svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"ประชาชาติ-เป็นธรรม" โดดหนี ประชามติแยกดินแดน ระบุ รอแนวทางประชุมวันนี้

09 มิถุนายน 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"ประชาชาติ-เป็นธรรม" โดดหนี ประชามติแยกดินแดน ระบุ รอแนวทางพรรคร่วมประชุมวันนี้ ขณะที่ ดร.ปณิธาน ชี้ "ปาตานี" กระตุ้นต่อมความกลัวของคน

9 มิถุนายน 2566 การจัดงานเปิดตัว "ขบวนนักศึกษาแห่งชาติ" (Pelajar Kebangsaan) เมื่อวันที่ 7 มิ.ย.ที่ผ่านมา ที่ห้องประชุมศรีวังสา คณะรัฐศาสตร์ มอ.ปัตตานี โดยภายในงานได้มีการกล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ "การกำหนดอนาคตตนเอง (Self Determination) กับสันติภาพปาตานี" รวมทั้งได้มีการจัดพิมพ์บัตร เพื่อร่วมแสดงความเห็นผ่านสื่อโซเชียล ในประเด็น ให้ประชาชนปาตานี สามารถออกเสียงประชามติ แยกตัวเป็นเอกราชได้อย่างถูกกฎหมาย

ทันทีหลังการจัดงาน กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ( กอ.รมน.ภาค 4 สน.)ได้เข้าทำการตรวจสอบการจัดงานดังกล่าว โดยมีการออกเอกสารข่าว ว่าเจ้าหน้าที่อยู่ระหว่างการรวบรวมพยานหลักฐานและตรวจสอบพฤติกรรมของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกิจกรรมในครั้งนี้ เพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ที่ได้กำหนดไว้ตามความเหมาะสมต่อไป

ร้อนระอุขึ้นมาฉับพลัน เมื่อคำว่า "ประชามติแยกดินแดน" แสดงออกมาอย่างเปิดเผย ตรงไปตรงมา และเป็นข่าวสื่อกระแสหลัก จนรับรู้กันทั้งประเทศ กับ กิจกรรมเปิดตัว "ขบวนการนักศึกษาแห่งชาติ" พร้อมปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “สิทธิในการกำหนดอนาคตตนเอง (Self Determination) กับสันติภาพปาตานี” ซึ่งมี นายฮากิม พงติกอ รองเลขาธิการพรรคเป็นธรรม ซึ่งเป็นหนึ่ง 1 ใน 8 พรรค “ว่าที่รัฐบาล” รวมอยู่ด้วย และเป็นคนที่ นายกัณวีร์ สืบแสง เลขาธิการพรรคเป็นธรรม เสนอให้เป็นคณะทำงานย่อย ของคณะทำงานสนองตอบปัญหาของประชาชน เกี่ยวกับปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้

"ประชาชาติ-เป็นธรรม" โดดหนี ประชามติแยกดินแดน ระบุ รอแนวทางประชุมวันนี้

นายกัณวีร์ กล่าวในรายการ "คมชัดลึก" ทาง "เนชั่นทีวี" วานนี้ (8 มิ.ย.) ถึงกรณี นายฮากิม พงติกอ ไปร่วมกิจกรรมเปิดตัว "ขบวนนักศึกษาแห่งชาติ" และร่วมปาฐกถาบนเวทีเสวนา หัวข้อ "การกำหนดอนาคตตนเอง (Self Determination) กับสันติภาพปาตานี" และมีการพูดหลายครั้ง ในทำนองสนับสนุนให้มีการทำประชามติแยกดินแดน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอของ จ.สงขลา ออกจากประเทศไทย เพื่อเป็นรัฐเอกราชว่า

ปัญหาคือสิทธิเสรีภาพของประชาชนถูกปิดกั้น แต่ตอนนี้เห็นแสงสว่างที่จะมีประชาธิปไตย จึงมีการเปิดโอกาส “เรื่องสิทธิการแสดงออกเราจำเป็นต้องให้ แต่ผมว่ายังเร็วไปหน่อย ต้องฟอร์มรัฐบาลก่อน มันจะมีกรอบการสร้างสันติภาพ แต่เมื่อวานนี้ที่มีเวิร์คชอร์ปเร็วไปหน่อย”

