svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"เศรษฐา" เคาะแล้ว เงื่อนไขโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท

10 พฤศจิกายน 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

เปิดเงื่อนไขโครงการดิจิทัลวอลเล็ต "เศรษฐา" ยันเคาะให้คนไทยอายุ 16 ปีขึ้นไป รายได้ไม่เกิน 7 หมื่นบาท เงินเก็บไม่เกิน 5 แสนบาท ลั่นไม่ใช่ความฝัน แต่คือความจริง!

10 พ.ย.69 ที่ทำเนีนยบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกฯ และรมว.คลัง แถลงข่าวนโยบาย โครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัล วอลเล็ต ว่า ขอบอกข่าวดีกับพี่น้องประชาชน “โครงการ Digital Wallet ไม่ใช่แค่ ความฝัน แต่กำลังเป็นความจริง” รัฐบาลได้หาข้อสรุปที่ดีที่สุดในการกระตุ้นและสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ผ่านการเติมเงินลงไปในระบบเศรษฐกิจมูลค่า 6 แสนล้านบาท

ซึ่งจะอยู่ในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 5 แสนล้านบาท ครอบคลุม 50 ล้านคน และอีก 1 แสนล้านบาทในกองทุนเพิ่มขีดความสามารถ และทุกอย่างที่ผมแถลงในวันนี้ จะยังต้องผ่านกระบวนการตามกฏหมาย และ ต้องมีมติของคณะกรรมการที่เกี่ยวข้อง ก่อนจะสรุปเป็น Final อีกครั้งนึง โดยตัวเลขที่ท่านได้ยินไปเมื่อครู่นี้ เกิดจากการที่รัฐบาลรับฟังความเห็นจาก ธนาคารแห่งประเทศไทยสภาพัฒน์ และหน่วยงานอื่น ๆ ทำงานร่วมกัน และปรับเงื่อนไขโครงการดิจิทัลวอลเล็ตให้รัดกุมขึ้น
แถลงข่าวนโยบาย โครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัล วอลเล็ต

  • รัฐบาลจะมอบสิทธิการใช้จ่าย 10,000 บาท ให้คนไทยที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป ที่มีรายได้ไม่ถึง 7 หมื่นบาทต่อเดือน และมีเงินฝากต่ำกว่า 5 แสนบาท เพื่อความชัดเจน เริ่มแจกเงิน/ใช้เงินเดือน พ.ค.67
  • ถ้ารายได้เกิน 7 หมื่นบาท แต่มีเงินฝาก น้อยกว่า 5 แสนบาท ก็จะไม่ได้รับสิทธิ หรือถ้ารายได้น้อยกว่า 7 หมื่นบาท แต่มีเงินฝากมากกว่า 5 แสนบาท ก็จะ ไม่ได้รับสิทธิเช่นกัน โดยให้สิทธิใช้ครั้งแรกในเวลา 6 เดือนหลังจากโครงการเริ่ม และขยายพื้นที่การใช้จ่ายให้ครอบคลุมระดับอำเภอ
  • สำหรับเงื่อนไข ซื้ออะไรได้ ไม่ได้ คือ ประชาชนจะสามารถจะใช้ซื้อสินค้า อาหาร เครื่องดื่ม สินค้าอุปโภค บริโภคได้เท่านั้น 
  • ไม่สามารถใช้กับบริการได้ ไม่สามารถใช้ซื้อสินค้าออนไลน์ได้ ไม่สามารถซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ผลิตภัณฑ์ยาสูบ กัญชา กระท่อม พืชกระท่อม และผลิตภัณฑ์จากกัญชาและพืชกระท่อม
  • ไม่สามารถนำไปซื้อบัตรกำนัล บัตรเงินสด ทองคำ เพชร พลอย อัญมณีได้
  • ไม่สามารถนำไปชำระหนี้ได้ ไม่สามารถจ่ายค่าเรียน ค่าเทอมได้
  • ไม่สามารถนำไปจ่ายค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ หรือซื้อน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซธรรมชาติได้ แลกเป็นเงินสดไม่ได้ แลกเปลี่ยนในตลาดต่าง ๆ ไม่ได้ และใช้ได้กับร้านค้าในอำเภอเดียวกับบัตรประชาชนเท่านั้น 

โดยสามารถใช้ซื้อสินค้าได้ทุกร้านค้า ไม่ได้จำกัดแต่ร้านที่อยู่ในระบบภาษี ไม่จำเป็นต้องจด VAT แต่ต้องมีการลงทะเบียนรับสิทธิ และร้านค้าที่จะขึ้นเงินได้ต้องอยู่ในระบบภาษีเท่านั้น

