svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ไลฟ์สไตล์

‘Barbie’ บาร์บี้แลนด์กับดินแดนทุนนิยม

26 มกราคม 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

Barbie ถือเป็นหนังที่สร้างปรากฏการณ์ระดับถล่มทลาย และได้เข้าชิงรางวัลออสการ์ถึงแปดสาขา กำกับโดย เกรตา เกอร์วิก แสดงนำโดย มาร์โกต์ ร็อบบี

เพิ่งผ่านพ้นช่วงเวลาของการประกาศชื่อผู้เข้าชิงรางวัลออสการ์มาไม่นาน และสำหรับ Barbie (2023) หนังยาวลำดับล่าสุดของ เกรตา เกอร์วิก (Greta Gerwig)—ซึ่งครองตำแหน่งหนังทำเงินมากที่สุดของปี 2023—เข้าชิงไปได้แปดสาขารวมทั้งภาพยนตร์ยอดเยี่ยม, สมทบชายยอดเยี่ยม, และสมทบหญิงยอดเยี่ยม

Barbie (2023). ภาพจาก: IMDb

ไม่เกินเลยถ้าเราจะบอกว่าขวบปีที่ผ่านพ้นไปนั้น Barbie ถือเป็นหนังที่สร้างปรากฏการณ์ระดับถล่มทลาย มันถือเป็นหนึ่งในหนังหัวขบวนที่ทำให้คนอยากต่อแถวไปซื้อตั๋วเพื่อดูหนังในโรงภาพยนตร์อีกครั้งหลังผู้คนเริ่มเคยชินกับการดูผ่านระบบสตรีมมิ่ง ยังไม่นับว่าเมื่อหนังเข้าฉายพร้อม Oppenheimer (2023) หนังว่าด้วยนักฟิสิกส์กับระเบิดปรมาณู ทั้งสองเรื่องก็จุดกระแส Barbenheimer เป็นหนัง 'คู่ขนาน' ที่ดูในเวลาไล่เลี่ยกัน แบ่งเป็น #TeamBarbie และ #TeamOppenheimer แล้วแต่ศรัทธากับความชอบว่าใครจะดูเรื่องไหนก่อนเรื่องไหนหลัง และทั้งหมดนี้ก็นับเป็นหนึ่งในปรากฏการณ์ที่น่าตื่นเต้นและน่าจดจำมากที่สุดที่เกิดขึ้นในปี 2023 สำหรับอุตสาหกรรมฮอลลีวูด

Barbie (2023). ภาพจาก: IMDb
 

Barbie เป็นหนังที่เกอร์วิกเขียนบทรวมกับ โนอาห์ เบาม์แบก (Noah Baumbach) คนรักและคนทำหนังคู่บุญของเธอ และร่วมโปรดิวซ์โดย มาร์โกต์ ร็อบบี (Margot Robbie) ที่รับหน้าที่เป็นนักแสดงนำของเรื่องโดยเธอเป็น บาร์บี้ ตุ๊กตาที่ใช้ชีวิตอยู่ในบาร์บี้แลนด์อันแสนสุขกับเพื่อนๆ บาร์บี้ รวมทั้งเคนหรือตุ๊กตาผู้ชายซึ่งไม่มีบทบาทสลักสำคัญนักในบาร์บี้แลนด์แห่งนี้ ชีวิตแต่ละวันของเหล่าบาร์บี้อยู่กับการจัดงานปาร์ตี้ เต้นรำ และมีความสุข กระทั่งเมื่อบาร์บี้ (ร็อบบี) โพล่งขึ้นมาตอนเต้นรำว่าเธอครุ่นคิดคำนึงถึงความตาย ตามมาด้วยเหตุการณ์ชวนระทึก เช่น เธอทำวาฟเฟิลไหม้เป็นครั้งแรกในบาร์บี้แลนด์ซึ่งไม่เคยเกิดเรื่องผิดพลาดกับเหล่าบาร์บี้มาก่อน หรือเธอหล่นลงจากระเบียงบ้าน ไม่อาจเคลื่อนไหวด้วยท่วงท่าสง่างามอีกต่อไป และหนักหนาที่สุดคือบาร์บี้ซึ่งปกติแล้วยืนบนปลายเท้าตลอดนั้น กลายเป็นว่าเท้าของเธอกลับแบนราบเหมือนเท้ามนุษย์!

