svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

5 คำถามที่รอวุฒิสภาตอบ-ก่อนเดินหน้าทำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญ

18 ธันวาคม 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"สมาชิกวุฒิสภา" คิดยังไงกับการทำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญ หลังคณะอนุกรรมการรับฟังความเห็นชุด "นิกร จำนง" ชง 5 ข้อ ถามสว. ก่อนกำหนด 19 ธ.ค. ส่งความเห็นกลับคืน

18 ธันวาคม 2566 การแก้ไขรัฐธรรมนูญนับเป็นอีกเรื่องต้องติดตาม โดยเฉพาะกับความชัดเจนของการดำเนินการ จะเป็นอย่างท่ามกลางความเห็นที่ยังคงแตกต่างกันอยู่ และยิ่งเฉพาะท่าทีของสมาชิกวุฒิสภา เพราะคือส่วนสำคัญที่จะกำหนดว่ารัฐธรรมนูญ 

โดย "นายพรเพชร วิชิตชลชัย" ประธานวุฒิสภา กล่าวถึงแบบสอบถามของคณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน เกี่ยวกับแนวทางในการทำประชามติ เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 ที่มี "นายนิกร จำนง" สส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา เป็นประธาน ว่า เอกสารสอบถามมีเพียงไม่กี่ข้อ และได้แจกให้สมาชิกวุฒิสภาทุกคน ก่อนเข้าห้องประชุม ดังนั้น ไม่มีเรื่องอะไรที่ต้องซักถามหรือปรึกษาอะไรกัน แต่หากสมาชิกปรึกษากันหรือพูดคุยกันเพียง 1-2 คน ก็คงมีแค่นั้น ไม่ใช่เรื่องใหญ่โตอะไร คงเป็นการตั้งความเห็นเหมือนที่ได้ตั้งข้อซักถามไว้ เรื่องก็คงมีแค่นี้  

ส่วนภายใน 2 วันนี้ จะสามารถรวบรวมความเห็นและส่งคืนให้คณะอนุกรรมการฯได้ เพราะขณะนี้มี 244 คนแล้ว จาก 250 คน ซึ่งต้องดูในวันพรุ่งนี้ (19ธ.ค.) ว่าจะส่งครบหรือไม่ สำหรับเรื่องจำนวนการทำประชามติที่ยังเป็นข้อถกเถียงกันอยู่นั้น ส่วนตัวเห็นว่าจะต้องศึกษาหลักเกณฑ์ การที่มาถามสมาชิกวุฒิสภาถือเป็นส่วนหนึ่งเท่านั้น และในทางวิชาการต้องไปศึกษาอีกครั้งหนึ่ง พร้อมทั้งสอบถามผู้ที่เกี่ยวข้อง ตอนนี้ยังตอบไม่ได้ว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร และตนก็ไม่ทราบว่าหากวุฒิสภาส่งไป จะมีการแยกไว้ หรือรวมกันก็ไม่รู้ 

อย่างไรก็ตาม การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะทำได้ตามไทม์ไลน์ที่รัฐบาลวางไว้หรือไม่นั้น ส่วนตัวยังไม่เห็นไทม์ไลน์ที่ชัดเจน มีแต่การแสดงเจตนารมณ์ของฝ่ายนั้น ฝ่ายนี้ ที่บางครั้งก็มีประเด็นเกี่ยวกับสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ สสร. และการร่างกฎหมายเอง ก็ค่อยๆดูไป แต่คาดว่าจะมีการพิจารณาในไม่นานนี้ ซึ่งการแก้รัฐธรรมนูญไม่ว่าจะกรณีใดก็ตาม คาดว่าจะได้ข้อยุติว่าจะทำอย่างไร ไม่ใช่พูดไปเรื่อยๆ

