svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สุขภาพ

ลดละเลิก ‘บุหรี่’ ด้วยวิถีการแพทย์แผนไทย

15 พฤษภาคม 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"บุหรี่" สาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดโรคถุงลมโป่งพอง มะเร็งปอด ชวนลดละเลิก "บุหรี่" ด้วยวิถีการแพทย์แผนไทย เทคนิคดีๆ ที่ใคร ๆ ก็ทำได้

จากกระแสของละคร “หมอหลวง” ทำให้ผู้คนเริ่มให้ความสนใจในศาสตร์การแพทย์แผนไทย รวมไปถึงเรื่องของสมุนไพรไทยมากขึ้น สถานการแพทย์แผนไทยประยุกต์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายว่าการสูบบุหรี่นับเป็นปัญหาสุขภาพที่สำคัญที่ทำให้เกิดโรคต่างๆ นอกจากควันจากบุหรี่ที่ส่งผลให้เกิดโรคปอด ถุงลมโป่งพอง มะเร็งปอดแล้ว สารนิโคตินในบุหรี่ยังส่งผลต่อระบบการทำงานและอวัยวะต่างๆ ในร่างกาย ได้แก่ ระบบทางเดินหายใจ ระบบทางเดินอาหาร ระบบการไหลเวียนโลหิต ระบบสืบพันธุ์ ซึ่งสารเคมีในบุหรี่และควันบุหรี่จะไปกระตุ้นการทำงานของธาตุไฟในร่างกายให้เพิ่มขึ้น ส่งผลกระทบต่อธาตุลมเพิ่มขึ้น ทำให้มีอาการไอ หอบเหนื่อย และลดการทำงานของธาตุน้ำ ทำให้มีอาการปากแห้ง คอแห้ง ผิวแห้ง กระหายน้ำ ท้องผูก นอกจากนี้ ยังส่งผลกระทบต่อธาตุดินทำให้ฟันเหลือง ปอดและลำไส้ผิดปกติ

ลดละเลิก ‘บุหรี่’ ด้วยวิถีการแพทย์แผนไทย

5 ขั้นปราบความต้องการสูบบุหรี่ตามวิถีการแพทย์แผนไทย

ขั้นตอนแรก แนะนำการล้างพิษบุหรี่ออกจากร่างกาย พิษจากควันบุหรี่ไม่ได้มีเพียงแค่นิโคติน น้ำมันดิน และคาร์บอนมอนอกไซด์ แต่มีพิษอยู่หลายชนิด ถ้าเคยสูบบุหรี่นานๆ ครั้ง สารพิษเหล่านี้จะต้องถูกกำจัดออกจากร่างกาย ถึงแม้ว่าจะมีหลายวิธีที่จะมาช่วยได้แต่การเลือกใช้วิธีรักษาตามธรรมชาติจะได้ผลดีที่สุด เริ่มต้นจากการดื่มน้ำเย็นมากๆ (ไม่ถึงกับเย็นเป็นน้ำแข็ง) และสมุนไพร เช่น ตรีผลา จตุผลาธิกะ รากสามสิบ ใบบัวบก โสม เพื่อล้างสารพิษออกจากร่างกาย  ซึ่งการใช้ตำรับยานี้ควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์แผนไทยประยุกต์ การนวด การประคบ และการอบสมุนไพรก็เป็นการช่วยล้างพิษได้ด้วย

2.เปลี่ยนจากบุหรี่ที่มีนิโคตินมาเป็นสมุนไพรแทน ซึ่งในระยะแรกๆ ของการเลิกบุหรี่เป็นเรื่องยากที่จะชนะความต้องการของร่างกายที่อยากสูบบุหรี่ และกุญแจสำคัญที่จะช่วยให้บรรลุเป้าหมายในการเลิกบุหรี่นั้นก็คือการเลิกความต้องการนิโคตินของร่างกาย ในตำรายาแผนไทยและอายุรเวชอินเดียให้ใช้สมุนไพรเพื่อช่วยให้ชนะความอยากนิโคติน เช่น  กะเพรา อบเชย ฯลฯ หรือจะใช้ ขิง มะขามป้อม ขมิ้น โดยปั้นเป็นลูกกลอน ใช้รับประทานเพื่อลดความอยากสูบบุหรี่ได้

3.ออกกำลังกายอย่างพอเพียง

4.เปลี่ยนแปลงวิธีการรับประทานอาหาร

5.กำลังใจที่ดี ขอความช่วยเหลือจากญาติหรือเพื่อน ให้คนใกล้ชิดมีส่วนช่วยในการเลิกบุหรี่ โดยบอกเพื่อนสนิท หรือญาติ เพื่อนที่ทำงานเกี่ยวกับความต้องการเลิกบุหรี่การสนับสนุนของพวกเขาจะช่วยทำให้ท่านมีโอกาสทำสำเร็จมากขึ้น นอกจากนี้เมื่อท่านเริ่มความตั้งใจที่จะเลิก ท่านจะมีความรู้สึกถึงหน้าที่ต่อการตัดสินใจของท่านและควรระวังอารมณ์ 4 แบบนั้นคือ ความหิว ความโกรธ  ความเหงา และความเหนื่อยล้าที่จะทำให้คุณกลับไปสูบบุหรี่เหมือนเดิมอีกครั้ง

ข้อแนะนำการดูแลสุขภาพด้วยหลักธรรมานามัย สำหรับผู้ที่กำลังจะเลิกสูบบุหรี่ ดังต่อไปนี้

