svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"เลขา กกต."ปัดให้ความเห็นผิด-ถูก "เงินหมื่นดิจิทัล"ไม่ตรงปก

20 มกราคม 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"เลขา กกต." ไม่ขอฟันถูกหรือผิด แหล่งที่มาเงินดิจิทัลวอลเล็ตไม่ตรงปก หลังรายงาน ป.ป.ช.หลุด บอกมีอำนาจพิจารณาเพียงข้อกฎหมาย ขณะที่ ฝ่ายค้าน ลั่น ทำได้-ไม่ได้ รัฐบาลก็ต้องรับผิดชอบ

20 มกราคม 2567 นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีโครงการเงินดิจิทัลวอลเล็ตของรัฐบาล ที่สำนักงาน คณะกรรมการการป้องกันและการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)ให้ความเห็นว่าโครงการดังกล่าวมีความสุ่มเสี่ยงขัดกฎหมายหลายข้อ  ว่าในส่วน กกต.ต้องทำไปตามกฎหมาย ซึ่งก่อนหาเสียงโครงการลักษณะนี้มีกว่า 756 โครงการ งบประมาณรวม 70 ล้านล้านล้านบาท   

ชี้ กกต.มีหน้าที่ตรวจสอบ ผิดกฎหมายเลือกตั้งหรือไม่

ซึ่งขณะนั้นดูเพียงว่าผิดกฎหมายเลือกตั้งหรือไม่ อย่างเช่นสัญญาว่าจะให้  หรือเข้าข่ายหลอกลวงหรือไม่ จริงหรือไม่  โดยจะพิจารณาจากการใช้งบประมาณแผ่นดินหรือไม่   และอยู่ในอำนาจหน้าที่ที่จะทำหรือไม่ รวมไปถึงอยู่ในวิสัยที่จะทำหรือไม่ แต่ไม่ได้พิจารณาถึงว่าดีไม่ดี ซึ่งดีไม่ดีเป็นเรื่องของประชาชน   เพราะพรรคให้ข้อมูลกับประชาชนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งแล้ว กกต. จะพิจารณาเพียงข้อกฎหมาย   

ย้ำกกต.มีหน้าที่ทำตามกฎหมาย

เมื่อผ่านการเลือกตั้งเข้ามา ข้อเสนอแนะที่ว่าไม่ตรงปก ที่ผ่านมาทุกรัฐบาลมีโครงการที่หาเสียงไว้ บางครั้งก็ไม่ทำเลย บางครั้งก็ทำต่างจากที่หาเสียงไว้ ซึ่งกกต.ก็ต้องมาดูว่า กฎหมายให้เราทำได้แค่ไหน ต้องมาดูว่าการที่รัฐบาลทำเพียงบางส่วนของนโยบาย ไม่ทำเลย หรือไม่ตรงผิดกฎหมายหรือไม่ พร้อมย้ำว่า  กกต.ไม่สามารถทำเกินกว่ากฎหมายได้

ทั้งนี้ไม่สามารถตอบได้ ว่าทางแหล่งที่มาของเงินในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ผิดจากที่หาเสียงไว้ก่อนหน้านี้หรือไม่ ก่อนที่จะกล่าวย้ำว่า ในชั้นการพิจารณาของ กกต.จะพิจารณาเพียงการใช้เงินจากที่ใด แหล่งเงินมาจากไหน สิ่งที่ทำอยู่ในอำนาจหน้าที่หรือไม่ แต่เมื่อมีคนมาร้องก็ต้องพิจารณาว่าอำนาจของ กกต. กฎหมายให้อำนาจแค่ไหน 

ส่วนกกต.จะส่งความเห็นไปยังรัฐบาลหรือไม่  นายแสวง ยืนยันว่า  กกต.ไม่มีหน้าที่วินิจฉัย หรือให้ความเห็น ต้องมีข้อเท็จจริงทางกฎหมาย แล้วจึงจะวินิจฉัยไม่สามารถให้ความเห็นก่อนได้

\"เลขา กกต.\"ปัดให้ความเห็นผิด-ถูก \"เงินหมื่นดิจิทัล\"ไม่ตรงปก

"จุรินทร์" ชี้ ดิจิทัลวอลเล็ต คือบทเรียนประชานิยม

ขณะที่นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ส.ส. บัญชีรายชื่อ อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้ให้ความเห็นเรื่องดิจิทัลวอลเล็ต ภายหลังมีข่าว ปปช.เตรียมเสนอความเห็นต่อรัฐบาลในทางที่อาจมีปัญหาเรื่องการทุจริตและผิดกฎหมายว่า เรื่องนี้ถ้าไม่ทำหรือทำไม่ได้ก็เป็นความรับผิดชอบของรัฐบาล เพราะเป็นผู้ริเริ่มนโยบายทั้งในส่วนที่ได้นำไปหาเสียงกับประชาชนไว้และแถลงนโยบายต่อรัฐสภา

อีกทั้งต้องทำแบบไม่ให้มีการทุจริต ผิดกฎหมายและเกิดความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจด้วย รวมทั้งต้องไม่ให้เกิดการซ้ำรอยจำนำข้าวที่เกิดการทุจริต กระทำผิดกฎหมายและสร้างความเสียหายกับประเทศมหาศาลจนวันนี้ยังใช้หนี้ไม่หมด ส่วนจะทำอย่างไรขึ้นอยู่กับรัฐบาลเมื่อเป็นคนผูกแล้วก็ต้องเป็นคนแก้และกรณีนี้จะเป็นอีกกรณีหนึ่งที่จะเป็นบทเรียนสำคัญกับประชานิยมให้ต้องมีความรับผิดชอบมากขึ้น 

