svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"กองทัพเรือ-ศรชล." บูรณาการกำลัง ร่วมจับกุม 3 เรือประมงอินโดฯ รุกน่านน้ำไทย

09 ตุลาคม 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"กองทัพเรือ-ศรชล." บูรณาการกำลัง ร่วมจับกุมเรือประมงสัญชาติอินโดนีเซีย 3 ลำ ลักลอบทำการประมงในเขตน่านน้ำไทย

9 ตุลาคม 2566 พล.ร.ต.วีรุดม ม่วงจีน โฆษกกองทัพเรือ เปิดเผยว่า ศูนย์ปฏิบัติการทัพเรือภาคที่ 3 (ศปก.ทรภ.3) ร่วมกับ ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลภาค 3 (ศรชล.ภาค 3) จับกุมเรือประมงสัญชาติอินโดนีเซีย ทำประมงในน่านน้ำไทย

โดยเมื่อ 7 ตุลาคม 2566 เวลา 08.30 น. ศปก.ทรภ.3 ได้รับแจ้งข่าวจากแหล่งข่าวในพื้นที่ พบเห็นเรือประมงสัญชาติอินโดนีเซีย 3 ลำ เข้ามาทำการประมงบริเวณเขตเศรษฐกิจจำเพาะของประเทศไทย ระยะ 46 ไมล์ทะเล ทางทิศตะวันตกของแหลมพรหมเทพ จ.ภูเก็ต จึงได้สั่งการให้เครื่องบินลาดตระเวนแบบดอร์เนีย (DO-228) จาก ทรภ.3 ขึ้นบินลาดตระเวนตรวจสอบข้อมูลตามที่ได้รับแจ้ง 

"กองทัพเรือ-ศรชล." บูรณาการกำลัง ร่วมจับกุมเรือประมงอินโดฯ รุกน่านน้ำไทย

ศรชล.ภาค 3 ได้แจ้งให้ศูนย์ควบคุมความมั่นคงท่าเรือ จ.ภูเก็ตแจ้งไปยังศูนย์ควบคุมการแจ้งเรือเข้าออก (ศูนย์ PIPO ) ภูเก็ต แจ้งเรือประมงไทยที่ทำการประมงในพื้นที่ เฝ้าสังเกตการณ์และติดตามพฤติกรรมของกลุ่มเรือประมงสัญชาติอินโดนีเซียทั้ง 3 ลำ ซึ่งผลการบินสำรวจ ได้ตรวจพบเรือประมงสัญชาติอินโดนีเซีย 1 ลำ ระยะ 55.6 ไมล์ทะเล จากแหลมพรหมเทพ ซึ่งอยู่ในเขตเศรษฐกิจจำเพาะของไทย ศรชล.ภาค 3 จึงได้สั่งการให้ เรือหลวงแกลง ออกเรือเพื่อเข้าตรวจสอบและจับกุมเรือประมงสัญชาติอินโดนีเซียในบริเวณดังกล่าว จนกระทั่งในเมื่อช่วงเช้าของวันที่ 8 ตุลาคม 2566 เมื่อเรือหลวงแกลง ได้ตรวจพบเรือประมงสัญชาติอินโดนีเซีย 3 ลำ ลักลอบทำการประมงในเขตเศรษฐกิจจำเพาะของไทยประกอบด้วย

  • เรือ KM.RAHMATJAYA  พร้อมลูกเรือรวมไต๋เรือ 12 คน
  • เรือ KM.IKHLASBARU  พร้อมลูกเรือรวมไต๋เรือ 16 คน 
  • เรือ KAMBIASTAR  พร้อมลูกเรือรวมไต๋เรือ 12 คน 

จากนั้น เรือหลวงแกลง ได้ควบคุมเรือประมงอินโดนีเซียทั้ง 3 ลำ พร้อมลูกเรือ จำนวนรวม 40 นาย เดินทางไปยังท่าเรือรัษฎา ต.รัษฎา อ.เมือง จ.ภูเก็ต เพื่อส่งมอบให้พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรฉลอง ดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป โดยเรือหลวงแกลงได้นำเรือเข้าเทียบท่าเรือรัษฎา เมื่อเวลาประมาณ 08.30 ของวันที่ 9 ตุลาคม 2566 ในการนี้ ศรชล.ภาค 3 ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สถานีตำรวจภูธรฉลอง ตำรวจน้ำ ประมงจังหวัดภูเก็ต และหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้เดินทางมารับตัวผู้กระทำผิดเพื่อดำเนินคดีทางกฎหมายต่อไป 

