svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

ชำแหละข้อต่อสู้ "พิธา"ถือหุ้นสื่อไอทีวี ชี้ปม"บันทึกการประชุม" แค่กระพี้

12 มิถุนายน 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"ประพันธ์ คูณมี" มือกฎหมาย ชำแหละ ข้อต่อสู้ "พิธาถือหุ้นสื่อ" ชี้ชัด คลิปบันทึกการประชุมที่อ้างเป็นหลักฐานใหม่ เป็นแค่"กระพี้"ไม่ใช่สาระสำคัญกระบวนการพิจารณาคดี ระวังข้อมูลใหม่ของจริงส่อปกปิดบัญชีทรัพย์สิน

"การถือครองหุ้นสื่อไอทีวี" ของ"พิธา ลิ้มเจริญรัตน์"  หัวหน้าพรรคก้าวไกล ยังคงเป็นที่จับตาของสังคม เพราะมีผลต่อการขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 

แม้ "กกต."จะยกคำร้องของ"เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ" ไปแล้วก็ตาม  แต่กกต. ยังมีอำนาจในการไต่สวนปมคุณสมบัติเป็นส.ส. ในส่วนของคดีอาญา ตามมาตรา 151 ของกฎหมายเลือกตั้ง ฐานรู้อยู่แล้วว่าไม่มีคุณสมบัติแต่ฝ่าฝืนลงสมัครรับเลือกตั้ง 

ช่วงที่ผ่านมา"พิธา" โพสต์เฟสบุ๊คโดยออกมายอมรับ ได้ทำการโอนหุ้นสื่อไอทีวีให้ทายาท   

ชัยธวัช ตุลาธน  เลขาธิการพรรคก้าวไกล เปิดแถลงข่าว ชี้ปมบันทึกรายงานการประชุมผู้ถือหุ้นไอทีวี มีความคลาดเคลื่อน

ต่อมามีการขับเคลื่อนของ"ทีมกฎหมายพรรคก้าวไกล"ด้วยการตอกย้ำขยายประเด็น กรณีอ้างว่า บันทึกรายงานการประชุมบริษัทไอทีวี คลาดเคลื่อนไม่ตรงกับข้อซักถามผู้ถือหุ้น ที่ว่า ไอทีวียังเป็นสื่ออยู่หรือไม่  พยายามชี้ให้สังคมเห็นว่า มีการกระทำกันเป็นขบวนการสร้างหลักฐานเท็จและมีโทษความผิด

ไม่เพียงเท่านั้น ล่าสุดเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน2566 "นิวัติไชย เกษมมงคล"  เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ออกมาเปิดเผยว่า มีอดีตส.ส. รวมถึง"พิธา ลิ้มเจริญรัตน์" ได้แจ้งขอเลื่อนการแสดงบัญชีทรัพย์สินหลังพ้นจากตำแหน่ง ส.ส. ออกไปก่อนเป็นเวลา 30 วัน 

 

"นิวัติไชย" ยังได้กล่าวถึงการที่ "พิธา" ยื่นทรัพย์สินเพิ่มในส่วนของหุ้นไอทีวีมาทาง ป.ป.ช.ได้มีการตรวจสอบความคืบหน้าอย่างไรว่า เรื่องนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบ สำหรับเรื่องหุ้นไอทีวี "พิธา"ได้ยื่นเพิ่มเติมในภายหลังเมื่อครั้งเข้ารับตำแหน่ง ส.ส.เมื่อปี 2562

"เมื่อมีข่าว มีข้อมูลเกี่ยวกับข้อกล่าวหา ป.ป.ช.จะต้องไปตรวจสอบว่าเป็นหุ้นไอทีวีหรือไม่ หรือหุ้นอะไร มีมูลค่าเท่าไหร่ เป็นการยื่นในฐานะผู้จัดการมรดก ตามที่เขาหมายเหตุเอาไว้หรือไม่ มีคำสั่งศาลหรือไม่ ซึ่งต้องตรวจสอบข้อเท็จจริง"

