svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

กางแผนรับมือ "พะยูนอพยพ" ป้องสูญพันธุ์ หลังพบตายต่อเนื่อง

เครือข่ายประมงพื้นบ้าน 6 จว.อันดามัน นัดถกด่วน รับมือ "พะยูนอพยพ" จากทะเลตรัง ไปหากินในพื้นที่ 5 จว.ฝั่งอันดามันที่เหลือที่มีหญ้าทะเล เพื่อเร่งหาทางออกไม่ให้ตายเพิ่ม ป้องสูญพันธุ์ หลังสูญเสีย "ดุหยง" ต่อเนื่องทั้งในกระบี่ และพังงา พร้อมเปิดแผนรับมือวิกฤต

เมื่อช่วงหลายวันที่ผ่านมา หลายคนคงอาจผ่านตาจากในโลกออนไลน์ หรือได้เห็นข่าว เกี่ยวกับการสูญเสีย "พะยูน" หรือ "น้องหมูน้ำ" หรือที่ชาวบ้านเรียก "ดุหยง" (Duyoung) 4 ตัวภายในเวลาเพียงแค่ 5 วัน จากสถานการณ์ดังกล่าว ทำให้หลายฝ่ายแสดงความเป็นห่วง พร้อมเร่งออกมาตรการดูแล 

"เนชั่นทีวี" ขอพาไปดูวิกฤตพะยูน พร้อมส่องแผนรับมือจากทั้งหน่วยงานภาครัฐ และภาคประชาชน มีอะไรบ้าง ที่เราพอจะช่วยเจ้าหมูน้ำได้บ้าง

"อ.ธรณ์" เผย 5 วัน พะยูนตาย 4 ตัว ชี้คือ "เหตุฉุกเฉินสูงสุด"

ย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ (11 พ.ค. 2567) ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม และอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Thon Thamrongnawasawat ระบุ 5 วัน พะยูนตาย 4 ตัว กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง, กรมอุทยานฯ, คณะวิกฤตหญ้าทะเล/พะยูน เร่งออกมาตรการดูแล

คณะทำงานพบว่า พะยูนส่วนใหญ่ผอม ชั้นไขมันลด เริ่มมีโรคเรื้อรัง ที่เกยตื้นมีน้ำหนักอาหารน้อยกว่า 1% (ปรกติ 3%) ทีมงานจึงได้สำรวจทั้งหญ้าทะเล พะยูน เส้นทางสัญจรทางน้ำ ก่อนนำทุกอย่างมาทำเป็น "แผนที่ช่วยพะยูน" โดยในแผนที่แบ่งเป็น 3 ระดับความเสี่ยง เช่น ห้ามสัญจร ลดความเร็ว ฯลฯ โดยจะมีการใช้ทั้งพื้นที่ในเขตอุทยานฯ และนอกเขตอุทยานฯ เป็นการทำงานที่เร่งด่วนทันเหตุการณ์สุดๆ

ผศ.ดร.ธรณ์ ระบุด้วยว่า หวังว่าเมื่อมีการประกาศใช้ออกมา ทุกคนจะให้ความร่วมมือ และมีการทำทุ่นบอกเขต ตลอดจนการลาดตระเวนดูแลจริงจัง สถานการณ์ 5 วัน 4 ตัว คือ เหตุฉุกเฉินสูงสุด Red Alert

เท่าที่จำได้ ไม่เคยมีครั้งไหนที่พะยูนตายถี่ๆ แบบนี้ หวังว่ากระทรวงทรัพยากรฯ จะทุ่มเทสรรพกำลังและงบประมาณเพื่อช่วยให้ได้ คนไทยรักพะยูน ไม่อยากให้พวกเธอที่อพยพทิ้งบ้านมา ต้องเดินทางมาสู่อันตราย และมีความตายรออยู่
ภาพจากเฟซบุ๊ก Thon Thamrongnawasawat

