svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"นักวิชาการ"มองไทยควรปรับตัวให้พอดีรับความผันผวนเพื่อยืนบนเวทีโลก

26 มกราคม 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"นักวิชาการ"ชี้โลกกำลังเจอวิกฤติสงครามเย็นในศตวรรษที่ 21 ส่งผลกระทบต่อการแข่งขัน เตือนไทยควรหาวิธีรับมือความผันผวนของโลก มองช่วง 9 ปีที่ผ่านมาทำชาติเสียโอกาส

26 มกราคม 2567 คณะกรรมาธิการ (กมธ.) การต่างประเทศ สภาผู้แทนราษฎร ได้งานสัมมนาทิศทางประเทศไทยในพลวัตโลก จัดโดยที่มีการตั้งคำถามถึง เหตุการณ์ของโลกที่จะส่งผลกระทบต่อประเทศไทยและต้องรับมือ

โดย "นายสุรชาติ บำรุงสุข" อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนึ่งในวิทยากร กล่าวว่า ขณะนี้ เป็น Permacrisis แปลว่า วิกฤตที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและคงทน ซึ่งต้องยอมรับว่าวันนี้ (26ม.ค.) สงครามเย็นหวนกลับมาแล้ว ดูจากสงครามยูเครนจะเป็นคำตอบที่ชัดเจน หรือเรียกว่าสงครามเย็นในศตวรรษที่ 21 แม้จะไม่ใช่การแข่งขันในมิติอุดมการณ์แบบเก่า แต่รูปการแข่งขันของรัฐมหาอำนาจใหญ่มีความชัดเจน และส่งผลต่อปัจจัยทางภูมิศาสตร์ของการเมืองโลกและการเมืองในทุกภูมิภาค

 

"วิกฤตหรือปัญหาเป็นผลสืบเนื่องจากการแข่งขันนี้ จะมีความรุนแรงและมีผลกระทบลงมาถึงทุกสังคม แม้ในระดับตัวบุคคล ซึ่งโลกเพิ่งเข้าสู่ภาวะสงครามเย็นครั้งใหม่ การแข่งขันในอนาคตจะทวีความเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆและจะเกิดความขัดแย้งขึ้นอีกในอนาคต" นายสุรชาติ กล่าว  

 

นอกจากนี้ อีกโจทย์ใหญ่ คือ สงครามในกาซา บวกทะเลแดง หากสงครามในทะเลแดงขยายตัว การขนส่งทางทะเลจะกระทบใหญ่ ค่าครองชีพก็จะหวนกลับมาเป็นประเด็นใหญ่ และถ้าสงครามนี้ยกระดับขึ้นอีก ก็จะกระทบกับปัญหาน้ำมัน ไทยจะกลับเข้าสู่วิกฤตพลังงานอีกครั้งหนึ่ง แต่ในขณะเดียวกันสิ่งที่เป็นคำถาม คือ สงครามในกาซาและในทะเลแดงจะขยายตัวหรือยกระดับเป็น สงครามอาหรับ-อิสราเอล หรือไม่ ซึ่งต้องดูประเทศอิหร่าน ว่าถ้าอิหร่านเข้าสู่สงครามก็น่ากังวล ซึ่งสงครามในกาซาและทะเลแดงเป็นอะไรที่น่าเปราะบาง

"หลังจากนี้เราจะเกิดตั้งคำถาม ว่าสงครามยูเครนจะจบลงเมื่อไหร่ เพราะจะเข้าสู่ปีที่ 3 ของการเกิดสงครามแล้ว และเราจะเห็นคลื่นของการก่อการร้ายตามมาหรือไม่ในปี 2024 จะเกิดปัจจัยอะไรที่คาดเดาไม่ได้หรือไม่ อะไร คือ เซอร์ไพรส์ของปี 2024" นายสุรชาติ ระบุ

 

อย่างไรก็ตาม เมื่อความซับซ้อนเกิดขึ้นในโลก ประเทศไทยคิดและวิเคราะห์ เพื่อให้มีคำตอบในเชิงนโยบาย แม้ปัญหาระหว่างประเทศจะดูไกลตัวคนไทย ไกลตัวนักการเมืองไทย แต่วันนี้ผลกระทบอยู่ในระดับสูง ซึ่งการกำหนดจุดยืนของประเทศไทยต้องคิดด้วยความใคร่ครวญ ไม่ใช่การยึดติดกับผลประโยชน์ระยะสั้นหรือติดโยงกับผลประโยชน์ระหว่างตัวบุคคล และการกำหนดนโยบายการต่างประเทศต้องการความใส่ใจและรอบคอบ แต่ไม่ใช่การไม่ตัดสินใจ และการรอบคอบไม่ใช่ว่าการไม่ทำอะไร เพราะในสำหรับนโยบายต่างประเทศ การไม่ทำคือการทำในรูปแบบหนึ่ง การไม่ตัดสินใจคือการตัดสินใจในรูปแบบหนึ่ง

