svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

ถอดบทเรียน ความพ่ายแพ้ของ “พรรคเพื่อไทย” และชัยชนะของ “เสรีนิยม”

19 พฤษภาคม 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

แม้การเลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นความพ่ายแพ้ของ “พรรคเพื่อไทย” ที่ไม่สามารถมาเป็นอันดับ 1 และได้คะแนนเสียงต่ำกว่าเป้าเป็นอย่างมาก แต่ก็ถือว่าเป็น “ชัยชนะที่งดงาม” ของฟากฝั่งเสรีนิยม ที่ได้พิสูจน์ให้เป็นที่ประจักษ์แล้วว่า “ประชาชนต้องการความเปลี่ยนแปลง”

การจัดตั้งรัฐบาลของฟากฝั่ง “เสรีนิยม” ที่ล่าสุดประกาศแท็กทีมกัน 8 พรรค ยังคงเดินหน้าต่อไป ท่ามกลางการเรียกร้องให้เหล่า ส.ว. แสดงสปิริต หนุนให้ “พิธา” แคนดิเดตฯ จาก “พรรคก้าวไกล” ที่ชนะการเลือกตั้ง เป็นนายกฯ ซึ่งก็ต้องลุ้นกันต่อไปว่า นายกฯ คนใหม่จะชื่อ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หรือไม่

โดยการเลือกตั้งครั้งนี้ ถือว่าเป็นชัยชนะของฝ่ายค้านเดิม หรือ “เสรีนิยม” อย่างแท้จริง ที่คะแนนทิ้งห่างฝั่งรัฐบาลเดิม หรือ “อนุรักษ์นิยม” เป็นอย่างมาก แต่ในชัยชนะดังกล่าว ก็มีรอยร้าวเล็กๆ ซ่อนอยู่

แม้แกนนำ “พรรคเพื่อไทย” พยายามเก็บอาการ แต่ “พี่โทนี่ - ทักษิณ ชินวัตร” กลับเก็บทรงไม่อยู่ หลุดคำพูดที่แสดงให้เห็นถึงความขัดข้องหมองใจที่มีต่อ “พรรคก้าวไกล” หลายต่อหลายช็อต ในรายการของ “Care คิดเคลื่อนไทย” เมื่อคืนวันที่ 16 พฤษภาคม ที่ผ่านมา  

โดยเฉพาะประเด็นที่ว่า การปั่นกระแสข่าวดีลลับระหว่าง “พรรคเพื่อไทย” กับ “พรรคพลังประชารัฐ” ที่จะร่วมรัฐบาลกันหลังการเลือกตั้ง ไม่ได้มาจากพรรคต่างขั้ว แต่มาจาก IO (ไอโอ) ของ “พรรคก้าวไกล” ซึ่ง Nation Online ขอถอดบทเรียนความพ่ายแพ้ ของ “ทักษิณ ชินวัตร” เอ้ย “พรรคเพื่อไทย” ดังต่อไปนี้

ถอดบทเรียน ความพ่ายแพ้ของ “พรรคเพื่อไทย” และชัยชนะของ “เสรีนิยม”

“เพื่อไทย” โฟกัสไปที่ “การจัดตั้งรัฐบาล” มากกว่า “การเลือกตั้ง” 

ด้วยเกมเลือกตั้งที่ผ่านมา “พรรคเพื่อไทย” (พรรคไทยรักไทย , พรรคพลังประชาชน) ชนะติดต่อกันมาทุกสมัย แต่สำหรับเกมการจัดรัฐบาลภายใต้รัฐธรรมนูญ ฉบับปัจจุบัน “พรรคเพื่อไทย” เคยพลาดท่าพ่ายแพ้ให้กับ “พรรคพลังประชารัฐ” ในปี 2562 ฉะนั้นการเลือกตั้งปี 2566 ทีมยุทธศาสตร์ของพรรคจึงได้มีการวางกลยุทธ์แบบยิงยาวจากการเลือกตั้ง ไปจนถึงการจัดตั้งรัฐบาลกันเลยทีเดียว 

ซึ่งก่อนการเลือกตั้งก็ต้องยอมรับว่า เมื่อวิเคราะห์ศักยภาพของแต่ละพรรคแล้ว ปฏิเสธไม่ได้ว่า “พรรคเพื่อไทย” มีความพร้อมมากที่สุดในระดับที่ทุกคนเชื่อว่า จะได้คะแนนเสียงเป็นอันดับ 1 และมากกว่าพรรคอื่นๆ แบบทิ้งห่าง