เครือข่าย 6 จังหวัดอันดามัน นัดถกด่วน รับมือ "พะยูนอพยพ" ป้องสูญพันธุ์

20 พ.ค. 67 ที่มูลนิธิอันดามัน ต.ควนปริง อ.เมือง จ.ตรัง สมาคมเครือข่ายรักเลอันดามัน 6 จังหวัด ประกอบด้วย จ.สตูล ตรัง กระบี่ พังงา ภูเก็ต และระนอง นำโดยนายอาหลี ชาญน้ำ นายกสมาคมฯ นายอะเหร็น พระคง นายกสมาคมประมงพื้นบ้านจ.ตรัง และผู้แทนจากเครือข่ายประมงทั้ง 6 จังหวัด นัดถกด่วนเกี่ยวกับปัญหาการอพยพของพะยูนจากทะเลตรัง อันเนื่องมาจากปัญหาหญ้าทะเลเสื่อมโทรม ทำพะยูนมีอาหารไม่เพียงพอ ส่งให้เกิดการย้ายถิ่นไปหาแหล่งหากินใหม่ และกลายเป็นต้องไปเผชิญกับอันตรายรอบตัวที่จะถูกคร่าชีวิตได้ตลอดเวลา 
กางแผนรับมือ \"พะยูนอพยพ\" ป้องสูญพันธุ์ หลังพบตายต่อเนื่อง
โดยเฉพาะจากปัญหาเครื่องมือประมงที่เป็นอันตรายต่อชีวิต และภัยคุกคามจากการเดินเรือ โดยขณะนี้พบพะยูนเพิ่มขึ้นในอีก 5 จังหวัดที่ดังกล่าว และเริ่มพบซากมากขึ้นใน จ.กระบี่ ,พังงา ทำให้เครือข่ายประมงพื้นบ้าน ซึ่งที่ผ่านมาร่วมกันทำงานด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทางทะเลมาโดยตลอด และมองว่าพะยูนเป็นทรัพยากรสำคัญของทะเลอันดามันที่ทุกคนจะต้องช่วยกันดูแลปกป้องรักษาชีวิตให้คงอยู่กับธรรมชาติทะเลอันดามันตลอดไป และเป็นสิ่งบ่งชี้ถึงความอุดมสมบูรณ์ของทะเลฝั่งอันดามัน โดยในวันนี้มีตัวแทนจากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) เข้าร่วมให้ข้อมูลสถานการณ์ของพะยูนในปัจจุบัน และร่วมถกหาทางป้องกันร่วมกันด้วย มีกำหนดประชุม 2 วัน คือ วันที่ 20-21 พ.ค.67 นี้ 

กางแผนรับมือ \"พะยูนอพยพ\" ป้องสูญพันธุ์ หลังพบตายต่อเนื่อง
ด้าน นายภาคภูมิ วิธานติรวัฒน์ ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิอันดามัน จังหวัดตรัง บอกว่า การอพยพของพะยูนออกจากทะเลตรังไปยังจังหวัดใกล้เคียงฝั่งอันดามัน ทั้งที่ เกาะลันตา และอ่าวพังงา และพบมีการตายเกิดขึ้น จากสาเหตุถูกใบพัดเรือ และถูกเครื่องมือประมง ทางเครือข่ายชุมชนชายฝั่งอันดามัน จึงรู้สึกวิตกกังวลเป็นอย่างมากว่าพะยูนซึ่งเป็นสัตว์สำคัญของฝั่งทะเลอันดามันจะตายเพิ่มขึ้น ทางเครือข่ายอันดามันจึงทำข้อเรียกร้องไปยังชุมชนชายฝั่งต่างๆ ให้ช่วยกันสอดส่องดูแลเฝ้าระวังพะยูน รวมทั้งกำหนดมาตรการที่จะมีผลกระทบกับพะยูน เช่น บริเวณพื้นที่การทำประมง เครื่องมือประมง ความเร็วของเรือ เส้นทางการเดินเรือ เป็นต้น โดยจะถกกันเพื่อนำไปดำเนินการในแต่ละจังหวัดต่อไป 

ทั้งนี้ ไม่ใช่เฉพาะชุมชนชายฝั่งเท่านั้น แต่รวมทางผู้ประกอบการท่องเที่ยวสวนราชการด้วย รวมทั้ง กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งกรมอุทยานแห่งชาติ ก็ตระหนักเช่นกันว่าเรื่องนี้เป็นปัญหาใหญ่ที่จะต้องมาร่วมกันแก้ไข ร่วมกันทำงาน เพื่อจะได้ช่วยกันอนุรักษ์พะยูนไว้ 