ผู้ดำเนินรายการถามว่า ส่วนตัวคุณกัณวีร์ ไม่เห็นด้วยกับการเสนอแบบนี้ในช่วงเวลานี้

นายกัณวีร์ ชี้แจงว่า ใช่ครับ จำเป็นต้องพูดคุย ต้องดูคณะทำงานวันนี้ ( 9 มิ.ย.) จะมีการประชุมเกี่ยวกับปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ว่าที่รัฐบาลชุดใหม่ จะวางตุ๊กตาปัญหา แล้วจะมีนโยบายสอดรับอย่างไร ให้ประชาชนมีเสรีภาพในการแสดงออก ส่วนการแสดงออกเมื่อวันที่ 7 มิ.ย. เป็นเรื่องปัจเจก ที่รองเลขาธิการพรรคไปร่วมกิจกรรม ในนามส่วนตัว ว่าอยากพูดเรื่องนี้ คงต้องบอกว่า สิ่งที่ทำไปไม่ใช่สิ่งที่พรรคร่วมรัฐบาลเห็นด้วย

กัณวีร์ สืบแสง ให้สัมภาษณ์ในรายการ "คมชัดลึก" ทาง "เนชั่นทีวี"

ผู้ดำเนินรายการถามว่า พรรคเป็นธรรมสนับสนุนให้สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ปกครองตนเองภายใต้รัฐธรรมนูญ ยืนยันตรงนี้ได้หรือไม่ว่า นโยบายจะไม่ไปไกลถึงขึ้นทำประชามติแบ่งแยกดินแดน

นายกัณวีร์ กล่าวว่า จริงๆ แล้วเรามีการเสนอกระบวนสร้างสันติภาพยั่งยืน 3 ขา ขาแรก คือ ยกระดับเป็นวาระแห่งชาติ ขาที่ 2 สิทธิเสรีภาพการแสดงออก และขาที่ 3 ปฏิรูประบบโครงสร้างราชการ

“จริงๆ มันอยู่ตรงที่สิทธิเสรีภาพแสดงออกมากกว่า ไม่ได้อยู่ตรงที่ว่า ต้องการเห็นประชามติแยกดินแดน ถ้าตราบใดรัฐบาลยังปิดกั้น จะไม่สามารถสร้างเสรีภาพได้เลย การพูดคุยประชามติเป็นผลระยะยาว ถ้าคนพื้นที่มีความประสงค์ด้านไหน ต้องให้พูดคุยในกรอบรัฐสภา ภายใต้รัฐธรรมนูญไทย ในตัวรัฐธรรมนูญ 3 ฉบับ พูดเรื่องปกครองตนเอง ให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯโดยตรง ถ้าประชาชนมีความประสงค์ที่จะพูดคุยว่า จะปกครองตนเองแนวทางไหน ต้องไม่ไปพูดคุยข้างนอก ต้องไปอยู่ในสภาฯให้ได้”

ทั้งนี้มีรายงานว่าหลังจาก นายกัณวียร์ ให้สัมภาษณ์เรื่องดังกล่าวในรายการ "คมชัดลึก" ทาง "เนชั่นทีวี" ก่อให้เกิดกระแสวิจารณ์อย่างกว้างขวางในกลุ่มคนที่สนับสนุนเรื่องประชามติแยกดินแดน และบางคนประกาศจะไม่ให้การสนับสนุนพรรคเป็นธรรมอีกต่อไป

วรวิทย์ บารู ว่าที่ส.ส.ปัตตานี และรองหัวหน้าพรรคประชาชาติ

ขณะที่นายวรวิทย์ บารู ว่าที่ส.ส.ปัตตานี และรองหัวหน้าพรรคประชาชาติ อดีตเป็นอาจารย์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์และอดีต ส.ว.ปัตตานี ซึ่งเป็น 1 ในผู้ที่เข้าร่วมงานดังกล่าวด้วย ชี้แจงว่า ทางผู้จัดงานมีการทำหนังสือถึงพรรคประชาชาติ เพื่อขอให้ส่งตัวแทนไปร่วมงาน ทางพรรคจึงมอบให้ตนไป แต่ได้เข้าร่วมงานช่วงบ่าย แต่งานจัดตั้งแต่เช้าแล้ว เมื่องานจบก็เดินทางกลับตอนเย็น ไม่ทราบเลยว่าตอนเช้า มีการจัดทำประชามติจำลอง มารู้เรื่องนี้เมื่อเป็นข่าวในเช้าวันที่ 8 มิ.ย. ยืนยันว่าไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ดังกล่าว ซึ่งจากการไปร่วมงาน ผู้ที่มาร่วมงานส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ ที่อยู่ในห้องก็มีไม่เกินร้อยคน และคนภายนอก ก็น่าไม่เกินสามสิบคน เรียกได้ว่าคนน้อย