แต่ “พรรคเพื่อไทย” ประเมินว่า แค่ชนะเลือกตั้งแบบทิ้งห่างยังไม่พอ จะต้องแลนด์สไลด์ด้วย อย่างน้อยๆ ต้องได้ 250 เสียง เพื่อสร้างความชอบธรรมในการเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล และกดดัน 250 ส.ว. ไม่ให้ฝืนมติประชาชน แต่ในขณะเดียวกัน ก็คิดเผื่อไว้ในกรณีที่ไม่แลนด์สไลด์ จะเดินเกมอย่างไร เพื่อไม่ให้พ่ายแพ้ในการจัดตั้งรัฐบาลอีก

ก่อนและช่วงต้นๆ การเลือกตั้งครั้งนี้ “พรรคเพื่อไทย” จึงไม่ได้มองว่า ตัวเองกำลังแข่งขันกับ “พรรคใด” แต่เป็นการแข่งกับตัวเอง โดยชัยชนะในการเลือกตั้ง ก็คือการแลนด์สไลด์ นั่นเอง

ดังนั้นแล้วในช่วงแรกๆ ของการเลือกตั้ง ไม่ว่าดีลลับระหว่าง “พรรคเพื่อไทย” กับ “พรรคพลังประชารัฐ” จะมีจริงหรือไม่ และแม้ว่าทางพรรคจะปฏิเสธเสียงแข็ง แต่ก็ไม่กล้าให้สัญญาประชาคมอย่างหนักแน่นว่า จะไม่ร่วมรัฐบาลกับ “พลังประชารัฐ” จึงสร้างความคลางแคลงใจให้กับประชาชนในกลุ่มเสรีนิยมเรื่อยมา  

ซึ่งสาเหตุที่ทางพรรคไม่ยอมให้คำตอบชัดๆ ว่า “จะไม่ร่วมรัฐบาลกับพลังประชารัฐ” หากคิดในเชิงยุทธวิธี มองโลกใบนี้แบบสีอมชมพู ก็อาจไม่ได้มีเบื้องลึกเบื้องหลังหรือดีลลับใดๆ เพียงแต่ “เพื่อไทย” คิดว่า ยังไงก็ชนะเลือกตั้งอยู่แล้ว จึงไม่มีความจำเป็นที่ต้องให้คำมั่นสัญญาแบบผูกมัดตัวเอง  

และถึงแม้จะมีการประเมินว่า “พรรคพลังประชารัฐ” จะได้ ส.ส. ในการเลือกตั้งครั้งนี้ไม่มากนัก แต่อย่าลืมว่า “บิ๊กป้อม” เป็นผู้กว้างขวาง มีคอนเนคชั่นกับเหล่า ส.ว. จำนวนมาก ในระดับที่ว่ากันว่า มีเครือข่าย หรือสายของ ส.ว. ที่ขึ้นตรงกับตัวเอง ดังนั้นการสงวนท่าทีไม่ประกาศออกไปอย่างชัดเจนว่า จะไม่ร่วมรัฐบาลกับ “พลังประชารัฐ” น่าจะเป็นการเพลย์เซฟที่สุด หากมีความจำเป็นต้องใช้บริการ “พลังประชารัฐ” จะได้ไม่ถูกถล่มยับว่า ผิดสัจจะที่ให้ไว้กับประชาชน

“พรรคเพื่อไทย” จึงเดินเกมแบบเหยียบคันเร่งต้องแลนด์สไลด์ ประกาศทุกเวทีปราศรัย ไม่มีพรรคพี่ พรรคน้อง ขอให้เลือก “พรรคเพื่อไทย” เท่านั้น อีกทั้งยังขยับเป้าไปเรื่อยๆ จาก 250 เป็น 310 กระทั่งถึง 376 อย่างไม่เห็นหัว “พรรคแนวร่วมอื่นๆ” เพราะยิ่ง “พรรคเพื่อไทย” แลนด์สไลด์มากเท่านั้น ก็มีแนวโน้มว่า ทั้ง “ก้าวไกล” , “ไทยสร้างไทย” ฯลฯ ก็จะได้ ส.ส. ลดน้อยลงไปด้วย อันเนื่องมาจากมีฐานเสียงเดียวกัน

