svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"ปณิธาน" เตือน ระวังเจอต้าน "ประชามติแยกดินแดน" ยิ่งทำยิ่งแตกแยก!

09 มิถุนายน 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"ปณิธาน วัฒนายากร" ส่องความเคลื่อนไหว"ประชามติแยกดินแดน" ส่งสัญญาณถึง"พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก" อดีตปลัดกลาโหม ที่มีชื่อเป็นแคนดิเดตรมต.กลาโหมในรัฐบาลชุดใหม่ น่าจะรู้ว่าอะไรเป็นอะไร

งานนี้ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ เพราะกิจกรรมที่พูดถึง "ประชามติแยกดินแดน" อย่างเปิดเผย ตรงไปตรงมา และเป็นข่าวนำเสนอผ่านสื่อกระแสหลักจนรับรู้กันทั้งประเทศ คือ กิจกรรมเปิดตัว "ขบวนการนักศึกษาแห่งชาติ" พร้อมปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ "สิทธิในการกำหนดอนาคตตนเอง (Self Determination) กับสันติภาพปาตานี" นั้น มีรองเลขาธิการพรรคเป็นธรรม ซึ่งเป็นหนึ่ง 1 ใน 8 พรรค “ว่าที่รัฐบาล” รวมอยู่ด้วย 

แบนเนอร์ การประชาสัมพันธ์ งานเปิดตัวขบวนการนักศึกษาแห่งชาติ เมื่อวันที่ 7 มิ.ย.ที่ผ่านมา

และรองเลขาธิการพรรคเป็นธรรมรายนี้ ที่ชื่อว่า "นายฮากิม พงติกอ" ก็ได้รับการเสนอชื่อจาก "นายกัณวีร์ สืบแสง" เลขาธิการพรรคเป็นธรรม ให้เป็นคณะทำงานย่อย ของคณะทำงานสนองตอบปัญหาของประชาชน เกี่ยวกับปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ 

"รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร" ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคง นักวิชาการอิสระ หัวหน้าโครงการวิจัยของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เปิดเผย"เนชั่นทีวี"ต่อประเด็นเคลื่อนไหวจัดกิจกรรม "ประชามติแยกดินแดน" หรือ Self Determination เอาไว้อย่างน่าสนใจ 

"รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร" อาจารย์ประจำภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และกรรมการในคณะผู้แทนพิเศษของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้

"อาจารย์ปณิธาน" เริ่มต้นว่า แนวทางการแก้ไขปัญหาชายแดนใต้มีบทบาทมากขึ้นจากท้องถิ่น ผมว่าเป็นเรื่องที่ดีนะ เพียงแต่ว่าอย่าไปกระตุ้นต่อมความกลัวของคน ดีกว่า ไปใช้สัญลักษณ์ ไปใช้คำพูด ไปใช้อะไรที่มันดูแล้วหวือหวาน่ากลัว ก็จะโดนต่อต้านโดยไม่จำเป็น แล้วจะไปกระตุ้นความรู้สึกกลัวของคนหลายกลุ่ม เดี๋ยวก็จะเกิดแนวร่วมต่อต้าน ความรู้สึกตอนนี้มันปั่นป่วน

"เพราะว่าเขาไปกระตุ้นคำว่า "ปาตานี" ไปกระตุ้นว่าจะยกระดับ จะไม่เอามาเลเซียมาเป็นคนกลางในกระบวนการพูดคุยสันติภาพ (ที่จะตั้งขึ้นใหม่) ก็ป่วนไปหมด"

"ปณิธาน" บอกว่าสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ทหารกองทัพภาค 4 เขาค้านแล้ว "คุณนิพัทธ์" (พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก อดีตปลัดกระทรวงกลาโหม ที่มีชื่อเป็นแคนดิเดตรัฐมนตรีกลาโหมในรัฐบาลชุดใหม่) จึงต้องออกมาเคลื่อนไหวให้เบาๆ หน่อย  

"เรื่องประชามติที่เกี่ยวข้องกับการแบ่งแยกดินแดน ยังไม่ควรทำอะไร ไม่ควรทำ มันจะแตกแยก"

แต่มติกระจายอำนาจในการสร้างอัตลักษณ์..ทำได้ แต่ต้องทำให้เหมาะสมจริงๆ ไม่ใช่ฮึกเหิมเหมือนที่ผ่านมา ที่ออกมาแต่งตัวชุดมลายู ไปออกแนวการเมืองหมด ไม่ออกแนววัฒนธรรม ออกแนวนักรบ ออกแนวที่น่ากลัวกับพวกฝ่ายที่เขาไม่เห็นด้วย แบบนี้เข้าทางทหารเลย ทหารยิ้ม บอกว่าอย่างนี้เขาต้องการผมแล้วเห็นมั้ย เขาต้องการให้เราอยู่ต่อ
     "รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร" อาจารย์ประจำภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และกรรมการในคณะผู้แทนพิเศษของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้

ผมคิดว่าจะ"พูดคุยสันติภาพ"หรือ"สันติสุข" (รัฐบาลชุดใหม่เสนอให้ใช้คำว่า "พูดคุยสันติภาพ" ไม่ใช้คำว่าพูดคุยสันติสุข เหมือนที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ใช้) ผมว่าสันติสุขลึกซึ้งกว่าสันติภาพ แต่ว่าเขาจะเอาสันติภาพที่ทำแค่การหยุดยิงแค่นั้น แต่เขาจะเอาสันติภาพแบบฝรั่ง สันติสุขฝรั่งไปไม่เป็น แต่สันติภาพเขาไปเป็น เพราะเขาเป็นเจ้าตำรับสันติภาพ

