svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

เผยอันตรายจากบุหรี่ไฟฟ้า สารพิษเพียบ สุดทึ่งเจอสารไซยาไนด์ในปัสสาวะคนสูบ

09 พฤษภาคม 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

เผยความจริง 8 เรื่องเกี่ยวกับ ‘บุหรี่ไฟฟ้า’แพทย์เผย สารพิษเพียบ เจอ ‘ไซยาไนด์’ ในปัสสาวะคนสูบ ส่วนค่า PM2.5 สูงกว่าเกณฑ์มาตรฐาน 45 เท่า

สถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย (ยท.) ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีเครือข่ายเด็กและเยาวชน จัดเสวนาทางวิชาการเรื่องบุหรี่ไฟฟ้ากับคนรุ่นใหม่ หัวข้อ “รู้ไหมว่าบุหรี่ไฟฟ้าอันตราย” เนื่องในวันงดสูบบุหรี่โลก ประจำปี 2566  

โดยทางด้าน รศ.พญ.เริงฤดี ปธานวนิช ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวถึงเรื่องทำไมบุหรี่ไฟฟ้าไม่ควรถูกกฎหมาย หากมองในมุมมองด้านสุขภาพว่า ยืนยันบุหรี่ไฟฟ้าอันตราย เพราะก็คือบุหรี่ เพียงแต่บริษัทผู้ผลิตเปลี่ยนโฉมใหม่ มีสารพิษเป็นอันตายต่อสุขภาพเป็นพันชนิด มีสารก่อมะเร็ง และสารเคมีอันตรายต่อสุขภาพทั้งโลหะหนักต่างๆ และพบเจอตัวอย่างผู้ป่วยจำนวนมากในต่างประเทศและในประเทศไทยก็มีที่ได้รับผลกระทบจากการสูบบุรหี่ไฟฟ้าเพียงระยะเวลสั้น โดยไปทำลายปอด

เผยอันตรายจากบุหรี่ไฟฟ้า สารพิษเพียบ สุดทึ่งเจอสารไซยาไนด์ในปัสสาวะคนสูบ

" อันตรายของบุหรี่ไฟฟ้า คือ 1. อันตรายต่อสุขภาพผู้สูบ 2.อัตรายต่อคนไม่สูบแต่อยู่ใกล้ 3.เป็นบุหรี่แบบใหม่มาเจาะตลาดทำให้เด็ก เยาวชน ติดสารนิโคติน ที่บุหรี่ไฟฟ้ามีปริมาณสูงกว่าแบบมวน ที่บอกว่าน้อยกว่าบุหรี่ธรรมดา เป็นมายาคติที่ปั้นแต่ง เพราะบุหรี่ไฟฟ้า ก็คือบุหรี่ แต่เป็นบุหรี่ที่เข้ากับยุคเรา ซึ่งจะไปสูบบุหกรี่แบบเดมไหม คงไม่ค่อยมีใครอยากสูบ เพราะรูเว่าอันตราาย กลิ่นเหม็น แต่พอปรับแต่งโฉมใหม่หลายคนก็อยากลอง " รศ.พญ.เริงฤดีกล่าว

เผยอันตรายจากบุหรี่ไฟฟ้า สารพิษเพียบ สุดทึ่งเจอสารไซยาไนด์ในปัสสาวะคนสูบ รศ.พญ.เริงฤดี กล่าวอีกว่า

ผลกระทบต่อสุขภาพ ความจริง 8 ข้อบุหรี่ไฟฟ้าอันตรายไม่ควรถูกกฎหมาย คือ

1.นิโคตินเป็นสารเสพติด บริษัทบุหรี่แต่งคำขึ้นมา พยายามเปรียบเทียบนิโคตินกับสารอื่นอย่างกาเฟอีน ซึ่งจริงๆ นิโคตินมีฤทธิ์เสพติดสูงมากกว่ากาเฟอีนหลายร้อยหลายพันเท่า ขึ้นสู่สมองได้เร็วมาก ไม่เกิน 7 นาที ติดง่ายเลิกยาก และที่กังวลหลายคนไม่รู้ นิโคตินในบุหรี่ไฟฟ้าสูงกว่าบุหรี่มวน บางยี่ห้อสูงกว่าบุหรี่มวน 50 เท่า อันตรายน้อยกว่าจึงไม่น่าจริง ถ้าอายุไม่ถึง 25 ปี สมองยังเติบโตได้ หากมีสารพิษเสพติดเข้าร่างกาย จะไปทำลายการเจริญเติบโตของสมอง เราคงไม่อยากให้เกิดเช่นนั้น โดย 7 ใน 10 จะเลิกนิโคตินไม่ได้ไปตลอดชีวิต