  • ปริศนาหุ้นไอทีวี  "พิธา"แจงบัญชีทรัพย์สินต่อ"ป.ป.ช." อย่างไร

พฤติการณ์เหล่านี้ ทำให้ "ประพันธ์  คูณมี " มือกฎหมายแถวหน้าซึ่งได้รับมอบหมายให้ทำเรื่องแบ่งมรดกตามพินัยกรรมบุคคลสำคัญในขณะนี้ และสมาชิกวุฒิสภา แจกแจงผ่านเนชั่นทีวีว่า "พิธา" ได้แจ้งบัญชีทรัพย์สินเมื่อปี 62 โดยแจ้งทรัพย์สินได้ที่ดินสองแปลง เป็นมรดกจากบิดา แต่ว่าไม่มีการแจ้งรายการทรัพย์สิน"หุ้นไอทีวี"  ซึ่งเราได้ตรวจสอบบัญชีทรัพย์สิน เพิ่งทราบจากเลขาธิการป.ป.ช. เมื่อพ้นจากตำแหน่ง ส.ส. มีการแจ้งบัญชีทรัพย์สินเข้ามาเพิ่มเติมซึ่งผมยังไม่เห็น

ประพันธ์ คูณมี  มือกฎหมายและสมาชิกวุฒิสภา

"ทราบจากท่านเลขาธิการ ป.ป.ช.ว่า "พิธา" ได้ถือครองหุ้นไอทีวี แต่ไม่ทราบว่าถือในนามผู้จัดการมรดกหรือถือในนามใคร ถ้าหากถือในนามผู้จัดการมรดกจะขัดแย้งกับข้อเท็จจริงที่ปรากฎในพยานหลักฐาน ในบัญชีผู้ถือหุ้นที่ปรากฎในตลาดหลักทรัพย์ เพราะหากถือในนามผู้จัดการมรดกถือแทนทายาท จะต้องมีวงเล็บถือในนามผู้จัดการมรดก "

แต่กรณีนี้ไม่มีวงเล็บไว้ ทำให้หมายความว่า เป็นการถือในนามส่วนตัว สอง จะขัดแย้งกับทำไมถือไว้ในนามผู้จัดการมรดกแสดงว่ามรดกยังแบ่งไม่เสร็จสิ้น ขัดแย้งกับที่ดินที่ได้รับแบ่งในนามมรดกแล้วทำไมเหลือหุ้นรายการเดียวที่ไม่ได้รับแบ่งจะขัดแย้งกับข้อเท็จจริงซึ่งน้ำหนักที่ให้เชื่อว่า คุณเป็นเจ้าของจะมีน้ำหนักมากยิ่งกว่า

นอกจากไม่มีวงเล็บ ถือในนามผู้จัดการมรดก จะเห็นว่าทรัพย์สินอื่นๆ แบ่งกันหมดแล้ว และอันนี้เท่ากับคุณถือครองในนามส่วนตัว เท่ากับคุณได้รับแบ่งมานั่นหล่ะ ถ้าหากไม่ใช่ของคุณเป็นของคนอื่น น่าจะระบุไว้ในนั้นแล้ว แต่เมื่อไม่ได้ระบุ ต้องสันนิษฐานและรับฟังได้ว่า คุณได้ครอบครองและรับส่วนแบ่งหุ้นไอทีวีมาเป็นของตนเองไปตั้งนานแล้ว 

ประพันธ์ คูณมี  มือกฎหมายและสมาชิกวุฒิสภา

ฉะนั้น อาจมีปัญหาว่า ตอนเข้ารับตำแหน่งไม่แจ้ง พอไม่แจ้งจะมีปัญหาอีกว่าปี 62 เข้ามาเป็นส.ส. เมื่อไม่แจ้งรายการบัญชีทรัพย์สิน ที่แจ้งไปแล้ว จะเข้าข่ายเป็นการแจ้งรายการทรัพย์สินอันเป็นเท็จ หรือปกปิดไม่แจ้งรายการทรัพย์สินหุ้นซึ่งจะเป็นอีกคดีหนึ่ง

เว้นแต่คุณไม่มีเจตนา หรือ ลืม พอรับฟังได้ เช่นสมัยก่อนที่เพิ่งเริ่มใช้กฎหมาย ป.ป.ช.ในการแสดงบัญชีทรัพย์สิน ปรากฎว่ามี "นายชวน หลีกภัย" "นายบัญญัติ  บรรทัดฐาน" ลืมแจ้งการถือหุ้นในสหกรณ์ จำนวนไม่กี่บาท เรื่องแบบนี้ลืมได้เพราะยาวนาน บางคนลืมว่ามีหุ้น ปรากฎว่า ป.ป.ช.วินิจฉัย ว่า ไม่มีเจตนาปกปิด หรือไม่แจ้ง แต่หลงลืมได้ว่าไม่ทราบว่า มีทรัพย์สินถือหุ้นรายการนี้อยู่ 

