svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สุขภาพ

'อาหาร' กับ 'โรคมะเร็ง' สัมพันธ์กันอย่างไร?

15 กุมภาพันธ์ 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

อาหารปิ้งย่างไหม้เกรียม เชื้อราที่ปะปนในอาหาร เป็นตัวการ “ก่อมะเร็ง” จริงหรือ? แล้วคนเป็นมะเร็ง “ห้ามกินเนื้อสัตว์" ควรเลือกกินเฉพาะอาหารมังสวิรัติถูกหรือไม่? ปัญหาเหล่านี้มีคำตอบ

มีข้อมูลมากมายในโลกออนไลน์ แนะนำอาหารสำหรับผู้ป่วยมะเร็งเพื่อลดอาการของโรค บางข้อมูลแนะนำให้เลือกรับประทานอาหารเพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดมะเร็ง ซึ่งความจริงแล้วอาหารกับโรคมะเร็งสัมพันธ์กันอย่างไรนั้น  รศ.นพ.เอกภพ สิระชัยนันท์ หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศด้านโรคมะเร็ง คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายเรื่องอาหารมีผลในการป้องกันไม่ให้เกิดโรคมะเร็งหรือไม่ ยืนยันว่า อาหารที่ทำให้เกิดความเสี่ยงมะเร็งได้สูงขึ้นนั้นมีจริง เช่น

  1. อาหารปิ้งย่างไหม้เกรียม กลุ่มนี้มีการพิสูจน์แล้วว่าสัมพันธ์กับโรคมะเร็งบางโรค เช่น มะเร็งกระเพาะอาหาร ซึ่งพบว่า คนที่ชอบรับประทานอาหารไหม้จะพบโรคมะเร็งกระเพาะอาหารได้มากขึ้น
  2. เชื้อราที่ปะปนในอาหาร อย่างเชื้อราอะฟลาทอกซิน (aflatoxin) ที่อยู่ในอาหารแห้ง ถั่วแห้ง ก็มีความสัมพันธ์กับโรคมะเร็งตับ คนที่รับประทานอาหารหรือผลิตภัณฑ์ที่มีเชื้อรานี้มากๆ ก็เสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งตับได้

"อาหารจะเกี่ยวข้องกับมะเร็งบางอย่าง แต่ไม่ใช่ทุกโรค ส่วนคนที่ทานเนื้อสัตว์มากจะเป็นมะเร็งหรือไม่นั้น ยังไม่มีข้อพิสูจน์ที่ชัดเจน หากจะงดเนื้อสัตว์เพื่อไม่ให้เป็นมะเร็ง งดกับไม่งดยังไม่ต่างกันมาก สำหรับความเชื่อที่ว่า รับประทานอาหารที่มีกากใยมากขึ้น ผัก ผลไม้ จะช่วยลดการเกิดมะเร็งได้มากขึ้น ก็ยังไม่ชัดเจนเช่นกัน ยังพิสูจน์ได้ยาก การคุมอาหารเพื่อลดการเกิดมะเร็งจึงยังไม่ค่อยได้ประโยชน์มาก ในแง่ของการป้องกัน"

อาหารในผู้ป่วยมะเร็งสำคัญอย่างไร?

ในส่วนผู้ที่เป็นมะเร็งแล้วและกำลังทำการรักษา ทั้งการรักษาแบบเคมีบำบัด (คีโม) ผ่าตัด หรือฉายแสง มักมีการอักเสบหรือการสูญเสียเนื้อเยื่อเกิดขึ้น ผู้ป่วยจึงจำเป็นที่จะต้องได้รับสารอาหารอย่างครบถ้วนและเพียงพอเพื่อซ่อมแซมร่างกาย ผู้ป่วยที่ได้รับสารอาหารไม่เพียงพออาจส่งผลให้ร่างกายฟื้นตัวช้าแ ละทำให้การรักษามะเร็งไม่ได้ผลที่ดีตามควร ดังนั้น อาหารจึงเป็นส่วนเสริมที่สำคัญเพื่อที่ผู้ป่วยจะสามารถรับการรักษามะเร็งจนครบได้

ความเชื่อว่าต้องเลือกรับประทานอาหาร มะเร็งจะได้ขาดอาหารแล้วตาย จึงไม่เป็นความจริง เนื่องจากเซลล์มะเร็งก็เป็นเซลล์ของร่างกายเหมือนกัน เพียงแต่มันมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น ยีนต่างๆ เปลี่ยนเป็นเซลล์มะเร็ง มีความต้องการอาหาร ต้องการอากาศเหมือนกัน ไม่ต่างกับเซลล์ปกติ ดังนั้น ถ้างดอาหาร เซลล์ปกติหรือร่างกายก็จะขาดอาหารไปด้วย การอดอาหารจึงไม่ได้ทำให้เซลล์มะเร็งโตช้าลง เพราะมะเร็งมีความสามารถในการแบ่งตัวและการเจริญเติบโตด้วยตัวมันเอง แม้เราจะไม่ให้อาหารเลย มะเร็งก็ไปแย่งอาหารจากร่างกายเรา

\'อาหาร\' กับ \'โรคมะเร็ง\' สัมพันธ์กันอย่างไร?

