svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"ม.รังสิต"เปิดผลสำรวจประชาชนพบ 62% อยากให้รัฐยกเลิกเงินหมื่นดิจิทัล

03 กุมภาพันธ์ 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ม.รังสิต เปิดผลโพลสำรวจความเห็น พบประชาชน 62% อยากให้รัฐบาลหยุดโครงการเงินหมื่นดิจิทัล ขณะที่ 52% หนุนแก้ไขรัฐธรรมนูญบางมาตรา

3 กุมภาพันธ์ 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วิทยาลัยผู้นำและนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต ได้จัดแถลงข่าวเปิดตัวโครงการ Leadership Poll โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุริยะใส กตะศิลา คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต , ผศ.ร.ต.อ.ดร.จอมเดช ตรีเมฆ รองคณบดีฝ่ายวิชาการวิทยาลัยผู้นำและนวัตกรรมสังคม

โดย ดร.สุริยะใส กล่าวว่า การจัดทำโพลสะท้อนไปยังผู้นำรัฐบาล หน้าที่ของผู้นำคือความเป็นผู้ตามที่ฟังประชาชนให้ได้มากที่สุด โพลก็เป็นส่วนหนึ่ง ที่เที่ยงตรงแม่นยำ และสอดคล้องกับสถานการณ์ที่สลับซับซ้อน และโผล่ก็ได้สะท้อนความเห็นของผู้นำในภาคส่วนต่าง ๆ ที่สำรวจมา คือ กลุ่มเป้าหมายที่เป็นผู้นำมาร่วมทำแบบสอบถาม ทางภาคธุรกิจภาคสังคม ภาคประชาชน ภาคการศึกษา อย่างกว่า 500 คน ซึ่งในอนาคตอาจจะเพิ่มตัวอย่างเป็น 1,000 - 2,000 คน 

ด้าน ผศ. ร.ต.อ. ดร.จอมเดช กล่าวว่า โพลชุดนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจความคิดเห็นของกลุ่มผู้นำภาคสังคม ธุรกิจ และการเมือง ต่อนโยบายภาครัฐที่อยู่ระหว่างการพิจารณาดำเนินการในปัจจุบัน โดยเก็บข้อมูลทั้งสิ้น 543 ตัวอย่างในเดือนม.ค. 2567 โดยคัดเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบเจาะจง (Purposive Sampling) แบ่งกลุ่มตัวอย่างออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่

  • ภาคธุรกิจ : ตัวแทนนักธุรกิจที่ประกอบธุรกิจขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ 
  • ภาคประชาสังคม : ตัวแทนภาคประชาสังคม NGO และมูลนิธิต่างๆ ในประเทศไทย 
  • ภาคการเมือง : นักการเมืองระดับชาติและระดับท้องถิ่น นายกเทศมนตรี รองนายกเทศมนตรี นายกและรองนายก อบจ. นายกและรองนายก อบต. ในทุกภูมิภาคของประเทศ
  • ภาคการศึกษา : นักวิชาการ อาจารย์มหาวิทยาลัยผู้ดำรงตำแหน่งคณบดี รองคณบดี ในมหาวิทยาลัยรัฐ และมหาวิทยาลัยเอกชน


สอบถามความคิดเห็นต่อนโยบายรัฐบาล ดังต่อไปนี้

1.ความคิดเห็นต่อนโยบาย "เงินหมื่นดิจิทัล" ของรัฐบาล 

  • 62.20% ไม่เห็นด้วยกับนโยบายดังกล่าว เห็นควรให้ระงับการดำเนินการ
  • 21.30% เห็นด้วยกับการดำเนินการตามนโยบายดังกล่าวแต่เห็นควรให้ชะลอการดำเนินการหรือมีการทบทวนการดำเนินการอย่างละเอียดรอบคอบอีกครั้ง
  • 13.00% เห็นด้วยตามที่รัฐบาลนำเสนอและควรเร่งดำเนินการตามกรอบเวลา
  • 3.50% ความคิดเห็นอื่นๆ เช่น ยังไม่ได้ศึกษามากพอที่จะออกความคิดเห็น , ไม่แน่ใจ , ไม่ค่อยสนใจ


