svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"ลุงป้อม" ตัวแปรการเมือง ปัจจัยชี้ขาดความไม่ลงตัวตั้งรัฐบาลหลังเลือกตั้ง

08 พฤษภาคม 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

แม้"เพื่อไทย" หรือ "ก้าวไกล"ประกาศกร้าว รัฐบาลหน้าไม่มีสองลุง ทว่า กูรูการเมือง ชี้หากขาด"ลุงป้อม" รัฐบาลใหม่อาจไม่ได้เเจ้งเกิด ทำไมขาด"ลุงป้อม"ไม่ได้ ติดตามใน โพลิทิกส์พลัส โดย"เมฆาในวายุ"

แม้ผลโพลหลากสำนักชี้ว่า กระแสของ"พรรคเพื่อไทย"และ"ก้าวไกล"มาแรงมีโอกาสไต่ระดับเป็นพรรคอันดับหนึ่งและอันดับสองที่จะมี ส.ส.สูงสุด พร้อมกับมีแผนขั้นต่อไปต้องการปิดสวิทช์ 250 ส.ว. มิให้แทรกแซงการเลือก"นายกรัฐมนตรี"

ทว่า ความพยายามที่จะปิดเส้นทางส.ว.ไม่ให้ยกมือโหวต"นายกฯ"ดูไม่ใช่เรื่องง่าย เพียงแค่สองพรรคออกมาประกาศทุกสามเวลาหลังอาหารย้ำแล้วย้ำอีกจะปิดสวิทซ์สว.ยิ่งเพิ่มอุณหภูมิความไม่พอใจให้เกิดขึ้นกับสภาสูง ออกมาแสดงท่าทีตอบโต้ และอาจเดินสวนทางกับสภาล่างค่อนข้างสูงในวันลงมติ

"ลุงป้อม" ตัวแปรการเมือง ปัจจัยชี้ขาดความไม่ลงตัวตั้งรัฐบาลหลังเลือกตั้ง

เมื่อสถานการณ์เป็นแบบนี้ จึงต้องย้อนกลับมาสำรวจตัวเลขของส.ส.ในปีกเดียวกันจะทำได้ถึง 376 เสียง หรือไม่ คำตอบคือ "เป็นไปได้" แต่ก็มีคำถามตามมาอีกว่า ณ สถานการณ์ชิงไหวชิงพริบทำได้ "ง่ายหรือยาก"คำตอบคือ "ยาก!!!"

 

"ความยาก"ที่ว่า มาจากท่าทีของ "พรรคสีแดง"(พท.) กับ"พรรคสีส้มเวอร์ชั่นสอง"(ก้าวไกล) ในช่วงหาเสียงและดีเบตแบบทิ้งเพื่อนไปหลายวาระ  ไม่ว่าเป็น "เพื่อไทย" หรือ "ก้าวไกล" ต่างประกาศไม่แตะมือกับหลายพรรคที่เคยมีส่วนร่วมกับ 3 ป. ในช่วงแปดปีที่ผ่านมา (คสช.) และสี่ปีที่แล้ว (พรรคพลังประชารัฐ/รวมไทยสร้างชาติ)

พร้อมกันนั้น "เพื่อไทย" พยายามตอกย้ำว่า ไม่มีพรรคพี่พรรคน้อง (พรรคไทยสร้างไทย) และบางพรรคก็โดนรุมยำเพราะนโยบายและการ ดูดส.ส. (พรรคภูมิใจไทยกับกัญชาเสรีรวมทั้งการดึงส.ส.หลายพรรคมาร่วมทีม) ตรงนี้น่าเชื่อว่า"พรรคก้าวไกล"พูดจริงกับการไม่แตะมือกับพรรคสองลุง และ"พรรคสองลุง" คงไม่เอาด้วยกับการดีลพรรคสีส้มเวอร์ชั่นสอง

บรรยากาศการปราศรัยหาเสียงของพรรคเพื่อไทย

.....................

