svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

สภาผู้บริโภคหนุน 'ล้ม' ประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม

22 มีนาคม 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

จุดยืนของสภาผู้บริโภค คือการผลักดันให้โครงสร้างรถไฟฟ้าเป็นของภาครัฐ เพื่อให้ค่าโดยสารเป็นมาตรฐานเดียวกัน อีกทั้งภาครัฐจะออกนโยบายตั๋วร่วมเพื่อลดค่าแรกเข้าระหว่างรถไฟฟ้าได้ด้วย

เลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค สารี อ๋องสมหวัง กล่าวในเวทีเสวนา เปิดนโยบายแก้ไขปัญหารถไฟฟ้าสายสีส้มและสายสีเขียว โดยระบุว่า จุดยืนของสภาฯคือการผลักดันให้โครงสร้างรถไฟฟ้าเป็นของภาครัฐ เพื่อให้ค่าโดยสารเป็นมาตรฐานเดียวกัน อีกทั้งภาครัฐจะออกนโยบายตั๋วร่วมเพื่อลดค่าแรกเข้าระหว่างรถไฟฟ้าได้ด้วย

 

ปัจจุบันมีเพียงรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่เอกชนลงทุนงานโยธา ซึ่งจะหมดสัมปทานปี 2572 สภาฯสนับสนุนไม่ให้ต่อสัมปทานเอกชน และนำโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวมาให้ภาครัฐบริหาร แต่ขณะนี้ภาครัฐผลักดันให้เอกชนเป็นเจ้าของโครงสร้างงานโยธา

สภาผู้บริโภคหนุน \'ล้ม\' ประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม

ส่วนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมฯ จะทำให้ปัญหาค่าโดยสารแพงกลับมาอีก เพราะเกิดจากเอกชนต้องร่วมลงทุนโยธา และนำมาคิดเป็นต้นทุนบริหารโครงการ

สภาฯต้องการให้รัฐบาลชุดใหม่แก้ไขปัญหาค่าโดยสารแพง จึงขอให้ยกเลิกการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มที่เป็นงานโครงสร้างช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมฯ และบริหารการเดินรถทั้งเส้นทางช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์)

 

รวมทั้งขอให้ภาครัฐใช้แนวคิด 3 จ เพื่อบริหารโครงการรถไฟฟ้า ซึ่งจะทำให้ภาครัฐมีรายได้เพิ่มและเอกชนสามารถเข้าประมูลได้หลายราย คือ 1.จ้างเอกชนก่อสร้างงานโยธา 2.จ้างเอกชนเดินรถ โดยใครให้ราคาถูกก็ให้สัมปทานไป 3.จัดการหารายได้เชิงพาณิชย์ เพื่อลดค่าโดยสารให้มากขึ้น

สภาผู้บริโภคหนุน \'ล้ม\' ประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม

รองเลขาธิการพรรคก้าวไกล สุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ระบุ หากพรรคได้เป็นรัฐบาลจะเปิดประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มใหม่ เพราะกังวลว่าจะมีการฟอกขาวให้ถูกต้อง โดยศาลอาจพิจารณาว่าข้อมูลของ BTSC เป็นข้อมูลนอกสำนวน เพราะไม่เคยเปิดเผยว่าถูกยกเลิกด้วยกระบวนการที่ไม่เป็นธรรม เพราะข้อเท็จจริงต้องยอมรับว่าปัจจุบันเอกชนเดินรถในไทยมี 2 รายใหญ่เท่านั้น ซึ่งการเข้าร่วมประมูลหากมีรายใดรายหนึ่งไม่ได้เข้าร่วมจะเกิดปัญหา

 

พรรคก้าวไกลชัดเจนว่ารถไฟฟ้าสายสีส้มต้องประมูลใหม่อย่างเป็นธรรม จะเขียนเกณฑ์อะไร ข้อเท็จจริงต้องยอมรับว่ามี 2 เจ้าใหญ่ที่เป็นเอกชนเดินรถไฟฟ้า และ 2 เจ้าใหญ่ต้องเข้าแข่งขันได้ จะไปเตะตัดขา เปลี่ยนเกณฑ์ตัดตอนเอกชนไม่ได้ หากจะให้การประมูลเกิดขึ้นแบบเร็วที่สุด คือ ใช้สัญญาเดิมมาประมูลใหม่ และเปิดกว้างสองเจ้าใหญ่ต้องเข้าได้ ไม่ให้มีส่วนต่าง 6.8 หมื่นล้านบาท

ส่วนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่จะหมดสัมปทานปี 2572 ยืนยันว่าไม่ควรขยายสัญญาตามร่างสัญญาใหม่ที่จะต่ออีก 30 ปี แต่ควรดำเนินการตามตอนของ พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 และควรประมูลหาเอกชนเดินรถในสัญญาใหม่ แม้ว่า BTSC จะมีโอกาสกลับมาบริหารมากกว่าเอกชนรายอื่น เพราะพร้อมด้านระบบและการบริหารจัดการ แต่ต้องประมูลให้โปร่งใส

logoline