svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ไลฟ์สไตล์

สะสมเพราะหลงใหลหรือลุงทุน? สิ่งที่ควรคำนึงถึงก่อนจะมีของสะสม

29 เมษายน 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

การเก็บสะสมอะไรสักอย่างอาจนับเป็นงานอดิเรกอย่างหนึ่ง และของที่สะสมไว้ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เรายังก้าวต่อไปข้างหน้าได้ วันไหนที่เหนื่อยล้าก็ขอแค่ได้นั่งมองของสะสมเหล่านั้น ไม่ว่าจะเป็นของเล่น รองเท้า หรือนาฬิกา ทว่าการสะสมก็มีต้นทุนตามมาเช่นกัน

“ทุกความหลงใหลล้วนยึดโยงกับความสับสนวุ่นวาย ทว่าความหลงใหลของนักสะสมนั้นยึดโยงอยู่กับความสับสนวุ่นวายของความทรงจำ”

[“Every passion borders on the chaotic, but the collector's passion borders on the chaos of memories.”]

ประโยคข้างต้นเป็นของ วอลเตอร์ เบนยามิน (Walter Benjamin) นักปรัชญา นักคิดนักเขียน และนักวิจารณ์หัวก้าวหน้าชาวเยอรมันเชื้อสายยิว ที่พูดถึงเรื่อง ‘ของสะสม’ และ ‘ความทรงจำ’ ของผู้คน

สะสมเพราะหลงใหลหรือลุงทุน? สิ่งที่ควรคำนึงถึงก่อนจะมีของสะสม

ในอดีตที่ผ่านมา ผมเคยเป็นคนหนึ่งที่ชอบสะสมสิ่งของต่างๆ โดยเฉพาะของที่ผูกพันกับความทรงจำหรืองานอดิเรกที่มี ไม่ว่าจะเป็นกล้องฟิลม์ กระเป๋า หรือ รองเท้า ฯลฯ

ถ้าคำนวณมูลค่าที่จ่ายไปของเหล่านี้ ก็ต้องยอมรับตรงๆ ว่าเสียเงินไปไม่ใช่น้อย แต่ทุกครั้งที่เริ่มรู้สึกแย่ เสียงในหัวก็ดังสวนขึ้นมาว่า “แต่มันคือความสุขไม่ใช่เหรอ?”
 

ใช่ครับ การสะสมสิ่งต่างๆ นั้นอาจจะเรียกได้ว่าเป็นความสุขรูปแบบหนึ่ง ซึ่งในมุมจิตวิทยา การสะสมยังมีประโยชน์อีกหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการลดความเครียด การสะท้อนตัวตนของเรา ช่วยด้านสมองและความทรงจำ ไปถึงเรื่องความสัมพันธ์ใหม่ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นตามมา

สะสมเพราะหลงใหลหรือลุงทุน? สิ่งที่ควรคำนึงถึงก่อนจะมีของสะสม

นอกจากมุมจิตวิทยาที่ว่ามา ถ้าเรามองลึกลงไปในมุม ‘การเงิน’ บ้าง ก็ต้องบอกว่าของสะสมต่างๆ ที่เรามี ถ้ามาถูกที่ ถูกเวลา ในราคาที่เหมาะสม ก็ยังสามารถแปรเปลี่ยนเป็น ‘สินทรัพย์’ ประเภทหนึ่งในการลงทุนได้เหมือนกัน โดยเฉพาะคนที่สนใจมันอย่างจริงจัง และมองเห็นช่องทางในการทำรายได้จากสิ่งต่างๆ เหล่านี้

ยกตัวอย่างเช่น เจ้าตุ๊กตาลาบูบู้ ตุ๊กตาอาร์ตทอยที่ได้รับความนิยมในช่วงเวลานี้ ด้วยความน่ารัก มีสไตล์ และเอกลักษณ์ ประกอบกับความฮอตฮิตของสังคม ที่ทำให้คนหลายคนตกหลุมรักจนต้องหามาไว้ครอบครองให้ได้ จนกลายเป็นว่าขาดตลาดและมีราคาขายที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว

ภาพจาก POP MART

“ถ้ารู้แบบนี้ซื้อไว้ก่อนก็ดี ป่านนี้ก็คงรวยไปแล้ว” (ใครบางคนอาจจะคิดแบบนี้ รวมถึงตัวผู้เขียนด้วย)

เมื่อพูดถึงเรื่องเงิน เลยอยากจะชวนคิดคำนึงต่อถึงเรื่องของการสะสมของต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเพียงแค่งานอดิเรก ความชื่นชอบ หรืออาชีพ ว่าเราควรพิจารณาจากแง่มุมไหนและควรเริ่มอย่างไร เพื่อให้เงินที่เรามีนั้นถูกใช้ประโยชน์ได้สูงสุดกันบ้าง
 

