svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

เงินดิจิทัล 10,000 VS ศาล รธน. ด่านต่อไปที่เศรษฐาต้องเจอเหมือนยิ่งลักษณ์

13 พฤศจิกายน 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

นายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน เพิ่งประกาศว่า เตรียมจะออกพระราชบัญญัติกู้เงินสำหรับนำมาใช้ใน 'นโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท' เป็นจำนวน 5 แสนล้านบาท เมื่อวันที่ 10 พ.ย. ที่ผ่านมา ทว่านโยบายนี้ยังเริ่มไม่ได้ เพราะยังเหลือด่านสำคัญคือ 'ศาลรัฐธรรมนูญ'

ณ วินาทีที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ประกาศเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน ว่าเตรียมจะออกพระราชบัญญัติกู้เงินสำหรับนำมาใช้ในโครงการเงินดิจิทัลจำนวน 5 แสนล้านบาท อดทำให้นึกถึงเหตุการณ์ในอดีตที่ใกล้เคียงกันเมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้วขึ้นมาทันที

เศรษฐา ทวีสิน แถลงรายละเอียดนโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท

เหตุการณ์ที่ว่านั้น คือ การตราพระราชบัญญัติให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ วงเงินประมาณ 2 ล้านล้านบาท ในสมัยรัฐบาลของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร โดยย้อนกลับไป ณ ขณะนั้นปฏิเสธไม่ได้ว่าการประกาศจะกู้เงินในตัวเลขระดับล้านล้านบาทเป็นเรื่องใหญ่ในบริบทของระบบการเงินการคลังของประเทศไทย เพราะยังไม่เคยมีรัฐบาลชุดใดหาญกล้าจะเสนอกฎหมายกู้เงินจำนวนมหาศาลขนาดนี้มาก่อน แม้แต่รัฐบาลของนายทักษิณ ชินวัตร ที่มีเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรเด็ดขาดจนสามารถตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้ ก็ยังไม่กล้าเดินลุยไฟขนาดนั้น

สถานะของรัฐบาลยิ่งลักษณ์เมื่อประมาณทศวรรษที่แล้วนั้นเป็นรัฐบาลผสมเช่นกัน ประกอบด้วย 6 พรรค มีเสียงในสภาทั้งสิ้น 300 เสียง ถือได้ว่าเป็นรัฐบาลที่มีความเข้มแข็งในระดับหนึ่งเลยทีเดียว นโยบายประชานิยมที่เป็นเรือธงของพรรคเพื่อไทยนอกจากการรับจำนำข้าวแล้วก็เป็นเรื่องการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมของประเทศ โดยรัฐบาลยิ่งลักษณ์หวังว่าจะพลิกโฉมหน้าของประเทศไทยด้วยการสร้างรถไฟความเร็วสูงภายใต้ยุทธศาสตร์ 'สร้างอนาคตไทย 2020'
 

ในที่สุดการเสนอร่างพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวก็ได้เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรในเดือนมีนาคม 2556 สาระสำคัญของการอภิปรายเวลานั้นถูกกลบด้วยคำพูดของนายกฯ ที่ถูกทำให้เข้าใจว่ารถไฟความเร็วสูงมีไว้เพื่อขนผักไม่ให้เน่าเสียเท่านั้น กลายเป็นประเด็นที่ยิ่งลักษณ์ถูกแซะมาโดยตลอด ถึงขนาดเจ้าตัวต้องออกมาชี้แจงผ่าน Facebook ในช่วงเวลาใกล้เคียงด้วยการยืนยันว่า "รถไฟความเร็วสูงเป็นการเชื่อมโยงแหล่งการผลิตระดับท้องถิ่นภายในประเทศสู่ภูมิภาคอาเซียน ทั้งยังเป็นการเพิ่มมูลค่าของสินค้าอุตสาหกรรมและสินค้าทางการเกษตร...รถไฟความเร็วสูงจึงเป็นเครื่องมือที่ทำให้คนไทยมีโอกาสอย่างเท่าเทียมและทั่วถึง ลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำอย่างแท้จริง"

ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในการเสนอร่างพระราชบัญญัติฯ เงินกู้ 2 ล้านล้าน เข้าสภาผู้แทนราษฎร

อย่างไรก็ตาม ที่สุดแล้วร่างกฎหมายฉบับนี้ก็ผ่านทั้งสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาได้ตามกระบวนการก่อนที่กระบวนการนำร่างกฎหมายขึ้นทูลเกล้าฯ ต้องสะดุดลง ภายหลัง ส.ส.พรรคฝ่ายค้านนำโดยพรรคประชาธิปัตย์ได้ยื่นคำร้องผ่านประธานรัฐสภาเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของร่างกฎหมายดังกล่าว
อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในสภาผู้แทนราษฎร ปี 2556