เธอจึงเร่งรัดหาทางแก้ไขและพบว่า สาเหตุทั้งหมดเป็นมาจากเด็กผู้หญิงที่เคยเล่นกับเธอ อยู่ในภาวะหม่นเศร้าและกลัดกลุ้ม บาร์บี้ร่วมกันกับ เคน (ไรอัน กอสลิง, Ryan Gosling—ชิงสมทบชาย)—เพื่อนชายที่หลงรักเธอมาโดยตลอด—จึงออกเดินทางข้ามมิติจากบาร์บี้แลนด์มายังโลกมนุษย์ เพื่อหวังว่าหากเธอปลอบประโลมเด็กหญิงผู้เศร้าสร้อยจนกลับมาร่าเริงได้อีกครั้ง โลกอันแสนสมบูรณ์แบบของเธอจะกลับมาเหมือนเดิม

Barbie (2023). ภาพจาก: IMDb

การมาเยือนโลกมนุษย์เต็มไปด้วยเรื่องผิดคาดสำหรับบาร์บี้ เธอถูกจับจ้องและถูกคุกคามทางเพศ (โดยที่บาร์บี้เองก็ไม่อาจรู้ได้ว่าสิ่งที่เธอเผชิญคือการถูกคุกคาม) ทั้งยังถูกบริษัทยักษ์ใหญ่อย่างแมตเทลที่ผลิตบาร์บี้ออกไล่ล่าเธออีกต่างหาก ในทางกลับกัน เคนก็ลิงโลดกับสังคมที่ทำให้เขารู้สึกว่าตัวเองถูกมองเห็น ทั้งยังได้สัมผัสกับภาวะปิตาธิปไตยที่ทำให้เขาเชื่อว่าตัวเองก็เป็นใหญ่ได้ เคนจึงกลับมายังบาร์บี้แลนด์เพียงลำพัง ขณะที่บาร์บี้นั้น เธอได้พบกับ กลอเรีย (อเมริกา เฟอร์เรรา, America Ferrera—ชิงสมทบหญิง) หญิงสาวที่ในอดีตเคยเล่นกับบาร์บี้มาก่อน และเวลานี้กำลังเผชิญวิกฤติวัยกลางคน อันเป็นต้นเหตุให้บาร์บี้ครุ่นคิดคำนึงถึงความตายอยู่ตลอดเวลา

และเมื่อบาร์บี้กลับไปยังบาร์บี้แลนด์นั้น เธอก็พบว่าเคน—ซึ่งรุดหน้ามาก่อนแล้ว—เปลี่ยนบาร์บี้แลนด์เสียใหม่ให้เป็นดินแดนของผู้ชายไปแล้ว!

