svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"เศรษฐา"ย้ำรับฟังทุกเสียงก่อนคิดออกพ.ร.บ.เงินกู้-มั่นใจทันตามไทม์ไลน์

23 พฤศจิกายน 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"นายกรัฐมนตรี" ย้ำเหตุผลออกพ.ร.บ.เงินกู้ เพราะได้รับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วนแล้ว ยันกฎหมายต้องผ่านสภาเพื่อความโปร่งใส-ตรวจสอบได้ โยนถามรมช.คลังปมยังไม่ส่งเรื่องถึงกฤษฎีกา ลั่นมั่นใจทันตามไทม์ไลน์เดือน พ.ค.67

23 พฤศจิกายน 2566 "นายเศรษฐา ทวีสิน" นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ชี้แจงถึงเหตุผลการออก พ.ร.บ.เงินกู้ 5 แสนล้านบาท ว่า ได้พูดคุยหลายภาคส่วน และเป็นเรื่องที่หลายภาคส่วนเรียกร้องมา ว่า พ.ร.บ.เงินกู้ ต้องผ่านคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งครม.เป็น ตัวแทนของ สส. ส่วน สส. เป็นตัวแทนประชาชน ถ้าผ่านครม.ก็ถือว่าผ่านความเห็นชอบของประชาชน

นายเศรษฐา กล่าวต่อว่า ขณะที่ทางกฤษฎีกาก็จะพิจารณาว่าถูกต้องตามหลักหรือไม่ หากผ่านก็แสดงว่าเห็นชอบ และการที่ต้องผ่านระบบรัฐสภา ก็จะเป็นการชี้แจงรายละเอียดให้สภาได้มีการซักถาม ก็อยากให้ผ่านทุกขั้นตอน แม้อาจจะล่าช้าไปบ้าง แต่ก็เป็นเรื่องที่โปร่งใส และตรวจสอบได้

ส่วนที่ "นายจุลพันธุ์ อมรวิวัฒน์" รมช.คลัง ออกมาระบุว่ายังไม่ได้ส่งหนังสือสอบถามไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกา ถึงเรื่องการออก พ.ร.บ.เงินกู้ 5 แสนล้านบาทนั้น โดยนายกฯ กล่าวว่า "ยังไม่พูดคุยกัน ผมได้พูดคุยกับกฤษฎีกา ท่านบอกว่าให้ทำให้ถูกต้องตามขั้นตอน ซึ่งเป็นครั้งเดียวที่ได้พูดคุยกับกฤษฎีกา"

เมื่อถามย้ำว่า รมช.คลัง ระบุยังไม่ได้ส่งเรื่องไปยังกฤษฎีกา นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ยังไม่ทราบ ต้องถามนายจุลพันธ์ุว่ามีขั้นตอนอย่างไร 

ส่วนจะทำให้กรอบระยะเวลาล่าช้าออกไปหรือไม่ เพราะเดิมวางโครงการจะเริ่มในช่วงเดือน พ.ค. 2567 นายเศรษฐา กล่าวว่า ก็คงอีกไม่กี่วัน เดี๋ยวก็คงจะส่งแล้ว ยืนยันว่า ยังอยู่ในไทม์ไลน์เดิม

อดีตผู้แทนฯปชป.แนะนายกฯใช้กฎหมายปปง.แทนกู้เงิน 5 แสนล้าน

ด้าน "นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์" อดีต สส.นครนายก พรรคประชาธิปัตย์ แถลงข่าวที่รัฐสภา โดยได้แนะนำให้นายเศรษฐา รวมไปถึงรัฐบาล ที่จะเตรียมออกพ.ร.บ.เงินกู้ 5 แสนล้านบาทนั้น ยังมีช่องทางอื่น ที่ไม่จำเป็นต้องตรากฎหมายกู้เงิน และสามารถทำได้ ไม่ผิดรัฐธรรมนูญ และพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง โดยใช้พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ในมาตรา 3 (5) ในกรณีที่เจ้าหน้าที่รัฐ ร่วมกันกับเอกชนทุจริต ให้ถือเป็นคดีการฟอกเงิน โดยให้สอบถามไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน หรือ ป.ป.ง. ว่า มีคดีทุจริตการใช้อำนาจที่มิชอบในคดีใดบ้าง ที่ศาลตัดสินถือเป็นที่สุดแล้วในรอบ 20 ปี

ทั้งนี้ เพราะตนเคยมีประสบการณ์ตรวจสอบคดีสำคัญ เกี่ยวกับการยึดทรัพย์การทุจริตหมื่นล้าน เช่น คดีการก่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน จ.สมุทรปราการ ซึ่งมีมูลค่ากว่า 9,000 ล้านบาท ที่ศาลแพ่งได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วว่า ให้ยึดทรัพย์ตกเป็นของแผ่นดิน แม้ศาลปกครองสูงสุดจะมีคำพิพากษาให้จ่ายเงินชดใช้บริษัทเอกชน 5 แห่งก็ตาม

 

"จึงขอให้นายกรัฐมนตรี และกระทรวงการคลัง กลับไปดูคำพิพากษาศาลฎีกาทั้งหมด และใช้กฎหมายฟอกเงิน ดำเนินคดียึดทรัพย์เงินทั้งหมดให้ตกเป็นของแผ่นดิน เพราะที่ผ่านมา ป.ป.ช. และ ปปง. ปล่อยปละละเลย ไม่เคยใช้คำพิพากษาใด ๆ ในการยึดทรัพย์ให้ตกเป็นของแผ่นดินเลย" นายชาญชัย กล่าว  

อย่างไรก็ตาม ตนได้รวบรวมคดีทั้งหมดกว่า 10 คดี ทั้งการหลบเลี่ยงภาษี เกี่ยวข้องกับนักการเมือง ทั้งระดับชาติ และท้องถิ่น ซึ่งรวมเงินทุจริตจากการทุจริตเงินแผ่นดินเกินกว่า 450,000 - 500,000 ล้านบาท ดังนั้น หากนายกฯ อยากแก้ปัญหาความยากจน ให้ใช้กฎหมาย ปปง. ยึดอายัดทรัพย์เหล่านี้ มาใช้ดำเนินการ โดยหลังจากนี้ตนจะรวบรวมคดีทั้งหมดให้นายกฯ ได้พิจารณาต่อไป และไม่ต้องไปกู้เงินให้เสียเวลา จนทำให้ประเทศชาติเสียหาย หรือต้องให้กลายเป็นภาระประชาชนในภายหลัง

 

"ผมเตรียมแถลงข่าว และทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ว่ามีคนใกล้ตัวทำงานอยู่ในกระทรวง เป็นเจ้าหน้าที่ ระดับอธิบดี มีประวัติทำผิดพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง และทำให้รัฐเสียหายนับแสนล้านบาทแล้วด้วย" นายชาญชัย ระบุ 

 

logoline