รัฐบาลยิ่งลักษณ์ไม่วิตกกับการต้องสู้คดีในศาลรัฐธรรมนูญเท่าใดนัก เพราะก่อนหน้านั้นในปี 2555 เพิ่งผ่านด่านศาลรัฐธรรมนูญมาอย่างสวยงามจากการตราพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการวางระบบบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศ พ.ศ. 2555 ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์เห็นว่าการตราพระราชกำหนดดังกล่าวชอบด้วยรัฐธรรมนูญเพราะเป็นเรื่องที่มีความจำเป็นเร่งด่วน จึงส่งผลให้คณะรัฐมนตรีหลายคนมั่นใจว่าร่างกฎหมายกู้เงิน 2 ล้านล้านบาท จะผ่านด่านนี้ไปได้ไม่ต่างกัน

แต่กระนั้นทุกอย่างกลับตาลปัตร เพราะมีการนำหลักฐานมาแสดงว่ามี ส.ส. ของพรรคเพื่อไทยลงคะแนนแทนกัน จึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ของสภาฯ ขัดต่อรัฐธรรมนูญในแง่ของกระบวนการจัดทำร่างกฎหมาย แต่ความพ่ายแพ้อย่างราบคาบที่เกิดขึ้นกลางศาลรัฐธรรมนูญนั้นอยู่ที่สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติกู้เงิน

นริศร ทองธิราช ชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญกรณีเสียบบัตรแทน ส.ส.

ทั้งนี้ ระหว่างการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ฝ่ายรัฐบาลได้นำบุคคลสำคัญมาให้ข้อมูลเพื่อชี้ให้ศาลรัฐธรรมนูญเห็นถึงความจำเป็นในการกู้เงินครั้งนี้  โดยเฉพาะบรรดารัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจในเวลานั้น ไม่ว่าจะเป็น นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นต้น

กิตติรัตน์ ณ ระนอง ชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญกรณีพระราชบัญญัติฯ เงินกู้ 2 ล้านล้าน

นายกิตติรัตน์ ชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญถึงกรอบวินัยการเงินการคลัง ซึ่งมีเนื้อหาพอสังเขปว่า "ร่างพระราชบัญญัตินี้อยู่ในกรอบวินัยการเงินการคลัง เนื่องจากประการที่หนึ่ง จํานวนเงินกู้ตามร่างพระราชบัญญัตินี้ไม่เกินจํานวนเงินขั้นสูงหรือเพดานของหนี้สาธารณะที่กําหนดสัดส่วนหนี้สาธารณะเทียบกับ GDP ไม่เกินร้อยละ 60 และประการที่สอง ภาระหนี้ที่เกิดจากร่างพระราชบัญญัตินี้ในการชําระคืนเงินต้นและดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำกว่าเกณฑ์ที่กําหนดไว้  คือ ต่ำกว่าร้อยละ 15 ของงบประมาณรายจ่ายประจําปี"

ขณะที่ นายชัชชาติ ให้ข้อมูลต่อศาลรัฐธรรมนูญถึงเหตุและความจำเป็น สรุปความได้ว่า "เหตุผลความจําเป็นในการดําเนินนโยบายตามร่างพระราชบัญญัตินี้มีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศและยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม คือ ปรับเปลี่ยนการขนส่งสินค้าทางถนนสู่การขนส่งที่มีต้นทุนต่ำกว่าให้มากขึ้น และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในการเดินทางและขนส่งทั่วประเทศและเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน และพัฒนาความคล่องตัวในกรุงเทพมหานครและเชื่อมโยงสู่ภูมิภาค ..ซึ่งอันที่จริงแล้วโครงการทั้งหมดที่จะต้องดําเนินการเพื่อให้บรรลุผลสําเร็จตามยุทธศาสตร์มีมูลค่าถึง 4.2 ล้านล้านบาท แต่กระทรวงคมนาคมได้หารือกับกระทรวงการคลังและสํานักงานบริหารหนี้สาธารณะ จึงได้กําหนดกรอบวงเงินที่เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจในการชําระคืนหนี้เงินกู้"

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เดินทางมาชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูฐกรณีพระราชบัญญัติฯ เงินกู้ 2 ล้านล้าน