เรามักสังเกตเห็นผู้ป่วยมะเร็งมีร่างกายซูบผอม ส่วนหนึ่งเพราะงดอาหาร ซึ่งการงดอาหารในการรักษามะเร็งไม่ได้ช่วย นอกจากไม่มีประโยชน์แล้วยังมีโทษ สภาพร่างกายทั่วไปจะผอมลง เวลาได้รับเคมีบำบัดจะมีผลข้างเคียง และต้องฟื้นตัวเพื่อให้ร่างกายแข็งแรง ทันเวลาที่จะรับเคมีบำบัดรอบต่อไป หากได้รับอาหารไม่เต็มที่ ร่างกายผู้ป่วยจะฟื้นตัวช้า การได้ยา รับการรักษาก็จะไม่เต็มที่ตามแผนการที่วางไว้ ประสิทธิภาพการรักษาก็จะแย่ลง การไม่รับประทานเนื้อสัตว์หรือเนื้อวัว จึงไม่มีผลทั้งในแง่ของการป้องกันและรักษามะเร็ง ทั้งนี้ การศึกษาในประเทศอังกฤษยังพบว่า คนไข้มะเร็งเต้านมในกลุ่มที่ทานเนื้อสัตว์รักษาตัวได้ดีกว่ากลุ่มที่งดทานเนื้่อสัตว์

น้ำเต้าหู้กับผู้ป่วยโรคมะเร็ง

สำหรับคำถามที่ว่า คนที่เป็นมะเร็งเต้านมควรดื่มน้ำเต้าหู้หรือไม่นั้น รศ.นพ.เอกภพ อธิบายว่า ฮอร์โมนนั้นมีความสัมพันธ์กับมะเร็ง ฮอร์โมนเพศชายก็จะเกี่ยวข้องกับมะเร็งต่อมลูกหมาก ส่วนฮอร์โมนเพศหญิงก็จะเกี่ยวข้องกับมะเร็งเต้านมในผู้หญิง การรักษาจึงต้องใช้ยาต้านฮอร์โมนด้วย เพื่อลดการสร้างฮอร์โมนในร่างกาย ส่งผลให้ตัวโรคตอบสนองดีขึ้น การเลือกรับประทานอาหารบางประเภท เช่น ในน้ำเต้าหู้ ผลิตภัณฑ์ทำจากถั่วเหลืองซึ่งมี "สารไฟโตเอสโตรเจน" เอสโตรเจนจากพืชหรือฮอร์โมนเพศหญิงในร่างกาย อาจไปกระตุ้นเซลล์มะเร็งเต้านมในร่างกายคนไข้ได้นั้น ข้อมูลตรงนี้ยังไม่มีข้อพิสูจน์ทางผลวิจัย ทั้งกรณีที่จะทำให้เซลล์มะเร็งโตขึ้น หรือมีผลรบกวนต่อเอสโตรเจนในร่างกายคนไข้จนเซลล์มะเร็งฝ่อลง เรื่องนี้ยังไม่มีข้อสรุป เป็นไปได้ทั้งข้อดีและข้อเสีย หากคนไข้รู้สึกไม่สบายใจก็ไม่ควรรับประทาน

\'อาหาร\' กับ \'โรคมะเร็ง\' สัมพันธ์กันอย่างไร?

อาหารประเภทใดที่ผู้ป่วยมะเร็งควรกิน-ควรหลีกเลี่ยง?

นายแพทย์วรเศรษฐ์ สายฝน คลินิกโรคมะเร็ง ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก มหาวิทยาลัยมหิดล แนะนำให้ผู้ป่วยมะเร็งกินอาหารที่สุก สะอาด มีประโยชน์ ครบ 5 หมู่ โดยเน้นโปรตีนทั้งจากพืช และสัตว์ ควรเลือกกินเนื้อสัตว์ที่ปรุงสุก ไม่ติดมัน ผู้ป่วยสามารถกินอาหารทะเลที่ปรุงสุกแล้วได้ เพิ่มการกินผัก ผลไม้ แต่ต้องปอกเปลือก ล้างให้สะอาด ในผู้ป่วยที่กินมังสวิรัติ ควรกินโปรตีนจากไข่ หรือนมเพิ่มเติม และที่สำคัญคือต้องดื่มน้ำให้เพียงพอ

ในส่วนอาหารประเภทที่ผู้ป่วยมะเร็งควรหลีกเลี่ยง ได้แก่ อาหารหมักดอง อาหารไม่สด ไม่สะอาด อาหารทิ้งไว้ข้ามคืน ในช่วงได้รับการรักษา งดกินผักสด ผลไม้เปลือกบางที่กินทั้งเปลือก เช่น องุ่น ชมพู่ ซึ่งนอกจากเรื่องของอาหารแล้วควรเลิกแอลกอฮอล์ เลิกสูบบุหรี่โดยเด็ดขาด

 

 

 

 

logoline