ล่าสุด ทางเครือข่ายประมงได้มีจดหมายเปิดผนึกไปถึงชุมชนชายฝั่งและเครือข่ายในฝั่งอันดามันทั้งหมดว่า ให้แต่ละกลุ่มแต่ละชุมชนซึ่งมีองค์กรชุมชนอยู่แล้วช่วยกันปรึกษาหารือ ภายในชุมชนแล้วก็กำหนดมาตรการที่จะลดผลกระทบที่จะเกิดกับพะยูนต่อ โดยในจดหมายเปิดผนึกดังกล่าวมีการเสนอแนวทางไปด้วย ทั้งเส้นทางเดินเรือ ความเร็วเรือ เครื่องมือประมง แผนการคุ้มครองพะยูนและแหล่งหญ้าทะเล โดยมาตราการเหล่านี้จังหวัดตรังเราดำเนินการมาอย่างได้ผลช่วงที่ยังไม่เกิดวิกฤตหญ้าทะเล ขณะที่จังหวัดอื่นมีมาตรการแต่ยังไม่เข้มข้นเพียงพอ เพราะเมื่อเจอฝูงพะยูนที่เคลื่อนย้ายไปปริมาณที่เพิ่มขึ้นอาจทำให้เกิดปัญหาระหว่างคน กับพะยูน แม้โดยพื้นฐานทั่วไปก็ตระหนักอยู่แล้วว่าพะยูนเป็นสัตว์สำคัญที่จะต้องช่วยกันอนุรักษ์ ก็เหลือแต่การคุยกำหนดมาตรการร่วมกัน ทั้งนี้ จะต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วนที่สุด ภายใน 2-3 เดือนนี้ จะต้องดำเนินการให้ได้ 
กางแผนรับมือ \"พะยูนอพยพ\" ป้องสูญพันธุ์ หลังพบตายต่อเนื่อง
ส่วนตัวได้ไปประชุมที่เกาะลันตาหารือกับผู้ประกอบการ รวมทั้งนายอำเภอเกาะลันตา ก็เห็นพ้องกันในหลักการที่จะต้องกำหนดมาตรการกลุ่มนี้ขึ้นมา รวมทั้งพื้นที่เร่งด่วน เช่น ตำบลเกาะศรีบอยา บริเวณอ่าวพังงา ที่มี 4-5 ตำบล ซึ่งจะต้องไปเรื่องพูดคุยหารือเพื่อกำหนดมาตรการ รวมทั้งบริเวณที่เกาะยาวด้วย โดยแนวทางร่วมได้กำหนดเอาไว้ในจดหมายเปิดผนึกแล้ว วันนี้มาประชุมร่วมกันเพื่อให้ได้แนวทางที่ชัดเจนขึ้น 

หลังจากนั้น ทุกคนก็จะต้องเร่งดำเนินการอนุรักษ์อย่างเร่งด่วน เพราะขณะนี้พะยูนเป็นสัตว์ทะเลใกล้สูญพันธุ์ในทะเลไทยมีอยู่เพียงประมาณ 282 ตัวแล้วเท่านั้น และจะมาสรุปถึงผลดำเนินการดังกล่าวนี้ในเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม หากไม่เร่งดำเนินการคุ้มครองหวั่นตายเพิ่มอาจสูญพันธุ์ได้

โลกร้อนหญ้าทะเลตาย ทำพะยูนบางส่วนอพยพ 

กางแผนรับมือ \"พะยูนอพยพ\" ป้องสูญพันธุ์ หลังพบตายต่อเนื่อง
เกี่ยวกับการอพยพของพะยูนบางส่วน เรื่องนี้ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) เปิดเผยว่า พะยูนเป็นสัตว์ป่าสงวน ตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 พบเห็นได้มากที่จังหวัดตรัง บริเวณเกาะลิบง เกาะมุกด์ จังหวัดกระบี่ เกาะปู เกาะจำ เกาะศรีบอยา เกาะลันตา และพื้นที่ตามแนวชายฝั่งทะเล