เริ่มจากจุดที่เป็น ‘ของสะสม’ กันก่อน หากเรามองว่าจะสะสมอะไรสักอย่าง นั่นแปลว่า สิ่งเหล่านั้นเป็นของที่มีคุณค่าทางจิตใจ ซึ่งอนุมานได้ประมาณหนึ่งว่า ของสะสมนั้น ‘นอกเหนือความจำเป็นตามปกติของชีวิต’ เพราะในความเป็นจริง ถ้าไม่สะสมของเหล่านี้ เราก็ยังใช้ชีวิตอยู่ได้ เพียงแต่อาจจะรู้สึกเหมือนขาดหายอะไรไปเท่านั้น

สะสมเพราะหลงใหลหรือลุงทุน? สิ่งที่ควรคำนึงถึงก่อนจะมีของสะสม

หนังสือ ‘The Psychology of Money : จิตวิทยาว่าด้วยเงิน’ พูดถึงเรื่องนี้ไว้ในบทที่ 8 ความย้อนแย้งของชายในรถยนต์ นั่นคือ สินทรัพย์ที่คุณมี ไม่ได้ทำให้คนอื่นชื่นชมคุณ แต่ทำได้แค่เพียงให้คนอื่นอยากมีอย่างคุณ เหมือนกับ เวลาที่เราขับรถหรู เราคิดว่าคนอาจจะสนใจเรา แต่ความเป็นจริงแล้ว เขาสนใจแค่รถที่เราขับ และจินตนาการว่าถ้าหากได้ขับบ้าง คงจะรู้สึกดี รถหรูคันนั้นก็เป็นได้เพียงสิ่งที่ชี้วัดความต้องการเท่านั้น

ดังนั้น ถ้าการสะสมของที่คุณอยากได้นั้นเป็นเพียงแค่การอยากได้เหมือนคนอื่นเขา เพียงเพื่อบอกว่าเรามี ตรงนี้ก็ต้องระวังให้ดีว่าสุดท้ายแล้วมันจะเป็นการเสียเงินและเสียเวลาไปเปล่าๆ

แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าหากมองว่า “เงินที่เรามีก็เป็นเงินของเรา อยากจะสะสมอะไรก็สะสมได้” ก็ขอให้มั่นใจในสภาพคล่องหรือพื้นฐานการเงินที่ทำให้ชีวิตอยู่รอด ก่อนที่จะต่อยอดไปที่ของสะสมที่เราต้องการน่าจะดีกว่า เพราะสุดท้ายแล้วถ้ามีของชิ้นนั้นแต่เรามีชีวิตการเงินที่ลำบาก ก็อาจจะกลายเป็นความสะสมความเหนื่อยยากในชีวิตไปแทน

หรือไม่เช่นนั้น อาจใช้วิธีการตั้งงบประมาณบริหารเงินแบบชัดๆ เช่น แบ่ง 10% ของรายได้ไปใช้จ่ายกับของสะสม (โดยไม่รู้สึกผิด)  เพราะการกำหนดจำนวนเงินและวินัยที่แน่นอนให้กับตัวเอง ก็จะช่วยให้เรามีทั้งความสุขจากการใช้จ่าย และ ความสบายในการบริหารจัดการเงินไปพร้อมกัน

สะสมเพราะหลงใหลหรือลุงทุน? สิ่งที่ควรคำนึงถึงก่อนจะมีของสะสม

เพื่อความชัดเจนในมุมมอง ผู้เขียนอยากชวนคิดต่อว่า แล้วถ้าของสะสมที่เรามี มันเป็นของที่ขายได้ มีสภาพคล่องเหมือนกัน โดยเฉพาะถ้าเป็นของที่นิยมในช่วงนี้ อาจจะได้ราคาดีด้วย การคิดแบบนี้ก็ไม่ใช่เรื่องผิด แต่อยากให้ลองคิดเผื่อไว้ในกรณีที่ราคามันตก หรือความต้องการหดหายในช่วงที่เราต้องการใช้เงิน การสะสมก็นำมาซึ่งความลำบากและความวุ่นวายได้เหมือนกัน

เพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจน ผมให้อยากลองเช็กราคา ตุ๊กตาเฟอร์บี้ จตุคามรามเทพ ที่ราคาเปลี่ยนแปลงไปจากเมื่อก่อนที่เคยฮิต และในขณะเดียวกันก็มีของสะสมหลายอย่างที่ราคาเพิ่มสูงขึ้นเช่นเดียวกัน เช่น เสื้อวงวินเทจ กล้อง หรือนาฬิกา (บางรุ่น)

