svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

เลือกตั้ง 66 :เจตนา"พรรคการเมือง"และ ข้อตกลงร่วม นโยบาย"ปฏิรูปการเมือง"

30 เมษายน 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

เราขัดแย้งกันในทางการเมืองมาตั้งแต่ปี 48 ความพยายามให้เกิดสมานฉันท์ ความปรองดองที่ผ่านมาไม่เป็นผล อันที่จริงต้องดำเนินกระบวนการ (มรรค) แล้วผล (ความปรองดอง) ย่อมจะเกิดแก่กระบวนการที่แยบคาย ติดตามเจาะประเด็นร้อน โดย "โคทม อารียา"

ในการหาเสียงสำหรับ"การเลือกตั้ง ส.ส." เป็นการทั่วไปวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 พรรคการเมืองต่างมุ่งเน้นนโยบายด้านเศรษฐกิจ หรือที่เรียกว่าเพื่อ "ปากท้อง" ของประชาชน

บทความนี้พยายามหันเหความสนใจของประชาชนสู่เรื่องการเมือง นั่นคือเรื่อง "โครงสร้าง" ทางกฎหมายและการจัดองค์กรทางการเมือง เพราะโครงสร้างมีส่วนสำคัญในการกำหนดพฤติกรรมของระบบ และดูเหมือนว่าระบบการเมืองกำลังกักขังระบบเศรษฐกิจอยู่ก็ว่าได้ คือเป็นเสมือน "กับดัก" ที่ฉุดรั้งเศรษฐกิจให้อยู่ในระดับปานกลางมานานแล้ว

เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2566 BBC News สรุปนโยบายหาเสียงด้านการเมืองของพรรคการเมืองหลักบางพรรค ดังนี้ 


เลือกตั้ง 66 :เจตนา\"พรรคการเมือง\"และ ข้อตกลงร่วม นโยบาย\"ปฏิรูปการเมือง\"

"พรรคเพื่อไทย"เสนอว่าจะ

•  จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
•  ยกเลิกการเกณฑ์ทหาร ให้สมัครโดยสมัครใจ
•  กระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น จัดการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดในจังหวัดที่มีความพร้อม

เลือกตั้ง 66 :เจตนา\"พรรคการเมือง\"และ ข้อตกลงร่วม นโยบาย\"ปฏิรูปการเมือง\"

"พรรคพลังประชารัฐ" เสนอว่าจะ 

•  ปฏิรูประบบราชการ ให้ประชาชนเป็นศูนย์กลาง

"พรรคก้าวไกล" เสนอว่าจะ

•  ห้ามนายพลเป็นรัฐมนตรีถ้าเกษียณอายุราชการมาไม่ถึง 7 ปี 

•  ให้กองทัพอยู่ใต้รัฐบาลพลเรือน ยกเลิกสภากลาโหม ยกเลิกศาลทหาร

•   ยุบ กอ.รมน. ยกเลิกการประกาศกฎอัยการศึกชายแดนใต้

•   ยกเลิกการเกณฑ์ทหาร เพิ่มสวัสดิการทหารชั้นผู้น้อย ตัดสิทธิพิเศษนายพล

•  ให้ตำรวจยึดโยงประชาชน ให้ผู้แทนทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาลมีส่วนร่วมตั้ง ผบ.ตร.

•  แก้กฎหมายที่ละเมิดสิทธิประชาชน ได้แก่ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, มาตรา 116 และ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์

•  ให้มีการนิรโทษกรรมคดีการเมืองที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2557

•  จัดให้มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ เริ่มด้วยการทำประชามติทันที

•  ยกเลิก ผู้ว่าฯ แต่งตั้ง แล้วให้ทำประชามติว่าจะเลือกตั้ง "นายกจังหวัด" ทั่วประเทศหรือไม่

เลือกตั้ง 66 :เจตนา\"พรรคการเมือง\"และ ข้อตกลงร่วม นโยบาย\"ปฏิรูปการเมือง\"

"พรรคประชาธิปัตย์" เสนอว่าจะ
•    จัดให้มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ (เกือบทั้งฉบับ) โดยไม่แตะต้องหมวดว่าด้วยพระมหากษัตริย์
•    ยุติการใช้ความรุนแรงต่อผู้บริสุทธิ์ และไม่ต้องการเห็นการฆ่าตัดตอน

"พรรคไทยสร้างไทย" เสนอว่าจะ
•    จัดให้มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน
•    ยกเลิกการเกณฑ์ทหาร ตัดลดงบประมาณซื้ออาวุธ

"พรรคชาติพัฒนากล้า" เสนอว่าจะ

•  นำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการบริหารราชการให้กว้างขวางขึ้น เช่น การใช้โทรศัพท์มือถือในการจัดการ เพื่อความรวดเร็วและเพื่อให้ปลอดคอร์รัปชัน

