svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"ประพันธ์" แย้มความเสี่ยง "เศรษฐา" ปมตั้ง "พิชิต" ส่อหลุดเก้าอี้นายกฯ

19 พฤษภาคม 2567 "นายประพันธ์ คูณมี" สมาชิกวุฒิสภา หนึ่งใน สว. ที่ร่วมลงชื่อในคำร้องส่งศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยสถานภาพการเป็นรัฐมนตรีของ "นายพิชิต ชื่นบาน" เพราะอาจขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 ซึ่งกำหนดคุณสมบัติการเป็นรัฐมนตรีเอาไว้อย่างเคร่งครัด 

ลุ้นศาล รธน. สั่ง นายกฯ-พิชิต หยุดปฏิบัติหน้าที่

โดย นายประพันธ์ กล่าวถึงกรณีกระแสโต้แย้งจาก สว.บางส่วนในการร่วมลงชื่อ จนอาจทำให้คำร้องไม่สมบูรณ์ ว่า บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 ระบุเอาไว้ชัด ให้ใช้เสียง สว. 1 ใน 10 ก็คือไม่น้อยกว่า 25 คน ฉะนั้น จึงเป็นไปตามขั้นตอนตามรัฐธรรมนูญทั้งหมด ซึ่งสมาชิกเสนอผ่านประธานวุฒิสภา จากนั้นประธานก็ส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญ จึงไม่มีอะไรเป็นปัญหา

ส่วนรัฐมนตรีที่ถูกยื่นคำร้อง ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ด้วยหรือไม่นั้น อยู่ที่ดุลยพินิจของศาล ซึ่งศาลก็มีคำวินิจฉัยในแนวทางนี้มาหลายครั้งแล้ว คือ ให้หยุดปฏิบัติหน้าที่เอาไว้ก่อน เพื่อรอคำวินิจฉัย โดยกรณีของ "พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" อดีตนายกรัฐมนตรี ก็เคยถูกศาลสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่เช่นกัน กรณีมีข้อสงสัยว่าดำรงตำแหน่งนายกฯครบ 8 ปี หรือ 2 วาระแล้วหรือยัง 

 

"ฉะนั้นเรื่องนี้จึงเป็นดุลยพินิจของศาล และในคำร้องของ สว. ก็มีคำขอให้หยุดปฏิบัติหน้าที่แนบไปด้วย" นายประพันธ์ กล่าว  

"เศรษฐา" เสี่ยงผิดถึงขั้นพ้นตำแหน่ง-ซาวเสียงกันใหม่ 

นายประพันธ์ กล่าวต่อว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ เพราะหากนายพิชิต ขาดคุณสมบัติการเป็นรัฐมนตรี "นายเศรษฐา ทวีสิน" นายกฯ ก็ต้องรับผิดชอบ อาจถึงขั้นถูกวินิจฉัยว่า จงใจปฏิบัติหน้าที่ขัดรัฐธรรมนูญ ก็ต้องเปลี่ยนนายกฯใหม่ ต้องซาวเสียงกันใหม่ 

 

"เรื่องนี้ถือว่ามีมูล เพราะหลายฝ่ายท้วงติงมาตั้งแต่ต้นแล้ว และนายกฯ ก็รับทราบ ตัวนายกฯเอง จึงถูกยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญว่า รู้อยู่แล้วว่านายพิชิต มีปัญหาเรื่องคุณสมบัติ และในการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีครั้งแรก ก็ไม่ได้แต่งตั้งด้วยปัญหาเรื่องคุณสมบัติ แต่มาครั้งที่ 2 กลับแต่งตั้ง ถือเป็นการจงใจกระทำการอันขัดต่อรัฐธรรมนูญ และจริยธรรมของผู้บริหาร เสนอรายชื่อคนขาดคุณสมบัติขึ้นกราบบังคมทูลเพื่อโปรดเกลาฯ ทั้งๆ ที่รู้อยู่แล้ว่าขาดคุณสมบัติ" นายประพันธ์ ระบุ 

 