และจากความช่ำชองในการเลือกตั้ง ทำให้ “พรรคเพื่อไทย” เข้าใจอย่างถ่องแท้ว่าหัวใจสำคัญขอบชัยชนะอยู่ที่ “บ้านใหญ่” , “นโยบาย” และ “แคนดิเดตนายกฯ” ซึ่งในการเลือกตั้งครั้งนี้ต้องถือว่า ทางพรรคมีครบถ้วนทุกองค์ประกอบ

แต่ “พรรคเพื่อไทย” กลับละเลยในรายละเอียดที่แสดงให้เห็นถึงความจริงใจกับประชาชน อาทิเช่น การไม่ให้แคนดิเดตนายกฯ ลงสมัคร ส.ส. ปาร์ตี้ลิสต์ ทั้งๆ ที่เมื่อปลายปีที่แล้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทยได้ยื่นขอแก้รัฐธรรมนูญ ให้นายกฯ ต้องมาจาก ส.ส.

หรือการไม่ให้แคนดิเดตนายกฯ ไปร่วมประชันวิสัยทัศน์ในทุกเวทีดีเบต เพื่อป้องกันไม่ให้ถูกเหล่านักการเมืองอาชีพรุมขย้ำจนบอบช้ำ จึงก่อให้เกิดคำถามตามมาว่า “แคนดิเดตฯ ของพรรคเพื่อไทย พร้อมจริงๆ หรือ ที่จะเป็นนายกฯ ?”  

ซึ่งแนวทางต่างๆ ที่ดำเนินในช่วงต้นๆ ของศึกการเลือกตั้ง เหมือน “พรรคเพื่อไทย” วางตำแหน่งตัวเองเป็น “ผู้กำหนดเกม” แล้วให้พรรคอื่นๆ เดินตาม แต่เมื่อเกิด “สถานการณ์ที่คาดไม่ถึง” ช่วงโค้งสุดท้ายก่อนถึงวันหย่อนบัตร ก็ได้สร้างความปั่นป่วนให้กับ “พรรคเพื่อไทย” อย่างมหาศาล   

ถอดบทเรียน ความพ่ายแพ้ของ “พรรคเพื่อไทย” และชัยชนะของ “เสรีนิยม”

“ก้าวไกล” ไม่ยอมเดินตามเกม แต่พลิกตัวเองเป็น “ผู้กำหนดเกม”

ไม่ว่าดีลลับระหว่าง “พรรคเพื่อไทย” กับ “พลังประชารัฐ” จะมีจริงหรือไม่ แต่จากการประเมินอารมณ์ความรู้สึกของผู้คนในสังคมผิดพลาด ทำให้ “พรรคเพื่อไทย” ต้องอยู่ในสถานการณ์ “ตกที่นั่งลำบาก” ในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนวันเลือกตั้ง

เมื่อ “พรรคก้าวไกล” พลิกตัวเองเป็น “ผู้กำหนดเกม” ด้วยการประกาศซ้ำๆ ย้ำจุดยืน “มีลุงไม่มีเรา มีเราไม่มีลุง” และหาก “พรรคพลังประชารัฐ” ได้เข้าร่วมรัฐบาลที่ “พรรคเพื่อไทย” เป็นแกนนำ “พรรคก้าวไกล” ก็ยอมเป็นฝ่ายค้าน แต่ไม่ยอมทรยศประชาชน  

และจากความชัดเจนแบบได้ใจประชาชนนี่แหละ ที่ประกาศเช้าประกาศเย็น ประกาศทุกเวทีปราศรัยและเวทีดีเบต ทำให้คะแนนนิยมของ “พรรคก้าวไกล” พุ่งกระฉูดขึ้นเรื่อยๆ จนช่วงท้ายๆ ก่อนการเลือกตั้ง เรตติ้งความนิยมของ “พรรคก้าวไกล” และ “พิธา” ในหลายๆ สำนักโพล ก็แซงหน้า “พรรคเพื่อไทย” และ “อุ๊งอิ๊งค์” กลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ ที่ทำให้ “พรรคเพื่อไทย” เริ่มตระหนักแล้วว่า คู่แข่งของพรรคในการเลือกตั้งครั้งนี้ ก็คือ “พรรคก้าวไกล” นั่นเอง

