svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"ภูมิธรรม" เผย แก้ไขรัฐธรรมนูญ สะดุด มาตรา 256 ระบุ ยังเป็นไปตามไทม์ไลน์

24 พฤศจิกายน 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"ภูมิธรรม" เผย "คกก.ศึกษาประชามติ" ชี้ แก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ยังมีความเห็นต่าง วางแนว โยนสภาฯ พิจารณา หากเห็นขัดแย้ง ชง "ศาล รธน." ตัดสิน ยัน ไม่ใช่ยื้อเวลา เชื่อ ปชช. เข้าใจ ถ้าสุดท้ายเกิดเงื่อนไขทำสะดุด

24 พฤศจิกายน 2566 นายภูมิธรรม เวชยชัย ในฐานะประธานคณะกรรมการ เพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติ เพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่าง ในเรื่องรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการฯ ว่า ที่ประชุมรับทราบรายงานความคืบหน้าหลายประเด็น ทั้งในส่วนของคณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็น ที่ดำเนินการไปพอสมควรแล้ว เหลือการรับฟังความเห็นอีก 2 ภาค คือ ภาคเหนือ ที่จังหวัดเชียงใหม่ จากกลุ่มชาติพันธุ์และภาคใต้ ที่จังหวัดสงขลา ที่จะรับฟังความเห็น จากชาวใต้และชาวมุสลิม

และต้องรอเปิดประชุมรัฐสภา เพื่อสอบถามความเห็นจาก สว. และ สส. เมื่อรับฟังหมดแล้วถือว่าครบถ้วน จากนั้นอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็น จะทำข้อสรุปและบันทึกความเห็นที่แตกต่าง เพื่อเสนอคณะกรรมการชุดใหญ่ และที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เพื่อนำไปสู่การตัดสินใจ

ขณะที่คณะอนุกรรมการศึกษา แนวทางการทำประชามติ ยังมีความเห็นแตกต่างในประเด็นแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 มีการนำข้อกฎหมายต่างๆ มาพิจารณา เพื่อดูว่าจะจัดทำประชามติอย่างไร และมีวิธีการดำเนินการอย่างไร เพื่อให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นไปตามที่ประชาชนอยากเห็นมากที่สุด และเป็นเครื่องมือไปสู่การทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ทันสมัยขึ้น

นายภูมิธรรม กล่าวต่อ ที่ประชุมเห็นควรให้ทำหนังสือถึงคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) เพื่อมาให้ความชัดเจนในข้อกฎหมายอีกครั้ง และทำให้การตัดสินใจของคณะกรรมการฯเกิดความชัดเจน และยังหาหารือว่าการแก้ไขครั้งนี้ มีข้อเสนอว่าควรให้สภาผู้แทนราษฎร มีความเห็นเพื่อเสนอให้ประธานรัฐสภา เป็นผู้เสนอเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญ ตีความ หากเกิดกรณีที่มีความเห็นขัดแย้งกัน โดยมอบหมายให้ตัวแทนพรรคการเมืองที่อยู่ในคณะกรรมการฯ ไปปรึกษาหารือกันในพรรคของตัวเอง โดยทั้งหมดนี้จะนำไปประมวลผลและคาดว่าคณะกรรมการชุดใหญ่จะมีข้อสรุปภายในสิ้นปีนี้

ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีที่จะให้พรรคการเมือง เสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร เพื่อส่งเรื่องให้ ศาลรัฐธรรมนูญ ตีความจะนำเสนอในประเด็นใด นายภูมิธรรม กล่าวว่า เป็นความชัดเจนที่เกี่ยวกับการปฏิบัติ เช่น ต้องทำได้กี่ครั้ง และสามารถทำร่วมกับกฎหมายการเลือกตั้งอื่นได้หรือไม่ และสามารถให้ประชาชนออกเสียงผ่านเครื่องมือสื่อสารได้หรือไม่ เป็นต้น สิ่งเหล่านี้จะหารือในที่ประชุมสภาฯก่อน หากที่ประชุมตกลงกันได้ก็ดำเนินการต่อไป แต่หากมีความขัดแย้ง สภาฯก็ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัย

เมื่อถาม ศาลรัฐธรรมนูญระบุว่าไม่ใช่องค์กรที่ให้คำปรึกษา จะรับพิจารณาในเรื่องดังกล่าวหรือไม่ นายภูมิธรรม กล่าวว่า ไม่ได้คิดว่าเป็นที่ปรึกษา แต่หากที่ประชุมสภาฯมีความขัดแย้ง สภาฯมีหน้าที่นำเสนอต่อศาลให้ตีความได้ เพื่อให้ได้ข้อยุติ

เมื่อถามว่า ที่ประชุมมีข้อเสนอให้แก้กฏหมายประชามติหรือไม่ เนื่องจากมีกับดักสองชั้น เรื่องเสียงของประชาชนที่จะมาลงประชามติ นายภูมิธรรม กล่าวว่า มีข้อสรุปให้ไปศึกษากฎหมายที่เกี่ยวข้อง ขณะที่ นายนิกร จำนง โฆษกคณะกรรมการฯ ได้เสนอว่า ยังมีกฎหมายที่สร้างความชัดเจนตรงนี้ได้ จึงมอบหมายให้คณะอนุกรรมการศึกษาไปพิจารณาด้วย เนื่องจากกฎหมายประชามติยังไม่เคยถูกนำมาใช้ จึงต้องไปศึกษาเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด

เมื่อถามว่า การมีเงื่อนไขเพิ่ม หากต้องสอบถามศาลรัฐธรรมนูญ จะไม่กระทบกับไทม์ไลน์ที่วางไว้ ที่จะให้ได้ข้อสรุปภายในสิ้นปีนี้ นายภูมิธรรม กล่าวว่า คณะกรรมการฯมีความมุ่งมั่นจะทำให้เป็นไปตามไทม์ไลน์ตามที่นายกฯบอกไว้ว่า ทำไม่ได้ไม่มี มีแต่ทำอย่างไรจะทำให้ได้ ยืนยันว่ารัฐบาลตั้งใจจะทำให้สำเร็จ เพื่อให้เกิดประโยชน์ และประชาชนอยากได้รัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย อยากได้บรรยากาศและกติกาใหม่ เพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆให้มากขึ้น แต่สุดท้ายหากเกิดปัญหาที่เป็นเรื่องจำเป็นและมีข้อจำกัดที่รับฟังได้ เชื่อว่าประชาชนจะเข้าใจได้ แม้สังคมอาจจะเกิดความกังวลว่าเป็นการดึงเวลาให้เกิดความล่าช้า

ทั้งนี้ มาตรา 256 ระบุว่า ภายใต้บังคับมาตรา 255 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ให้กระทําได้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการ ดังต่อไปนี้

     (1) ญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมต้องมาจากคณะรัฐมนตรี หรือจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจํานวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร หรือจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาจํานวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา หรือจากประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจํานวนไม่น้อยกวาห้าหมื่นคนตามกฎหมายว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย

     (2) ญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมต้องเสนอเป็นร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมต่อรัฐสภาและให้รัฐสภาพิจารณาเป็นสามวาระ

     (3) การออกเสียงลงคะแนนในวาระที่หนึ่งขั้นรับหลักการ ให้ใช้วิธีเรียกชื่อและลงคะแนนโดยเปิดเผย และต้องมีคะแนนเสียงเห็นชอบด้วยในการแก้ไขเพิ่มเติมนั้น ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา ซึ่งในจํานวนนี้ต้องมีสมาชิกวุฒิสภาเห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภา

     (4) การพิจารณาในวาระที่สองขั้นพิจารณาเรียงลําดับมาตรา โดยการออกเสียงในวาระที่สองนี้ ให้ถือเสียงข้างมากเป็นประมาณ แต่ในกรณีที่เป็นร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมที่ประชาชนเป็นผู้เสนอ ต้องเปิดโอกาสให้ผู้แทนของประชาชนที่เข้าชื่อกันได้แสดงความคิดเห็นด้วย

     (5) เมื่อการพิจารณาวาระที่สองเสร็จสิ้นแล้ว ให้รอไว้สิบห้าวัน เมื่อพ้นกําหนดนี้แล้วให้รัฐสภาพิจารณาในวาระที่สามต่อไป

     (6) การออกเสียงลงคะแนนในวาระที่สามขั้นสุดท้าย ให้ใช้วิธีเรียกชื่อและลงคะแนนโดยเปิดเผย และต้องมีคะแนนเสียงเห็นชอบด้วยในการที่จะให้ออกใช้เป็นรัฐธรรมนูญมากกว่ากึ่งหนึ่งของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา โดยในจํานวนนี้ต้องมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคการเมืองที่สมาชิกมิได้ดํารงตําแหน่งรัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎรหรือรองประธานสภาผู้แทนราษฎร เห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่าร้อยละยี่สิบของทุกพรรคการเมืองดังกล่าวรวมกัน และมีสมาชิกวุฒิสภาเห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภา

     (7) เมื่อมีการลงมติเห็นชอบตาม (6) แล้ว ให้รอไว้สิบห้าวัน แล้วจึงนําร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย และให้นําความในมาตรา 81 มาใช้บังคับโดยอนุโลม

     (8) ในกรณีร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมหมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์ หรือหมวด 15 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ หรือเรื่องที่เกี่ยวกับคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามของผู้ดํารงตําแหน่งต่าง ๆ ตามรัฐธรรมนูญ หรือเรื่องที่เกี่ยวกับหน้าที่หรืออํานาจของศาลหรือองค์กรอิสระ หรือเรื่องที่ทําให้ศาลหรือองค์กรอิสระไม่อาจปฏิบัติตามหน้าที่หรืออํานาจได้ ก่อนดําเนินการตาม (7) ให้จัดให้มีการออกเสียงประชามติตามกฎหมายว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ถ้าผลการออกเสียงประชามติเห็นชอบด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม จึงให้ดําเนินการตาม (7) ต่อไป

     (9) ก่อนนายกรัฐมนตรีนําความกราบบังคมทูลเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยตาม (7) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือสมาชิกวุฒิสภา หรือสมาชิกทั้งสองสภารวมกัน มีจํานวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของแต่ละสภา หรือของทั้งสองสภารวมกัน แล้วแต่กรณี มีสิทธิเข้าชื่อกันเสนอความเห็นต่อประธานแห่งสภาที่ตนเป็นสมาชิกหรือประธานรัฐสภา แล้วแต่กรณี ว่าร่างรัฐธรรมนูญตาม (7) ขัดต่อมาตรา 255 หรือมีลักษณะตาม (8) และให้ประธานแห่งสภาที่ได้รับเรื่องดังกล่าวส่งความเห็นไปยังศาลรัฐธรรมนูญ และให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับเรื่อง ในระหว่างการพิจารณาวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ นายกรัฐมนตรีจะนําร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าวขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยมิได้

logoline