2.ความคิดเห็นต่อโครงการ "แลนด์บริดจ์" ของรัฐบาล

  • 36.70% เห็นด้วยกับการดำเนินการตามนโยบายดังกล่าวแต่เห็นควรให้ชะลอการดำเนินการหรือมีการทบทวนการดำเนินการอย่างละเอียดรอบคอบอีกครั้ง
  • 29.60% ไม่เห็นด้วยกับนโยบายดังกล่าวเห็นควรให้ระงับการดำเนินการ
  • 28.00% เห็นด้วยตามที่รัฐบาลนำเสนอและควรเร่งดำเนินการตามกรอบเวลา
  • 5.70% ความคิดเห็นอื่นๆ เช่นไม่ทราบรายละเอียด , ต้องการข้อมูลที่ศึกษา ,ไม่แน่ใจ


 

3.ความคิดเห็นต่อยุทธศาสตร์ขับเคลื่อน "ซอฟต์พาวเวอร์" ของรัฐบาล

  • 41.10% เห็นด้วยตามที่รัฐบาลนำเสนอและควรเร่งดำเนินการตามกรอบเวลา
  • 37.30% เห็นด้วยกับการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ดังกล่าวแต่เห็นควรให้ชะลอการดำเนินการหรือมีการทบทวนการจัดสรรงบประมาณอย่างละเอียดรอบคอบอีกครั้ง
  • 14.50% ไม่เห็นด้วยกับนโยบายดังกล่าวเห็นควรให้ระงับการดำเนินการ
  • 1.40% ความคิดเห็นอื่นๆ เช่น ไม่ทราบรายละเอียด , เห็นด้วยเป็นบางอย่าง , ยังเข้าใจไม่ชัดเจน


4.ความคิดเห็นต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

  • 52.40% เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญบางมาตรา
  • 28.8% เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ
  • 14.5% ไม่เห็นด้วย
  • 4.3% ความคิดเห็นอื่นๆ เช่น ไม่เห็นด้วยกับการแก้มาตรา 112 ,แก้ไขบางมาตราที่กระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชนจริงๆ , นำรัฐธรรมนูญ 2540 มาใช้และพิจารณาปรับปรุงหลักการในบางมาตรา


5.ความคิดเห็นต่อความมุ่งมั่นตั้งใจในการขับเคลื่อนนโยบายเพื่อสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้นในประเทศไทย 

  • 51.20% ยังคงขาดความมุ่งมั่นในการดำเนินการ
  • 34.90% มีความมุ่งมั่นแต่ยังไม่มีการดำเนินการที่เป็นรูปธรรม
  • 9.40% มีความมุ่งมั่น
  • 4.50% ความคิดเห็นอื่นๆ เช่น ยังไม่ได้ศึกษามากพอที่จะออกความคิดเห็น ,ไม่ทราบแน่ชัด , ไม่แน่ใจ ระยะเวลาการดำรงตำแหน่งยังน้อยเกินกว่าที่จะประเมิน


