svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

ภูมิธรรม เล็งเคาะที่มา ส.ส.ร. พรุ่งนี้ ก่อนชงให้ครม. แย้ม เลือกตั้ง 77 สรรหา 23

24 ธันวาคม 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"ภูมิธรรม" เล็งเคาะที่มา ส.ส.ร. พรุ่งนี้ ก่อนชงเข้าครม. คาดเดินหน้าไตรมาสแรกปีหน้า แย้ม เลือกตั้ง 77 สรรหา 23 มีความเป็นไปได้ พร้อมยอมทำประชามติ 3 ครั้ง ปัดแก้มาตรา 256 หวั่นข้อครหาดึงเช็ง ด้าน "นิกร" แจงที่มา ส.ส.ร. ยังไม่ใช่ข้อสรุป ต้องเสนอรัฐสภาแก้ไขก่อน

24 ธันวาคม 2566 นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการศึกษาแนวทางทำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงกรณีที่สมาชิกพรรคก้าวไกลเสนอให้มีการเลือกตั้งส.ส.ร. 100% ว่า ที่มาของ ส.ส.ร. เป็นเรื่องที่เราไปรับฟังความคิดเห็น และที่ผ่านมาได้มีการประชุมกับทุกภาคส่วน โดยมีตัวแทนวิชาชีพต่างๆ เข้าร่วม

โดยมีการเสนอว่า หากต้องไปเลือกตั้ง อาจจะสู้คนอื่นไม่ได้ แต่ก็จำเป็นว่าอยากให้มีตัวแทนจากหลายวิชาชีพเข้ามา ทั้งเกษตรกร ผู้ใช้แรงงาน ผู้พิการ รวมทั้งวิชาชีพต่างๆ ซึ่งเห็นว่า เป็นเหตุผลที่น่ารับฟัง แม้การเลือกตั้ง 100% เป็นไปตามหลักประชาธิปไตย แต่จะทำให้คนที่อยู่ในการเมืองจะประสบความสำเร็จอยู่ฝ่ายเดียว ดังนั้นเรายินดีที่จะมีสภาร่างรัฐธรรมนูญจากประชาชน แต่กลไกที่ได้มาจะ 100% หรือไม่ จะต้องคำนึงถึง ถึงความแตกต่างและคำนึงถึงคนส่วนน้อยด้วย

จ่อเคาะที่มา ส.ส.ร.

ทั้งหมดจะมีการประชุมอีกครั้งในวันพรุ่งนี้ (25 ธ.ค.) และจะสรุปเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.)ได้พิจารณาตัดสินใจอีกครั้ง คาดว่าภายในไตรมาสแรกของเดือนมกราคมน่าจะผ่านครม. หลายๆเรื่องคงจะจบและได้ข้อยุติ ซึ่งถ้าทำได้เร็วกว่านี้อาจจะได้ข้อยุติและดำเนินการได้ภายในไตรมาสแรกของปีหน้าเลย 

ทั้งนี้เห็นว่าการรับฟังความคิดเห็น ก็ยังไม่เป็นเอกภาพ ยังมีหลายความเห็น แต่ก็เห็นว่าการเลือกตั้งจังหวัดละ 1 คน 77 จังหวัดก็ถือว่ามีเหตุผล ส่วนตัวแทนวิชาชีพก็ต้องไปดูในรายละเอียด ว่ามีมากน้อยขนาดไหน อาจจะมี 23 คน ครบ 100 คน หรืออาจจะมีส่วนอื่น ซึ่งเป็นเรื่องของกรรมการจะต้องไปตรวจสอบและพิจารณาแต่งตั้ง โดยการเสนอข้อมูลให้รัฐบาลจะเสนอทั้ง 2 ด้าน ทั้งความเห็นที่อยากให้เป็นและความเห็นที่มีส่วนขัดแย้ง ซึ่งกรรมการก็จะมีข้อเสนอประกอบไปด้วย

สำหรับขั้นตอนการทำประชามติยังยืนยันที่ 3 ครั้งหรือไม่นั้น นายภูมิธรรม ชี้แจงว่า การทำประชามติ 3 ครั้ง ก็ทำให้เป็นหลักประกันที่ทำให้รัฐธรรมนูญผ่านได้โดยไม่ตก แต่ก็มีปัญหาว่า การใช้จำนวนครั้งที่มาก ก็มีค่าใช้จ่ายครั้งละ 3-4 พันล้านบาท ซึ่งถ้าลดจำนวนลงก็ดี โดยขณะนี้กำลังศึกษาเรื่องนี้อยู่ และหาทางเจรจากับทางกกต.อยู่ว่า สามารถรวมกับการเลือกตั้งอบจ.ในครั้งนี้ได้ก็จะลดงบประมาณลง ซึ่งคิดว่าหากลดได้จะเป็นการลดค่าใช้จ่าย แต่ต้องมั่นใจว่าจะไม่มีผลกระทบและทำให้การยกร่างรัฐธรรมนูญ ครั้งนี้ผ่านได้ ไม่เช่นนั้นจะ "เสียของ"

