svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเงิน-การลงทุน

เปิดสาเหตุ ! เงินบาทแข็งรั้งอันดับ 3 ในภูมิภาค

09 เมษายน 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

แบงก์กรุงศรีฯ คาดเงินบาทสัปดาห์หน้า 33.80-34.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เกาะติดเงินเฟ้อสหรัฐ-รายงานประชุม FOMC ขณะที่แบงก์กรุงไทยมองผู้เล่นตลาดรอดูข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐก่อนประเมินทิศทางขึ้นดอกเบี้ยเฟด เปิดสถิติตั้งแต่ม.ค.-ปัจจุบัน บาทแข็งรั้งอันดับ 3 ในภูมิภาค

น.ส. รุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมธุรกิจและกำกับดูแลโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยกับ Nation Online ว่า เงินบาทสัปดาห์หน้าเคลื่อนไหวในกรอบ 33.80-34.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ติดตามข้อมูลเงินเฟ้อสหรัฐฯเดือนมี.ค. คาดปริมาณธุรกรรมในประเทศเบาบางก่อนหยุดเทศกาลสงกรานต์ อย่างไรก็ดี ในช่วงต้นของไตรมาสนี้การแข็งค่าของเงินบาทอาจถูกจำกัด ด้วยการโอนออกเงินปันผล ซึ่งเป็นปัจจัยตามฤดูกาล

ส่วนการเคลื่อนไหวของสกุลเงินในภูมิภาค ม.ค.-7 เม.ย. พบว่า รูเปียห์-อินโดนีเซียแข็งค่าสุด 4.39% รองลงมาคือเปโซ-ฟิลิปปินส์ 2.41%บาท-ไทย 1.43% รูปี-อินเดีย 1.02% ดอลลาร์-ไต้หวัน 0.83%ดอง-เวียดนาม 0.78%ดอลลาร์-สิงคโปร์ 0.68% หยวน-จีน 0.35%  ริงกิต-มาเลเซีย 0.06%  ยกเว้นวอน-เกาหลีใต้อ่อนค่า 4.06%

เปิดสาเหตุ ! เงินบาทแข็งรั้งอันดับ 3 ในภูมิภาค

สำหรับเงินบาทแข็งค่าสอดคล้องกับสกุลเงินส่วนใหญ่ในภูมิภาค ยกเว้นวอนเกาหลีใต้ที่อ่อนค่าลง โดยสาเหตุที่หนุนค่าเงินบาทแข็งค่า ได้แก่ การทบทวนคาดการณ์ดอกเบี้ยเฟด โดยตลาดมองว่าปัญหาภาคธนาคารสหรัฐฯและข้อมูลเศรษฐกิจที่สะท้อนการชะลอตัวจะตามมาด้วยการชะลอลงของเงินเฟ้อในระยะถัดไปอย่างชัดเจนมากขึ้น แม้ราคาน้ำมันจะสูงขึ้นจากกรณีกลุ่ม OPEC+ ปรับลดกำลังการผลิต แต่นักลงทุนยังคงคาดว่าเฟดจะขึ้นดอกเบี้ยอีกเพียง 1 ครั้งในเดือน พ.ค. ก่อนจะปรับลดลงในช่วงครึ่งหลังของปีนี้

อย่างไรก็ตาม กรุงศรียังมองกนง. คงดอกเบี้ยที่ 1.75% ตามทิศทางเงินเฟ้อและความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก แต่หากสถานการณ์เอื้อให้ขึ้นดอกเบี้ยต่อ เราคาดว่าจะขึ้นอีก 1 ครั้ง และจบปีที่ 2.00%  ขณะที่ดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟด เรามองว่าอาจขึ้นอีก 1 ครั้ง และมีโอกาสปรับลดก่อนสิ้นปีนี้

ทั้งนี้ตั้งแต่ม.ค.-6 เม.ย.ต่างชาติขายสุทธิในตลาดหุ้น 5.8 หมื่นล้านบาท และพันธบัตรไทยสุทธิ 3.8 หมื่นล้านบาท  

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงิน ธนาคารกรุงไทย  กล่าวกับ Nation Onlineว่า ประเมินเงินบาทสัปดาห์หน้าเคลื่อนไหวในกรอบ  33.75 - 34.40 บาทต่อดอลลาร์ เนื่องจากมีวันทำการไม่มากนัก เพราะใกล้สู่วันหยุดยาวเทศกาลสงกรานต์ ทำให้เงินบาทมีแนวโน้ม sideways รอลุ้นรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ของสหรัฐฯ และรายงานการประชุมล่าสุดของเฟด

โดยในเชิงเทคนิคัล เงินบาทมีเส้นค่าเฉลี่ย EMA 50 วัน แถว 34.30 บาทต่อดอลลาร์ เป็นแนวต้านแรกที่ต้องจับตา ส่วนแนวรับยังคงเป็นโซนต่ำกว่า 34 บาทต่อดอลลาร์ ทั้งนี้ ควรระวังความผันผวนของเงินบาทเนื่องจากเป็นช่วงใกล้วันหยุดยาว ทำให้ปริมาณธุรกรรมในตลาดอาจเบาบาง

สำหรับปัจจัยที่มีผลต่อค่าเงินบาท ทิศทางของทั้งเงินดอลลาร์และราคาทองคำยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการเคลื่อนไหวของเงินบาท ซึ่งไฮไลท์สำคัญที่อาจกระทบต่อทิศทางตลาดการเงินได้ คือ รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ของสหรัฐฯ รวมถึง รายงานการประชุม FOMC ล่าสุด และถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดเพื่อประเมินแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของเฟด

เปิดสาเหตุ ! เงินบาทแข็งรั้งอันดับ 3 ในภูมิภาค

นอกจากนี้ ปัจจัยฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติ ก็เป็นอีกปัจจัยที่ต้องติดตาม หลังนักลงทุนต่างชาติยังไม่เริ่มกลับมาเป็นฝั่งซื้อสุทธิหุ้นไทย และเราประเมินว่านักลงทุนต่างชาติอาจเป็นฝั่งขายสุทธิหุ้นไทยต่ออีกไม่เกิน -1 พันล้านบาทในสัปดาห์หน้า โดยนักลงทุนต่างชาติอาจรอซื้อหุ้นในจังหวะที่ดัชนี SET ย่อตัวใกล้โซนแนวรับแถว 1,540-1,550 จุด ในขณะที่ฝั่งบอนด์นักลงทุนต่างชาติก็รอจังหวะบอนด์ยีลด์ปรับตัวสูงขึ้นเพื่อเข้าซื้อ โดยเราคงมองว่า นักลงทุนต่างชาติจะยังเป็นฝั่งขายสุทธิบอนด์ไทยราว -2 พันล้านบาท

ขณะที่ฝั่งสหรัฐฯ ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินทิศทางนโยบายการเงินของเฟด ผ่าน 1. รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI เดือนมีนาคม 2. ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค โดยมหาวิทยาลัยมิชิแกน (U of Michigan Consumer Sentiment) 3. รายงานการประชุม FOMC ล่าสุด และ 4. ถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด

ส่วนยุโรป ตลาดจะรอจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางหลัก ทั้ง ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) และ ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจที่น่าสนใจจะมีทั้ง ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (Sentix Investor Confidence) และ ยอดค้าปลีก (Retail Sales) ของยูโรโซน  ขณะที่ไทยนั้นมีรายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (Consumer Confidence) ก็อาจช่วยสะท้อนภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยได้

logoline