ขณะเดียวกัน รัฐมหาอำนาจมีผลประโยชน์ของตนและรัฐไทย ก็มีผลประโยชน์แห่งชาติของตัวเอง บางเรื่องคล้าย บางเรื่องต่าง และในหลายเรื่องต่างกันอย่างมาก ดังนั้น ผลประโยชน์ของรัฐไทยต้องไม่แขวนอยู่กับรัฐมหาอำนาจ เหมือน เช่นหลังรัฐประหารในปี 2014 หรือปี 2557 และนโยบายต่างประเทศมีนัยโดยตรงกับปัญหาทางการเมืองและความมั่นคงและเป็นเรื่องที่แยกออกจากกันไม่ได้ ดังนั้น นโยบายนี้ต้องวางน้ำหนักไว้กับบริบททางการเมืองและความมั่นคง

อีกทั้ง นโยบายทางการประเทศมีประเด็นทางเศรษฐกิจ แต่เศรษฐกิจไม่ใช่ประเด็นหลักของนโยบายต่างประเทศ อาจจะเหมาะสมกับการใช้นโยบายเศรษฐกิจในเรื่องต่างประเทศ สำหรับยุคโลกาภิวัตน์ที่มีการค้าเป็นแกนกลางแต่ยุคปัจจุบันไม่ใช่ และไม่ใช่ข้อถกเถียงเรื่องสงครามเย็นมีหรือไม่มี แต่สงครามเย็นเกิดแล้ว 

ดังนั้น ถึงเวลาแล้วหรือยังที่รัฐไทย จะปรับตัวและเตรียมรับกับความผันผวนที่เกิดขึ้นในอนาคตข้างหน้าเหมือนกับที่บอกว่าเซอร์ไพรส์เกิดทุกปี

ด้าน "นายฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์" อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า จากที่นายสุรชาติ พูดมา จะเห็นว่าสงครามเยอะ ซึ่งสงครามเยอะมาตั้งแต่สมัยอดีตแล้ว แต่สมัยก่อน "รู้ช้า" แต่ปัจจุบันอยู่ไม่ไกลตัวมาก เพราะเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้อย่างรวดเร็ว โดยโลกข้างนอกมี 2 แบบ คือ ตัวใครตัวมัน หรือร่วมมือกันอยู่ด้วยกัน โดยในพื้นฐานธรรมชาติของการต่างประเทศนั้น เป็นระบบตัวใครตัวมัน หรืออธิปไตยใครอธิปไตยประเทศนั้น ไม่มีรัฐบาลโลก

 

"ถ้ามีรัฐบาลโลกอำนาจที่รวมศูนย์ความขัดแย้งจะไม่เกิดขึ้น แต่เราจะมีอำนาจรวมศูนย์อยู่เป็นพัก ๆ เมื่อสมัยที่มีอาณาจักร ฉะนั้นโดยพื้นฐานโลกไร้ระเบียบอยู่แล้ว แต่เราต้องดูว่าจะมีระเบียบมากน้อยแค่ไหน ซึ่งความไร้ระเบียบนี้จะปะทุขึ้นมาเป็นความขัดแย้งต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นของเก่าหรือของใหม่ ซึ่งสงครามที่เกิดขึ้นมาจากโครงสร้างโลกของเรา ที่มันไร้ระเบียบเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว ถ้าจะมีระเบียบได้ก็ต้องมีอำนาจรวมศูนย์มาจัดการ หรืออยู่กันเป็นขั้วเพื่อจะมีดุลยภาพ" นายฐิตินันท์ ระบุ

 