2.บุหรี่ไฟฟ้ามีสารเคมีอันตรายจำนวนมาก บริษัทมักบอกว่าเป็นการสูบไอน้ำ จริงๆ ไม่ใช่ไอน้ำเปล่าธรรมดา แต่เป็นไอสเปรย์ที่มีสารเคมีออกมาจำนวนมาก สารก่อมะเร็ง โลหะหนัก ฝุ่นพิษ PM 2.5 และที่เล็กกว่านั้น บริษัทบอกว่าสารเติมแต่งกลิ่น รสชาติในน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้าเอามาผสมอาหารได้ กินได้ แต่การเอามาสูดดมเข้าคนละช่องทาง ที่กินได้ ไม่ได้แปลว่าสูดดมแล้วจะปลอดภัย สารที่ทำป๊อปคอร์นรสเนย Diacetyl กินก็ไม่เป็นอะไร แต่พอสูดเข้าปอดทำให้ปอดอักเสบรุนแรง

3.ผลต่อปอดระยะสั้นรุนแรงกว่าบุหรี่มวน เพราะบุหรี่มวนสูบระยะสั้นมักไม่ค่อยเห็นป่วยรุนแรง คนป่วยมักอายุมาก สูบมา 20-30 ปี เจอถุงลมโป่งพองหรือมะเร็ง แต่บุหรี่ไฟฟ้าพบแล้วไม่นานหลักเดือน 1-2 ปีก็พบปอดอักเสบรุนแรง หรืออิวาลี

4.ผลระยะยาวยังไม่ทราบ แต่เมื่อผลระยะสั้นยิ่งกว่าบุหรี่ธรรมดา อนุมานได้หรือไม่ว่าจะอันตรายน้อยกว่า ก็คงไม่ได้  เพราะบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่งมีมา 10 กว่าปี แต่เรามีการแพทย์ทันสมัยทำให้พบอันตรายต่อระบบต่างๆ ทั้งปอด หัวใจ โดยกลไกมาจากนิโคติน และสารพิษที่จะเข้าไปสะสม ทำลายการสูบฉีดของหัวใจ เลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ แย่ลง มีงานวิจัยว่าบุหรี่ไฟฟ้าเสี่ยงเกิดโรคหอบหืดและถุงลมโป่งพองเพิ่มขึ้น 2 เท่า

ทำลายเซลล์หลอดเลือดแดง 58% เสี่ยงเกิดหัวใจวายเฉียบพลัน 2 เท่า และน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้าทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะ เกิดโอกาสเสียชีวิตเฉียบพลันได้ นิโคตินทำลายสมองวัยรุ่นที่ยังโตไม่เต็มที่ รวมถึงมะเร็งในคนจากบุหรี่ไฟฟ้ายังไม่เห็น แต่เอาหนูไปทดลอง รับไอบุหรี่ไฟฟ้า 1 ปี 1 ใน 4 หนูทดลองเป็นมะเร็งปอด ในคนจึงต้องติดตามต่อไปยาวกว่านี้ บุหรี่ไฟฟ้าทำลาย DNA ไม่ต่างจากบุหรี่มวน ทำให้เสี่ยงมะเร็ง ทำให้เสี่ยงตาบอดเพิ่ม 2 เท่า