ลดละเลิก ‘บุหรี่’ ด้วยวิถีการแพทย์แผนไทย

เลิกบุหรี่ด้วยหลักกายานามัย คือการดูแลอนามัยของร่างกายโดยการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เช่น การวิ่ง การเดิน หรือว่ายน้ำ ที่จะต้องเหมาะสมกับวัยของแต่ละคน เพื่อให้ได้ผลดีที่สุด และเสี่ยงต่อการบาดเจ็บได้น้อยที่สุด โดยผลการวิจัยพบว่าการลดการสูบบุหรี่ร่วมกับการออกกำลังกาย จะมีประสิทธิภาพมากกว่าการลดบุหรี่เพียงอย่างเดียว ซึ่งอาจใช้การทำท่ากายบริหารฤๅษีดัดตน เพื่อยืดกล้ามเนื้อบริเวณทรวงอก บ่า และหลัง ได้แก่ ท่าแก้แน่นหน้าอก นอกจากนี้ยังมีท่ากายบริหารฤๅษีดัดตนท่าอื่นๆ อีกด้วย

เลิกบุหรี่ด้วยหลักจิตตานามัย คือการดูแลอนามัยของจิต การเลิกบุหรี่อาจทำให้เกิดความเครียด เนื่องจากร่างกายมีการเสพติดสารนิโคติน ดังนั้นควรทำจิตใจให้สงบด้วยการฝึกสมาธิ ปฏิบัติตามหลักศาสนา หรือแนวทางที่ตนยึดถือ เพื่อสร้างพื้นฐานจิตใจให้มั่นคง ไม่กวัดแกว่งต่อกิเลสใด ๆ และยังช่วยให้ผ่อนคลายความเครียด และมีจิตใจที่เข้มแข็งในการเลิกบุหรี่มากขึ้นอีกด้วย รวมถึงการพัฒนาจิตใจควบคู่ไปกับการทำกายบริหารฤๅษีดัดตนยังช่วยในการฝึกสมาธิ และทำให้จิตใจสงบ

เลิกบุหรี่ด้วยหลักชีวิตานามัย คือการดูแลอนามัยในการใช้ชีวิตประจำวันต่างๆ ทั้งด้านการจัดการอาหารการกินให้ถูกต้อง ทำความสะอาดที่พักอาศัยให้เรียบร้อย ใกล้ชิดธรรมชาติ หลีกเลี่ยงมลภาวะ โดยสำหรับผู้ที่ต้องการเลิกบุหรี่ นอกจากการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์แล้ว ยังแนะนำให้รับประทานอาหารหรือผลไม้ที่มีรสเปรี้ยวเพื่อทำให้ชุ่มคอ เช่น มะนาว มะขามป้อม หรืออมดอกกานพลู 2-3 ดอก จะทำให้ชาปากเล็กน้อยเป็นการช่วยลดความอยากบุหรี่ ซึ่งในปัจจุบันมีในรูปแบบของยาอมสมุนไพรรสกานพลู และยังมีสมุนไพรที่ช่วยในการลดความอยากบุหรี่ได้ซึ่งอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติคือ หญ้าดอกขาว

ลดละเลิก ‘บุหรี่’ ด้วยวิถีการแพทย์แผนไทย

โดยวิธีการรับประทานหญ้าดอกขาวเพื่อลดความอยากบุหรี่ มีดังนี้

วิธีที่ 1 นำหญ้าดอกขาวแห้งทั้งต้น จำนวน 2-3 ต้น (3-5 กรัม) เติมน้ำให้ท่วม ต้มจนเดือด จากนั้นกรองเอาแต่น้ำ ดื่มครั้งละ 125 มิลลิลิตร หลังอาหาร เช้า กลางวัน เย็น หรือจิบเมื่อมีความอยากบุหรี่

วิธีที่ 2 นำหญ้าดอกขาวผง 2 กรัม ละลายน้ำร้อน 120-200 มิลลิลิตร ดื่มหลังอาหารวันละ 3-4 ครั้ง ในปัจจุบันนี้ มีผลิตในรูปแบบยาชงสมุนไพร โดยรับประทานครั้งละ 2 ซองชา (2 กรัม)

ข้อควรระวัง : หญ้าดอกขาวมีโพแทสเซียมสูง สำหรับผู้ที่เป็นโรคหัวใจ หรือโรคไต ไม่ควรรับประทาน แนะนำให้หาทางเลือกอื่นในการช่วยเลิกบุหรี่ และอาจมีผลข้างเคียงทำให้มีอาการปากแห้ง คอแห้งได้ แนะนำให้จิบน้ำตามเมื่อมีอาการดังกล่าว

การเลิกบุหรี่จะประสบผลสำเร็จได้หรือไม่ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ทั้งนี้สิ่งสำคัญที่สุดในการเลิกบุหรี่คือความมุ่งมั่นตั้งใจของแต่ละบุคคลโดยเลือกวิธีการที่เหมาะสมมาปรับใช้ในการเลิกบุหรี่ หากมีความสนใจที่จะใช้สมุนไพรในการช่วยลดความอยากบุหรี่ สามารถรับคำปรึกษาได้ที่คลินิกอายุรเวท แพทย์แผนไทยประยุกต์ โรงพยาบาลศิริราช

 

ที่มา : สถานการแพทย์แผนไทยประยุกต์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล / โรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา / สสส.

logoline