ซึ่งจะด้วยความตั้งใจหรือไม่ก็ตาม แต่ความชัดเจนของ “พรรคก้าวไกล” ได้กลับกลายเป็นการวางหมากที่บีบให้ “พรรคเพื่อไทย” ต้องเดินตามเกม ด้วยการให้แคนดิเดตนายกฯ ของพรรค ทั้ง “อุ๊งอิ๊งค์” และ “เศรษฐา ทวีสิน” ประกาศออกมาอย่างหนักแน่นว่า จะไม่ร่วมรัฐบาลกับ “พรรคพลังประชารัฐ” อย่างเด็ดขาด แต่มันก็สายเกินไป เพราะเลยช่วงเวลาที่เหมาะสมมาแล้ว

และที่สำคัญมันทำให้สังคมรู้สึกว่า “พรรคเพื่อไทย” ทำได้ทุกอย่างเพื่อชัยชนะในเลือกตั้ง ให้ความสำคัญกับการได้เป็นรัฐบาล มากกว่าอุดมการณ์ประชาธิปไตย  

ถอดบทเรียน ความพ่ายแพ้ของ “พรรคเพื่อไทย” และชัยชนะของ “เสรีนิยม”

ทักษิณประกาศจะกลับบ้าน ในจังหวะนรก

หลังจาก “พรรคเพื่อไทย” ตกอยู่สถานการณ์เสียศูนย์ ถูกมองว่า “ไม่ชัดเจน” จนเสียเหลี่ยมทางการเมือง ต้องเดินตามเกม “พรรคก้าวไกล” อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง แต่ก็ยังเกิดเหตุการณ์ผิดซ้ำผิดซากในช่วงเวลาสำคัญ ก่อนวันเลือกตั้งไม่ถึงหนึ่งสัปดาห์ นั่นก็การประกาศกลับบ้านของ “ทักษิณ ชินวัตร”

แม้การประกาศครั้งหลังสุดนี้ “ทักษิณ” อ้างว่า จะกลับบ้านมาเลี้ยงหลาน และยินยอมเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมาย แต่ต้องถือว่าเป็น “จังหวะนรก” เพราะไม่ได้ก่อให้เกิดปฏิกิริยาเชิงบวกกับพรรคเลย  

โดยทั้งนี้ต้องยอมรับว่า มีคนจำนวนไม่น้อยที่ชื่นชอบนโยบายของ “พรรคเพื่อไทย” แต่ไม่ปลื้มกับการที่ “ทักษิณ” มักนำเรื่องการกลับบ้านมาใช้ซ้ำๆ จนถูกมองว่าเป็นการเล่นเกมทางการเมือง เมื่อบวกรวมกับความไม่ชัดเจนก่อนหน้านี้ว่า “จะร่วมรัฐบาลกับพลังประชารัฐ หรือไม่” ก็ทำให้หลายคนรู้สึกเอือมระอา และสงสัยว่า “ทักษิณ” เคยสรุปบทเรียนในอดีตบ้างไหม ว่าความอยากกลับบ้านของเขาในจังหวะนรก เคยทำให้ “รัฐบาลยิ่งลักษณ์” พังมาแล้ว

ถอดบทเรียน ความพ่ายแพ้ของ “พรรคเพื่อไทย” และชัยชนะของ “เสรีนิยม”

ถึงกระนั้นก็ตามที การเลือกตั้งครั้งนี้ แม้จะเป็นความพ่ายแพ้ของ “พรรคเพื่อไทย” ที่ไม่สามารถมาเป็นอันดับ 1 และได้คะแนนเสียงต่ำกว่าเป้าเป็นอย่างมาก แต่ก็ถือว่าเป็น “ชัยชนะที่งดงาม” ของฟากฝั่งเสรีนิยม ที่ได้พิสูจน์ให้เป็นที่ประจักษ์แล้วว่า “ประชาชนต้องการความเปลี่ยนแปลง”

ส่วน “พรรคเพื่อไทย” เอาเข้าจริงๆ ก็ยังไม่หมดหวังในการเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล เป็นเกมซ้อนเกมในขั้วเสรีนิยมด้วยกันเอง ซึ่งก็ติดตามกันต่อไปว่า สุดท้ายแล้ว “พรรคเพื่อไทย” หรือ “พรรคก้าวไกล” จะเป็นผู้ชนะอย่างเด็ดขาดในหมากเกมนี้  

ถอดบทเรียน ความพ่ายแพ้ของ “พรรคเพื่อไทย” และชัยชนะของ “เสรีนิยม”

ถอดบทเรียน ความพ่ายแพ้ของ “พรรคเพื่อไทย” และชัยชนะของ “เสรีนิยม”

logoline