ตนไปพูดในช่วงบ่าย ก็พูดตามหลักวิชาการ ตามหัวข้อ Self Determination การกำหนดอนาคตตัวเอง ตนก็พูดไปตามหลักวิชาการ ก็ไม่รู้ว่าคนที่จัดงานมีเจตนาอย่างไร แต่ทราบว่าตอนนี้ทางมอ.ปัตตานี คณะรัฐศาสตร์ ก็วุ่นวายพอสมควรหลังมีข่าวออกไป มีการเรียกประชุมกัน แต่ก็ไม่รู้ว่าฝ่ายความมั่นคงเขาจะว่าอย่างไร

ผู้สื่อข่าวถามว่า มองการเคลื่อนไหวในครั้งนี้ ที่จะให้ปัตตานีแยกตัวเป็นเอกราชอย่างไร และทางพรรคมีจุดยืนอย่างไรต่อเรื่องนี้ นายวรวิทย์ ว่าที่ส.ส.ปัตตานี กล่าวว่า ประเด็นดังกล่าว มันไกลเกินไป ตนก็กล่าวในงานว่า การกำหนดอนาคตตัวเอง ก็เป็นกระบวนการสันติวิธี แต่มันไม่ใช่ว่าจะทำได้ง่าย เพราะจากข้างนอกมันแทบไม่มีเลยสำหรับประเทศไทย มันไม่เหมือนกรณีของติมอร์ เพราะประเทศไทยไม่ใช่อย่างนั้น ตนว่าพลังมันไม่มาก ส่วนช่วงเช้าตนไม่ได้ไป ก็ไม่รู้ แต่ตอนบ่ายที่ไป คนน้อยมาก มองว่าเป็นความพยายามของคนกลุ่มหนึ่ง พูดง่ายๆก็ไปบวกกับทางฝ่ายพรรคเป็นธรรม

“เขากำลังได้ที่อยู่ ที่มางาน คนหนึ่งเป็นรองเลขาธิการพรรคเป็นธรรม แล้วก็มีกลุ่มของพวกนี้ที่เป็นมาแต่ดั้งเดิม ก็มีเชื้อมา ตนว่าฝ่ายความมั่นคงเขาก็จับทางได้ ไม่ใช่ว่าข้อมูลเขาไม่มี เขามีแน่ แต่บางทีเราก็ตื่นตระหนก”

รองหัวหน้าพรรคประชาชาติ กล่าวต่อ เรื่องนี้ยังห่างไกล ประชาชนก็ไม่พร้อมที่จะไปถึงจุดนั้น คือสังคมชายแดนใต้ จะมีกลุ่มแบบนี้ กลุ่มบวกกับการเมือง ที่มีแนวทางแบบนี้ แต่พรรคประชาชาติ ไม่ใช่แบบนี้ เราก็บอกไม่ได้ว่าเขาจะเล่นอย่างไร เราก็ไม่รู้ เพราะวันนี้เขาอาจกำลังรู้สึกว่าได้ใจ ส่วนประชาชาติ ไม่ได้เป็นหรือไปทางนั้นอยู่แล้ว พรรคเป็นการเมืองที่เป็นปกติ เช่นที่เราเสนอนโยบายกระจายอำนาจ ที่อยู่ภายใต้กรอบของกกต. อย่างมากสุด ก็จังหวัดปกครองตนเอง ก็แค่นั้น ส่วนจะให้แยกออกมา คงไม่ใช่

รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร กรรมการในคณะผู้แทนพิเศษของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้