"กองทัพเรือ-ศรชล." บูรณาการกำลัง ร่วมจับกุมเรือประมงอินโดฯ รุกน่านน้ำไทย

ทั้งนี้ ศรชล.ภาค 3 จะประสานการดำเนินการทางกฎหมาย กับ เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.ฉลอง อย่างใกล้ชิด ซึ่ง อำนาจหน้าที่ของ ศรชล. เป็นการดำเนินการตาม พ.ร.ก.การประมง พ.ศ.2558 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยสิทธิการประมงไทยในเขตประมงไทย พ.ศ.2482 ในเขตเศรษฐกิจจำเพาะ ซึ่งกฎหมายทั้งสองฉบับ ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ทหารเรือ โดย ผบ.เรือ, ผค.เรือ(ผู้บังคับการเรือ) สามารถจับกุมได้ ในฐานความผิดเป็นผู้ควบคุมเรือ ใช้เรือสัญชาติต่างประเทศ ทำการประมงในเขตประมงไทย และฐานทำการประมงพาณิชย์โดยไม่ได้รับอนุญาต

สำหรับการจับกุมเรือประมงทั้ง 3 ลำในครั้งนี้ เป็นการบูรณาการความร่วมมือระหว่าง กองทัพเรือ โดย ทรภ.3  ศรชล. และเครือข่ายเรือประมงไทย      

ทั้งนี้ การจับกุมเรือประมงต่างชาติ ที่มีพฤติกรรมเข้ามาทำการประมง บริเวณเขตเศรษฐกิจจำเพาะของประเทศไทย ด้านฝั่งทะเลอันดามัน ที่ผ่านมานั้น ได้มีการจับกุมมาแล้วหลายครั้ง  โดยฝ่ายไทย เคยประสานฝ่ายอินโดนีเซีย แจ้งเตือนเรือประมงของประเทศอินโดนีเซีย มิให้รุกล้ำเข้ามาทำการประมงในเขตน่านน้ำของประเทศไทยแล้ว

อย่างไรก็ตาม การปฏิบัติของฝ่ายไทยครั้งนี้ เป็นการดำเนินการภายใต้ความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างประเทศ และไม่มีการใช้ความรุนแรงแต่อย่างใด การปฏิบัติการครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของการปกป้องและรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล ซึ่งเป็นหนึ่งในภารกิจที่สำคัญของกองทัพเรือ โดยในปีงบประมาณ 2564 ได้ทำการจับกุม 1 ครั้ง ในปีงบประมาณ 2565 ได้ทำการจับกุม 3 ครั้ง และในปีงบประมาณ 2566 ได้ทำการจับกุม 2 ครั้ง ซึ่งการลักลอบเข้ามาทำการประมงของเรือประมงต่างชาติ นั้นเป็นการแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติ (สัตว์น้ำ) ในพื้นที่ของประเทศไทย ส่งผลให้ชาวประมงไทย ทำการจับสัตว์น้ำได้น้อยลง และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจภาคประมงโดยตรง

"กองทัพเรือ-ศรชล." บูรณาการกำลัง ร่วมจับกุมเรือประมงอินโดฯ รุกน่านน้ำไทย

นอกจากนี้เรือประมงต่างชาติที่ลักลอบเข้ามาทำการประมง บางครั้งมีการลักลอบขโมยหรือตัดทำลายอุปกรณ์ดักจับสัตว์น้ำของชาวประมงไทยที่ได้วางไว้ด้วย

โฆษกกองทัพเรือ กล่าวต่อ การดำเนินการจับกุมเรือประมงต่างชาติข้างต้นนั้น เป็นไปตามนโยบายประจำปี งบประมาณ พ.ศ.2567 ของ พล.ร.อ.อะดุง พันธุ์เอี่ยม ผู้บัญชาการทหารเรือ ในฐานะ ผอ.ศรชล. ที่ได้มีนโยบายให้ทุกหน่วยงาน บูรณาการร่วมกัน ในการป้องกันและปรามปรามการกระทำผิดกฎหมายทางทะเล เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ เพื่อให้ทรัพยากรทางทะเลไทยมีความอุดมสมบูรณ์ เกิดความมั่นคง ยั่งยืนและสามารถแสวงหาประโยชน์ได้ตลอดไป

"กองทัพเรือ-ศรชล." บูรณาการกำลัง ร่วมจับกุมเรือประมงอินโดฯ รุกน่านน้ำไทย

logoline