svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

เช็กเลย นักวิชาการคิดเห็นอย่างไรต่อการแก้ไข "รัฐธรรมนูญ"

"โภคิน" แนะ แก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2560 แทนทั้งฉบับ โดย ส.ส.ร. รื้อ มาตรา 256 จัดทำประชามติครั้งเดียว ด้าน "อ.วรรณา" ชี้ รธน.ที่ดี ควรตอบฉันทามติสังคม ขณะที่ "อ.ปริญญา" ระบุ บทบัญญัติต้องเป็นชั่วนิรันดร์ ไม่สามารถล้มล้าง ไม่มีการรัฐประหาร

10 ธันวาคม 2566 นายโภคิน พลกุล อดีตประธานรัฐสภา กล่าวถึงปัญหาจำนวนครั้งในการจัดการออกเสียงประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อจัดรัฐธรรมนูญใหม่ ซึ่งถูกกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 256 ที่ต้องตีความ ผ่านเวทีเสวนาวิชาการ "งานวันฉลองรัฐธรรมนูญ ประจำปี 2566" ที่รัฐสภา โดยเห็นว่า

หากจะต้องมีการจัดการออกเสียงประชามติถึง 3 ครั้ง ก็เชื่อว่า จะไม่ได้ทำ และไม่ผ่านความเห็นชอบ เพราะเงื่อนไขในการได้รับความเห็นชอบจากประชาชนผู้มีสิทธิ์ออกเสียงนั้น จะต้องมีผู้ออกมาใช้สิทธิ์เกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ์ทั้งหมด หรือประมาณ 26 ล้านเสียง และในจำนวน 26 ล้านเสียง จะต้องมีคะแนนเสียงเห็นชอบเกินกึ่งหนึ่ง หรือมากกว่า 13 ล้านเสียง

ซึ่งหากมีประชาชน 100 คน ไปใช้สิทธิ์การเลือกตั้ง 70 คน ถ้าจำนวนดังกล่าว 40 คนเห็นด้วย 30 คนไม่เห็นด้วย ซึ่งในจำนวน 30 คนที่ไม่เห็นด้วย ไม่ออกไปใช้สิทธิ์อยู่แล้ว ผลการออกเสียงประชามติ ก็ไม่สามารถผ่านได้ เพราะจำนวนผู้มีสิทธิ์ออกเสียง ไปใช้สิทธิ์ไม่ถึงเกณฑ์ ทั้งที่ผู้ใช้สิทธิ์เสียงข้างมากเห็นด้วย ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่ไม่ง่าย และจะยิ่งทำให้รัฐธรรมนูญ 2560 มีความชอบธรรมมากยิ่งขึ้น 

เสวนาวิชาการ  วันฉลองรัฐธรรมนูญ ประจำปี 2566

นายโภคิน ได้แนะนำให้จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยการเสนอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2560 เพื่อทำให้รัฐธรรมนูญดีขึ้น โดยไม่แตะต้องหมวด 1 และหมวด 2 และไม่สุดโต่งถึงขั้นจะต้องมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เท่านั้น แต่ผู้ที่จะมายกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมนั้น จะต้องเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ ส.ส.ร.ที่มาจากการเลือกตั้ง

โดยจะสามารถลดขั้นตอน การจัดการออกเสียงประชามติได้ โดยจัดการออกเสียงประชามติเพียงครั้งเดียว ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 จึงไม่ต้องจัดการออกเสียงหลายครั้ง และใช้โอกาสดังกล่าว แก้ไขเงื่อนไขต่าง ๆ ภายในมาตรา 256 เช่น เงื่อนไข สว. 1 ใน 3 และเสียงเห็นชอบจากฝ่ายค้าน ร้อยละ 20 ในวาระที่ 3 ก็อาจทำให้ไม่ต้องจัดการประชามติในครั้งต่อ ๆ ไปก็ได้ จึงทำให้การแก้ไข เป็นไปได้ง่ายขึ้น 

อีกแนวทางหนึ่งคือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 เพียงมาตราเดียว เพราถือเป็นตัวร้าย และแก้ไขบัญญัติขึ้นใหม่ ให้สามารถแก้ไขได้ตามปกติ 

วันฉลองรัฐธรรมนูญ

ขณะที่ น.ส.วรรณภา ติระสังขะ รองศาสตราจารย์สาขาการเมืองการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เห็นว่า พัฒนาการรัฐธรรมนูญ เปรียบเสมือนประวัติของรัฐ ที่สะท้อนปัญหา และความต้องการของประเทศ แต่ละฉบับมีการเปลี่ยนแปลงเชื่อมโยงถึงกัน ทั้งมีการรักษาไว้ และพยายามทำให้สูญหายไป แต่สิ่งสำคัญของรัฐธรรมนูญไทย ขึ้นอยู่กับว่า ใครเป็นผู้ร่าง ซึ่งหากมีที่มาถูกต้องชอบธรรม ก็จะเป็นไปเพื่อตอบสนองประชาชน แต่หากเป็นรูปแบบอื่น ก็อาจถูกกำหนดรูปแบบวัตถุประสงค์ในอีกรูปแบบหนึ่ง เช่น

