svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเงิน-การลงทุน

รัฐลุยไฟเดินหน้า "ดิจิทัลวอลเล็ต" เช็กเงื่อนไขใครได้ใครอด

14 พฤศจิกายน 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

เมาท์กันสนั่นเมืองหลังจาก “นายกรัฐมนตรี” เปิดเงื่อนไขรายละเอียดโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งก็มีหลากหลายแง่มุมทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย แต่ในวันนี้ “เนชั่นออนไลน์” พามาอัปเดตข้อมูล หลักเกณฑ์เบื้องต้นอะไรใช้ได้-ไม่ได้บ้าง-เริ่มโครงการเมื่อไหร่

สิ้นสุดการรอคอย หลังจาก “เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรีออกแถลงการณ์ประกาศข่าวดีกับประชนทั่วประเทศ เกี่ยวกับ “โครงการ Digital Wallet" ที่ไม่ใช่แค่ความฝัน แต่กำลังเป็นความจริง โดยคลอดเกณฑ์โครงการเบื้องต้นเรียบร้อยแล้ว หวังกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศในระยะสั้น

ซึ่งมีประชาชนทุกภาคส่วนเป็นกลไกที่สำคัญ ผ่านการบริโภคและการลงทุน วางโครงสร้างพื้นฐานเพื่อนำไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัล และ E-Government ซึ่งเป็นการวางและแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างของประเทศในระยะยาว พร้อมตอกย้ำโครงการจะไม่ทำให้เกิดเงินเฟ้อตามที่หลายฝ่ายกังวล เพราะสถานการณ์เงินเฟ้อในปัจจุ บันของไทยอยู่ในสภาวะที่ต่ำ  

สำหรับแหล่งเงินที่จะนำมาใช้ดำเนินโครงการ ก็เป็นไปตามที่หลายได้ฝ่ายคาดการณ์และคัดค้านท้วงติง มาโดยตลอด นั่นคือการออกพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) กู้เงิน 500,000 ล้านบาท ซึ่งนายกรัฐมนตรีการันตีว่า มีความโปร่งใส เป็นไปตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ และอยู่ภายใต้การตรวจสอบถ่วงดุลในระบบรัฐสภา ซึ่งมั่นใจว่าจะได้รับการอนุมัติโดยรัฐสภา

โดยพ.ร.บ.การกู้เงินดังกล่าว จะระบุวัตถุประสงค์ของการกู้เงิน ระยะเวลาในการกู้เงิน แผนงานหรือโครงการที่ใช้จ่ายเงินกู้ วงเงินที่อนุญาตให้ใช้จ่ายเงินกู้ของหน่วยงานต่าง ๆ  ส่วนเงินที่เหลืออีก 100,000 ล้านบาทมาจากงบประมาณรายจ่ายปี 67 ระยะยาวใช้เงินเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และไม่ต้องห่วงเรื่องของการใช้เงินคืน เพราะรัฐบาลจะมีแผนจัดสรรเงินงบประมาณมา เพื่อจ่ายคืนเงินส่วนที่เป็นเงินกู้ตลอดระยะเวลา 4 ปี

รัฐลุยไฟเดินหน้า \"ดิจิทัลวอลเล็ต\" เช็กเงื่อนไขใครได้ใครอด

สำหรับหลักเกณฑ์ เงื่อนไขเบื้องต้น และการใช้จ่ายอะไรได้บ้างนั้น “เนชั่นออนไลน์” ได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับเงินดิจิทัล 10,000 บาทมาฝากกัน 

เงินบาทดิจิทัล 10,000 บาทคืออะไร

เงินบาทดิจิทัล หรือ เงินดิจิทัล มีชื่อทางการว่า  Central Bank Digital Currency (CBDC) หรือ Digital Currency Electronic Payment (DCEP) ซึ่งออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. โดยในเบื้องต้นนั้น เงินดิจิทัลนี้จะถูกสร้างขึ้นมาด้วยเทคโนโลยี Blockchain ที่สามารถใช้จ่ายได้โดยผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัล หรือ Digital Wallet  

เงินดิจิทัลที่แจกจะเป็นเหรียญ (คูปอง) ในรูปแบบบล็อกเชนที่เท่ากับเงินบาท ไม่สามารถแลกเปลี่ยนกับเหรียญอื่นได้ สามารถใช้ซื้อสินค้าและบริการได้กับร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการเท่านั้น  

เงินดิจิทัล 10,000 บาท ใครมีสิทธิได้รับบ้าง 

  • กลุ่มเป้าหมายประชากร 50 ล้านคน 
  • อายุ 16 ปีขึ้นไป  
  • รายได้ไม่เกิน 70,000 บาทต่อเดือน 
  • เงินฝากรวมทุกบัญชีไม่เกิน 500,000 บาท 

 

ขั้นตอนการรับเงินดิจิทัล

  • รัฐบาลจะใส่เงิน 10,000 บาทลงกระเป๋าดิจิทัลผ่าน แอปเป๋าตัง 
  • ประชาชนผู้มีสิทธิสามารถใช้ภายในอำเภอตามบัตรประชาชน 
  • เมื่อได้รับสิทธิ จะต้องใช้เงินครั้งแรกภายใน 6 เดือน  
  • โครงการจะสิ้นสุดในเดือนเมษายน 2570  
  • ไม่สามารถโอนให้ผู้อื่นหรือแลกเป็นเงินสดได้ 
  • ต้องลงทะเบียนเพื่อรับสิทธิ์  
  • ใช้สำหรับการซื้อของอุปโภค- บริโภคเท่านั้น 


