svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ไลฟ์สไตล์

‘Poor Things’ บาร์บี้เวอร์ชั่นไม่สีชมพู

23 กุมภาพันธ์ 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

Poor Things (2023) คือหนังยาวลำดับล่าสุดของ ยอร์กอส ลันธิมอส (ผู้กำกับ The Lobster) ที่เข้าชิงรางวัลออสการ์กว่า 11 สาขา แม้จะว่าด้วยความเป็นหญิงคล้ายกับ Barbie แต่หนังเรื่องนี้เล่ามันด้วยท่าทีที่ต่างไปมาก

ยอร์กอส ลันธิมอส เป็นคนทำหนังชาวกรีกที่ฝากลายเซ็นไว้ในหนังของตัวเองชัดเสมอ ประการแรก หนังของเขามักเต็มไปด้วยมุกตลกชวนอิหลักอิเหลื่อ (awkward) ประการที่สอง หนังของเขามักมีฉากที่ชวนให้อึดอัดใจหรือไม่กล้าประสานสายตานัก และประการที่สาม หนังของเขามักวิพากษ์วิจารณ์ความอ่อนไหว เปราะบางและภาวะปากว่าตาขยิบของชนชั้นกลาง-ชนชั้นสูงอยู่เนืองๆ

Poor Things (2023). ภาพจาก IMDb

*บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาสำคัญของภาพยนตร์

Poor Things (2023) คือหนังยาวลำดับล่าสุดของเขาที่เข้าชิงออสการ์ทั้งสิ้น 11 สาขา ไม่ว่าจะภาพยนตร์ยอดเยี่ยม, กำกับยอดเยี่ยม, นำหญิงยอดเยี่ยม (เอมมา สโตน), และสมทบชายยอดเยี่ยม (มาร์ก รัฟฟาโล) หนังดัดแปลงมาจากนิยายชื่อยาวเหยียด Poor Things: Episodes from the Early Life of Archibald McCandless M.D., Scottish Public Health Officer (1992) ของ อลาเดรีย เกรย์ นักเขียนชาวสก็อตแลนด์ เล่าถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นในลอนดอนยุควิกตอเรีย เบลลา แบ็กซ์เตอร์ (เอมมา สโตน) หญิงสาวที่มีบุคลิกเหมือนเด็กน้อย เช่น เธอผสมคำได้ไม่กี่คำ, ตั้งคำถามตรงไปตรงมา, ซื่อตรงต่อสิ่งที่ตัวเองคิดและตื่นเต้นที่จะได้เรียนรู้เรื่องราวต่างๆ เธออาศัยอยู่กับ ดร.ก็อดวิน แบ็กซ์เตอร์ (วิลเลม เดโฟ) นักวิทยาศาสตร์สติเฟื่องที่เป็นเสมือนพ่อบุญธรรมของเธอ กับการจับตาดูอยู่ห่างๆ ของ แม็กซ์ (รามี ยุสเซฟ) นักเรียนแพทย์ที่ตกหลุมรักเบลลา ทว่าก็อดสงสัยท่าทีและพฤติกรรมบางประการของหญิงสาวไม่ได้ เขาจึงถามไถ่ความจริงกับก็อดวินเพื่อจะพบว่า แท้จริงแล้วเบลลาคือร่างของหญิงสาวท้องแก่ที่กระโดดน้ำตาย ก็อดวินพบศพของเธอขณะที่ยังอุ่นและกระตุ้นให้ฟื้นขึ้นมาอีกครั้งด้วยไฟฟ้า พร้อมกับผ่าเอาทารกออกมาจากท้องหล่อน เอาสมองเด็กสลับกับสมองของหญิงสาวผู้เสียชีวิต ยังผลให้เมื่อเธอฟื้นขึ้นมาอีกหน เบลลา—ชื่อที่ก็อดวินตั้งเอง—จึงมีร่างกายเหมือนผู้ใหญ่ และมีจิตใจกับวิธีคิดเหมือนเด็กทารก

Poor Things (2023). ภาพจาก IMDb

และในวันอันแสนธรรมดา เบลลาก็เรียนรู้ร่างกายของเธอและสำเร็จความใคร่ได้ด้วยตัวเอง ก่อนจะเรียนรู้จากคน (หรือผู้ใหญ่) รอบตัวว่า การช่วยตัวเองหรือมีเพศสัมพันธ์ไม่ว่าจะในลักษณะใดในที่สาธารณะนั้นถือเป็นเรื่องไม่ควรทำ กระนั้น นั่นก็ถือเป็นการรับรู้และทำความเข้าใจ 'ตัวตน' ของตัวเองเป็นครั้งแรกๆ ของเธอ พร้อมกันกับการปรากฏตัวของ ดันแคน (มาร์ก รัฟฟาโล) นักกฎหมายที่นึกสนใจเธอเข้าอย่างจัง และชักชวนเธอให้ออกเดินทางไปเปิดโลกกับเขา