จากอดีตพบว่า พะยูนได้เสียชีวิตทั้งจากการเจ็บป่วยตามธรรมชาติ จากการต่อสู้กันเองระหว่างพะยูนด้วยกัน การติดเครื่องมือประมงโดยบังเอิญ หรือถูกเรือชนหรือถูกใบจักรเรือฟัน 

"ในปัจจุบันสืบเนื่องจากสภาวะโลกร้อน ทำให้แหล่งหญ้าทะเล ซึ่งเป็นอาหารของพะยูน เกิดการเสื่อมโทรมและสูญหายจำนวนมาก พะยูนบางส่วนที่อาศัยอยู่บริเวณจังหวัดตรัง และจังหวัดกระบี่ มีการเคลื่อนย้ายถิ่นไปหากินแหล่งหญ้าทะเลตามแนวชายฝั่งในพื้นที่จังหวัดอื่นๆ ใกล้เคียง จำนวนพะยูนที่เพิ่มมากขึ้นจากการอพยพย้ายถิ่น ยังไม่มีการปรับตัวที่ดีพอ ประกอบกับปริมาณการสัญจรทางน้ำและกิจกรรมประมงที่มีมากในพื้นที่โดยเฉพาะบริเวณอ่าวพังงา ส่งผลให้พะยูนมีอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางน้ำ และอุปกรณ์ทางการประมงมากขึ้น" พล.ต.อ.พัชรวาท ระบุ


กางแผนรับมือ \"พะยูนอพยพ\" ป้องสูญพันธุ์ หลังพบตายต่อเนื่อง

กางแผนรับมือ

จากสถานการณ์ดังกล่าว พล.ต.อ.พัชรวาท จึงมอบหมายให้ กรมทะเล และ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กำหนดแนวทางสำหรับการป้องกันและแก้ไขปัญหาการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุของพะยูน ในพื้นที่การแพร่กระจายของพะยูนและแหล่งหญ้าทะเล บริเวณอ่าวพังงา จำนวน 11 พื้นที่ ได้แก่ 

  1. อ่าวตังเข็น ภูเก็ต
  2. อ่าวป่าคลอก ภูเก็ต
  3. อ่าวบ้านคลองเคียน พังงา
  4. เกาะหมาก พังงา
  5. ช่องหลาด เกาะยาว พังงา
  6. อ่าวท่าปอม กระบี่
  7. อ่าวนาง กระบี่
  8. อ่าวน้ำเมา กระบี่
  9. เกาะศรีบอยา เกาะปู กระบี่
  10. เกาะลันตา กระบี่
  11. แหลมไทร กระบี่ 

กางแผนรับมือ \"พะยูนอพยพ\" ป้องสูญพันธุ์ หลังพบตายต่อเนื่อง

โดยมีมาตรการต่างๆ ดังนี้

  1. หากมีการพบเห็นพะยูนได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต ให้โทรแจ้งสายด่วนหมายเลข 1362 เพื่อ ทช. และอส. จะประสานเจ้าหน้าที่ในบริเวณใกล้เคียงเข้าไปช่วยเหลือเพื่อนำส่งศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ทะเลหายาก ของทช. ที่มีอยู่ในพื้นที่
  2. ประกาศให้ผู้ประกอบการท่องเที่ยวและประชาชนที่ใช้ยานพาหนะในการสัญจรทางน้ำ เดินเรือตามแนวร่องน้ำหลัก โดยขอความร่วมมือให้งดการเดินเรือในบริเวณแหล่งหญ้าทะเล และหากจำเป็นต้องเดินเรือผ่านแนวเขตหญ้าทะเล โดยให้ใช้ความเร็วไม่เกิน 3 น๊อต และไม่เกิน 20 น๊อต ในพื้นที่ชายฝั่งที่เป็นเขตการแพร่กระจายพะยูน
  3. ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนที่ประกอบอาชีพประมงในพื้นที่หญ้าทะเลและแหล่งแพร่กระจายของพะยูน หมั่นตรวจเช็ค ดูแลเฝ้าระวังเครื่องมือประมงขณะทำการอย่างต่อเนื่อง หรือหลีกเลี่ยงการทำประมงในพื้นที่ดังกล่าว 

