svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเงิน-การลงทุน

เงินบาทพลิกอ่อนค่า ! ดอลลาร์แข็ง-จับตาสงครามปะทุ

03 พฤศจิกายน 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้านี้ที่ระดับ 36.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ “อ่อนค่าลง” หลังดอลลาร์แข็งค่า-ตลาดกังวลสถานการณ์สงครามร้อนแรง จับตาข้อมูลการจ้างงานสหรัฐฯ-ดัชนี ISM PMI ภาคการบริการคืนนี้ หากออกมาดีเกินคาดหนุนเฟดขึ้นดอกเบี้ย

นายพูน  พานิชพิบูลย์ นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงิน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทวันนี้ เปิดตลาดที่ระดับ 36.00 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงเล็กน้อย”จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 35.97 บาทต่อดอลลาร์ โดยในช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนอ่อนค่าลงบ้าง (แกว่งตัวในช่วง 35.84-36.03 บาทต่อดอลลาร์) ตามจังหวะการพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ ในช่วงตลาดกังวลสถานการณ์สงครามที่ร้อนแรงขึ้น

อย่างไรก็ดี เงินบาทยังพอได้แรงหนุนอยู่บ้างจากโฟลว์ขายทำกำไรทองคำ หลังราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) ยังสามารถรีบาวด์กลับมาแกว่งตัวในโซน 1,990 ดอลลาร์ต่อออนซ์ได้

สำหรับบรรยากาศในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง (Risk-On) ท่ามกลางมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่ต่างคาดว่า เฟดอาจถึงจุดยุติการขึ้นดอกเบี้ยแล้ว ขณะเดียวกัน รายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนส่วนใหญ่ราว 80% ก็ออกมาดีกว่าคาด นอกจากนี้การรีบาวด์ขึ้นราว +2% ของราคาน้ำมันดิบจากสถานการณ์สงครามอิสราเอล-กลุ่มฮามาสที่ร้อนแรงขึ้น ก็มีส่วนช่วยหนุนหุ้นกลุ่มพลังงาน (Chevron +3.3%) ทำให้โดยรวมดัชนี S&P500 ปิดตลาด +1.89%

ส่วนตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี stoxx600 พุ่งขึ้นกว่า +1.58% นำโดยการปรับตัวขึ้นของบรรดาหุ้นกลุ่มเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth อาทิ ASML +4.1%, LVMH +3.8% ตามมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่คาดว่า บรรดาธนาคารกลางหลักได้ถึงจุดยุติการขึ้นดอกเบี้ยแล้ว นอกจากนี้ การรีบาวด์ขึ้นของราคาน้ำมันดิบก็ยังช่วยให้ หุ้นกลุ่มพลังงานยุโรปปรับตัวขึ้นเช่นกัน นำโดย Shell +4.2%, TotalEnergies +1.5%

เงินบาทพลิกอ่อนค่า ! ดอลลาร์แข็ง-จับตาสงครามปะทุ

ขณะที่ตลาดบอนด์ มุมมองของผู้เล่นในตลาดที่ลดความกังวลต่อแนวโน้มการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อของเฟดและธนาคารกลางหลักอื่นๆ ได้ส่งผลให้ บอนด์ยีลด์ระยะยาวในหลายประเทศต่างปรับตัวลดลง โดย บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ทยอยปรับตัวลดลงสู่ระดับ 4.67%

ทั้งนี้ควรระวังความผันผวนของบอนด์ยีลด์ระยะยาวในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ เพราะหากยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรมออกมาสูงกว่าคาด ก็อาจทำให้บอนด์ยีลด์สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นได้บ้าง ซึ่งผู้เล่นในตลาดควรอาศัยจังหวะบอนด์ยีลด์ปรับตัวสูงขึ้นในการทยอยเข้าซื้อ

ด้านตลาดค่าเงินนั้น เงินดอลลาร์โดยรวมเคลื่อนไหว sideway โดยดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ยังคงแกว่งตัวใกล้สู่ระดับ 106.2 จุด (กรอบ 105.8-106.3 จุด) แม้ว่า เงินดอลลาร์จะเผชิญแรงกดดันจากมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่เชื่อว่าเฟดได้จบรอบการขึ้นดอกเบี้ยแล้ว ทว่า เงินดอลลาร์ยังได้แรงหนุนจากความต้องการถือเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย หลังสถานการณ์สงครามทวีความร้อนแรงมากขึ้น

ส่วนราคาทองคำนั้น ภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาด รวมถึงแรงกดดันจากการแข็งค่าขึ้นบ้างของเงินดอลลาร์ เป็นปัจจัยที่กดดันให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) ยังไม่สามารถปรับตัวขึ้นทะลุโซนแนวต้าน 2,000 ดอลลาร์ต่อออนซ์ไปได้

อย่างไรก็ดี ความกังวลต่อสถานการณ์สงครามอิสราเอล-กลุ่มฮามาสและมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่เชื่อว่าบรรดาธนาคารกลางหลักอาจจบรอบการขึ้นดอกเบี้ยแล้ว ก็ยังพอช่วยหนุนให้ราคาทองคำยังสามารถแกว่งตัวเหนือระดับ 1,990 ดอลลาร์ต่อออนซ์ได้