ทว่าในการชี้ขาดของศาลรัฐธรรมนูญได้วางหลักการว่าด้วย ‘กรอบวินัยการเงินการคลัง’ ที่ไม่ได้หมายถึงเฉพาะเรื่องการรักษาระดับเพดานหนี้สาธารณะเท่านั้น แต่ หมายความถึงหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการวางแผนการเงิน การจัดหารายได้ การกําหนดแนวทางในการจัดทํางบประมาณรายจ่ายของแผ่นดิน การบริหารการเงินและทรัพย์สิน การก่อหนี้ ภาระทางการเงินของรัฐ และการอื่นที่เกี่ยวข้องซึ่งจะต้องใช้เป็นกรอบในการจัดหารายได้ กํากับการใช้จ่ายเงินตามหลักการรักษาเสถียรภาพ การพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน และความเป็นธรรมในสังคม (คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญหน้า 43-44)

จากหลักการดังกล่าวของศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อมาจับกับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นผ่านร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ศาลรัฐธรรมนูญจึงวินิจฉัยว่า ร่างพระราชบัญญัติให้อํานาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ ตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ และมีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ทำให้การกู้เงินสูงสุดในประวัติศาสตร์ของประเทศไทยจึงยังไม่เกิดขึ้นขณะนั้น

อดีตของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ผ่านไปแล้ว แต่ปัจจุบันของรัฐบาลเศรษฐาที่กำลังเผชิญอยู่นั้นเรียกได้ว่าแทบจะมีเส้นทางไม่ต่างกัน เพราะต้องยอมรับว่าการจะเข็นกฎหมายกู้เงิน 5 แสนล้านบาทผ่านฝ่ายนิติบัญญัติทั้งสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา รวมไปถึงศาลรัฐธรรมนูญให้ได้นั้นแสนสาหัสเป็นอย่างยิ่ง เพราะรัฐบาลชุดปัจจุบันจะต้องเจอกับวิบากกรรมทางกฎหมายพอสมควร โดยเฉพาะพระราชบัญญัติวินัยการเงินวินัยการเงินการคลัง พ.ศ.2561 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ไม่มีในสมัยยิ่งลักษณ์

เพียงแค่เอาสองมาตราของกฎหมายวินัยการเงินการคลังมากางดูก็พอจะเห็นภาพแล้วว่าเงินดิจิทัล 5 แสนล้านบาทจะไปได้ตลอดรอดฝั่งหรือไม่

มาตรา 9 : “คณะรัฐมนตรีต้องรักษาวินัยในกิจการที่เกี่ยวกับเงินแผ่นดินตามพระราชบัญญัตินี้อย่างเคร่งครัด ในการพิจารณาเรื่องที่เกี่ยวกับนโยบายการคลัง การจัดทํางบประมาณ การจัดหารายได้ การใช้จ่าย การบริหารการเงินการคลัง และการก่อหนี้ คณะรัฐมนตรีต้องพิจารณาประโยชน์ที่รัฐหรือประชาชนจะได้รับ ความคุ้มค่า และภาระการเงินการคลังที่เกิดขึ้นแก่รัฐ รวมถึงความเสี่ยงและความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นแก่การเงินการคลังของรัฐอย่างรอบคอบ คณะรัฐมนตรีต้องไม่บริหารราชการแผ่นดินโดยมุ่งสร้างความนิยมทางการเมืองที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศและประชาชนในระยะยาว

มาตรา 53 : การกู้เงินของรัฐบาลนอกเหนือจากที่บัญญัติไว้ในกฎหมายว่าด้วยการบริหารหนี้สาธารณะ ให้กระทรวงการคลังกระทําได้ก็แต่โดยอาศัยอํานาจตามกฎหมายที่ตราขึ้นเป็นการเฉพาะ และเฉพาะกรณีที่มีความจําเป็นที่จะต้องดําเนินการโดยเร่งด่วนและอย่างต่อเนื่องเพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤติของประเทศ โดยไม่อาจตั้งงบประมาณรายจ่ายประจําปีได้ทัน

เศรษฐา ทวีสิน แถลงรายละเอียดนโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท

ด้วยเหตุนี้ จึงไม่แปลกที่ทฤษฎีสมคมคบคิดในทำนองว่าการเสนอร่างพระราชบัญญัติกู้เงิน 5 แสนล้านบาท เข้าสภาและให้ตกไปในขั้นตอนของฝ่ายนิติบัญญัติหรือศาลรัฐธรรมนูญ เป็นการหาทางลงของรัฐบาลเอง จะดังกระหึ่มอยู่ในเวลานี้

 


ข้อมูลอ้างอิง

  • คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 3 - 4/2557
  • คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 5-7/2555
  • thaipbs
     
logoline