ล่าสุดพบว่า ปัสสาวะคนสูบบุหรี่ไฟฟ้าไปตรวจก็พบสารไซยาไนด์เหมือนกัน เมื่อเทียบกับคนไม่สูบซึ่งระดับไซยาไนด์ในปัสสาวะอยู่ที่ 115.5 แต่คนสูบบุหรี่มวนพบ 343.2 และบุหรี่ไฟฟ้าพบสูงถึง 439.7 นาโนกรัมต่อมิลลิกรัม( ng/mg) คือมีสารพวกนี้ในบุหรี่ไฟฟ้า คนไม่สูบคิดว่ากลิ่นไม่เหม็น อยู่ใกล้ไม่อันตราย แต่การสูบบุหรี่ไฟฟ้าก่อให้เกิดฝุ่นพิษ ฝุ่นPM 2.5 สูงกว่าค่าปกติ 45 เท่า และยังมี PM 1.0 อีกที่มีปริมาณสูง คนรับควันบุหรี่ไฟฟ้าไม่ได้สูบ แต่รับจากคนอื่น เสี่ยงหลอดลมอักเสบเพิ่ม 3 เท่า

5.สารพิษต่างจากบุหรี่ธรรมดา ที่ไม่เคยพบในบุหรี่มวน ถามว่าอันตรายน้อยหรือมากกว่าก็สรุปยาก เพราะสารเคมีคนละตัว นักวิจัยมหาวิทยาลัยจอฟ์นฮอปกินส์ นำเอาบุหรี่ไฟฟ้ามาตรวจมีสารเคมีเกือบ 2 พันชนิดที่ไม่รู้จักและไม่มีในบุหรี่มวนมาก่อน 

6.บุหรี่ไฟฟ้าพุ่งเป้าทำการตลาดไปที่วัยรุ่น เอกสารลับบริษัทบุหรี่บอกฐานธุรกิจของเราคือนักเรียนม.ปลาย หากติดก็จะเป็นลูกค้าระยะยาว เป็นลูกค้าคนสำคัญในวันหน้า การสูบบุหรี่ในวัยรุ่นจึงสำคัญมากกับบริษัทบุหรี่ มีรสชาติต่างๆ เป็นหมื่นชนิด การออกมาเพื่อให้ผู้ใหญ่เลิกสูบคงไม่จริง เพราะมีการออกน้ำยากลิ่นต่างๆ รูปการ์ตูนเป็นของเล่นต่างๆ ที่ดึงดูดเด็ก

 

นอกจากนี้ ยิ่งสูบยิ่งติด เพราะเป็นนิโคตินใหม่ เรียกว่า Nicotine Salts หรือเกลือนิโคติน ที่เปลี่ยนโครงสร้างนิโคตินให้สูบง่ายขึ้น ไม่แสบระคายเคืองคอ สูบง่ายก็ติดง่าย ยิ่งสูบยิ่งติด เป็นกลยุทธ์ในการดัดแปลงให้เด็กและเยาวชนยิ่งติด เด็กไทยที่เริ่มด้วยบุหรี่ไฟฟ้ามีแนวโน้มสูบบุหรี่มวนเพิ่ม 5 เท่า เพราะสูบแล้วไม่ถึง ถือเป็นต้นทาง คล้ายกับเบียร์ 0% ที่ไม่สุดก็ต้องไปดื่มเบียร์จริง เป็นกลยุทธ์เดียวกัน

 

7.บุหรี่ไฟฟ้าไม่ช่วยเลิกบุหรี่ ถ้าช่วยเลิกได้จริง ก็ต้องเลิกสูบบุหรี่ไฟฟ้าได้ บุหรี่ไฟฟ้าจึงไม่ใช้แพลตฟอร์มเลิกบุหรี่ เพราะหันไปติดบุหรี่ไฟฟ้าแทน องค์การอนามัยโลกยืนยันว่าบุหรี่ไฟฟ้าไม่ได้ช่วยเลิกบุหรี่ มีการรีวิวงานวิจัยทั่วโลก 44 ชิ้น สรุปว่าบุหรี่ไฟฟ้าที่ซื้อมาสูบเอง โดยไม่ได้มีแพทย์แนะนำให้สูบ พบว่า สุดท้ายเลิกไม่ได้ และ 