ดังนั้นหากจำเป็นต้องผ่าน 3 ครั้งและเสียงบประมาณ 3-4 พันล้านบาท ก็จำเป็นต้องจ่าย โดยจะไม่ให้เงื่อนไขเรื่องเงินเป็นข้อจำกัด แต่ถ้าทำให้ดีและค่าใช้จ่ายน้อยลง ก็จะเป็นเรื่องที่ดีที่สุด

ส่วนข้อเสนอให้แก้รัฐธรรมนูญ มาตรา 256 โดยทำประชามติแค่ครั้งเดียวจะทำให้ลดค่าใช้จ่ายหรือไม่ นายภูมิธรรม ชี้แจงว่า เกรงว่าจะมีปัญหาว่า ตนดึงเรื่องและทำให้ทุกอย่างล่าช้า ซึ่งมีเหตุผลและมีข้อวิพากษ์วิจารณ์ได้ทั้งนั้น ดังนั้นจะดูให้ครบทุกส่วน และจัดการให้ดีที่สุด โดยจะอยู่ในเงื่อนไขที่วางเอาไว้ ตั้งแต่ตั้งคณะรัฐมนตรี

คือ จะไม่แตะหมวด 1, หมวด 2 ทำให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น และเป็นรัฐธรรมนูญที่ต้องผ่านให้ได้ อย่างไรก็ตามภายใน 4 ปีต้องจบและมีกฎหมายลูกให้เสร็จ พร้อมที่จะเลือกตั้งใหม่ในกติกาใหม่ทันที แต่ยอมรับว่า เรื่องการแก้รัฐธรรทนูญ มาตรา 256 อาจจะเป็นเรื่องที่ทำควบคู่กันไปได้ ซึ่งขณะนี้มีมาตรการที่จะจัดการหลายอย่าง และหลังจากที่ศึกษาแล้วจะมีความเห็นที่รอบด้าน ให้ทุกฝ่ายได้พิจารณาและจัดการในสิ่งที่ดีที่สุด

นิกร จำนง

ด้าน นายนิกร จำนง ผู้อำนวยการพรรคชาติไทยพัฒนา ในฐานะโฆษกคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติฯ กล่าวถึงกรณี นายพริษฐ์ วัชรสินธุ โฆษกพรรคก้าวไกล ได้ให้ความเห็นต่อถึงที่มาของส.ส.ร.ที่คณะอนุกรรมการรับฟังความเห็นฯ รวบรวมสรุปจากความเห็นของประชาชนกลุ่มต่าง ๆ โดยมีข้อโต้แย้งควรมาจากการการเลือกตั้งทั้งหมด100% ว่า

ตนเองประธานอนุฯรับฟังความเห็นเห็นฯ ยืนยันว่า เคยได้รับฟังความเห็นนี้ จากอนุกรรมของสภาฯ ที่มีนายพริษฐ์ เป็นประธานก่อนแล้ว แต่ทางคณะอนุฯ เห็นว่า การได้มาของส.ส.ร.ก็มาจากประชาชนด้วยเช่นกัน คือตัวแทนของ 77 จังหวัดซึ่งเป็นเสียงส่วนมาก ที่จะมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน กลุ่มหลากหลายของประชาชน 5 กลุ่ม, กลุ่มนักวิชาการ และผู้เชี่ยวชาญซึ่งเป็นส่วนน้อย 23 คน

โดยมาจากการเลือกตั้งโดยอ้อมในกลุ่มจำนวนหนึ่ง และให้รัฐสภา ซึ่งในขณะนี้ ก็เป็น สส.ที่มาจากประชาชนโดยตรง และสว.ที่มาจากการเลือกตั้งทางอ้อมจากกลุ่มอาชีพของประชาชนเช่นกัน ไม่ใช่ สว.ชุดปัจจุบัน ดังนั้น ส.ส.ร. ส่วนนายพริษฐ์ เป็นกังวลก็มาจากประชาชนล้วน ๆ เช่นกัน มิได้มาจากรัฐบาลแต่งตั้งขึ้นแต่อย่างใดเลย 

นอกจากนี้ การให้ฝ่ายนิติบัญญัติเข้ามามีส่วนในการร่วมพิจารณา ส.ส.ร.โดยอ้อมด้วยในส่วน 23 คนนี้ ก็เพื่อยึดโยงกับรัฐสภา ป้องกันการถูกร้องว่า ไม่ดำเนินการตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในปี 2564 ที่ได้กำหนดว่า "รัฐสภามีหน้าที่ และอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่" อันเป็นแนวทางเพื่อไปสู่การดำเนินการให้สัมฤทธิ์ผล 

นายนิกร กล่าวต่อ การนำเสนอกรอบที่มาของส.ส.ร.นี้ ยังไม่ถือเป็นที่สุด เพราะยังต้องรอให้คณะกรรมการชุดใหญ่ โดย นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี พิจารณาแล้วเสนอต่อ ครม.เพื่อนำรอไปบรรจุในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ถ้าประชามติของประชาชน เห็นชอบให้ดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และสุดท้ายร่างแก้ไขนั้นก็จะไปยุติที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐสภา ที่น่าจะมี นายพริษฐ์ และพรรคก้าวไกล อยู่ในนั้นด้วยแน่นอน จึงยังมีทางเดินเพื่อการปรับปรุงแก้ไขที่ยาวไกลอยู่พอสมควร จึงขอให้กันช่วยประคับประคอง

logoline