เมื่อประเมินจากสนามเลือกตั้ง ภาวะแลนด์สไลด์ 310 เสียงตามที่ "เพื่อไทย" ประกาศไว้ โอกาสพรรคเดียวที่จะได้ส.ส.ในจำนวนดังกล่าวพูดตรงๆ "ค่อนข้างเหนื่อย" เพราะ"พรรคสีส้มเวอร์ชั่นสอง"ก็มาแรงไม่ใช่น้อยในยามนี้ อาจเป็นอุปสรรคหลักของ"เพื่อไทย"ในช่วงเวลาทีเหลือก่อนเลือกตั้ง อีกประการต้องยอมรับว่า"เพื่อไทย"ในพื้นที่ "ภาคใต้-ภาคกลาง-ภาคตะวันออก-ภาคเหนือตอนล่าง"มิได้เข้มแข็งนัก

ความมั่นใจของ"เพื่อไทย"กับตัวเลข"แลนด์สไลด์" ยังต้องลุ้นในไม่กี่วันข้างหน้านี้ แต่หลายฝ่ายมองว่า 220 - 240 - 260 ส.ส.ทั้งสองระบบ มีอยู่ในมือ"เพื่อไทย"แน่ๆ และหากมองไปยังคำยืนยันล่าสุดของ"ชัยธวัช ตุลาธน" เลขาธิการ"พรรคสีส้มเวอร์ชั่นสอง"ที่วางหมุดว่า 160 ส.ส.ต้องมีในมือ นั่นคือ คณิตศาสตร์การเมืองที่สองพรรคหักกลบลบหนี้กันเองแบบที่พรรคอื่นๆ มองแล้วยิ้มมุมปาก    

ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ  ผู้ช่วยหาเสียง ลงพื้นที่ช่วยผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. พรรคก้าวไกล หาเสียง

ความจริงกระแส "พรรคก้าวไกล" ในพื้นที่ นอกจาก"เขตหนึ่ง" และ"เขตสอง" ใน 76 จังหวัด เขตอื่นๆยากที่"ก้าวไกล"จะบุกไปคว้าคะแนนให้เป็นกอบเป็นกำ บางภูมิภาค เช่น "ปักษ์ใต้" กระแสสีส้มในหลายเขต มิได้ทรงอานุภาพ หนำซ้ำยังโดนกระแสอนุรักษ์นิยมขย่มมิดด้าม

ส่วนสนามกทม.33 เขต สองพรรคนี้ ตัดคะแนนกันเองแบบหายใจรดต้นคอ แพ้ชนะห่างกันไม่กี่ร้อยพันคะแนน อีกทั้งผลจากการตัดคะแนนกันเอง อาจเปิดทางให้"พรรคอันดับสาม"ในเขตนั้นๆเบียดขึ้นมา  

......................

พล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา ยังคงเดินสายหาเสียงให้พรรครวมไทยสร้างชาติอย่างต่อเนื่อง

เมื่อมองเกมข้างหน้าของ"พรรคเพื่อไทย" คือ ไม่แตะมือกับ "พรรคลุงตู่" และมีรอยแค้นกับ "พรรคเสี่ยหนู" ส่วนพรรค"ลุงป้อม"นั้น แม้ขุนพลหลายชีวิตของเพื่อไทยจะเคยย้ำไม่แตะมือกับ"ลุงป้อม" แต่เอาเข้าจริงแล้ว แกนนำตัวจริงของ"เพื่อไทย"ยังพูดให้ถอดความได้อีกชั้นหนึ่งที่เป็นความจริงทางการเมืองว่า "ควรรอดูตัวเลขส.ส.ของแต่ละพรรคที่จะได้มาก่อนแล้วค่อยมองไปถึงการดีลพรรคต่างๆมาร่วมงาน"

กูรูการเมืองหลายคนฟันธงไว้ว่า  ไม่ว่าพรรคใดจะเป็นแกนนำตั้งรัฐบาล ปฏิเสธไม่ได้ว่า "พรรคพลังประชารัฐ" ของ"พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ" คือ"ตัวแปรหนึ่งที่ทรงพลานุภาพ"