8.บุหรี่ไฟฟ้าเป็นสินค้าผิดกฎหมาย 

เผยอันตรายจากบุหรี่ไฟฟ้า สารพิษเพียบ สุดทึ่งเจอสารไซยาไนด์ในปัสสาวะคนสูบ

บุหรี่ไฟฟ้าผิดกฎหมายในไทย

ด้าน นายไพศาล ลิ้มสถิตย์ กรรมการบริหารศูนย์กฎหมายสุขภาพและจริยศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า บุหรี่ไฟฟ้าจัดเป็นสินค้าต้องห้ามนำเข้ามาในประเทศไทย ตามกฎหมายควบคุม 4 ฉบับ คือ

 

  • ประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้บารากู่ และบารากู่ไฟฟ้า หรือบุหรี่ ไฟฟ้า เป็นสินค้าที่ต้องห้ามนำเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. 2557 ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับเป็นเงิน 5 เท่าของราคาสินค้า หรือทั้งจำทั้งปรับ
  • คำสั่งของคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคที่ 9/2558 เรื่อง ห้ามขายหรือห้ามให้บริการสินค้า “บารากู่ บารากู่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้า หรือตัวยาบารากู่ น้ำยาสำหรับเติมบารากู่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้า” มีความผิดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2562 มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 600,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
  • พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 มาตรา 244 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 500,000 บาท
  • พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2560 มาตรา 4 เพราะน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้ามีนิโคตินเป็นส่วนประกอบ หากสูบในพื้นที่ห้ามสูบตามกฎหมายตามมาตรา 67 จะมีฐานความผิดการห้ามสูบในที่สาธารณะ มีโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท แต่ที่ผ่านมายังมีการลักลอบนำเข้ามาจำหน่ายอย่างต่อเนื่อง สร้างความเสียหายต่อสุขภาพของเด็กและเยาวชนมาตลอด จึงอยากขอความร่วมมือให้กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดและต่อเนื่อง

“สังคมไทยมีข้อถกเถียงเกี่ยวกับประเด็นบุหรี่ไฟฟ้ากับกัญชา ต้องยอมรับว่ากัญชานับเป็นพืชที่สามารถให้ประโยชน์ทางการแพทย์ได้ และการใช้งานกัญชาต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของแพทย์คือ ต้องไม่มีการเอาไปใช้ประโยชน์อย่างเสรีของบุคคลทั่วไป แต่บุหรี่ไฟฟ้ากลับยังไม่สามารถใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์ในมิติต่าง ๆ ได้เลย โดยเฉพาะประเด็นการช่วยเลิกบุหรี่ ขณะนี้ยังไม่มีประเทศใดมีการยื่นขออนุญาตและขึ้นทะเบียนให้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นผลิตภัณฑ์ช่วยเลิกสูบบุหรี่ ตามที่มีการกล่าวอ้าง จึงขอเน้นย้ำประชาชนทุกคนว่าบุหรี่ไฟฟ้าเป็นผลิตภัณฑ์ที่อันตรายไม่แตกต่างจากบุหรี่มวน การสูบบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าก่อให้เกิดการเจ็บป่วยในอนาคตได้” นายไพศาล กล่าว
 

รู้จัก รู้ทันกฎหมาย บุหรี่ไฟฟ้า 

บุหรี่ไฟฟ้า (E - Cigarette) คือ อุปกรณ์สูบบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ชนิดหนึ่ง มีกลไกไฟฟ้าที่ใช้พลังงานแบตเตอรี่ให้ความร้อน ทำให้สารนิโคตินในน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้าที่ประกอบไปด้วยสารเคมีต่างๆ เกิดการระเหย ผู้สูบจึงสูบไอระเหยนั้นเข้าไป และแม้ว่าการสูบบุหรี่ไฟฟ้าจะไม่ทำให้เกิดควันจากการเผาไหม้เหมือนกับบุหรี่ทั่วไป จึงช่วยลดโอกาสเสี่ยงที่จะได้รับสารอันตรายจากการเผาไหม้บางตัวได้ แต่ก็ไม่ได้แปลว่าปลอดภัย 100% เนื่องจากสารเคมีในน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้าก็ยังมีอันตรายต่อผู้สูบอยู่ดี