ชำแหละข้อต่อสู้ \"พิธา\"ถือหุ้นสื่อไอทีวี ชี้ปม\"บันทึกการประชุม\" แค่กระพี้

แต่กรณีของ"พิธา" ไม่น่าจะหลงลืม  เพราะก่อนที่จะมีเรื่องมาถึงตนเอง "ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ" อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ก็โดนคดีเรื่องหุ้น และถูกเพิกถอนการเป็นส.ส.มาแล้ว เขาน่าจะตื่นรู้ ต้องดูว่าเรามีหุ้นอยู่ที่ไหนและเราก็ถือมาตลอด ซึ่งควรโอนออกไปตั้งนานแล้ว ตั้งแต่ที่ตนเองเป็นส.ส.

"ถ้าโอนออกไปตั้งนานอาจไม่มีคนรู้ ไม่มีคนเห็น ไม่สามารถตรวจสอบได้ เว้นแต่มีนักตรวจสอบตาดีจริงๆ ถึงจะไปเห็นว่า สมมติเขาลืมแจ้งปี 62 ตอนเข้าเป็นส.ส. ไม่ได้แจ้งหุ้นไอทีวี แต่พอรู้ตัวว่านายธนาธร โดน ตัวเองโอนหุ้นให้คนอื่นซะ อาจไม่มีคนเห็นในทางทะเบียน เว้นแต่ มีคนไปบอกว่า เขาเคยถือหุ้นในปีนั้นปีนี้ อันนี้อาจโดนได้ แต่ถ้าโอนไปตั้งแต่ตอนนั้น อาจรอดพ้นหูพ้นตานักตรวจสอบไปได้" 

ชำแหละข้อต่อสู้ \"พิธา\"ถือหุ้นสื่อไอทีวี ชี้ปม\"บันทึกการประชุม\" แค่กระพี้

  • "คดีพิธาถือหุ้นสื่อ"โอกาสรอดยาก

"ประพันธ์" กล่าวว่า  พฤติการณ์ "พิธา" ต้องยอมรับว่า เป็นปัญหาหนัก เป็นเรื่องยากที่จะสลัดพ้นความผิด การถูกเพิกถอนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หากได้รับการรับรอง เพราะหุ้นดังกล่าว เขาถือมาตลอด และก็รู้เรื่องดีว่าตัวเอง มีทรัพย์สินส่วนนี้อยู่ กอปรกับ "ธนาธร" ซึ่งเป็นหัวหน้าพรรคเคยโดนข้อกล่าวหาแบบนี้ เห็นอยู่แล้วเป็นเรื่องที่ควรต้องรู้อย่างยิ่งและต้องระมัดระวัง ไม่ให้เดินซ้ำรอยอดีตหัวหน้าพรรคของตนเอง 

"กรณีที่กกต.พูดถึงมาตรา 151  จึงทำให้มีน้ำหนักรับฟังว่า รู้อยู่แล้ว ตัวเองไม่มีคุณสมบัติ เพราะถือหุ้นตัวนี้ จะปฏิเสธหรือแก้ตัว ไม่รู้ ก็ไม่ง่าย  ยิ่งมาสร้างสตอรี่  นิตินิยายว่า สละมรดกไปแล้วโอนให้คนอื่น ไม่มีผลแล้ว ยิ่งไปกันใหญ่  เรียกว่า ขว้างงูไม้พ้นคอ"  

เพราะฉะนั้น โอกาสรอดเรื่องนี้ไม่ง่าย เพราะว่า"ศาลรธน." และ"ศาลฏีกา" มีคำวินิจฉัยเรื่องนี้ เป็นบรรทัดฐานไปในแนวเดียวกัน ไม่ได้ขัดกัน อย่าง"คดีนายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ " อดีตส.ส.ประชาธิปัตย์ ไม่ได้ขัดกับแนววินิจฉัยศาลฏีกา หรือ ศาลรธน. ในคดีอื่นๆ เป็นเพียงข้อเท็จจริงต่างกันเท่านั้นเอง ไม่ใช่ข้อเท็จจริงเดียวกัน แล้ววินิจฉัยต่างกันนั้นไม่ใช่ "คดีชาญชัย" ถือหุ้นในบริษัทเอไอเอส สองร้อยหุ้น และบริษัทเอไอเอสถือหุ้นในบริษัทลูก และไปทำสื่อโฆษณา เยลโลเพจเจท ไม่ได้ถือโดยตรง 

