svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"สมชาย" แนะ ฝ่ายการเมือง-ราชทัณฑ์ ยึดเจตนารมณ์กฎหมาย ปม "พักโทษ" ทักษิณ

18 มกราคม 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"สมชาย" แนะ ฝ่ายการเมือง-ราชทัณฑ์ ยึดเจตนารมณ์กฎหมายปม พักโทษทักษิณ ชี้ช่องร้อง ป.ป.ช.-ผู้ตรวจการฯ ตรวจสอบ เตือนระวังมีคนติดคุกแทน ด้าน "ชัยชนะ" ฝากอธิบดีกรมราชทัณฑ์ แจง นับโทษ "แม้ว" หรือยัง หลังมีคลิปหลุดไม่เรียก "นช." ชี้ รพ.ตำรวจดูแลนักโทษป่วย 2 มาตรฐาน

18 มกราคม 2567 นายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา กล่าวถึงกรณี กรมราชทัณฑ์ ออกมาแถลงถึง นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี มีคุณสมบัติเข้าเงื่อนไขการขอพักโทษว่า การดำเนินการของกรมราชทัณฑ์ จะต้องยึดพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ มาตรา 52(7) ที่กำหนดคุณสมบัติของผู้ที่จะได้รับการพักโทษว่า จะต้องเป็นนักโทษเด็ดขาด รับโทษมาแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือน หรือรับโทษมาแล้ว 1 ใน 3 เช่น ในกรณีของนายทักษิณ โทษจำคุก 1 ปี รับโทษ 1 ใน 3 คือ 4 เดือน จะต้องยึดหลักรับโทษ 6 เดือน จึงจะมีสิทธิ์ขอพักโทษได้ และมีความประพฤติดี ช่วยเหลือราชการเป็นพิเศษ ซึ่งก็ต้องดูว่านายทักษิณเข้าเงื่อนไขนี้หรือไม่ 

โดยการแถลงของฝ่ายการเมือง ในกระทรวงยุติธรรม ยังไม่ชัดเจนว่า เป็นการพักโทษพิเศษหรือไม่ แต่ตนยืนยันว่า จะต้องยึดพระราชบัญญัติราชทัณฑ์เป็นหลัก รวมถึงสถานที่คุมขัง จะต้องพิจารณาว่า “บ้านพัก” เข้าหลักเกณฑ์เป็นสถานที่คุมขังหรือไม่ ซึ่งกฎกระทรวงเมื่อปี 2563 ไม่ได้มีเจตนาให้ผู้ต้องขัง กลับไปอยู่บ้าน แต่ต้องการอำนวยความสะดวกให้กับผู้ต้องขัง ที่มีโทษน้อย และต้องออกไปบำเพ็ญประโยชน์นอกเรือนจำ จึงแก้กฎกระทรวงให้สามารถนำตัวไปควบคุมในแฟลต หรือ อพาร์ทเมนต์ ที่เป็นสถานที่ปิด ลักษณะคล้ายคล้ายเรือนจำ มีผู้คุมดูแล ซึ่งจะเป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งหมด

จึงต้องดูว่าระเบียบกรมราชทัณฑ์ที่เพิ่งออกมาเมื่อปี 2566 จะมีการบิดเบือนไปจากเจตนาของกฎกระทรวงหรือไม่  รวมถึงการพักโทษเป็นกรณีพิเศษหมายความว่าอย่างไร และจะต้องไม่ลืมว่า นายทักษิณ ได้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมยอมรับผิด และขอรับโทษตามขั้นตอน ซึ่งศาลได้ตัดสินจำคุก 8 ปี ก่อนได้รับพระราชทานลดโทษเหลือ 1 ปี ซึ่งควรจะเดินไปตามกระบวนการยุติธรรมปกติไม่ควรขอสิทธิ์ใด ๆ เพิ่มเติมอีก

สมชาย แสวงการ

นายสมชาย กล่าวต่อ พระราชบัญญัติกรมราชทัณฑ์ 2560 มาตรา 52(7) ชัดเจนมากว่า ก่อนจำคุกครบ 6 เดือนไม่สามารถทำได้ และระเบียบที่ฝ่ายการเมือง และกรมราชทัณฑ์พยายามจะอ้าง ก็ไม่ได้มีเจตนารมย์ให้กลับไปจำคุกที่บ้าน จึงขอให้ฝ่ายการเมือง และกรมราชทัณฑ์ ยึดหลักกฎหมายให้ดี อย่าทำให้เกิดวิกฤตศรัทธา เพราะเมื่อศาลพิพากษาลงโทษแล้ว ก็ต้องดำเนินการตามกระบวนการที่ถูกต้อง ซึ่งการที่ฝ่ายการเมืองออกมาแถลงแบบนี้ ทำให้เกิดข้อสงสัยว่า ต้องการดำเนินการเป็นพิเศษที่มากกว่าหลักเกณฑ์ปกติ จึงขอให้ระมัดระวังด้วย

สิ่งที่ดีที่สุด คือ เมื่อนายทักษิณรักษาตัวหายแล้ว ควรเข้าสู่ระบบโดยการกลับไปพักฟื้นที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ เพื่อรอการพักโทษตามกฎหมาย เมื่อครบ 6 เดือน ก็เชื่อว่า สังคมรับได้ จึงขอฝากว่า อย่าพยายามเขียนระเบียบ ที่จะทำให้กระบวนการยุติธรรมบิดเบือน และขอให้เดินไปตามกรอบ หากมีใครช่วยเหลือนายทักษิณด้วยวิธีการที่ไม่ถูกต้อง ก็จะต้องมีผู้ติดคุกแทน