ทำไมบุหรี่ไฟฟ้าถึงผิดกฎหมาย
สาเหตุที่ทำให้ บุหรี่ไฟฟ้า ผิดกฎหมาย ก็คืออันตรายที่ส่งผลต่อระบบต่างๆ ของร่างกาย โดยเฉพาะอันตรายจากสารเคมีในน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้าที่มีงานวิจัยพบว่าในไอบุหรี่ไฟฟ้ามีสารพิษมากกว่า 100 ชนิด เสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจและมะเร็ง รวมทั้งมีงานวิจัยกว่า 7,000 ชิ้น ที่ยืนยันว่าบุหรี่ไฟฟ้าส่งผลเสียต่อร่างกายอีกด้วย

บุหรี่ไฟฟ้า ในปัจจุบันนี้ เป็นสินค้าที่นิยมในกลุ่มวัยรุ่นยุคใหม่ เนื่องจากน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้ามีตัวเลือกที่หลากหลาย ทำให้มีกลิ่นที่แตกต่างกันออกไป จึงเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คนนิยมสูบบุหรี่ไฟฟ้ากันมากขึ้น ดังนั้นน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้าจึงกลายเป็นสิ่งผิดกฎหมายในไทยไปด้วยเช่นเดียวกัน ซึ่งเป็นไปตามกฎหมายในประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่องกำหนดให้บารากู่และบารากู่ไฟฟ้า หรือบุหรี่ไฟฟ้า เป็นสินค้าที่ต้องห้ามในการเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ.2557

บุหรี่ไฟฟ้า และโทษทางกฎหมาย
ห้ามนำเข้า
“บุหรี่ไฟฟ้า” ถูกจัดว่าผิดกฎหมาย และห้ามนำเข้าประเทศไทยโดยเด็ดขาด ตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ พ.ศ.2557 ภายใต้พระราชบัญญัติการส่งออกไปนอก และการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้า พ.ศ.2522

ปัจจุบัน ผู้ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับเป็นเงิน 5 เท่าของสินค้าที่นำเข้า หรือทั้งจำทั้งปรับ พร้อมถูกริบสินค้า และพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2560 มาตรา 244 ที่บัญญัติว่า “ผู้ใดนำเข้าของที่ผ่าน หรือกำลังผ่านพิธีการทางศุลกากรเข้าในราชอาณาจักร หรือส่งของดังกล่าวออกไปนอกราชอาณาจักร หรือนำของเข้าเพื่อการผ่านแดน หรือการถ่ายลำเลียงโดยหลีกเลี่ยงข้อจำกัด

ห้ามสูบในที่สาธารณะ
หากมีผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้าในสถานที่สาธารณะที่กำหนดให้เป็นเขตปลอดบุหรี่ เช่น ในโรงเรียน โรงพยาบาล ตลาด ถือว่าฝ่าฝืนมาตรา 42 พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ.2560 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท

ห้ามครอบครอง
สำหรับกรณีของผู้ที่ช่วยซ่อนเร้น ซื้อ รับไว้ หรือมีบุหรี่ไฟฟ้าไว้ในครอบครอง ทั้งที่รู้อยู่ว่า บุหรี่ไฟฟ้า เป็นของที่ห้ามนำเข้ามาประเทศไทย ต้องถือว่ามีความผิดเช่นกัน ซึ่งหากถูกจับกุมดำเนินคดีต้องได้รับโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามมาตรา 246 พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2560 ซึ่งมาตรการทางกฎหมายเหล่านี้ของประเทศไทยถือว่าสอดคล้องกับนโยบายและมาตรการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าในหลายประเทศทั่วโลก

ห้ามจำหน่าย
การจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้ามีความผิดฐาน “ฝ่าฝืนคำสั่งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคซึ่งห้ามขาย หรือห้ามให้บริการบารากู่ บารากู่ไฟฟ้า หรือบุหรี่ไฟฟ้า หรือตัวยาบารากู่ น้ำยาสำหรับเติมบารากู่ไฟฟ้า หรือบุหรี่ไฟฟ้า” ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2562 มาตรา 29/9 มาตรา 56/4 และคำสั่งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ที่ 9/2558 ลงวันที่ 28 มกราคม 2558” ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 600,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ขอขอบคุณที่มาข้อมูล : กรมศุลกากร / กระทรวงยุติธรรม / กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ 

logoline