Barbie (2023). ภาพจาก: IMDb

จะว่าไปเส้นเรื่องโดยรวมของ Barbie ก็แทบจะเป็นนิทานเรื่องยาวสำหรับเด็กเรื่องหนึ่ง กล่าวคือมันเต็มไปด้วยการผจญภัยอันแสนสดใสของตัวละครหลัก การต้องฝ่าฟันภารกิจทีละด่านเพื่อบรรลุเป้าหมาย การรวบรวมพลังของเพื่อนพ้องเพื่อกอบกู้ชัยชนะกลับมา ทว่า หากมองมันให้ลึกซึ้งกว่านั้น ไม่เกินเลยถ้าจะบอกว่านี่คือหนังที่พูดเรื่องวิกฤติตัวตนหรือ existential crisis ได้น่าสนใจที่สุดเรื่องหนึ่ง นับตั้งแต่การที่บาร์บี้พบว่าเธอไม่มีพลังในการจะเป็น 'บาร์บี้' อีกต่อไปแล้วเพราะเธอทำวาฟเฟิลไหม้! เท้าก็แบน! อย่างนั้นแล้วเธอคือใคร หรือเมื่อเธอแหลกสลายฟูมฟายในวันที่รู้สึกว่าตัวเองพ่ายแพ้ให้เหล่าเคนและ Mojo Dojo Casa House (หรือก็คือ 'บ้านแบบชายแท้') เธอก็รู้สึกว่าตัวเธอเองไม่มีอยู่จริงอีกต่อไปเพราะเธอไม่สวย ไม่ได้เป็นตุ๊กตาพิมพ์นิยม และไม่อาจร่าเริงอย่างที่เคยได้อีก อันเป็นสิ่งที่บาร์บี้ควรจะเป็น รวมทั้งตัวกลอเรียเองที่ภาวะหม่นเศร้าของเธอนั้นก็มาจากวิกฤติตัวตนและการมีชีวิตอยู่ เมื่อเธอรู้สึกว่าเธอไต่ไปไม่ถึงมาตรฐานของ 'การเป็นผู้หญิงที่ดี' สักอย่าง เธอเป็นแม่ที่ไม่ได้เรื่องเพราะลูกสาวมีท่าทีห่างเหินใส่ เธอเป็นผู้หญิงที่ยังไม่เพียบพร้อมเพราะยังทำหน้าที่การงานได้ไม่ตรงเป้า เธอยังไม่สมบูรณ์แบบเพราะติดขัดจากอีกหลากหลายประเด็นรอบตัว และนี่จึงเป็นที่มาของฉากที่เธอระเบิดอารมณ์เมื่อเห็นบาร์บี้เจ็บปวดว่า "การจะเป็นผู้หญิงนี่มันแทบเป็นไปไม่ได้เอาเสียเลย คุณทั้งสวย ทั้งฉลาด แต่ที่เจ็บปวดสำหรับฉันที่สุดคือทั้งอย่างนี้แล้วคุณก็ยังคิดว่าตัวเองดีไม่พออีก เหมือนว่าเราต้องพิเศษกว่าใคร แต่ไม่ว่าจะอย่างไร เราก็ยังทำทุกอย่างผิดพลาดเสมอ"

"คุณต้องห้ามแก่ ห้ามหยาบคาย ห้ามทำตัวมั่นใจ ห้ามเห็นแก่ตัว ห้ามล้มเหลว ห้ามพลาดพลั้ง ห้ามให้ใครเห็นว่าเรากลัว ห้ามแตกแถว นี่มันยากไปแล้ว! มันย้อนแย้งแต่ก็ไม่มีใครเอาโล่รางวัลมาให้หรือแม้แต่มาบอกขอบคุณด้วยซ้ำ ทั้งยังกลายเป็นว่า ไม่ใช่แค่ว่าคุณทำทุกอย่างผิดไปหมด แต่ทุกอย่างคือความผิดของคุณด้วย"

โมโนล็อกข้างต้นของกลอเรียเป็นที่ถูกพูดถึงอย่างมากว่ามันถ่ายทอดความเจ็บปวดของผู้หญิงในโลกปิตาธิปไตยได้หมดจด กระนั้น ฉากที่น่าสนใจมากๆ อีกฉากหนึ่งคือฉากที่ประธานแมตเทลได้ฟังความเห็นของเหล่าบาร์บี้ ซึ่งพูดถึงการเป็นบาร์บี้สามัญ การเป็นผู้หญิงไม่จำเป็นต้องเก่ง ไม่จำเป็นต้องประสบความสำเร็จหรือต้องสวยงามจึงจะได้รับการยอมรับ ความสามัญก็สมควรถูกยอมรับในฐานะปัจเจกหนึ่งด้วยเช่นกัน (ซึ่งก็เป็นไปตามโมโนล็อกด้านต้นของกลอเรียที่พูดถึงการที่ผู้หญิงต้องแบกรับความกดดันมหาศาล ในการจะต้องเป็นคนเก่ง ต้องประสบความสำเร็จจึงจะถูก 'นับ' ว่าเป็นผู้หญิงที่ได้มาตรฐานของสังคม) และเกิดแรงบันดาลใจว่าจะผลิต 'บาร์บี้ธรรมดา' เพราะเป็นที่ต้องการของตลาดยุคใหม่ เกิดเป็นความประนีประนอมทั้งตัวบริษัท ทั้งชาวบาร์บี้รวมถึงกลอเรียขึ้นมา