สำหรับระบบระเบียบที่ตั้งขึ้นมาหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้น ไม่เป็นที่ยอมรับ มีความไม่ลงตัว เพราะมีมหาอำนาจใหม่ที่เกิดขึ้น ประเทศที่เคยเป็นโลกที่ 3 ก็พัฒนาขึ้นมาเป็นโลกที่ 1 แล้ว ฉะนั้นสหรัฐอเมริกาและกลุ่มตะวันตกจะต้องขยับ และปรับพื้นที่กันใหม่แต่ไม่ยอมปรับ จึงจะทำให้เกิดความตึงเครียด และทำให้ประเทศมหาอำนาจหลายประเทศ เกิดความไม่ยอม ดังนั้น สงครามต่าง ๆ ก็จะมีมาอยู่เรื่อย ๆ และมีมาตลอด แต่ถามว่าจะลุกลามใหญ่ไปถึงสงครามโลกหรือไม่ ก็อาจจะเป็นไปได้ แต่ตนก็ยังจะคิดว่าคงไม่ใช่ในปี 2027 

 

"เราได้ผลภาวะที่เรียกว่าปมด้อยเผด็จการ เพราะทำให้การต่างประเทศไทยเสียหายมาก เมื่อมีการยึดอำนาจแล้วจะเข้าหน้าใครก็ไม่ติด ประชาคมโลกไม่ยอมรับ แต่ถ้าจะไปสุงสิงกับประเทศที่เป็นเผด็จการด้วยกันก็โอเค แต่ถ้าจะทำมากินในประเทศยุโรป ก็ไม่ค่อยจะยอมรับ ว่าการยึดอำนาจจะทำอย่างนั้นได้ ก็จะเห็นว่าจะมีการคว่ำบาตร เราไม่สามารถจัดเจ้าหน้าที่อาวุโสไปประชุมได้ ซึ่งช่วง 9 ปีที่ผ่านมา เสียหายมากต่อการต่างประเทศไทย ซึ่งเป็นต้นทุนที่สูงมากต่อประเทศไทยในเวทีโลก อีกทั้ง ยังเอียงไปทางประเทศจีน จึงทำให้เราเสียศูนย์ และมีปมด้อย" นายฐิตินันท์ กล่าว 

 

อย่างไรก็ดี เมื่อถึงตอนนี้ได้ผ่านพ้นจุดนั้นมาแล้ว จึงคิดว่ายุทธศาสตร์ทางการต่างประเทศไทย ควรจะวางเป้าหมายและมีพฤติกรรม เชิงมหาอำนาจระดับกลางหรือระดับพอตัว ไทยมีจุดนี้เมื่อ 20 ปีที่แล้ว หรือเรียกได้ว่าจุดสูงสุดของไทยในเวทีโลก แต่วันนี้ทำอย่างไรจากให้ไปถึงจุดสูงสุด ก็ต้องหาจุดดีจุดเด่นของไทยมาสร้างอำนาจต่อรองบนแผนที่ และทำเลของไทย ไทยอยู่ได้ด้วยทำเลมีดีในเรื่องนี้ และไม่มีวันหายไปไหน เป็นของตายที่สามารถนำมาทำประโยชน์และนำมาเป็นอำนาจต่อรองได้ และดูเหมือนว่าขณะนี้รัฐบาลกำลังพยายามที่จะทำเรื่องนี้ โดยใช้ซอฟต์พาวเวอร์ หรือ แลนด์บริดจ์ และดูแล้วว่า รัฐบาลนี้รวมถึงตัวนายกฯ มีความขยันและมีความตั้งใจจริง แต่ปัญหาในไทยจะมีการปฏิวัติอีกหรือไม่ เพราะผู้แพ้ในไทยไม่ยอม ดังนั้น พฤติกรรมที่จะต้องวางเป้ามหาอำนาจระดับกลาง โดยใช้ทำเลเป็นหลัก และใช้ความสัมพันธ์ของไทยกับมหาอำนาจที่คนอื่นไม่มี เช่น จีน ญี่ปุ่น และไทยสามารถเพิ่มประชากรได้มากถึง 10%

ด้าน "น.ส.ลลิตา หาญวง" อาจารย์คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวถึงสงครามในเมียนมา หากไทยมี การพัฒนาตัวเองขึ้นมา กลายมาเป็นประเทศระดับกลาง ๆ ที่มีบทบาทประมาณหนึ่งในการออกแบบนโยบายต่างประเทศของโลก หรือภูมิภาค ไทยจำเป็นจะต้องทำอะไรบางอย่าง และเมียนมาเป็นพื้นที่ต้องห้ามและถูกสาปส่งโดยโลกตะวันตก ในขณะที่กองทัพของไทย หน่วยงานความมั่นคงของไทย สามารถเข้าถึงคนระดับสูงในรัฐบาลเมียนมาได้ นี่คือประเทศเดียวในโลกที่ทำแบบนี้ได้ กรณีนี้ทำให้ไทยอยู่ในสถานะ ที่บอกว่าไม่ปกติ แต่อยู่ในฐานะที่ดีมาก ๆ ที่จะทำ หลาย ๆ อย่าง ให้เกิดขึ้นที่เมียนมาได้ 