แม้กระแสโจมตีไม่เอา"พรรคสองลุง"ก็ตาม แต่อย่าลืมบารมีของ"ลุงป้อม" ที่มีอยู่กับแวดวงการเมืองที่มีหลากหลายและค่อยๆขยับจังหวะรุกคืบ (แวดวงการเมืองประเมินว่า"พรรคลุงป้อม"น่าจะได้ ส.ส.สองระบบราว 30 - 50 คน ส่งผลกับทั้งสองปีกการเมืองในวันข้างหน้า ) อีกอย่างหากสังเกต แทบไม่มีพรรคใดชูมอตโต "ก้าวข้ามความขัดแย้ง" ในการหาเสียงงวดนี้

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ  หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ

อย่างไรก็ดี ตัวเลขส.ส.ของ"ลุงป้อม" ที่วางไว้คือ 70 -110 เก้าอี้เเละหลายวันที่ผ่านมาจะพบว่า"ลุงป้อม"เเละเเกนนำกระจายตัวลงพื้นที่เป้าหมายเพื่อมิให้หลุดกรอบ

เเต่"ลุงป้อม"และทีมจะลุยเข้าเป้าหรือไม่กับกระเเสเเดง/ส้ม ที่เเรงเรื่อยๆเเละรทสช.ที่ปลุกอนุรักษ์นิยมมาสู้ในโค้งสุดท้าย 

ดังนั้นหมากที่"ลุงป้อม"เลือกเดินคือข้ามความขัดแย้ง พร้อมคุยกับทุกชนชั้น (เช่น วิดีโอคอลกับแฟนเพจFCลุงป้อม) คือ กลยุทธ์ที่"พลเอกประวิตร" เลือกใช้และมั่นใจว่าได้ผล จะทรงพลังกว่านี้หากตอนจับขั้วตั้งรัฐบาลมีภาพของ"พลเอกประวิตร" ปรากฏกายในฐานะผู้อาวุโสและแกนนำตั้งรัฐบาล

ความจริงแล้วการตั้งรัฐบาลหากผู้จัดการรัฐบาลคนใหม่บารมีไม่มีพรรษาไม่ถึง คิดหรือว่าจะลงตัวกันแบบชิลล์ๆ ดั่งที่ใครบางคนฝันไว้ความพยายามบูลลี่ด้อยค่า"ลุงป้อม"ยามนี้ จะพบลีลาของ"ลุงป้อม"ที่บอกสังคมไปแล้วว่า (4พ.ค.) ว่า

"ใครไม่จับ ผมก็อยู่คนเดียว ถ้าได้ 300 กว่าเสียงแล้วจะไปจับกับใครหล่ะ ขึ้นอยู่กับประชาชน ปล่อยให้ประชาชนเป็นคนตัดสินใจเอาแล้วกันว่าจะเลือกใคร ถ้าเขาอยากพูดก็พูดกันไป เพราะอยู่ที่การตัดสินใจของประชาชนเป็นหลัก ก็ต้องเชื่อมั่นในประชาชน ต้องไว้ใจประชาชนว่าเขาจะเลือกใคร"

"ลุงป้อม" ตัวแปรการเมือง ปัจจัยชี้ขาดความไม่ลงตัวตั้งรัฐบาลหลังเลือกตั้ง

ลีลาของพยัคฆ์บูรพาวัย 78 พรรษารายนี้  ต้องจับตา ภายหลังวันที่ 14 พ.ค.เชื่อว่า ราคาหุ้นของ "พลเอกประวิตร"จะพุ่งทะยานไปหลายสิบเท่าตัว หากพปชร.ได้ส.ส.ตามเป้าหมาย

ไม่อย่างนั้น"ลุงป้อม"คงไม่พูดอะไรง่ายๆออกมากับวรรคทองที่ระบุว่า "ใครไม่จับผมก็อยู่คนเดียว"

logoline