สำหรับกรณีที่พรรคก้าวไกลเสนอร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม และรัฐบาลก็มีแนวโน้มที่จะเสนอกฎหมายนี้ด้วยนั้น ก็อยู่ที่สภาผู้แทนราษฎรว่าจะได้ข้อยุติอย่างไร ส่วนที่มีสว.บางคนออกมาแสดงความเห็นนั้นไม่ค่อยมีเท่าไหร่ มีเพียงการพูดถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่าจะแก้ไขอย่างไร เรื่องนิรโทษกรรม ตนยังไม่ได้ยิน

ส่วนจะแก้ความขัดแย้งได้หรือไม่ นายพรเพชร ถามกลับมาว่า เป็นความขัดแย้งของใคร ตอนนี้ยังมองไม่ชัดว่าเป็นความขัดแย้งในเรื่องใด แต่ถ้าเป็นเรื่องในสภา ก็เป็นเรื่องตามปกติ สภาล่มบ้าง หรือขัดแย้งในมติที่ไม่เห็นด้วยของแต่ละฝ่าย ในระบบของรัฐสภาก็คงไม่ปัญหามีอะไร

เมื่อถามย้ำว่า หนึ่งในข้อขัดแย้งในร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่ครอบคลุมไปถึงความผิดมาตรา 112 นายพรเพชร กล่าวว่า เป็นประเด็นที่จะพูดว่าความขัดแย้งก็ไม่ได้ เป็นประเด็นที่มีความเห็นต่าง แน่นอนว่าในลักษณะแบบนี้ ก็ต้องมีการเจรจาแก้ไขกันได้ ว่าจะดำเนินการกันอย่างไร ตามกฎหมายแล้วฝ่ายที่มีเสียงข้างมากย่อมได้เปรียบ และไม่ขอให้ความเห็นว่าในร่างดังกล่าว ควรจะรวมมาตรา 112 ไปด้วยหรือไม่ เพราะเดี๋ยวหาว่าพูดไปแล้วจะกลายเป็นมติ

ขณะที่ นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา กล่าวว่า ในวันนี้วิปวุฒิสภาได้มีการหารือ พูดคุยเรื่องการทำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่นายนิกร ส่งแบบสอบถามเกี่ยวกับการทำประชามติมาให้สมาชิกวุฒิสภาแสดงความคิดเห็น ซึ่งก็ถือว่าเป็นอิสระ ที่จะให้สมาชิกได้ตอบแบบสอบถาม โดยไม่มีผลผูกพันทางกฎหมายแต่อย่างใด   

ทั้งนี้ ยอมรับว่าเงื่อนไขของกฎหมายการทำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นไปได้ยาก คือ ต้องเป็นไปตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ว่าในการทำฉบับใหม่ต้องสอบถามประชาชน ซึ่งตามกฏหมายต้องทำอีกอย่างน้อย 2  ครั้ง หลังครั้งแรกผ่าน ครั้งที่สองจะเกิดขึ้นในการแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 256  ที่เปิดให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เมื่อฉบับนี้แล้วเสร็จ จะต้องมีการทำประชามติอีกครั้งหนึ่ง และการทำประชามติ ทั้ง 3  ครั้งตามที่กฎหมายกำหนด จะต้องมีผู้ออกเสียงออกมาใช้สิทธิเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ และผลของประชามติก็ต้องเกินกึ่งหนึ่งเช่นกัน  

"ได้ยินมาว่ามี สส. บางพรรค เสนอให้แก้ไขกฎหมายการทำประชามติ แต่ผมไม่เห็นด้วยเนื่องจาก ยังไม่เคยใช้กฎหมายฉบับนี้เลยตั้งแต่ปี 2564 หากจะไปสรุปว่าทำแล้วไม่สำเร็จ เหตุผลไม่เพียงพอ แต่หากจะแก้ไขต้องใช้ทั้งสองสภารวมกัน ซึ่งวาระของ สว. ก็จะหมดแล้ว ดังนั้น การจะทำประชามติให้ผ่านทั้ง 3 ครั้ง ไม่ใช่เรื่องง่าย รวมทั้งการจะแก้ไขกฎหมายการทำประชามติก็ไม่ใช่เรื่องง่าย" นายคำนูณ กล่าว   