ผศ.ร.ต.อ.ดร.จอมเดช ยังกล่าวถึงข้อเสนอแนะอื่นๆ ที่ได้จากการสำรวจ คือ

  1. เท่าที่ผ่านมายังไม่เห็นนโยบายที่เคยหาเสียงไว้เป็นรูปธรรมเท่าที่ควร และอะไรที่ยังไม่ได้ทำก็ควรชี้แจง 
  2. รัฐบาลต้องเคารพกฎหมาย ไม่ให้อภิสิทธิใครให้อยู่เหนือกฎหมาย
  3. การพัฒนาประเทศควรใช้สิ่งที่ไทยได้เปรียบเป็นสารตั้งต้นสำคัญ แค่ปรับเปลี่ยนวิธีการก็อาจมีผลดีอย่างมีนัยสำคัญ ไม่จำเป็นต้องใช้งบประมาณมหาศาล
  4. รัฐบาลควรเร่งแก้ปัญหา ในเรื่องของยาเสพติด ควบคู่กับการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ โดยเร่งด่วน
  5. รัฐบาลควรลำดับความสำคัญ ความเร่งด่วนในการแก้ปัญหาต่างๆ โดยเฉพาะการทุจริต การศึกษาและการทำงานของข้าราชการที่ล่าช้าและไม่สอดคล้องกับสภาวะการปัจจุบัน
  6. รัฐบาลยังคงกังวลเรื่องคะแนนเสียงมากกว่าการปฏิรูปประเทศอย่างจริงจังและจริงใจ 
  7. โครงการแลนด์บริดจ์ ที่ดูไม่ได้รับความสนใจ ควรเปลี่ยนเป็นรูปแบบอื่น ที่ไม่ต้องขนของขึ้นๆลงๆ จากเรือ คือให้เรือทั้งลำแล่นผ่านไปได้เลย 
  8. ควรให้ความสนใจปัญหาโครงสร้างทางสังคมและการศึกษาในระดับแรกๆ เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ 
  9. เข้าใจว่าผู้นำหลายคนกังวลกับวิกฤติเศรษฐกิจ แต่วิกฤติความขัดแย้งที่เป็นผลเรื้อรังมานับสิบปีก็ยังคงมีอยู่ โดยอยากให้รัฐบาลให้ความสำคัญกับการสร้างบรรยากาศของการเดินหน้าขับเคลื่อนประเทศ หรือสร้างความภูมิใจร่วมที่คนรุ่นใหม่สามารถเข้าถึงได้
  10. เรื่องการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท รัฐบาลต้องตอบคำถามสังคมให้ได้ว่า ประเทศเกิดภาวะที่จะเรียกว่าวิกฤตหรือไม่


ทั้งนี้ ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าไปดูโพลชุดนี้ได้ที่ https://csirsu.com/ เพื่อศึกษาหรือนำไปต่อยอดในโพลสอบถามประชาชนต่อไปได้ 

ขณะที่ รศ.ดร.รัตน์พงศ์ สอนสุภาพ อาจารย์ประจำวิทยาลัยผู้นำและนวัตกรรม กล่าวว่า โพลในครั้งนี้ต่างจากที่เคยรับฟังมาในช่วง 10-20 ปีที่ผ่านมา ซึ่งโพลนี้จะพยายามเน้นในสิ่งที่เฉพาะกลุ่มเพื่อจะได้ตอบประเด็นให้ลึกซึ้งมากขึ้น และมีน้ำหนักด้วยการวิเคราะห์ภาพรวมเศรษฐกิจและสังคม 

ผศ.ดร.บูชิตา สังข์แก้ว รองกณบดีฝ่ายพัฒนาสังคมๆ กล่าวว่า ถ้ารัฐบาลได้รับฟังเสียงสะท้อนจากโพลครั้งนี้ ก็คงคิดว่ามีผลต่อการพัฒนาของรัฐบาลบ้าง ในฐานะของการเป็นเสียงส่วนหนึ่ง หรือเป็นตัวชี้วัดหนึ่งของสังคม โดยบทบาทของโพลในต่างประเทศมีความสำคัญมาก โพลไหนที่มีความน่าเชื่อถือ ก็จะเป็นส่วนหนึ่งของการนำไปสู่การพัฒนานโยบายที่ดีที่ถูกต้อง และสอดคล้องของความต้องการของสาธารณชนด้วย เพราะโพลเป็นส่วนกลางระหว่างประชาชนกับผู้บริหารประเทศ

logoline