"พรรคชาติไทยพัฒนา" เสนอว่าจะ
•  จัดให้มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ด้วยกลไกของสภาร่างรัฐธรรมนูญ

จากการที่พรรคการเมืองหลายพรรคเสนอให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จึงคิดว่าหลังการเลือกตั้ง จะมีการขับเคลื่อนโดยเริ่มด้วยการที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้มีการลงประชามติ เพื่อถามประชาชนว่าเห็นด้วยกับการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในเรื่องนี้

เรื่องที่คิดว่าจะมีแรงต้านมาก โดยเฉพาะจากฝ่ายอนุรักษ์นิยมผู้ชื่นชมทหาร คือเรื่องการปฏิรูปกองทัพเพื่อให้กองทัพอยู่ภายใต้รัฐบาลพลเรือน ซึ่งมีข้อเสนอทั้งในเชิงโครงสร้างและที่เป็นรูปธรรม พรรคก้าวไกลมีข้อเสนอที่หลากหลาย เช่น ในเชิงโครงสร้าง มีข้อเสนอให้ออกกฎหมายเพื่อ "ยกเลิกสภากลาโหม ยกเลิกศาลทหาร ยุบ "กอ.รมน." เป็นต้น


เลือกตั้ง 66 :เจตนา\"พรรคการเมือง\"และ ข้อตกลงร่วม นโยบาย\"ปฏิรูปการเมือง\"

"พรรคก้าวไกล" มีข้อเสนอที่เป็นรูปธรรมหลายข้อ ในเรื่องการยกเลิกการเกณฑ์ทหาร โดยให้เหตุผลประกอบว่า จะรับสมัครบุคคลเข้ารับราชการทหารโดยสมัครใจ มีการฝึกให้เป็นทหารมืออาชีพ มีความก้าวหน้าในสายงาน และมีการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยในการป้องกันประเทศ ถ้าลดกำลังพลประจำการซึ่งปัจจุบันมีประมาณ 3.6 แสนคน ให้เหลือประมาณ 2.3 แสนคน จะประหยัดงบประมาณได้ประมาณ 50,000 ล้านบาทต่อปี 

อนึ่ง ในเรื่องการเกณฑ์ทหาร มีบทความในหนังสือพิมพ์ลงวันที่ 23 เมษายน 2566 ที่ให้ข้อคิดว่า ทหารเป็นสถาบันหลักที่สำคัญของประเทศ เราคงต้องมีทหารที่มีคุณภาพ จึงอยากชี้แนะว่าทหารควรพัฒนาตัวเอง การมีทหารเกณฑ์เป็นการฝึกกำลังพลให้มีความพร้อม แต่เรื่องนี้อาจทดแทนได้โดยการฝึก ร.ด. ที่มีการปรับปรุงหลักสูตร และปรับปรุงการเรียนการสอน โดยฝึกทั้งหญิงและชายให้ดีกว่าการเกณฑ์ทหาร อาจเริ่มฝึกตั้งแต่ชั้นมัธยมต้น กระจายชั่วโมงฝึกให้สอดคล้องกับการเรียนในโรงเรียน การเรียนควรให้สนุก และเนื้อหาควรใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันได้ด้วย สุดท้ายจะได้กองหนุนที่มีคุณภาพ

ข้อเสนออีกข้อหนึ่งของพรรคก้าวไกล คือ ห้ามนายพลเป็นรัฐมนตรีถ้าเกษียณอายุราชการมาไม่ถึง 7 ปี มีคำอธิบายในบทความบทหนึ่งซึ่งผู้เขียนไม่เกี่ยวกับพรรคการเมือง และลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์วันที่ 20 เมษายน 2566 ข้อสังเกตจากบทความก็คือ "มีการทำรัฐประหารในประเทศไทยเป็นว่าเล่น" ฝ่ายตุลาการก็รับรอง คณะรัฐประหารจะนิรโทษกรรมให้ตนเองเสมอ

ดังนั้น ทหารควรเว้นวรรค 7 ปีก่อนที่จะเป็นนักการเมือง ในเรื่องนี้ กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติปี 2490 ของสหรัฐอเมริกามีบทบัญญัติว่า รัฐมนตรีกลาโหมต้องเป็นพลเรือน ถ้าเคยเป็นทหารต้องเกษียณอายุจากการเป็นทหารมาแล้วไม่น้อยกว่า 7 ปี แต่ผมเคยได้ยินนายทหารที่แสดงทัศนะในทางตรงกันข้ามว่า รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมควรเคยเป็นนายทหาร เพราะจะทำงานได้ดีกว่าพลเรือน อันที่จริง เราควรหาทางให้นายพลหักห้ามใจ ไม่ให้พร้อมกระโดดจากการเป็นทหารมืออาชีพมาเป็นทหารการเมือง   

