svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเงิน-การลงทุน

เงินบาทแข็ง ! ครองแชมป์ภูมิภาคเกิดจากสาเหตุอะไร

02 เมษายน 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

แบงก์กรุงศรีอยุธยามองเงินบาทสัปดาห์หน้าเคลื่อนไหวในกรอบ 33.75-34.50 บาทต่อดอลลาร์ เปิดสถิติเดือนมี.ค.เงินบาทแข็งครองแชมป์ภูมิภาค ด้านแบงก์กรุงไทยคาดเงินบาทแกว่งไซด์เวย์ ลุ้นเงินเฟ้อไทย-ดัชนี PMI ภาคการผลิต -ดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจ

น.ส. รุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมธุรกิจและกำกับดูแลโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยกับ Nation Online ว่า  ค่าเงินบาทในสัปดาห์หน้าคาดว่าเคลื่อนไหวในกรอบ 33.75-34.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เกาะติดดัชนี ISM ภาคการผลิตและภาคบริการเดือนก.พ.ของสหรัฐฯ

รวมถึงการจ้างงานนอกภาคเกษตร  คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 2.4 แสนตำแหน่ง หากสูงหรือต่ำกว่านี้จะมีผลต่อการคาดการณ์ดอกเบี้ยเฟดอีกครั้ง โดยในเวลานี้ตลาดคาดว่าเฟดอาจจะขึ้นดอกเบี้ยได้อีกเพียง 1 ครั้ง และอาจปรับลดดอกเบี้ยลงก่อนสิ้นปีนี้

ส่วนการเคลื่อนไหวของสกุลเงินในภูมิภาค 1 มี.ค.- 31 มี.ค. พบว่า บาท-ไทยแข็งค่าสุด 3.70% รองลงมาคือวอน-เกาหลีใต้  2.26%  รูเปียห์-อินโดนีเซีย  1.90% เปโซ-ฟิลิปปินส์ 1.89% ริงกิต-มาเลเซีย 1.78% ดอลลาร์-สิงคโปร์ 1.62%ดอง-เวียดนาม 1.32% หยวน-จีน 1.10%  รูปี-อินเดีย 0.69% ดอลลาร์-ไต้หวัน 0.13%

เงินบาทแข็ง ! ครองแชมป์ภูมิภาคเกิดจากสาเหตุอะไร

สำหรับเงินบาทในเดือนมี.ค.แข็งค่านำภูมิภาค หลังจากในเดือนก.พ.อ่อนค่าลงมากถึง 7%  โดยปัจจัยหลักที่หนุนค่าเงินบาทและสกุลเงินภูมิภาคแข็งค่า คือบอนด์ยิลด์สหรัฐฯที่ร่วงลงในเดือนมี.ค. ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับภาคธนาคาร

ขณะที่ข้อมูลเศรษฐกิจจีนออกมาสดใส ทั้งนี้ต้องติดตามทิศทางกระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายต่อไป อย่างไรก็ตามตั้งแต่วันที่  1-30 มี.ค. 66 ต่างชาติขายสุทธิในตลาดหุ้นไทย 3 หมื่นล้านบาท แต่มียอดซื้อพันธบัตรสุทธิ 1.3 หมื่นล้านบาท

เงินบาทแข็ง ! ครองแชมป์ภูมิภาคเกิดจากสาเหตุอะไร

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงิน ธนาคารกรุงไทย  กล่าวกับ Nation Onlineว่า  ประเมินเงินบาทสัปดาห์หน้าเคลื่อนไหวในกรอบ  33.85 - 34.40 บาทต่อดอลลาร์ โดยในเชิงเทคนิคัล เงินบาทยังคงมีแนวโน้มแกว่งตัว sideways  ซึ่งมีเส้นค่าเฉลี่ย EMA 50วัน แถว 34.30 บาทต่อดอลลาร์ เป็นแนวต้านแรกที่ต้องจับตา ในขณะที่แนวรับสำคัญของเงินบาทจะอยู่ยังคงเป็นโซน 34.00 บาทต่อดอลลาร์

สำหรับตลาดสหรัฐฯ ควรรอติดตามรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญ เริ่มต้นจาก ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตอุตสาหกรรมและภาคการบริการ โดย ISM และรอลุ้นไฮไลท์สำคัญในช่วงปลายสัปดาห์ กับข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ อาทิ ยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls)รวมถึงอัตราการเติบโตของค่าจ้าง (Wage growth)

นอกจากนี้ ถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด ก็จะเป็นสิ่งที่ควรติดตาม เพื่อประเมินแนวโน้มการปรับดอกเบี้ยนโยบายในอนาคต

ส่วนในฝั่งไทยนั้น ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตา รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI เดือนมีนาคม เพื่อใช้ประเมินแนวโน้มการปรับดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาด โดยเฉพาะนักลงทุนต่างชาติอาจรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจไทยผ่านรายงานดัชนี PMI ภาคการผลิต และดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจ

ซึ่งหากข้อมูลเศรษฐกิจไทยออกมาดีกว่าคาดก็อาจหนุนให้นักลงทุนต่างชาติกลับเข้ามาซื้อหุ้นไทยได้บ้าง หลังจากเดินหน้าขายสุทธิหุ้นไทยต่อเนื่อง โดยสัปดาห์ที่ผ่านมาขายสุทธิเกือบ 2 พันล้านบาท

ส่วนสัปดาห์หน้ามองเม็ดเงินไหลเข้าหุ้นไทย โดยซื้อหุ้นสุทธิ 1-2 พันล้านบาท บนสมมติฐานว่าตลาดการเงินยังคงอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยงต่อเนื่อง และข้อมูลเศรษฐกิจไทยนั้นออกมาดีกว่าคาด (อัตราเงินเฟ้ออาจตามคาดหรือชะลอลงกว่าคาด จะส่งผลต่อตลาดการเงิน ดีกว่าอัตราเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นมากกว่าคาด)

ขณะที่บอนด์มองว่า นักลงทุนต่างชาติอาจรอจังหวะบอนด์ยีลด์ปรับตัวสูงขึ้นในการทยอยเข้าซื้อบอนด์ไทย โดยเฉพาะหากอัตราเงินเฟ้อออกมาสูงกว่าคาด ทำให้ผู้เล่นในตลาดเริ่มคาดหวังว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยจะเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อได้จนแตะระดับ 2.00% จาก 1.75% ณ ปัจจุบัน

ทั้งนี้หากเงินบาทแข็งค่าหลุดแนวรับหลัก 34.00 บาทต่อดอลลาร์ ผู้เล่นต่างชาติบางส่วนอาจทยอยเพิ่มสถานะถือครองบอนด์ระยะสั้น เพื่อลุ้นโอกาสเงินบาทแข็งค่าในระยะสั้นได้ (เพิ่มสถานะ Long THB) คาดมีกา ซื้อบอนด์สุทธิ 1-2 พันล้านบาท

logoline