สำหรับการดำเนินการในส่วนนี้ จึงมีปัญหาเรื่องการปฏิบัติหน้าที่ไม่ชอบ มีปัญหาการแต่งตั้งบุคคลขัดต่อมาตรฐานจริยธรรม ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 160 

สอนกฎหมาย "คำสั่ง - คำพิพากษา" ผลแบบเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้นายกฯ อาจไม่ได้คิด หรือคิดไม่รอบคอบ เพราะกระทำไปตามความเห็นของผู้มีอำนาจเหนือกว่า เมื่อขอให้ตั้ง ก็ตั้งไป แต่นายกฯ ย่อมหนีความรับผิดชอบไม่พ้น

ทั้งนี้ ยอมรับว่ากรณีของนายกฯ ยังต้องรอการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ แต่กรณีของนายพิชิต ไม่มีประเด็นน่าสงสัยเลย โดยเฉพาะคุณสมบัติการเป็นรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (7) ที่ว่า ต้องไม่เป็นผู้ต้องคำพิพากษาให้จำคุก แม้คดีนั้นจะยังไม่ถึงที่สุด หรือมีการรอการลงโทษ 

 

"ฉะนั้นคุณสมบัติข้อนี้จึงเข้มกว่า คุณสมบัติการลงสมัคร สส. ที่เคยต้องโทษจำคุกได้ แต่ต้องพ้นโทษมาเกิน 10 ปีแล้ว ซึ่งเป็นคุณสมบัติการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ตามมาตรา 160 (6) ด้วย แต่มาตราเดียวกัน ยังมีคุณสมบัติที่เข้มยิ่งขึ้นกว่าคุณสมบัติการลงสมัคร สส." นายประพันธ์ กล่าว 

 

ส่วนที่นายพิชิต ระบุว่า โทษจำคุกของตนมาจาก "คำสั่งศาล" ไม่ใช่ "คำพิพากษาของศาล" ตามที่บัญญัติในรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (7) นั้น เป็นเรื่องที่นายพิชิต พูดและคิดเอาเอง เพราะจริงๆ แล้วคำพิพากษาของศาล มี 2 ลักษณะ คือ "คำพิพากษา" กับ "คำสั่ง"

ทั้งนี้ แต่มีผลให้ต้องจำคุกเหมือนกันใช่หรือไม่ ฉะนั้นคำสั่งจึงมีผลตามคำพิพากษา อยากบอกว่าศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ได้ตีความอย่างแคบ จึงขอให้ไปศึกษาคำวินิจฉัยเก่า ๆ ของศาลรัฐธรรมนูญ ยกตัวอย่าง นายสมัคร สุนทรเวช อดีตนายกฯ แค่ไปรับเงินบริษัทเอกชน ทำกับข้าวออกทีวี ก็ถือว่าเป็นลูกจ้าง ไม่จำเป็นต้องมีสัญญาจ้าง นี่คือการตีความแบบกว้าง และความเป็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา ที่นำมาอ้างก็ไม่ใช่ถึงที่สุด 

สำหรับคำสั่งของศาลที่มีผลให้จำคุก ก็คือคำพิพากษา เพียงแต่บางเรื่องเป็นคำร้อง ศาลก็จะพิพากษา โดยใช้คำสั่ง แต่ถ้าเป็นคดีพิพาท 2 ฝ่าย ศาลจะใช้คำว่า "พิพากษา" แต่ก็มีผลบังคับแบบเดียวกัน คือ บุคคลผู้นั้นต้องจำคุก

"พิชิต" ไขก๊อก-นายกฯ ยังไม่พ้นบ่วง 

เมื่อถามว่า หากนายพิชิต และนายกฯลาออกก่อนศาลมีคำวินิจฉัย ทุกอย่างจะจบหรือไม่ สว.ประพันธ์ กล่าวว่ หากลาออกทั้ง 2 คน ศาลอาจสั่งจำหน่ายคดี แต่ถ้านายพิชิต ลาออกคนเดียว คดียังไม่จบ เพราะยังมีประเด็นวินิจฉัยเรื่องนายกฯอยู่ เพราะถือว่ากระทำผิดสำเร็จไปแล้ว