ส่วนกรณีที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีได้ออกมาตอบโต้ ปปช.เรื่องทุจริตว่าอย่าพูดลอยๆนั้น นายจุรินทร์กล่าวว่าเมื่อยังไม่ทำก็ยังไม่มี ยกเว้นวันหน้าพิสูจน์ได้ว่ามีการทุจริตหรือเป็นการทุจริตเชิงนโยบาย 

"มาดามเดียร์"ย้ำไม่ควรกู้มาแก้ปัญหาเศรษฐกิจ

ขณะที่ "น.ส.วทันยา บุนนาค" สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ส่วนตนยืนยันมาตลอดว่าไม่เห็นด้วยที่จะต้องกู้เงิน เพื่อมาจ่ายหรือแจกเงินให้กับประชาชนในช่วงเวลาแบบนี้ และที่สำคัญในการใช้เงิน เพื่อที่จะแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ตนคิดว่าวันนี้ (20ม.ค.) ปัญหาของประเทศไทยคือความสามารถในการแข่งขัน ที่ไม่สามารถแข่งขันกับประเทศต่างๆ ได้เลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภูมิภาคประเทศเพื่อนบ้าน

 

"เพราะฉะนั้นถ้ารัฐบาลต้องการที่จะนำเม็ดเงินเข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจ จึงอยากเห็นการใช้เงินที่จะเป็นการลงทุนเห็นผลลัพธ์ในระยะยาวมากกว่าเพียงการกู้เงิน แล้วนำมาแจกประชาชนซึ่งเงินก็จะหมดไปโดยไม่ได้อะไรกลับคืน" น.ส.วทันยา กล่าว  

 

ส่วนเรื่องของตัวเลขงบประมาณปี 2567 นั้น มองว่าอย่างที่ฝ่ายค้านและนักการเมืองหลายคนพูดว่าว่าปัญหาของประเทศไทยกว่า 80% หมดไปกับการใช้จ่ายบนงบประมาณที่เป็นรายจ่ายประจำ ขณะที่งบรายจ่ายเพื่อการลงทุนกลับมีสัดส่วนเพียงแค่ 20% เท่านั้น ซึ่งพอเป็นในลักษณะนี้ มันไม่สามารถที่จะไปทำกิจกรรมหรือโครงการนโยบายใหม่ๆ ในการขับเคลื่อนประเทศต่อไปในอนาคตข้างหน้าได้

น.ส.วทันยา กล่าวต่อว่า นี่คือปัญหาใหญ่จะทำอย่างไรที่รัฐบาลจะเข้ามาดูแลอย่างไร อยากเห็นการทำงบประมาณที่สามารถตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ หรือการก้าวไปดักรออนาคตของประเทศ แต่วันนี้ (20ม.ค.) กำลังมีปัญหาหลายอย่างที่กำลังดักรออยู่ เช่น ปัญหาสังคมผู้สูงวัย ปัญหาเรื่องของสิ่งแวดล้อม ปัญหาที่เกี่ยวกับภูมิรัฐศาสตร์ 

ขณะเดียวกัน ปัญหาผู้สูงวัยนั้น เป็นที่ชัดเจนว่ามีแนวโน้มว่ารายจ่ายประจำมีตัวเลขที่สูงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะเรื่องของระบบรัฐสวัสดิการต่างๆ พร้อมย้ำว่าถ้าประเทศยังคงใช้งบประมาณที่ไม่ได้เป็นการก้าวไปดักรอในอนาคตแบบระยะยาว ตนคิดว่าจุดนี้จะส่งผลลัพธ์ในอนาคตอย่างแน่นอน

เมื่อถามถึง การทำนโยบายที่ควรคำนึงถึงผลประโยชน์ประชาชนมากกว่ารักษาสัญญาที่เคยหาเสียงไว้ น.ส.วทันยา มองว่า นโยบายที่เคยหาเสียงไว้ก็เป็นส่วนหนึ่งที่รัฐบาลจำเป็นจะต้องทำ เพื่อให้ประชาชนมั่นใจได้ว่าในการเลือกตั้งทุกครั้ง พรรคการเมืองจะไม่ได้เป็นการนำเสนอนโยบายโดยที่ไม่มีความรับผิดชอบต่อประชาชน

น.ส.วทันยา กล่าวต่อว่า ฉะนั้นเวลาที่ประชาชนไปเลือกพรรคการเมืองไหน ก็มองนโยบายพรรคนั้นเป็นตัวประกอบ ซึ่งก็เป็นส่วนหนึ่งที่นำมาพิจารณาเป็นปัจจัยในการเลือกพรรคการเมืองนั้นๆ แต่ถ้าหากพรรคการเมืองไม่รับผิดชอบต่อนโยบายที่ได้หาเสียงไว้ ประชาชนก็คงขาดความเชื่อมั่น ซึ่งประเด็นนี้เป็นสิ่งสำคัญ

 

"แต่มากกว่าตัวนโยบายรัฐบาล ก็คงต้องมองในแง่ภาพรวมของประเทศด้วย รวมถึงการนำเสนอนโยบายที่จะไม่ส่งผลกระทบต่ออนาคต หรือส่งผลกระทบต่อประชาชนอีกส่วนหนึ่ง และตราบใดที่เข้ามาทำงานในฐานะรัฐบาลแล้วนั้น หมายถึงคุณจะต้องเป็นรัฐบาลของประชาชนของทุกคนอย่างแท้จริง ไม่ใช่เพียงเป็นรัฐบาลของโหวตเตอร์ที่เลือกพรรคของตัวเองเข้ามาทำหน้าที่" น.ส.วทันยา ระบุ 

 

logoline