แต่กรณีนี้ถือหุ้นโดยตรง เพราฉะนั้น ข้อต่อสู้ว่า"ไอทีวีไม่ใช่สื่อ" หมดสภาพความเป็นสื่อแล้ว ฟังไม่ขึ้น เพราะไอทีวีไม่ได้เลิกกิจการ สอง "ไอทีวี"สู้คดีกับสำนักปลัดสำนักนายกฯ(สปน.) เพื่อขอให้ดำเนินการธุรกิจสื่อต่อไป และสู้ให้"สปน." ชดเชยความเสียหายและคืนใบอนุญาตให้"ไอทีวี" และ"ไอทีวี"ยังประกอบกิจการต่อเนื่องตลอดมา  

"ที่บอกว่า มีคนไปปลุกให้เขาฟื้น เขายังไม่ตาย ไม่ต้องไปปลุก  เขายังไม่เคยตาย จะใช้ศัพท์แสงอะไรก็ตามแต่ มันฝืนกับข้อเท็จจริงไม่ได้"

 

  • บันทึกรายงานประชุม ผู้ถือหุ้นถามไอทีวีเป็นสื่อหรือไม่ เป็นแค่"กระพี้" 

"นายประพันธ์" กล่าวว่า มีการอ้างพบพิรุธ ผู้ถือหุ้นตั้งคำถาม"ไอทีวี"เป็นสื่อหรือไม่ ตรงนี้ไม่ใช่ประเด็น คนเป็นทนายความหรือศาลจะพิจารณาคดี เขาจะแยกอะไรคือ"กระพี้" อะไรคือพยานไม่ใช่สาระสำคัญ

พยานที่เป็นสาระสำคัญ อยู่ที่เอกสารการถือครองหุ้น บัญชีรายชื่อ ผู้ถือหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ ว่า"พิธา"ถือมาอย่างไร ถือมาในนามใคร เขาไปดูเอกสารเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจไอทีวี ว่าจดทะเบียนมาอย่างไร ยังประกอบกิจการ อยู่หรือไม่ จดทะเบียนเลิกกิจการแล้วหรือยัง เขาไปดูคำพิพากษาของศาลปกครอง ที่ขณะนี้ "บริษัทไอทีวี" ฟ้อง สปน. เป็นคดีอยู่ที่ศาลปกครอง เขาดูเอกสารเหล่านี้ ดูรายงานงบดุล บัญชี ที่บริษัทเสนอตลาดหลักทรัพย์  

ส่วนประเด็นที่มี นายก. นายข. ไปถามเป็นกระพี้ไม่ได้เป็นแก่นของเรื่อง เพราะสตอรี่มันอยู่ที่เอกสารอันรับฟังโดยหนักแน่น ไม่ได้อยู่ที่คนนั้น

ชำแหละข้อต่อสู้ \"พิธา\"ถือหุ้นสื่อไอทีวี ชี้ปม\"บันทึกการประชุม\" แค่กระพี้

  • "พิธา"อ้างพบพิรุธ มีการรายงานบัญชีงบการเงินปี 65 ต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ก่อนเลือกตั้ง 4 วัน

"มือกฎหมายรายนี้"  ชี้ว่า เป็นปกติของทุกบริษัทอยู่แล้ว เขาจะต้องประชุมใหญ่ไม่เกินสิ้นเดือนเมษายน และเขาจะต้องรายงานภายในเดือนพฤษภาคม ที่จะรายงานงบดุล งบดุลประจำปี ไม่เกี่ยวกับว่ามีเลือกตั้ง

"คุณไปมโนว่าเหมือนมีสตอรี่ บริษัทเขาก็ทำหน้าที่ เผอิญเรื่องของคุณ มันมีปัญหาเอง ไม่ได้เกี่ยวกับมีใครไปสร้างฉาก ฟื้นกิจการ  เพราะกิจการของเขาไม่ได้ตาย ไม่ได้เลิกกิจการ ถ้าเขาเลิกกิจการ และไปจดทะเบียนฟื้นกิจการก็ยังพอว่า" นายประพันธ์  ชำแหละทิ้งท้าย  

logoline