ด้าน "นายวันชัย สอนศิริ" สมาชิกวุฒิสภา (สว.) แสดงความเห็นโดยยอมรับว่า แม้จะไม่ได้แก้รัฐธรรมนูญในวันนี้ หรือเดือนหน้า หรือ 3 เดือนข้างหน้า ประชาชนก็ไม่ตาย ไม่มีประชาชนเดือดร้อนเพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เนื่องจากในเดือน พ.ค. 2567 สว.ชุดนี้ ก็จะหมดวาระแล้ว จึงไม่มีเหตุผลต้องเร่งรีบ เพราะตอนนี้รัฐธรรมนูญมีความเป็นประชาธิปไตยเต็มใบ เพียงแต่ประชาชนมีความรู้สึกว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้มาจากการรัฐประหารเท่านั้นเอง

ทั้งนี้ ส่วนตัวเสนอให้แก้เพียงคำปรารภว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่มาจากประชาชน ก็ใช้ได้แล้ว นอกนั้นจะแก้รายมาตราก็แก้ ส่วนตัวเห็นว่าควรเร่งแก้ปัญหาเรื่องปากท้อง เศรษฐกิจ ซึ่งเป็นสิ่งที่ประชาชนรอคอยจากรัฐบาลใหม่ แต่ขณะนี้มองแล้วยังไม่เห็นผลงานอะไร และจะเป็นเรื่องที่กดดันว่า "นายเศรษฐา ทวีสิน" นายกรัฐมนตรี จะอยู่ได้หรือไม่ ไม่ใช่เพราะใครมากดดัน นอกจากตัวนายเศรษฐาเอง ที่จะต้องทำงานให้เป็นที่ยอมรับ หากผลงานไม่ปรากฏ ประชาชนก็จะกดดัน และอาจทำให้นายกฯ อยู่ไม่ได้

จากนั้นได้เข้าสู่การประชุมวุฒิสภา ที่มี "นายศุภชัย สมเจริญ" รองประธานวุฒิสภา เป็นประธานการประชุม โดยก่อนเข้าสู่ระเบียบวาระ ประธานได้แจ้งต่อสมาชิกกรณีคณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับแนวทางในการทำประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มีข้อเสนอขอให้สมาชิกวุฒิสภาตอบแบบสอบถาม เพื่อรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางในการทำประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ จึงขอความร่วมมือสมาชิกวุฒิสภาตอบแบบสอบถามดังกล่าว โดยสามารถรับแบบสอบถามได้ตั้งแต่วันนี้ และให้ส่งคืนภายในวันที่ 19 ธ.ค. เพื่อให้สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา รวบรวมส่งไปยังคณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นฯ ต่อไป


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการรับฟังความคิดเห็นเบื้องต้นของสมาชิกวุฒิสภา เกี่ยวกับแนวทางในการทำประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีเอกสารจำนวน 2 หน้า 5 คำถาม ประกอบด้วย 

  1. เห็นสมควรจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่     
  2. ในกรณีที่เห็นว่าไม่สมควรจะทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับ เห็นสมควรแก้ไขเป็นรายมาตราหรือไม่  
  3. ในกรณีที่เห็นว่าควรจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับ เห็นว่าเนื้อหาในรัฐธรรมนูญมีปัญหาประการใดที่จำเป็นต้องแก้ไข
  4. ในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับ เห็นว่าสมควรจัดตั้ง สสร. ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนทั้งหมดหรือที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนโดยมีนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญในสัดส่วนด้วยวิธีการได้มาตามที่กรรมาธิการกำหนด 
  5. ในการจัดทำประชามติ เห็นด้วยหรือไม่ที่จะจัดให้มีการทำประชามติ ก่อนเริ่มดำเนินการใดๆ ในกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และเห็นด้วยหรือไม่ ที่จะจัดให้มีการทำประชามติ เมื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จแล้ว เพื่อให้ประชาชนเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อีกครั้งหนึ่ง ก่อนนายกฯ จะนำร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวขึ้นทูลเกล้าฯ
logoline