นอกจากข้อเสนอที่ BBC News นำมาสรุปไว้ข้างต้น พรรคก้าวไกลยังมีข้อเสนออื่นอีกที่ผมหาอ่านในหน้าหนังสือพิมพ์ เช่น

1. ให้จัดตั้ง "ผู้ตรวจการกองทัพ" ที่มาจากตัวแทนประชาชน เพื่อตรวจสอบมิให้ "กองทัพออกนอกลู่นอกทาง" 

2. ขอคืนที่ดินกองทัพที่มากมายเหลือเฟือ เพื่อนำไปจัดสรรให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์ในระยะยาว

3. ขอคืนธุรกิจต่าง ๆ ที่เป็นแหล่งผลประโยชน์ของกองทัพกลับมาเป็นของรัฐบาล เพื่อนำไปบริหารจัดการให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนส่วนรวม   

เลือกตั้ง 66 :เจตนา\"พรรคการเมือง\"และ ข้อตกลงร่วม นโยบาย\"ปฏิรูปการเมือง\"

"จาตุรนต์ ฉายแสง" พรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์ลงในหนังสือพิมพ์วันที่ 24 เมษายน 2566 ว่า ต้องมีกฎหมายรองรับองค์กรประชาธิปไตย ในการต่อต้านรัฐประหาร ต้องปฏิรูปกองทัพให้เป็นทหารมืออาชีพ ให้เข้ารับราชการทหารโดยสมัครใจ ไม่ต้องเกณฑ์ ต้องแก้ พ.ร.บ. กฎอัยการศึก ให้คณะรัฐมนตรีเป็นผู้ประกาศกฎอัยการศึก ไม่ใช่ทหาร

ประเด็นทางการเมืองที่มีการโต้เถียงกันมากได้แก่ประมวลกฎหมายอาญา "มาตรา 112" พรรคพลังประชารัฐ รวมไทยสร้างชาติ และภูมิใจไทยเห็นว่าดีแล้ว ไม่ควรแก้ไข "พรรคประชาธิปัตย์" เห็นว่าให้คงไว้แต่ไปออกระเบียบเพื่อกลั่นกรองมิให้ใครก็ตามสามารถเป็นผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษ บางครั้งก็ตีความข้อกฎหมายเกินลายลักษณ์อักษร

ทั้งนี้ เพื่อมิให้มีการบังคับใช้ในลักษณะที่เป็นเครื่องมือทางการเมือง ส่วนพรรคเพื่อไทย เสรีรวมไทย ไทยสร้างไทย และก้าวไกลเห็นควรให้แก้ไข เพื่อให้มีการกลั่นกรองในการบังคับใช้ และให้ลดโทษจำคุกจาก 3 ถึง 15 ปีลง โดยไม่ต้องมีโทษขั้นต่ำ โทษจำคุกให้อยู่ในดุลพินิจของผู้พิพากษาแต่ต้องไม่เกินขั้นสูงตามที่กฎหมายบัญญัติ 

ในเรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 112 "พรรคเสรีรวมไทย" มีข้อเสนอที่ต่างไปคือ ให้แยกองค์ประกอบความผิดเดิมออกเป็นสองส่วน โดยแก้ไขมาตรา 112 ให้มีฐานความผิดเพียงการดูหมิ่นและหมิ่นประมาท ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี และให้เพิ่มมาตรา 112/1 ที่มีองค์ประกอบความผิดฐานอาฆาตมาดร้าย ซึ่งมีอัตราโทษที่หนัก เช่น จำคุก 3 ถึง 15 ปี เป็นต้น     

ในเรื่องการกระจายอำนาจสู่การปกครองส่วนท้องถิ่น ดูเหมือนว่าพรรคการเมืองฝ่ายอนุรักษ์นิยมจะสงวนท่าทีอยู่พอสมควร พรรคที่มีข้อเสนอชัดเจนคือพรรคก้าวไกลที่เสนอว่า ถ้าจะมีการเลือกตั้งผู้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายบริหารของจังหวัด ก็ควรเปลี่ยนชื่อตำแหน่งจากผู้ว่าราชการจังหวัดเป็น "นายกจังหวัด" แต่เรื่องนี้ควรถามความเห็นของประชาชนผ่านการลงประชามติว่าจะเห็นชอบกับการเลือกตั้งนายกจังหวัดในทุกจังหวัดหรือไม่ ถ้าประชาชนเห็นด้วย ก็จะมีผลให้ราชการส่วนภูมิภาคซึ่งได้แก่ราชการส่วนกลางที่ตั้งอยู่ในจังหวัดต่าง ๆ เหลือเพียงเท่าที่จำเป็น