สำหรับวันนี้ไฮไลท์สำคัญที่ห้ามพลาด คือ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจของสหรัฐฯ โดยเฉพาะ ข้อมูลการจ้างงาน และรายงานดัชนี ISM PMI ภาคการบริการ โดยหากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐฯ ดังกล่าว ออกมาดีกว่าคาด และสะท้อนภาพเศรษฐกิจที่ยังคงแข็งแกร่ง ก็อาจยิ่งทำให้ ผู้เล่นในตลาดกังวลแนวโน้มการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยของเฟดและแนวโน้มเฟดคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงมากขึ้น ทั้งนี้ ควรระวังการตีความข้อมูลการจ้างงาน

โดยรายงานยอดการจ้างงานอาจไม่สามารถสะท้อนภาวะการจ้างงานได้ดีนัก หลังการประท้วงหยุดงานของกลุ่มสหภาพยานยนต์ (UAW) เริ่มคลี่คลายลง ทำให้อาจมียอดการจ้างงานจากกลุ่มยานยนต์เพิ่มขึ้นหลายหมื่นราย ซึ่งเรายังคงแนะนำให้ จับตารายละเอียดของรายงานการจ้างงาน ในส่วนของ Household data และ Establishment data ว่ายังมีความไม่สอดคล้องกันพอสมควรหรือไม่ และยอดการจ้างงานในส่วนงาน Part-time ยังคงสูงขึ้น ในขณะที่ การจ้างงาน Full-time กลับลดลงต่อเนื่อง หรือไม่

ขณะเดียวกันผู้เล่นในตลาดรอจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด หลังจากที่ผลการประชุมเฟดล่าสุด ทำให้ผู้เล่นในตลาดต่างลดโอกาสเฟดเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ย แต่ยังคงมุมมองเดิมว่า เฟดอาจคงดอกเบี้ยได้นานขึ้น จนถึงช่วงไตรมาส 2 ของปีหน้า

สำหรับแนวโน้มของค่าเงินบาท และสกุลเงินฝั่งเอเชียโดยรวม อาจยังพอได้แรงหนุนฝั่งแข็งค่าอยู่บ้าง จากภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงิน (รอลุ้นว่านักลงทุนต่างชาติจะเดินหน้าซื้อสุทธิสินทรัพย์ไทยหรือไม่) ทว่า เงินบาทก็อาจไม่ได้แข็งค่าขึ้นไปมาก เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างก็รอจับตารายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐฯ ในคืนนี้ ทำให้ หากเงินบาทมีการเคลื่อนไหวที่ชัดเจน ก็อาจต้องเป็นช่วงหลังตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าว

ทั้งนี้ประเมินว่าก่อนรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ เงินบาทอาจติดโซนแนวรับสำคัญแถว 35.80-35.90 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นโซนที่ผู้เล่นในตลาดบางส่วนอาจรอจังหวะเข้าซื้อเงินดอลลาร์ (รวมถึงเงินเยนญี่ปุ่น) หรือ ทยอยขายทำกำไรสถานะ Short USDTHB (มองเงินบาทแข็งค่า) ส่วนโซนแนวต้านของเงินบาทก็อาจยังเป็นโซน 36.05-36.10 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

อย่างไรก็ตาม ควรระวังความผันผวนในตลาดการเงิน ในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่ ข้อมูลการจ้างงานสหรัฐฯ (ราว 19.30 น. ตามเวลาในประเทศไทย) จนไปถึง ดัชนี ISM PMI ภาคการบริการ (ราว 21.00 น. ตามเวลาในประเทศไทย) โดยความเสี่ยงสำคัญ คือ หากรายงานข้อมูลดังกล่าวออกมาดีกว่าคาด และสะท้อนภาพเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ยังคงแข็งแกร่ง ก็อาจหนุนให้ เงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้นได้ไม่ยาก

โดยกดดันให้เงินบาทเสี่ยงที่จะอ่อนค่าทดสอบแนวต้านสำคัญแถว 36.30 บาทต่อดอลลาร์ (หากผ่านได้จะเจอโซน 36.50-36.60 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ) ในทางกลับกัน หากข้อมูลดังกล่าวออกมาตามคาด หรือ แย่กว่าคาด ก็อาจทำให้ เงินดอลลาร์ย่อตัวลงต่อได้บ้าง แต่อาจไม่ได้ย่อตัวลงแรงหนัก ทำให้ เงินบาทสามารถแข็งค่าทดสอบโซนแนวรับแถว 35.80 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งจะมีโซน 35.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เป็นแนวรับสำคัญถัดไป

ในช่วงนี้ทุกสินทรัพย์ยังอยู่ในช่วงเผชิญความผันผวนสูง จากทั้งความไม่แน่นอนของทิศทางนโยบายการเงินและสถานการณ์สงคราม ทำให้เราคงคำแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

นอกจากนี้การเลือกทำธุรกรรมในสกุลเงินท้องถิ่น (Local Currency) ก็เป็นอีกแนวทางในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่น่าสนใจ ซึ่งผู้ประกอบการควรเปรียบเทียบต้นทุนในการทำธุรกรรมและแผนการป้องกันความเสี่ยงก่อนตัดสินใจทุกครั้ง มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.90-36.10 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงก่อนตลาดรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯและประเมินกรอบเงินบาท 35.80-36.30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ

    

logoline