svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ต่างประเทศ

อินเดียร้อนเป็นไฟหลังเหตุ 'อัปยศ' ที่มณีปุระ

21 กรกฎาคม 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

กลุ่มชายชาวเมเตในอินเดีย จับผู้หญิง 2 คน เปลือยกายเดินประจานก่อนรุมข่มขืน และเผยแพร่คลิปสู่โซเชียลมีเดีย ได้จุดกระแสการประท้วงในรัฐมณีปุระและกรุงนิวเดลี ขณะที่นายกรัฐมนตรีโมดีกล่าวหลังจากเกิดเหตุการณ์มาแล้ว 2 เดือนว่า "จะไม่มีการละเว้นผู้กระทำความผิด"

"จำนวนคนที่ก่ออาชญากรรมมีไม่กี่คน แต่มันหยามคนทั้งประเทศ 1,400 ล้านคน ที่กำลังรู้สึกอับอาย"
(The number of people who have committed this crime are (few) but it is an insult to the whole country. 1.4 billion countrymen are feeling ashamed) 

นี่คือคำพูดของนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ของอินเดีย ที่เรียกเหตุการณ์อัปยศในรัฐมณีปุระ จากการที่ม็อบชายฉกรรจ์ชาวเมเต (Meitei) จับหญิงสาวชาวกูกิ (kuki-zo) 2 คน เปลือยกายเดินประจานบนถนนและกระทำอนาจารตลอดทาง ก่อนถูกลากลงไปรุมข่มขืนในทุ่งข้างทาง หลังจากคลิปวิดีโอถูกเผยแพร่ทางโซเชียลมีเดีย ได้จุดกระแสการประท้วงทั้งในรัฐมณีปุระและกรุงนิวเดลี ขณะที่อินเดียถูกมองว่าไม่สามารถสลัดภาพของการเป็นประเทศที่ครองสัดส่วนตัวเลขอาชญากรรม ที่เกี่ยวข้องกับการข่มขืนในอัตราที่สูงได้ 

รัฐมณีปุระ ซึ่งมีประชากร 3.7 ล้านคน มีชายแดนติดกับเมียนมา และตกอยู่ท่ามกลางความไม่สงบมานานกว่า 2 เดือน จากการปะทะกันระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์เมเตที่นับถือศาสนาฮินดู และเป็นประชากรส่วนใหญ่ของรัฐ กับชาวกูกิ-โซ ที่เป็นคริสเตียน ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 100 คน พลัดถิ่นกว่า 60,000 คน ส่วนเหตุการณ์อัปยศล่าสุด เกิดขึ้นเมื่อ 4 พฤษภาคม 2566 แต่ ส.ส. หลายคน ได้ขัดจังหวะการประชุมรัฐสภาเมื่อวันพฤหัสบดี (20 กรกฎาคม 2566) ด้วยการเรียกร้องให้มีการอภิปรายในประเด็นนี้ 

อินเดียร้อนเป็นไฟหลังเหตุ \'อัปยศ\' ที่มณีปุระ

นายกรัฐมนตรีโมดี ซึ่งให้ความเห็นเป็นครั้งแรกหลังเกิดเหตุมานานกว่า 2 เดือน กล่าวว่า

"ในประเทศนี้ ไม่ว่ามุมใดของประเทศ ไม่ว่ารัฐบาลระดับรัฐใดก็ตามที่อยู่เหนือการเมือง การบังคับใช้กฎหมายและความสงบเรียบร้อยมีความสำคัญ รวมถึงการให้ความเคารพต่อผู้หญิง และผมต้องการสร้างความมั่นใจให้แก่คนในชาติว่า จะไม่มีการละเว้นผู้กระทำความผิด กฎหมายจะดำเนินไปทีละขั้นตอนอย่างเข้มแข็ง อะไรก็ตามที่เกิดขึ้นกับ 'บุตรีแห่งมณีปุระ' จะไม่มีวันได้รับการอภัย"

อินเดียร้อนเป็นไฟหลังเหตุ \'อัปยศ\' ที่มณีปุระ

แม้แต่นายดีวาย. จันทราชุด ผู้พิพากษาสูงสุด ก็ออกมาแสดงความกังวลต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยกำชับให้รัฐบาลแจ้งต่อศาลสูงสุดว่า จะดำเนินการกับผู้กระทำผิดอย่างไร โดยบอกว่า

"ตามรัฐธรรมนูญในระบอบประชาธิปไตย ถือเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ ถ้าหากรัฐบาลไม่ดำเนินการ เราจะลงมือเอง"
(In a constitutional democracy it is unacceptable. If the government does not act, we will)

สภาผู้นำชนเผ่าพื้นเมือง (ITLF) ออกแถลงการณ์ระบุว่า เหตุการณ์นี้สืบเนื่องมาจากเหตุการณ์เผาหมู่บ้านแห่งหนึ่งในเขตคังปกปี และหญิงทั้ง 2 คน ถูกฉุดมาจากหมู่บ้านนี้ และพบว่ายังมีผู้ชาย 2 คน ที่เป็นสมาชิกในครอบครัวของพวกเธอถูกสังหารด้วย 

อินเดียร้อนเป็นไฟหลังเหตุ \'อัปยศ\' ที่มณีปุระ

ปัจจุบันผู้หญิงทั้ง 2 คน อยู่ในสถานะที่ "ปลอดภัย" ที่ค่ายผู้ลี้ภัย แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ากลุ่มชาติพันธุ์เดียวกันกับพวกเธอจะได้รับความปลอดภัย ตราบใดที่ชาวเมเตยังคงมี "สถานะพิเศษ" ที่สามารถซื้อที่ดินบนภูเขา ที่ประชากรกูกิ-โซ อาศัยอยู่ได้ ทั้งยังได้เปรียบในเรื่องการทำงานในภาครัฐด้วย 

อินเดียร้อนเป็นไฟหลังเหตุ \'อัปยศ\' ที่มณีปุระ

นายมัลลิการ์จุน คาร์จ ประธานพรรคฝ่ายค้าน "คองเกรสส์" ได้กล่าวโทษพรรครัฐบาลชาตินิยมฮินดู "ภาราติยะ ชนตะ" ว่า เปลี่ยนประชาธิปไตยและหลักนิติธรรมไปสู่การเป็น Mobocracy หรือ "กฎหมู่" ที่หมายถึงยอมให้มวลชน (ฮินดู) เป็นใหญ่ 

ปัญหาในรัฐมณีปุระกำลังถูกจับตาชาวโลก โดยเมื่อสัปดาห์ที่แล้วรัฐสภายุโรปได้ลงมติ เรียกร้องให้รัฐบาลอินเดีย ดำเนินการเพื่อยุติความรุนแรงในมณีปุระ และปกป้องกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ โดยเฉพาะชาวคริสเตียน แต่กระทรวงต่างประเทศอินเดียได้ตอบโต้กลับ ด้วยการตำหนิว่าเป็นการ "แทรกแซงกิจการภายใน" ของอินเดีย

อินเดียร้อนเป็นไฟหลังเหตุ \'อัปยศ\' ที่มณีปุระ

logoline