"รศ.ดร.ปณิธาน" กล่าวต่อไปว่า  การคุยสันติสุขต้องตั้งหลักให้ดี  อันนี้คือเดิมๆ ที่บอกว่าจะเปลี่ยนอุดมการณ์ แนวคิด ปรัชญาทั้งหมดในการแก้ปัญหาภาคใต้ ก็ต้องคุยให้ดีกว่านี้ แล้วทำเวิร์คช็อป เปิดกว้างเพื่อถกเถียงกันจริงๆ ว่าเราจะเปลี่ยนอุดมการณ์ จะเปลี่ยนชื่อเป็น"ปาตานี" ให้มันเห็นได้ชัดเจนว่า ไปแนวเอกราชแบ่งแยกดินแดนไหม ก็ให้มันชัดตรงนี้ไปเลย ก็คุยกันในเวิร์คช็อปนี่แหละ
    
"นักวิชาการสายความมั่นคง" ยังชี้ว่า ปัญหาสามจังหวัดจะไม่เหมือนอาเจะห์ (ของอินโดนีเซีย) อาเจะห์มีความชัดเจนในตัวเองอยู่เยอะ ในอินโดนีเซียมีความชัดเจนในการไปยึดครองเขา ใช้กำลังปราบปรามอย่างรุนแรง เป็นที่รู้กันว่าละเมิดสิทธิมนุษยชนสุดโต่งหลายแบบ ของเรามันผ่านจุดนั้นมานานแล้ว บ้านเมืองมันเริ่มมีร้านกาแฟขายของได้ ของอินโดนีเซีย กรณีติมอร์ตะวันออก (แยกตัวเป็น ติมอร์เลสเต) ก็ได้รับการสนับสนุนจากนานาชาติชัดเจน จากโปรตุเกสเจ้าของอาณานิคมเดิม จากฝรั่งจากยุโรปชัดเจนมากกว่าเราเยอะ ผ่านระบบยูเอ็นมาเยอะ แล้วมันถึงทำได้

แต่ของเรายังไม่เดินไปถึงจุดนั้น แต่พวกเราก็มีการเร่งรัด พยายามที่จะผลักดัน แต่ว่ามันยังไปไม่ถึง เพราะพื้นฐานมันคนละแบบ การยึดครองเรื่องกำลังการกดขี่ขมเหงกัน มันเป็นเรื่องของอัตลักษณ์อย่างเดียว ของเรามันมีเรื่องศาสนา มันเป็นเรื่องละเอียดอ่อนอยู่ด้วย 

ขบวนการนักศึกษาแห่งชาติ ได้มีการจัดกิจกรรมรณรงค์ประชามติแยกดินแดน ที่ม.อ.ปัตตานี เมื่อวันที่ 7 มิ.ย.66

"เรื่องประชามติแยกดินแดน" ทุกๆ ประเทศก็สามารถสงวนสิทธิ์ เพราะว่าเป็นเจ้าของอธิปไตยอยู่แล้ว ประธานาธิบดีของเขาอ่อนแอ (หมายถึงกรณีติมอร์เลสเต) ทุกวันนี้ยังตั้งหลักไม่ได้ เข้าอาเซียนก็ยากลำบาก เพราะว่าสิงคโปร์ ใครต่อใครก็ต่อต้าน เพราะอ่อนแอมาก ต้องช่วยอยู่ตลอดเวลา เขาได้รับการช่วยเหลือจากนานาชาติเยอะ ทำให้ความแปรปรวนจากการเมืองมี แต่ต้องช่วยเหลือเป็นหลัก ต้องให้ออสเตรเลียบริหารเยอะ ก็เสียประโยชน์ 
   
ของเราผมคิดว่า หนึ่ง ข้อดีเราก็น่าจะพูดคุยได้มากขึ้น เน้นสันติภาพในรูปแบบของสันติสุข คือถ้าเขายังให้บทบาทกับอาจารย์วันนอร์ (นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ) อาจารย์วันนอร์ คุณนิพัทธ์ คุณทวี (พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ และอดีตเลขาธิการ ศอ.บต.) ถ้าเขายังฟังบ้าง ผมก็ไม่รู้ว่าเขาจะฟังหรือเปล่า ผมคิดว่าเขายังให้ความเห็นจากประสบการณ์เดิมได้ โดยเฉพาะท่านนิพัทธ์ ท่านรู้เรื่องอาเจะห์ดี ท่านไปมาแล้ว ท่านอยู่ในกระทรวงกลาโหม ท่านรู้ดีว่ากระทรวงกลาโหมคิดอย่างไร จะไปข้างหน้าอย่างไร ถ้าเขาไม่ฟัง เขาจะทำตามฝูงชน อันนี้น่ากลัว 
    
"คำว่า "ปาตานี" เป็นสัญลักษณ์ของการแบ่งแยกดินแดนไปแล้ว ให้ประชาชนให้ความเห็นว่า ทิศทางในอนาคตควรจะเป็นอย่างไร เป็นรัฐอิสระหรือว่าต้องการเป็นปาตานีแบบเดิม ผมว่ามันเป็นทั้งโอกาสแล้วก็เป็นทั้งจุดเปลี่ยน ถ้าเขาสามารถที่จะต่อยอด การเดินหน้าของภาคใต้ก็ควรจะยึดโยงกับกรอบเดิมที่สำเร็จบางอย่าง ส่วนที่ไม่สำเร็จ เช่น เรายังไม่สามารถมีรอมฎอนที่สันติจริงๆ หรือวันศาสนาของพุทธสำเร็จจริงๆ ตรงนี้คือการยุติความรุนแรงจริงๆ กรอบที่เป็นไปได้ก็ทำไปก่อน แต่เขาหลีกเลี่ยงไม่พูดตรงนี้"  รศ.ดร.ปณิธาน กล่าวทิ้งท้ายไว้อย่างน่าสนใจ 

 

logoline