เงื่อนไขการใช้งาน เงินดิจิทัล 10,000 บาท  

ไม่สามารถซื้ออะไรได้บ้าง 

  • สินค้าออนไลน์ 
  • สิ่งของอบายมุข เช่น เหล้า บุหรี่ ผลิตภัณฑ์ยาสูบ กัญชา กระท่อม พืชกระท่อม และผลิตภัณฑ์จากกัญชาและพืชกระท่อม 
  • บัตรกำนัล หรือ บัตรเงินสด  
  • เพชร พลอย ทองคำ อัญมณี 

ไม่สามารถชำระอะไรได้บ้าง 

  • ชำระหนี้  
  • ค่าน้ำ  
  • ค่าไฟ 
  • ค่าโทรศัพท์  
  • ค่าน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ 
  • ค่าเทอม หรือ ค่าเรียน 

 

รัฐลุยไฟเดินหน้า \"ดิจิทัลวอลเล็ต\" เช็กเงื่อนไขใครได้ใครอด

ไทม์ไลน์การเริ่มใช้เงินดิจิทัลวอลเล็ต 

  • มีนาคม 2567 : ลงทะเบียน ยืนยันใช้สิทธิ โดยยึดตามอำเภอของทะเบียนบ้าน
  • พฤษภาคม-มิถุนายน 2567 : เริ่มใช้เงินครั้งแรก
  • ตุลาคม-พฤศจิกายน 2567 : ระยะเวลาสิ้นสุดการใช้เงินของประชาชน
  • เมษายน 2570 : ระยะเวลาสิ้นสุดการใช้เงินของร้านค้า

 

ร้านค้าที่จะเข้าร่วมโครงการ "เงินดิจิทัล 10,000 บาท"

  • ร้านค้าไม่ต้องจด VAT  
  • ร้านค้ารถเข็น ร้านโชว์ห่วย ร้านค้าที่อยู่บนแอพเป๋าตัง ใช้ได้หมด แต่ต้องมีการลงทะเบียนรับสิทธิ และร้านค้าที่จะขึ้นเงินได้ต้องอยู่ในระบบภาษีเท่านั้น

กรณีที่ไม่ได้รับสิทธิ "เงินดิจิทัล 10,000 บาท" สามารถร่วมโครงการ e-Refund  

  • โครงการ  e-Refund เริ่มตั้งแต่เดือนมกราคม 2567 เป็นต้นไป 
  • ประชาชนที่ไม่ได้รับสิทธิ "เงินดิจิทัล 10,000 บาท" สามารถเข้าร่วมโครงการ e-Refund โดยสามารถลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลจากการซื้อสินค้าและบริการมูลค่าไม่เกิน 50,000 บาท  โดยให้ใบกำกับภาษี มาประกอบการยื่นภาษีบุคคล และรัฐจะคืนเงินภาษีให้  
  • สินค้าและบริการที่ประชาชนซื้อ จะต้องมาจากร้านค้าที่อยู่ในระบบภาษีที่ออกใบกำกับภาษีในรูปแบบอิเลกทรอนิกส์เท่านั้น  

    ข้อสังเกตของเงินดิจิทัล  
  • ความเสี่ยงเกิดเงินเฟ้อ  เนื่องจากเป็นการอัดฉีดเงินทำให้เงินในระบบเพิ่มขึ้น โดยอุปสงค์ในตลาดจะเพิ่มสูงขึ้น  ขณะที่อุปทานและปัจจัยการผลิตเท่าเดิม ซึ่งจะทำให้ราคาสินค้าเพิ่มสูงขึ้นเกิดภาวะเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้นทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทยหรือธปท.อาจต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เพื่อป้องกันภาวะเงินเฟ้อรุนแรงที่อาจนำไปสู่วิกฤตเศรษฐกิจ
  •   ที่มาของเงินก็คือการตรากฎหมายพิเศษ “กู้เงิน” 500,000 ล้านบาท ไม่ใช่การบริหารระบบงบประมาณและระบบภาษีตามที่แจ้ง กกต. ไว้เมื่อปลายเดือนเม.ย.2566  
  •  ปัญหาต่อไปก็ต้องดูว่ากฎหมายพิเศษที่ว่านี้จะเข้าเงื่อนไขตามกฎหมายวินัยการเงินการคลังมาตรา 53 หรือไม่อย่างไร เบื้องต้น ก็ต้องดูว่ากฤษฎีกาจะให้ความเห็นอย่างไร
  • หนี้สาธารณะต่อจีดีพีสูงขึ้น 4% จากระดับหนี้สาธารณะของไทยจะอยู่ที่ประมาณ 62 % ต่อจีดีพีเป็น 64% ต่อจีดีพี แต่ยังเหลือช่องว่างที่จะกู้ได้อีก 8% หรือราว 1.3 ล้านล้านบาท 


เมื่อรัฐบาลประกาศแผนโครงการชัดเจนออกมาอย่างนี้แล้ว ก็คงต้องนับวันรอและติดตามดูว่า เงินดิจิทัลวอลเล็ต จะถูกโอนเข้าสู่กระเป๋าอิเล็กทรอนิสก์ของประชาชนกลุ่มเป้าหมาย ได้ตามกำหนดที่วางไว้หรือไม่ หรือจะมีเหตุให้สะดุดต้องเลื่อนออกไปอีก


เพราะยังมีจุดสกัดด้านข้อกฎหมายอีกหลายด่านให้ต้องตีความและพิจารณาอยู่เช่นกัน ยังไม่นับรวมถึงแรงกระเพื่อมของฝ่ายคัดค้าน ที่จะกลับมาดังขึ้นอีกแน่นอน ซึ่งจะเป็นบทพิสูจน์ของรัฐบาล “เศรษฐา” ว่า นอกจากคิดใหญ่ทำเป็น ตามสโลแกนแล้ว พอเอาเข้าจริง จะคิดได้และทำได้หรือไม่ ! ...

logoline