รัฐธรรมนูญ 2540 ที่เป็นฉันทามติร่วมกันในสังคม ทำให้ประเทศเดินหน้าได้ ดังนั้น รัฐธรรมนูญที่ดี ควรตอบฉันทามติสังคม และสร้างความเป็นพลเมือง เหมือนฉบับ 24 มิถุนายน 2475 ที่กำหนดอำนาจสูงสุดของประเทศ เป็นของราษฎรทั้งหลาย และยังกล่าวถึงการเลือกตั้ง ที่ยืนหยัดระบบรัฐเดี่ยว มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฯลฯ

แต่จะต้องไม่ลืมอำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน แต่ในรัฐธรรมนูญ 2560 กลับมีจุดเด่นที่กลายเป็นจุดด้อย เช่น ที่มาของ สว. และอำนาจ สว.ในบทเฉพาะกาล ที่สิ่งสำคัญคือ อำนาจจะต้องแปรผันตามที่มา และเชื่อมโยงกับประชาชนอย่างเข้มข้น ซึ่งหาก สว.จะมีอำนาจมาก ก็ไม่ควรมากไปกว่าประชาชน และยังไม่นับรวมการแก้รัฐธรรมนูญ ที่แทบจะเป็นไปไม่ได้ การกำหนดวาระนายกรัฐมนตรี ที่มักไม่ใช้ในระบบรัฐสภา เพราะจะต้องขึ้นอยู่กับความต้องการของประชาชนผ่านการเลือกตั้ง รวมถึงการนิรโทษกรรมการรัฐประหาร ที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ

ซึ่งการนิรโทษกรรม จะดำรงคงอยู่ จึงถือเป็นโจทย์ใหญ่ที่ท้าทายการจัดทำรัฐธรรมนูญในอนาคต ความทรุดโทรมของคุณค่ารัฐธรรมนูญ ผ่านการทำลายความเป็นกฎหมายสูงสุด นับตั้งแต่การเปิดโอกาสให้ระบบการเมืองที่ไม่เป็นประชาธิปไตย เข้ามาแอบแฝงในรัฐธรรมนูญ และมีส่วนกำหนดอำนาจขององค์กรต่าง ๆ และประชาชน และยังเอื้อให้เกิดผลร้ายต่อการเดินหน้าประชาธิปไตย ซึ่งรัฐธรรมนูญ 2560 ยังมีอำนาจนิยมแอบแฝง ที่แม้จะมีการเลือกตั้ง แต่ก็ยังถูกสอดแทรกด้วยอำนาจนิยมอื่น ๆ  

น.ส.วรรณภา ยังเห็นว่า ทิศทางแนวโน้มของรัฐธรรมนูญในอนาคต มีความท้าทาย ทั้งกระบวนการ ที่ควรจะให้คนที่มีความเห็นไม่ลงรอยกัน มาแสดงความเห็น และทำให้เกิดฉันทามติร่วม จึงควรทำให้กระบวนการออกแบบรัฐธรรมนูญใหม่ มีการเปิดพื้นที่ให้คนเห็นต่างมาพูดคุย หยิบยกปัญหาความจริงขึ้นมาพูดว่า คนในสังคมต้องการกติกาแบบใด นำคนทุกกลุ่ม ทุกชนชั้นมาร่วมกระบวนการให้มากที่สุด และต้องมีความเข้าอกเข้าใจกัน ไม่ผลักคนเห็นต่างไปอยู่อีกพวกหนึ่ง 

ส่วนการกำหนดเนื้อหานั้น ควรจะต้องแก้ไขปัญหาในอดีตให้ได้ และไม่เป็นกับดักทางการเมือง ที่เกิดความไม่ชอบธรรม และไม่ได้รับการยอมรับ รวมถึงควรจะมีทางออกสำหรับปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เพราะไม่มีใครทราบว่า ปัญหาในอนาคตจะเกิดอะไรขึ้น จึงควรมีการบัญญัติถึงกระบวนการจัดการออกเสียงประชามติ และการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่สามารถปรับเปลี่ยนได้ให้รัฐธรรมนูญเสมือนมีชีวิต 

ขณะที่ นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองศาสตราจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงปัญหาความไม่ยั่งยืนของรัฐธรรมนูญไทยว่า หากต้องการให้ระบอบประชาธิปไตยไทยสำเร็จ จะต้องยกเลิกแนวความคิด "การยึดอำนาจ" และทำให้รัฐธรรมนูญมีบทบัญญัติที่เป็นชั่วนิรันด์ คือ ไม่สามารถล้มล้างรัฐธรรมนูญ หรือไม่มีการรัฐประหาร

รวมถึงนำบทเรียนที่เกิดขึ้น มาแก้ไข เพื่อไม่ให้วนกลับไปปัญหาเดิม เช่น ปัญหา สส.งูเห่า หรือปัญหาการขับ สส.ออกจากพรรค แล้ว สส.ไปสังกัดพรรคการเมืองอื่นที่มี สส.คนเดียว และปัญหาการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่สามารถทำได้ยาก