svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเงิน-การลงทุน

จับตาเงินเฟ้อ-จีดีพีไตรมาสแรกสหรัฐฯ ชี้ทิศทางสกุลเงินภูมิภาค

22 เมษายน 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

แบงก์กรุงศรีฯ ประเมินเงินบาทสัปดาห์หน้าเคลื่อนไหวในกรอบ 33.90-34.70 บาทต่อดอลลาร์  เกาะติดจีดีพีไตรมาสแรกของสหรัฐฯ-เงินเฟ้อ PCE มี.ค. - ผลประชุมบีโอเจ ขณะที่แบงก์กรุงไทยมองแนวโน้มอ่อนค่าตามทิศทางดอลลาร์-ราคาทองคำ  

น.ส. รุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมธุรกิจและกำกับดูแลโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยกับ Nation Online ว่า  ค่าเงินบาทในสัปดาห์หน้า คาดว่าเคลื่อนไหวในกรอบ    33.90-34.70 บาทต่อดอลลาร์  แนวโน้มย่ำฐานต่อเนื่อง ติดตามจีดีพีไตรมาสแรกของสหรัฐฯ ผลการประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น(บีโอเจ) ภาวะเศรษฐกิจไทยเดือนมี.ค. และการใช้จ่ายบริโภคส่วนบุคคลเดือนมี.ค.ของสหรัฐฯ หรือ เงินเฟ้อ PCE ซึ่งธนาคารกลางสหรัฐหรือ เฟดนิยมใช้เป็นมาตรวัดเงินเฟ้อ

ส่วนการเคลื่อนไหวของสกุลเงินในภูมิภาค 1 เม.ย.-21 เม.ย. พบว่าเปโซ-ฟิลิปปินส์อ่อนค่ามากสุด 2.95%รองลงมาคือวอน-เกาหลีใต้  2.06%ริงกิต-มาเลเซีย 0.50% ดอลลาร์-ไต้หวัน  0.48%  บาท-ไทย 0.35% ดอลลาร์-สิงคโปร์ 0.15% หยวน-จีน  0.13% ดอง-เวียดนาม  0.08% ยกเว้น รูเปียห์-อินโดนีเซียแข็งค่า  1.01% รูปี-อินเดียแข็ง 0.03% อย่างไรก็ตาม เดือนเม.ย.นี้นักลงทุนต่างชาติ ขายสุทธิในหุ้น 5.1 พันล้านบาท และพันธบัตรไทย 4.1 หมื่นล้านบาท  

สำหรับภาพใหญ่ตลาดเชื่อว่าเฟดจะขึ้นดอกเบี้ยอีก 1 ครั้งในการประชุมวันที่ 2-3 พ.ค. สู่ระดับ 5.00-5.25% และน่าจะเป็นการขึ้นครั้งสุดท้ายของวัฎจักรนี้ ดังนั้นหากข้อมูลสหรัฐฯออกมาสูงหรือต่ำกว่าคาดจะส่งผลต่อผลตอบแทนพันธบัตรหรือบอนด์ยิลด์ การคาดการณ์ดอกเบี้ยเฟด และค่าเงิน โดยเงินดอลลาร์อาจได้แรงหนุน (บาทอ่อน) กรณีข้อมูลบ่งชี้ว่าเฟดอาจต้องตรึงดอกเบี้ยไว้มากกว่าที่จะลดในครึ่งหลังของปีนี้

จับตาเงินเฟ้อ-จีดีพีไตรมาสแรกสหรัฐฯ ชี้ทิศทางสกุลเงินภูมิภาค

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงิน ธนาคารกรุงไทย  เปิดเผยกับ Nation Online ว่า  มองกรอบเงินบาทสัปดาห์หน้า 34.15 - 34.65 บาทต่อดอลลาร์ คาดว่าเงินบาทมีแนวโน้มแกว่งตัว sideways up หรือ ทยอยอ่อนค่าลงได้ หลังเงินบาทสามารถทรงตัวเหนือระดับเส้นค่าเฉลี่ย EMA 50วัน แถว 34.30 บาทต่อดอลลาร์ ได้อย่างชัดเจน นอกจากนี้ ในเชิง Technical ทั้ง RSI และ MACD ต่างก็ชี้ว่า เงินบาทยังมีแนวโน้มผันผวนอ่อนค่าลงได้ 

สำหรับปัจจัยภายนอกที่มีผลต่อค่าเงินบาทนั้นเห็นว่า เป็นไปตามทิศทางของทั้งเงินดอลลาร์และราคาทองคำ ซึ่งต้องจับตาการปรับมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มนโยบายการเงินของเฟด ผ่านรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยเฉพาะอัตราเงินเฟ้อ PCE และ GDP สหรัฐฯ ในไตรมาสแรกของปีนี้

ซึ่งล่าสุดผู้เล่นในตลาดเริ่มเพิ่มโอกาสเฟดเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อและไม่เร่งรีบลดดอกเบี้ยลง (จาก CME FedWatch Tool ตลาดมองเฟดอาจเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยอีก 1 ครั้ง จนแตะระดับ 5.25% ก่อนที่จะคงอัตราดอกเบี้ย ณ ระดับดังกล่าว ไปจนถึงการประชุมเดือนกันยายน)

จับตาเงินเฟ้อ-จีดีพีไตรมาสแรกสหรัฐฯ ชี้ทิศทางสกุลเงินภูมิภาค

นอกจากนี้ ควรระวังความผันผวนในตลาดการเงินในช่วงตลาดทยอยรับรู้ผลการประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ซึ่งตลาดจะรอลุ้นว่า BOJ จะมีการส่งสัญญาณปรับนโยบายการเงิน โดยเฉพาะ การทำ Yields Curve Control (YCC) หรือไม่ และที่สำคัญ บรรยากาศในตลาดการเงินก็อาจผันผวนไปตามรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนได้

ส่วนปัจจัยในประเทศ เรามองว่า ต้องจับตา ทิศทางฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติทั้งตลาดหุ้นและตลาดบอนด์ นอกจากนี้ ควรจับตาโฟลว์ธุรกรรมซื้อเงินดอลลาร์  เพื่อจ่ายปันผลให้กับนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งอาจเป็นปัจจัยกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลงได้บ้าง (คาดว่าโฟลว์ธุรกรรมจ่ายเงินปันผลในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือนเมษายนอาจมีไม่น้อยกว่า 320 ล้านดอลลาร์)

ขณะที่ข้อมูลสหรัฐฯ ผู้เล่นในตลาดจะให้ความสนใจต่อรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ รวมถึงรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน โดยในส่วนของรายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่น่าสนใจ จะประกอบไป1. รายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE 2. รายงานอัตราการเติบโตเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในไตรมาสแรกของปี 2023 และ3.ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดย Conference Board

ส่วนยุโรป ตลาดจะรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจยุโรปผ่าน ดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจเยอรมนี (Ifo Business Climate) เดือนเมษายน รวมถึงรายงานอัตราการเติบโตเศรษฐกิจยูโรโซนในไตรมาสแรกของปี 2023

ทางฝั่งเอเชีย ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่ ผลการประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ซึ่งจะเป็นการประชุมครั้งแรกของผู้ว่าฯ BOJ คนใหม่ นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจญี่ปุ่น ผ่านรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญ อาทิ ยอดค้าปลีก (Retail Sales) และยอดผลผลิตอุตสาหกรรม (Industrial Produc tion) รวมถึงภาวะการจ้างงาน เป็นต้น ส่วนในฝั่งไทย ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามรายงานยอดการนำเข้าและส่งออก (Imports & Exports)

logoline