ดังนั้นถ้าหากมองว่าต้องการทำเงินจากของสะสม สิ่งที่ต้องมีคือความรู้และความเข้าใจ แต่ถ้าอยากสะสมเพื่อจิตใจ ก็ขอให้มองว่าของที่ได้มานั้นประเมินค่าไม่ได้ ใครจะซื้อก็ไม่คิดขายเด็ดขาด (นอกจากจำเป็นจริงๆ)

ที่เตือนแบบนี้ เพราะผมมีประสบการณ์ตรงจากการขายกล้องและเลนส์ที่สะสมไว้ยกชุด ในตอนที่จำเป็นต้องใช้เงิน ทำให้โดนกดราคา และกดความรู้สึกที่มีต่อใจไปอีก (พูดแล้วเศร้า) 

แต่สำหรับผู้ทีต้องการสะสม และมองเห็นคุณค่าของมันจริง ๆ มีคำแนะนำสำคัญ เพื่อให้เห็นภาพของการสะสมที่ชัดเจนและไม่ลำบากต่อชีวิต ด้วยหลักคิดตามนี้

  1. เริ่มจากสิ่งที่เราสนใจจริงๆ ไม่ใช่สิ่งที่ชื่นชอบเพียงชั่วคราว ลองสังเกตจากความรู้สึกตัวเองก็ได้ว่า สะสมแล้วรู้สึกอยากอวดให้คนอื่นเห็น หรืออยากเห็นมันเวลาที่เราท้อใจ แบบนี้ก็พอจะวัดได้ระดับหนึ่ง
  2. หาความรู้และข้อมูลให้ชัดเจน ถ้าอยากจะเก็งกำไร และลงทุนไปด้วย ต้องดูด้วยว่า สิ่งที่เราสะสมนั้น รุ่นไหนฮอตฮิต หรือต้องเป็นพวก limited edition ที่ควรค่า และที่สำคัญสุดๆ มันต้องเป็นของแท้ ไม่ใช่ของปลอม
  3. เริ่มจากเงินจำนวนน้อยๆ ก่อนให้แน่ใจ เหมือนกับการลงทุนทั่วไป ถ้าไม่แน่ใจ อย่าลงเงินไปเต็มตัว และมองไปถึงช่องทางในการขายในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มพูดคุยสะสมแลกเปลี่ยน สังคมแห่งการแบ่งปัน ที่เราสามารถเข้าร่วมและส่งต่อได้ในอนาคต

ย้ำอีกทีว่า การมีของสะสมไม่ใช่เรื่องผิด ถ้ามันมีผลดีต่อจิตใจ แต่สิ่งที่ต้องระวังไว้ คือ เงินที่เรามีไม่พอใช้ เพราะเราเอาเงินส่วนหนึ่งไปสะสมของที่อยากได้ ชีวิตก็จะลำบากได้เหมือนกัน เพราะทุกวันนี้นอกจากแรงใจที่ใช้ชีวิต ยังต้องมีแรงเงินคอยประคับประคองอีกด้วย

และเมื่อมาถึงจุดที่ของสะสมเปลี่ยนเป็นเงิน หรือมองว่าเป็นการลงทุน จุดนี้ยิ่งต้องพิจารณาให้ชัดว่า เราต้องมีความเข้าใจและเชี่ยวชาญเพียงพอ มีข้อมูลความเคลื่อนไหวหรือการเปลี่ยนแปลงมูลค่าที่ชัดเจน และที่สำคัญคือการวิเคราะห์จับจังหวะที่เหมาะสมในการลงทุน หรือขายต่อ และสิ่งที่ตามมาก็คือความเสี่ยง การบริหารจัดการเงิน และผลตอบแทนที่คาดหวังประกอบกันไป เพื่อให้สิ่งทีเราลงทุนไว้มีโอกาสเติบโตและสร้างผลตอบแทนได้อย่างแท้จริง

สะสมเพราะหลงใหลหรือลุงทุน? สิ่งที่ควรคำนึงถึงก่อนจะมีของสะสม

อย่างไรก็ตาม หากพบความจริงว่า เราไม่ได้สะสมสิ่งนั้นเพราะชื่นชอบมันจริงๆ หรือ ไม่ได้มีความรู้ในการลงทุนของสะสมอย่างที่เข้าใจ การไม่ทำอะไร เก็บเงินไว้ แล้วใช้ชีวิตแบบไม่มีของสะสม ก็ไม่ใช่เรื่องผิดเหมือนกัน 

... และถ้ามีใครถามว่าเราสะสมอะไร การตอบว่า “ทุกวันนี้สะสมเงินอยู่” ก็ดูจะไม่เสียหายอะไร
 

logoline