการศึกษา เรื่องการบริโภค น้ำอัดลมใส่น้ำตาลเทียมทำให้มีความเสี่ยงจะเป็นโรคอ้วนได้ 59 % อาจเป็นเพราะผู้ที่ดื่มน้ำอัดลมที่ใช้น้ำตาลเทียมคิดว่า การดื่มน้ำอัดลมที่ไม่มีพลังงาน ทำให้สามารถบริโภคอาหารที่มีพลังงานสูงกว่าเดิมได้เพิ่มขึ้น จึงบริโภคในปริมาณที่มากเกินไป

 4. ส่งผลต่อการเพิ่มระดับน้ำตาลในเลือดและระดับอินซูลิน โดยการบริโภคน้ำตาลเทียมเป็นประจำในปริมาณมากๆ จะส่งผลเช่นเดียวกันกับการบริโภคอาหารที่ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดขึ้นสูง  อีกทั้ง ทำให้การรับรู้รสชาติเปลี่ยนไป พฤติกรรมการบริโภคเปลี่ยนแปลงไป เกิดความอยากบริโภคอาหารและเครื่องดื่ม รสหวาน ทำให้มีการบริโภคอาหารและเครื่องดื่มเหล่านี้เพิ่มขึ้นจากปกติ ส่งผลต่อการเกิดโรคเมตาบอลิกและโรคเบาหวานชนิดที่ 2

 

logoline