Barbie (2023). ภาพจาก: IMDb

คำถามคือ หากตลาดไม่ได้ต้องการความ 'ธรรมดาสามัญ' ทุนใหญ่อย่างแมตเทลจะยังเห็นสิ่งนี้เป็นเรื่องสำคัญอยู่หรือไม่ ทำไมการเป็นคนธรรมดาดาษดื่นจึงต้องมีทุนมารองรับจึงจะถือว่า 'เกิดขึ้นได้ในสังคม' กัน

ไม่แน่ใจว่าตัวหนังตั้งใจสื่อประเด็นนี้ออกมาในรูปแบบไหน หากแต่วัดจากน้ำเสียงของการที่สุดท้ายแล้วแมตเทลหรือทุนหวนกลับไปยังมิติมนุษย์โดยไม่ต้องเสียเลือดเสียเนื้อหรือปะทะกับเหล่าบาร์บี้ ก็เป็นไปได้ว่าอาจเป็นอีกหนทางหนึ่งที่หนังใช้ประนีประนอมต่อระบบทุนด้วยเช่นกัน

Barbie (2023). ภาพจาก: IMDb

อย่างไรก็ตาม การที่ตัวหนังเข้าชิงรางวัลออสการ์แปดสาขา แต่พลาดสาขาใหญ่ๆ อย่างผู้กำกับยอดเยี่ยมและนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม ก็ทำให้หลายคนออกมาวิพากษ์วิจารณ์มาตรฐานของออสการ์ครั้งใหญ่ กระนั้น สิ่งที่น่าจับตาคือการที่หนังได้เข้าชิงสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมแห่งปี ซึ่งเท่ากับว่า นี่เป็นหนังเรื่องแรกที่ มาร์โกต์ ร็อบบี โปรดิวซ์แล้วได้เข้าชิงรางวัลใหญ่ โดยหากเราย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ ก็จะพบว่าร็อบบีนั้นโปรดิวซ์หนังหลายเรื่อง และแต่ละเรื่องก็มักเป็นหนังที่กำกับโดยผู้หญิงหรือเล่าเรื่องผู้หญิงเป็นหลัก เช่น I, Tonya (2017—ร็อบบีชิงสาขานำหญิง), Birds of Prey (2020), Promising Young Woman (2020) หนังยาวเรื่องแรกของ เอ็มเมอรัลด์ เฟนเนลล์ ซึ่งก็ร่วมรับบทเป็นหนึ่งในบาร์บี้ในบาร์บี้แลนด์ด้วย, และ The Humming of the Beast (2021) หนังสั้นความยาว 15 นาทีว่าด้วยชีวิตของผู้หญิงละตินในโลกดิสโทเปีย

Barbie (2023). ภาพจาก: IMDb

แม้ทั้งร็อบบี รวมทั้งเกอร์วิก จะพลาดสาขาใหญ่ของตัวเองทั้งคู่ แต่ความสำเร็จของหนังที่ได้เข้าชิงสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ก็สมควรที่เราจะนับมันเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จของคนทำหนังและโปรดิวเซอร์หญิงของยุคสมัย ที่ผลักดันประเด็นว่าด้วยเรื่องความเท่าเทียมทางเพศเรื่อยมาตลอดระยะเวลาการทำงานหลายปีของพวกเธอ
 

logoline