ด้าน รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคง นักวิชาการอิสระ หัวหน้าโครงการวิจัยของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ให้สัมภาษณ์กับ "เนชั่นทีวี" เรื่อง "ประชามติแยกดินแดน" หรือ Self Determination เอาไว้อย่างน่าสนใจ ว่า

แนวโน้มที่แนวทางการแก้ไขปัญหาชายแดนใต้ มีบทบาทมากขึ้นจากท้องถิ่น ตนว่าเป็นเรื่องที่ดี เพียงแต่อย่าไปกระตุ้นต่อมความกลัวของคนดีกว่า ไปใช้สัญลักษณ์ ไปใช้คำพูด ไปใช้อะไรที่มันดูแล้วหวือหวาน่ากลัว ก็จะโดนต่อต้านโดยไม่จำเป็น แล้วก็จะไปกระตุ้นความรู้สึกกลัวของคนหลายกลุ่ม เดี๋ยวก็จะเกิดแนวร่วมต่อต้าน

ความรู้สึกตอนนี้มันปั่นป่วน เพราะว่าเขาไปกระตุ้นคำว่า "ปาตานี" ว่าจะยกระดับ จะไม่เอามาเลเซียมาเป็นคนกลางในกระบวนการพูดคุยสันติภาพ (ที่จะตั้งขึ้นใหม่) ก็ป่วนไปหมด คิดว่าสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ทหารกองทัพภาค 4 เขาค้านแล้ว คุณนิพัทธ์ (พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก อดีตปลัดกระทรวงกลาโหม ที่มีชื่อเป็นแคนดิเดตรัฐมนตรีกลาโหมในรัฐบาลชุดใหม่) จึงต้องออกมาเคลื่อนไหวให้เบาๆ ลง 

เรื่องประชามติที่เกี่ยวข้องกับการแบ่งแยกดินแดน ยังไม่ควรทำอะไร มันจะแตกแยก แต่มติกระจายอำนาจในการสร้างอัตลักษณ์ทำได้ แต่ต้องทำให้เหมาะสมจริงๆ ไม่ใช่ฮึกเหิมเหมือนที่ผ่านมา ที่ออกมาแต่งตัวชุดมลายู ซึ่งออกไปแนวการเมืองหมด มันไม่ออกแนววัฒนธรรม ออกแนวนักรบ ออกแนวที่น่ากลัวกับพวกฝ่ายที่เขาไม่เห็นด้วย แบบนี้เข้าทางทหารเลย ทหารยิ้ม "บอกอย่างนี้เขาต้องการผมแล้วเห็นมั้ย เขาต้องการให้เราอยู่ต่อ"

ตนคิดว่าจะพูดคุยสันติภาพหรือสันติสุข (รัฐบาลชุดใหม่เสนอให้ใช้คำว่า สันติภาพ ไม่ใช้คำว่าสันติสุข เหมือนที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ใช้) ตนว่าสันติสุขลึกซึ้งกว่าสันติภาพ แต่ว่าเขาจะเอาสันติภาพที่ทำแค่การหยุดยิงแค่นั้น จะเอาสันติภาพแบบฝรั่ง สันติสุขฝรั่งไปไม่เป็น แต่สันติภาพเขาไปเป็น เพราะเขาเป็นเจ้าตำรับสันติภาพ

การคุยสันติสุขต้องตั้งหลักให้ดี อันนี้คือเดิมๆ ที่บอกว่าจะเปลี่ยนอุดมการณ์ แนวคิด ปรัชญาทั้งหมดในการแก้ปัญหาภาคใต้ ก็ต้องคุยให้ดีกว่านี้ แล้วทำเวิร์คช็อป เปิดกว้างเพื่อถกเถียงกันจริงๆ ว่าเราจะเปลี่ยนอุดมการณ์ จะเปลี่ยนชื่อเป็น "ปาตานี" ให้มันเห็นได้ชัดเจนว่า ไปแนวเอกราชแบ่งแยกดินแดนไหม ก็ให้มันชัดตรงนี้ไปเลย ก็คุยกันในเวิร์คช็อป