Poor Things (2023). ภาพจาก IMDb

ด้วยความสนใจใคร่รู้ต่อโลกและต่อชีวิต เบลลาจึงออกเดินทางไปกับชายแปลกหน้า ได้เรียนรู้โลกกว้างรวมทั้งการมีเซ็กซ์อันเร่าร้อนกับดันแคนผู้ออกตัวว่าเป็นนักรักชั้นยอด และหวังจะควบคุมเธอให้อยู่ภายในกำมือตัวเอง ทว่าการได้เผชิญโลกทำให้เบลลาเติบโตขึ้นอีก เธอตั้งคำถามต่อความปรารถนาและตัวตนของตัวเอง ดื้อดึงใส่เขา และยิ่งทำให้ดันแคนขัดข้องใจที่เธอเริ่มอยู่เหนือจากการควบคุมไปทุกทีๆ ก่อนจะลงเอยด้วยการทะเลาะเบาะแว้งครั้งใหญ่จนทั้งคู่ต้องระเห็จมาอยู่ที่ปารีสโดยไม่มีเงินในมือ เบลลาจึงสร้างรายได้ด้วยการไปขายตัวในซ่องแห่งหนึ่ง เพราะสำหรับเธอผู้เข้าใจว่าตัวเองชื่นชอบเซ็กซ์ การมีเซ็กซ์และได้เงินก็ควรเป็นเรื่องที่เธอ 'ได้กำไร' หากแต่ก็ไม่ง่ายเช่นนั้นเมื่อดันแคนมีท่าทีต่อต้านอาชีพนี้ มิหนำซ้ำ เบลลายังพบว่าชายหลายคนก็ไม่ได้ทำให้เธอเปี่ยมสุขเวลามีเซ็กซ์ และยังผลให้เธอตั้งคำถามต่อตัวตนของเธอซ้ำไปซ้ำมา

Poor Things (2023). ภาพจาก IMDb

ไม่แปลกที่ Poor Things จะถูกเทียบเคียงกับ Barbie (2023) อยู่เนืองๆ ทั้งนี้เพราะมันต่างเป็นหนังที่พูดถึงเรื่องความเป็นหญิงและ existence หรือภาวะการมีตัวตนของตัวละคร กล่าวคือ บาร์บี้ ก็เป็นตัวละครที่เผชิญหน้ากับภาวะการดำรงอยู่ของตัวเองเมื่อเธอถูกเหล่าเคนยึดบาร์บี้แลนด์ไป เธอตั้งคำถามว่าแล้วเธอคือใคร เมื่อไม่มีบาร์บี้แลนด์แล้วเธอจะยังเป็นบาร์บี้อยู่อีกหรือไม่ เช่นเดียวกันกับเบลลาที่ตัวตนและการดำรงอยู่ของเธอค่อยๆ พัฒนาขึ้นเมื่อเธอค้นพบความต้องการของตัวเอง ทั้งความต้องการทางเพศ, ความต้องการจะเป็นอิสระ, และเจตจำนงเสรี (free will) ของตัวเองในฐานะเบลลา ไม่ใช่ในฐานะหญิงสาวที่ตายจากไปแล้วอันเป็นเรือนร่างของเธอ

Poor Things (2023). ภาพจาก IMDb

นอกจากนี้ ยังมีหลายฉากที่แสนจะ 'บังเอิญ' ให้ได้หยิบมาเทียบเคียงกับ Barbie เช่น ฉากที่บาร์บี้ยิ้มให้หญิงชราที่เธอเจอตอนมาอยู่บนโลกมนุษย์และชมฝ่ายหลังว่า "คุณสวยจัง" ถือเป็นฉากเล็กๆ อันอบอุ่นที่ผู้หญิงมอบให้แก่กัน ขณะเดียวกัน Poor Things ก็มีฉากที่ว่านี้เพียงแต่บทสนทนาหนักกว่ามาก นั่นคือเมื่อเบลลาเจอหญิงชราบนเรือยักษ์ ผู้ออกตัวว่าไม่ได้หลับนอนกับใครมา 20 ปีแล้ว เรื่องนี้ทำให้เบลลาตกใจมากและเสนอทางออกอย่างมีไมตรีว่าให้เธอใช้มือช่วยตัวเอง หรือแม้แต่ฉากที่เหล่าโสเภณีในซ่องช่วยเหลือเบลลาที่มาทำงานใหม่ๆ ให้รับมือกับลูกค้าสารพัดรูปแบบ ดูแล้วก็ชวนอบอุ่นหัวใจไม่แพ้เหล่าบาร์บี้โอบกอดกันและกัน