ส่วนหากในอนาคตมีการบิดเบือนเจตนารมณ์กฎหมายจริง จะมีช่องทางร้องเรียนเอาผิดผู้เกี่ยวข้องอย่างไรได้หรือไม่ นายสมชาย ชี้แจงว่า สามารถร้องเรียนไปยังสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ กรรมการ ป.ป.ช. และผู้ตรวจการแผ่นดินได้ โดยกรรมาธิการของสภาฯที่เกี่ยวข้อง มีบันทึกการประชุม ที่พร้อมใช้เป็นหลักฐานยืนยันเจตนารมณ์ของกฎหมาย เมื่อการพิจารณาในชั้นกรรมาธิการ

ชัยชนะ เดชเดโช

ด้าน นายชัยชนะ เดชเดโช สส.พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการตำรวจ กล่าวถึงกรณี นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เข้าข่ายคุณสมบัติได้รับการพักโทษพิเศษ ว่า ตอนนี้กรรมาธิการตำรวจ ต้องรอหนังสือจากกรมราชทัณฑ์ทั้งหมดที่ทำส่งไป เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2566 ถ้าภายในเดือนนี้ไม่ตอบกลับมา ก็ต้องส่งหนังสือติดตามไปอีกครั้ง

แต่ขณะนี้ต้องยอมรับว่า กรรมาธิการตำรวจก็ทำได้ภายใต้กรอบกฎหมายตามรัฐธรรมนูญ ภาคประชาชนก็ยื่นองค์กรอิสระ โดยเมื่อวาน(17 ม.ค.) มีคลิปออกมาคลิป 1 และกรมราชทัณฑ์ยอมรับว่า ที่ไม่เรียกนายทักษิณว่า “นักโทษชาย” เนื่องจากว่าไม่ได้โดนคุมขัง ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ และยังไม่ได้นับโทษ เพราะฉะนั้นหากตีความแบบนี้นายทักษิณได้รับโทษแล้วหรือไม่  

"อธิบดีกรมราชทัณฑ์จะต้องชี้แจง ให้สังคมคลายข้อสงสัยให้ได้ ทั้งระเบียบ ทั้งการพักโทษ รวมถึงค่ารักษาที่บอกว่า หากเกินสิทธิ์จากสปสช. ใช้เงินส่วนตัวได้ ซึ่งต้องตอบให้ชัดเจน หากเกินสิทธิ์ สปสช. แล้วผู้ต้องขัง ที่เป็นผู้ป่วยสามารถเบิกเงินส่วนตัวได้ทุกคน ผมยืนยันว่า จะเป็นคนหนึ่งที่จะบอกประชาชนคนทั้งประเทศว่า หากนักโทษคนไหนป่วยแล้วเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาล รักษาห้องพิเศษได้หมด นี่คือการแสดงให้เห็นว่าเป็นสังคม 2 มาตรฐาน" นายชัยชนะ กล่าว

และกล่าวต่ออีกว่า ในวันที่ตนเองไปศึกษาดูงานที่โรงพยาบาลตำรวจ ความจริงแล้ว กรมราชทัณฑ์ จะไม่ให้กรรมาธิการตำรวจขึ้นเลย แต่ในหนังสือกรมราชทัณฑ์เขียนมาว่า ให้เป็นอำนาจหน้าที่ของโรงพยาบาลตำรวจ ในการอนุมัติให้ใครเข้าพื้นที่ ดังนั้นตนจึงบอกไปว่า หากชี้แจงมาแบบนี้ ตนก็มีสิทธิ์ที่จะขึ้นแต่ในส่วนของพื้นที่หวงห้าม ที่อ้างว่าเป็นข้อมูลส่วนบุคคลเยี่ยมไม่ได้ ตนก็ไม่เข้า ตนทำตามกฎหมาย ตนขึ้นไปชั้น 14 ไปได้แค่หน้าวอร์ดพยาบาล แต่เมื่อตนลงมาชั้น 7 ตนสามารถพูดคุยกับนักโทษ 2 คนได้ นี่จึงอยากให้สังคมพิจารณาเองว่าอะไรคือ 2 มาตรฐาน

ส่วนที่เป็นการพักโทษพิเศษนั้น นายชัยชนะ กล่าวว่า ระเบียบการพักโทษมีมานานแล้ว แต่การคุมขังนอกเรือนจำเพิ่งมีการประกาศออกมา เพราะระเบียบคุมขังนอกเรือนจำทำตั้งแต่ปี 2563 หากจะมองว่าเอื้อก็ไม่แฟร์ ตนมองเป็นกลาง แต่ตอนนี้อย่าไปมองเรื่องระเบียบคุมขังนอกเรือนจำ ต้องมองว่า สิ่งที่กระทำอยู่ตอนนี้ เป็นการกระทำ 2 มาตรฐานหรือไม่

ทั้งนี้ อธิบดีกรมราชทัณฑ์และเจ้าหน้าที่ดำเนินการทั้งหมด หากทำหนังสือชี้แจงมาไม่ได้ และไม่มีข้อเท็จจริง ระเบียบรองรับ อย่าลืมว่า วันนี้ภาคประชาชนก็ยื่นไปที่องค์กรอิสระ ถ้าเมื่อไรที่องค์กรอิสระคุ้มครอง แล้วขอดูภาพวงจรปิดตอนเข้า ตอนออก และตอนดำเนินการ หากพบว่ามีการกระทำผิดขั้นตอน เรื่องนี้จะเป็นปัญหาแน่นอน

logoline