"ดิจิทัลวอลเล็ตก้อนนี้ไม่ได้มาจากการเสกเงิน สร้างเงิน พิมพ์เงิน หรือออกเหรียญผ่าน Initial Coin Offering แต่อย่างใด พูดให้ชัด ๆ ว่า ไม่ได้มีการเขียนโปรแกรมสร้างเงินเหมือน Cryptocurrency ต่าง ๆ และไม่ได้เป็นการนำเงินไปซื้อเหรียญมาแจก และนำไปเทรด แลกเปลี่ยน โอนให้กันและกัน เก็งกำไรไม่ได้ ย้ำนะครับ ห้ามนำไปเทรดบน Exchange ทั้งหลายตลาดหลักทรัพย์ ตลาด crypto ใด ๆ ทั้งสิ้น เงินตัวนี้จะมีที่มาจากเงินบาท และมีมูลค่าเป็นเงินบาท ที่มีเงื่อนไขในการใช้งาน เพื่อให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจสูงกว่าอัดฉีดที่ผ่านมา เพราะฉะนั้น เงิน 1 บาทในโครงการนี้ ก็คือ 1 บาทในกระเป๋าเงินของทุกท่าน ที่สามารถใช้จ่ายได้ โครงการนี้ต้องมีการลงทะเบียนรับสิทธิ ทั้งร้านค้าและยืนยันรับสิทธิโดยประชาชนครับ" นายเศรษฐา ระบุ
\"เศรษฐา\" เคาะแล้ว เงื่อนไขโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท

ทั้งนี้ ตามที่ได้รับฟังความเห็นมาพร้อม ๆ กันนั้น เราจะใช้เงินในการเพิ่มขีดความสามารถ ภายใต้งบ 1 แสนล้านบาท และส่งเสริมการลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ ๆ เช่น เทคโนโลยียานยนต์สมัยใหม่ อุตสาหกรรมดิจิทัล เกษตร และเทคโนโลยีชีวภาพ การพัฒนาบุคคลากรทางการศึกษา เป็นต้น ซึ่งกองทุนนี้จะใช้ในการดึงดูดผู้มีความสามารถให้เข้ามามีส่วนร่วมในการ สร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจให้ต่อเนื่องต่อไป

นายกฯ ยังยืนยันความตั้งใจที่จะให้คนไทยทุกคนมีส่วนร่วมในการกระตุ้นเศรษฐกิจนี้ เพราะฉะนั้นรัฐบาลจะออกโครงการ e-Refund ให้คนไทยสามารถลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลจากการซื้อสินค้าและบริการ มูลค่าไม่เกิน 50,000 บาท โดยให้ใบกำกับภาษี มาประกอบการยื่นภาษีบุคคล และรัฐจะคืนเงินภาษีให้ สำหรับคนที่ไม่ได้รับสิทธิดิจิทัลวอลเล็ต ก็สามารถเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านโครงการนี้ได้ และจะทำให้ร้านค้าเข้าระบบภาษีดิจิทัลมากขึ้นด้วย

โดยสรุป นโยบายทั้งหมดนี้จะส่งผลดีต่อประเทศใน 2 ด้าน

1. กระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศในระยะสั้นโดยมี “ประชาชนทุกภาคส่วน เป็นกลไกที่สำคัญผ่านการบริโภคและการลงทุน”

2. วางโครงสร้างพื้นฐานเพื่อนำไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัลและ E-Government ซึ่งเป็นการวางและแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างของประเทศในระยะยาว

"ย้ำอีกครั้งนะครับ นี่ไม่ใช่การสงเคราะห์ประชาชนผู้ยากไร้ แต่เป็นการเติมเงินลงไปในระบบเศรษฐกิจผ่านสิทธิการใช้จ่าย เพื่อให้ประชาชนมีบทบาทร่วมกับรัฐบาล (Partnership) ในการพลิกฟื้น เศรษฐกิจของประเทศในขณะที่ยังรักษาวินัยการเงินการคลังของรัฐทุกประการ ผมขอให้ประชาชนทุกคนที่ได้รับสิทธิร่วมกันใช้จ่ายด้วยความภาคภูมิใจ ทุกคนล้วนเป็นผู้ร่วมสร้างการเจริญเติบโตและความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ให้กับประเทศของเรา" นายก ระบุ 

logoline