Poor Things (2023). ภาพจาก IMDb

อย่างไรก็ดี ฉากที่ฉายให้เห็น 'การเติบโต' ของเบลลาที่ทำให้ดันแคนเริ่มตระหนักได้ว่าเธอไม่ใช่เด็กน้อยในเงื้อมมือเขาอีกต่อไปแล้ว คือเมื่อโรงแรมเปิดฟลอร์เต้นรำ ท่ามกลางหนุ่มสาวที่ลุกขึ้นจับคู่หมุนตัวสวยงาม เธอเป็นเพียงคนเดียวที่ลุกขึ้นไปยืนเต้นเก้งก้าง เธอเต้นไม่เป็นและไม่ต้องการให้ออกมาดูสวยงาม เธอแค่เต้นเพราะเธอเพิ่งรู้จักดนตรีกับการเต้นรำ ดันแคนพยายามจับมือเธอให้เต้นคู่กันกับเขาแต่เธอดิ้นรน เธออยากเต้นคนเดียวบนฟลอร์ที่อนุญาตให้มีแค่หญิงกับชายเต้นคู่กันเท่านั้น และถึงที่สุด แม้งานจะล่มลงเพราะดันแคนอาละวาด แต่เธอ (และคนดู) ก็ได้เห็นพัฒนาการความต้องการของหญิงสาวที่ตระหนักขึ้นได้ว่า ชีวิตเธอไม่จำเป็นต้องอยู่คู่กันกับดันแคน—ที่เธอแค่ตามมาเพราะอยากรู้โลกใหม่ ไม่ใช่เพราะหลงใหลในตัวเขา—อีกต่อไปแล้ว

Poor Things (2023). ภาพจาก IMDb

ตลอดทั้งเรื่อง หนังตั้งคำถามสำคัญอีกประการหนึ่งว่า แท้จริงแล้วมนุษย์เป็นสัตว์ที่อัปลักษณ์และโหดร้ายหรือไม่ เบลลาพยายามต่อต้านความคิดนั้น เธอเชื่อมั่นว่ามนุษย์เป็นสิ่งที่ดีได้ กระนั้น เมื่อเธอถูกอดีตไล่ล่าจากการที่สามีเก่าก่อนหน้าเธอในร่างเดิมจะกระโดดน้ำตายลงมาเจอเข้า เธอก็พบว่าแท้จริงแล้วเบลลาคนเก่าไม่ใช่คนดิบดีอะไร เป็นหญิงสูงศักดิ์จิตใจสกปรกที่มีผัวต่ำทรามไม่แพ้กัน หากแต่เธอในเวอร์ชั่นชั่วช้าก็ต้องเผชิญหน้ากับเรื่องเลวร้ายจนทำให้เธอไปกระโดดน้ำจบชีวิต เพื่อหนีจากผัว หนีจากชีวิตที่ต้องตั้งท้องเพราะเธอไม่อยากมี ทว่าเมื่อกลับมามีชีวิตในฐานะเบลลาอีกหน เธอยังถูกรังควานโดยผัวเก่าที่หวังจะทำให้เธอตั้งครรภ์อีกหน (แม้เธอไม่ปรารถนา) และตัดคลิตอริสของเธอทิ้งเพราะเชื่อว่าความปรารถนาทางกามของเธอเป็นต้นเหตุของปัญหาทั้งหมด (เช่น เขาเชื่อว่าเธอเกลียดชังการต้องอุ้มท้องและมีลูกเพราะทำให้เธอมีเซ็กซ์ไม่ได้—แม้จริงๆ แล้ว เมียของเขาอาจแค่ไม่อยากมีลูกเพราะไม่อยากมีเท่านั้น เป็นเจตจำนงของหญิงสาวที่ไม่มีเหตุผลอื่นมาข้องเกี่ยว แต่เขาไม่เข้าใจเพราะไม่เชื่อแต่แรกว่าเมีย—หรือผู้หญิง—มีเจตจำนงและความปรารถนาอื่นๆ เป็นของตัวเองได้) เบลลาจึงต้องดิ้นรนหนีออกมาจากชีวิตอีกครั้ง

Poor Things (2023). ภาพจาก IMDb

Poor Things นับเป็นหนังที่พูดถึงความเป็นผู้หญิงได้ 'หนักไม้หนักมือ' ทว่าก็ตรงประเด็นอย่างที่สุด ทั้งการเซ็ตให้เรื่องราวเกิดขึ้นในยุควิกตอเรียนที่การควบคุมเรื่องทางเพศผ่านสังคมเข้มงวด โดยที่ลันธิมอสยังคงน้ำเสียงจิกกัดเสียดสีเหล่า 'ผู้ดี' ที่ปากว่าตาขยิบต่อเรื่องบนเตียง แต่ไม่เคยพลาดที่จะร่วมรักหรือสมสู่กันทุกครั้งที่มีโอกาส (เทียบกันกับเหล่าโสเภณีหรือคนชนชั้นล่าง ที่เปิดเผยตัวตนชัดเจนว่าพวกเขาปรารถนาอะไร ต้องการสิ่งใดโดยไม่ต้องกระมิดกระเมี้ยน) แต่หากจะมีสักสิ่งที่ดูจะแปลกไป (ในทางที่น่าสนใจ) จากหนังเรื่องก่อนๆ ของเขาคือ มันเป็นหนังที่มีน้ำเสียงของความหวังมากที่สุดในบรรดาหนังอันแสนมืดมิดและสำรวจความดำมืดในใจมนุษย์ของเขาแล้ว
 

logoline