ปัญหาสามจังหวัดไม่เหมือนอาเจะห์ (ของอินโดนีเซีย) ซึ่งอาเจะห์มีความชัดเจนในตัวเองอยู่มาก ในอินโดนีเซียมีความชัดเจนในการไปยึดครองเขา ใช้กำลังปราบปรามอย่างรุนแรง เป็นที่รู้กันว่าละเมิดสิทธิมนุษยชนสุดโต่งหลายแบบ ของเรามันผ่านจุดนั้นมานานแล้ว บ้านเมืองมันเริ่มมีร้านกาแฟขายของได้ ของอินโดนิเซีย กรณีติมอร์ตะวันออก (แยกตัวเป็น ติมอร์เลสเต) ก็ได้รับการสนับสนุนจากนานาชาติชัดเจน จากโปรตุเกสเจ้าของอาณานิคมเดิม จากฝรั่งจากยุโรปชัดเจนมากกว่าเรามาก ผ่านระบบยูเอ็นมาแล้วถึงทำได้

แต่ของเรายังไม่เดินไปถึงจุดนั้น แต่พวกเราก็มีการเร่งรัด พยายามที่จะผลักดัน แต่ว่ายังไปไม่ถึง เพราะพื้นฐานคนละแบบ การยึดครองเรื่องกำลังการกดขี่ข่มเหงกัน เป็นเรื่องของอัตลักษณ์อย่างเดียว ของเรามีเรื่องศาสนา ซึ่งเป็นเรื่องละเอียดอ่อนอยู่ด้วย

เรื่องประชามติแยกดินแดน ทุกๆ ประเทศสามารถสงวนสิทธิ์ เพราะว่าเป็นเจ้าของอธิปไตยอยู่แล้ว ประธานาธิบดีของเขาอ่อนแอ (กรณีติมอร์เลสเต) ทุกวันนี้ยังตั้งหลักไม่ได้ เข้าอาเซียนก็ยากลำบาก สิงคโปร์ และใครต่อใครก็ต่อต้าน เพราะอ่อนแอมาก ต้องช่วยอยู่ตลอดเวลา เขาได้รับการช่วยเหลือจากนานาชาติมาก ทำให้ความแปรปรวนจากการเมือง มีแต่ต้องช่วยเหลือเป็นหลัก ต้องให้ออสเตรเลียบริหาร ก็เสียประโยชน์

ของเราตนคิดว่า ข้อดีก็น่าจะพูดคุยได้มากขึ้น เน้นสันติภาพในรูปแบบของสันติสุข คือถ้าเขายังให้บทบาทกับอาจารย์วันนอร์ (นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ) คุณนิพัทธ์, คุณทวี (พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ และอดีตเลขาธิการ ศอ.บต.) ถ้าเขายังฟังบ้าง ตนก็ไม่รู้ว่าเขาจะฟังหรือเปล่า แต่คิดว่าเขายังให้ความเห็นจากประสบการณ์เดิมได้ โดยเฉพาะคุณนิพัทธ์ ท่านรู้เรื่องอาเจะห์ดี ท่านไปมาแล้ว ตอนอยู่กระทรวงกลาโหม ท่านรู้ดีว่ากระทรวงกลาโหมคิดอย่างไร จะไปข้างหน้าอย่างไร ถ้าเขาไม่ฟัง เขาจะทำตามฝูงชน อันนี้น่ากลัว

คำว่า"ปาตานี" มันเป็นสัญลักษณ์ของการแบ่งแยกดินแดนไปแล้ว ให้ประชาชนให้ความเห็นว่า ทิศทางในอนาคตควรจะเป็นอย่างไร เป็นรัฐอิสระหรือว่าต้องการเป็นปาตานีแบบเดิม ตนว่ามันเป็นทั้งโอกาสและก็เป็นจุดเปลี่ยน ถ้าเขาสามารถที่จะต่อยอด การเดินหน้าของภาคใต้ก็ควรจะยึดโยงกับกรอบเดิมที่สำเร็จบางอย่าง ส่วนที่ไม่สำเร็จ เช่น เรายังไม่สามารถมีรอมฎอนที่สันติจริงๆ หรือวันศาสนาของพุทธที่สำเร็จจริงๆ ตรงนี้คือการยุติความรุนแรงจริงๆ กรอบที่เป็นไปได้ก็ทำไปก่อน แต่เขาหลีกเลี่ยงที่จะไม่พูดตรงนี้

logoline