อย่างไรก็ตาม จึงฝากหน่วยงานทางด้านความมั่นคงและด้านการต่างประเทศ ว่าพลวัตที่เกิดขึ้นในเมียนมา ปัจจุบันไม่ใช่สิ่งที่เหมือนเดิมอีกต่อไปแล้ว เพราะจากบทวิเคราะห์ต่าง ๆ มีการประเมินว่าโอกาสที่กองทัพของเมียนมา ยังอยู่ในตำแหน่งมีสูง แต่เวลานี้อาจจะต้องเปลี่ยนความคิดแล้วว่า เมียนมาอาจจะไม่ได้ล้ม แบบการยึดเมืองหลวง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในเวลานี้คือจะเกิดสุญญากาศทางอำนาจแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ และจะไม่มีการประกาศว่าสงครามสงบสุข แต่กลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ก็จะรักษาฐานที่มั่นตามแนวชายแดนต่อไปเรื่อย ๆ

 

"ฉะนั้น เวลาพลวัตต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นหน่วยงานของไทยจะต้องนั่งคิดว่าถ้าสมมุติว่าเมียนมาแตกอย่างสมบูรณ์ รัฐไทยจะมีทีท่าอย่างไร หรือรัฐบาลเดิมกลับมามีอำนาจ จะเกิดอะไรขึ้นกับรัฐไทย จะประเมินเรื่องเหล่านี้หรือไม่ หรืออาจจะประเมินแต่ในความเป็นจริงยังเข้าหาเมียนมาอยู่โดยใช้วิธีคิดเดิม ๆ ว่า เรามีชายแดนติดกันและไม่สามารถมีท่าทีต่อพม่า เช่นเดียวกับประเทศอาเซียนอื่นๆ ได้ ดังนั้น เราควรรักษาท่าทีต่อเมียนมาไว้ประมาณหนึ่ง เพราะหากวันใดวันหนึ่งรัฐบาลเปลี่ยน แต่เรายังมีความสัมพันธ์กับรัฐบาลเดิมอยู่ ก็จะสายไปกับการประสานสัมพันธ์ใหม่" น.ส.ลลิตา ระบุ  

 

"นายจิตติภัทร พูนขำ" รองคณบดีฝ่ายวิชาการและวิเทศสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า การต่างประเทศไม่ควรขับเคลื่อนด้วยการด่า หรือรอรถทัวร์แล้วค่อยไป ต้องชัดว่าไทยจะเอายังไง มีเครื่องมืออะไรที่จะบรรลุเป้าหมายนั้น อย่าบอกว่าทำแค่เชิงรุก ต้องบอกว่ารุกอะไร และรุกอย่างไร รวมถึงควรปรับวิธีคิดของไทยว่ารู้อยู่แล้ว ทำอยู่แล้ว เพราะหลายเรื่องโลกเปลี่ยนไปมาก แต่ไทยหยุดอยู่ที่เดิมหรือใช้เครื่องมือเดิมอยู่ เพราะฉะนั้น คงต้องเปลี่ยนไปด้วย แต่สิ่งหนึ่งที่ยังมีอยู่ คือ เรื่องผลประโยชน์ที่ต้องคิดและวิเคราะห์ และกำหนดผลประโยชน์ที่เปลี่ยนแปลงได้ บางเรื่องอย่าให้ผลประโยชน์ของมหาอำนาจมากำหนด แต่ไทยต้องกำหนดผลประโยชน์ตัวเอง 

ส่วนข้อเสนอแนะในทางนโยบาย คือ ไทยควรดำเนินแบบหน่วยงานกระทรวงไปกันคนละทิศ คนละทาง คือ พยายามที่จะถ่วงดุลระหว่าง 2 ฝ่าย แต่ไทยควรหวังจะจัดว่าเรื่องนี้มีผลประโยชน์อย่างไร บางครั้งบางเรื่องเป็นกลางถูก บางครั้งบางเรื่องการเลือกข้างก็จะจำเป็น รวมถึงนโยบายสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ กับรัฐบาลขณะนั้น ว่าจะไปในทิศทางไหน เพื่อจะทำให้ไทยมีเกียรติยศได้ ในเวทีระดับประเทศ

logoline