กางแผนรับมือ \"พะยูนอพยพ\" ป้องสูญพันธุ์ หลังพบตายต่อเนื่อง
กุญแจสำคัญของการอนุรักษ์พะยูน

การอนุรักษ์พะยูน มีสิ่งสำคัญที่ควรคำนึงถึง คือ การสร้างการเรียนรู้ ความเข้าใจ และการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะกลุ่มเครือข่ายชุมชนชายฝั่ง อันเป็นกำลังสำคัญของการทำงานในพื้นที่ อีกทั้ง ยังเป็นตัวเชื่อมความสัมพันธ์อันดีระหว่างภาครัฐและภาคประชาชน ซึ่งเป็นสิ่งที่จะก่อให้เกิดความร่วมมือในการอนุรักษ์อย่างเต็มใจ เพราะพวกเขาเหล่านี้ต่างรักและหวงแหนในทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งเป็นอย่างมาก

ทั้งนี้ ทช. และอส จะทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงคอยให้คำแนะนำ ทำความเข้าใจ และเพิ่มเติมความรู้ในด้านต่างๆ เช่น งดการใช้เครื่องมือประมงที่เป็นอันตรายต่อชีวิตพะยูนในแหล่งที่อยู่อาศัยของพะยูน หรือในแหล่งหญ้าทะเล ปฏิบัติตามกฎหมาย และไม่ทำการประมงในพื้นที่ที่มีพะยูนอาศัยอยู่ เป็นต้น

นอกจากนี้ ทั้งสองหน่วยงานจะได้ร่วมกันนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง โดยการบินสำรวจจำนวนประชากรของฝูงพะยูน เพื่อตรวจสอบจำนวนและวางแผนอนุรักษ์พะยูน รวมถึงการลาดตระเวนเฝ้าระวังไม่ให้มีเรือเข้าไปรบกวนหรือทำประมงผิดกฎหมาย ซึ่งจะเป็นอันตรายต่อฝูงพะยูน 

อย่างไรก็ตาม กรมทะเลฯ และกรมอุทยานฯ จะดำเนินมาตรการตามกฎหมายและระเบียบอย่างเคร่งครัด เพื่อให้เกิดการอนุรักษ์และคุ้มครองพะยูน หากพบว่ากิจกรรมจากการท่องเที่ยวและนำเที่ยว หรือการประมง เป็นสาเหตุการตายของพะยูน จะบังคับใช้มาตรการปิดการท่องเที่ยวและกันพื้นที่เข้าออกในเขตอุทยานแห่งชาติ เขตอนุรักษ์สัตว์ป่า และพื้นที่คุ้มครองทางทะเล 

ทั้งนี้ พล.ต.อ.พัชรวาท ได้สั่งการให้หน่วยในสังกัดประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประกอบการ และประชาชนที่ใช้ประโยชน์ในพื้นที่ทางทะเลและชายฝั่งได้รับทราบถึงแนวทางการป้องกันและช่วยเหลือพะยูนต่อไปเรียบร้อยแล้ว 

กางแผนรับมือ \"พะยูนอพยพ\" ป้องสูญพันธุ์ หลังพบตายต่อเนื่อง
หากยังปล่อยให้เจ้าหมูน้ำที่อพยพจากถิ่นอาศัย ไปเผชิญอันตรายลำพัง โดยที่เราไม่ได้ยื่นมือเข้าช่วย คงหนีไม่พ้นการสูญเสียอีกแน่ ดังนั้น การให้ความร่วมมือปฏิบัติตามมาตรการช่วยเหลือพะยูนของภาครัฐ ตลอดจนการร่วมใจกันอนุรักษ์น้องหมูน้ำ จึงเป็นกุญแจสำคัญ เพื่อให้พวกเขาอยู่คู่กับท้องทะเลไทยสืบต่อไป

 


ขอบคุณภาพและข้อมูลบางส่วนจาก :
เฟซบุ๊ก Thon Thamrongnawasawat