โดยหลักจะมีเพียงการคลัง การต่างประเทศ การยุติธรรม การป้องกันประเทศ และกิจการที่ให้บริการสาธารณะขนาดใหญ่ในขอบเขตที่กว้างกว่าจังหวัด นอกนั้นจะโอน "งาน เงิน คน" ให้ราชการส่วนท้องถิ่นไปจัดบริการสาธารณะแก่ท้องถิ่นนั้น ๆ 

ผมได้อ้างถึงการสัมภาษณ์ของ"จาตุรนต์" มาก่อนหน้านี้ ขอกลับมาที่การสัมภาษณ์นั้นอีกครั้ง เพื่อจะได้ขยายความเรื่องการกระจายอำนาจในมุมมองของพรรคเพื่อไทย"จาตุรนต์"ให้ทัศนะว่า 9 ปีที่ผ่านมา การกระจายอำนาจถอยหลัง ท้องถิ่นกลายมาทำตามรัฐบาลมากกว่าตามความต้องการของประชาชน มิติหนึ่งของการกระจายอำนาจคือให้ประชาชนในจังหวัดสามารถแก้ปัญหาของตนเองได้มากขึ้น ให้คนรุ่นใหม่และภาคเอกชนเข้ามาช่วยคิดช่วยทำ ให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดในจังหวัดนำร่องหรือจังหวัดที่มีความพร้อม ภาคละ 1 จังหวัดก่อน

ในประเด็นความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน (transitional justice) สู่ประชาธิปไตย

"พรรคก้าวไกล" เสนอให้มีการนิรโทษกรรมคดีการเมืองที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2557 ส่วน"พรรคพลังธรรมใหม่"ต้องการขับเคลื่อนกฎหมายนิรโทษกรรมที่ครอบคลุมคดีการเมืองตั้งแต่ปี 2549 ในเรื่องความยุติธรรมที่เกี่ยวกับคดีการเมืองนั้น "จาตุรนต์" เสนอให้แก้ไขกฎหมายให้ชัดเจน เพื่อป้องกันมิให้ผู้เห็นต่างถูกจับไปขัง ไม่ให้ประกันตัว โดยการประกันต้องเป็นหลัก ไม่ใช่ขังเป็นหลัก

ผมคิดไปคิดมาเห็นว่า การปฏิรูปการเมืองเป็นเรื่องสำคัญ แต่เราอาจคิดตามกันไม่ทันหรือยังไม่รอบด้าน ไม่ครบถ้วน และไม่รอบคอบพอ จึงได้ร่างเป็นรายการตรวจเช็ค (check list) ว่าควรปฏิรูปการเมืองในด้านใดบ้าง

อันที่จริงอยากเสนอรายการนี้ต่อ "พรรคการเมือง" ต่อสาธารณชน ในลักษณะเชิงแบบสอบถาม ให้ไปคิดและถกแถลงกันต่อ ๆไป บางเรื่องยังทำไม่ได้ ก็ให้ถือเป็นประกายความคิดเบื้องต้น ถ้าเป็นความคิดที่เข้าท่า ความคิดนั้นจะเดินทางต่อไป ถ้าไม่เข้าท่าจะได้ช่วยกันชี้ผลเสีย โดยไม่ด่วนปลุกความรู้สึกว่าเป็นความคิดที่มีอันตรายแอบแฝง ฯลฯ รายการตรวจเช็คที่ร่างไว้แสดงได้ดังนี้

เลือกตั้ง 66 :เจตนา\"พรรคการเมือง\"และ ข้อตกลงร่วม นโยบาย\"ปฏิรูปการเมือง\" เลือกตั้ง 66 :เจตนา\"พรรคการเมือง\"และ ข้อตกลงร่วม นโยบาย\"ปฏิรูปการเมือง\" เลือกตั้ง 66 :เจตนา\"พรรคการเมือง\"และ ข้อตกลงร่วม นโยบาย\"ปฏิรูปการเมือง\" เลือกตั้ง 66 :เจตนา\"พรรคการเมือง\"และ ข้อตกลงร่วม นโยบาย\"ปฏิรูปการเมือง\"

เราต่างต้องการเปลี่ยนแปลงประเทศในทางที่ดีขึ้น ให้เศรษฐกิจฟื้นฟู/เฟื่องฟู ให้สังคมเข้มแข็ง ให้มีวัฒนธรรมที่มีชีวิตชีวา ส่วนในทางการเมือง คนส่วนใหญ่อยากให้เป็นประชาธิปไตย ให้ทุกคนมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ แต่ประชาธิปไตยของเรามีจุดอ่อน เราแบ่งขั้วแบ่งข้างมากเกินไป หากดำเนินต่อไปเช่นนี้ จะเป็นตัวถ่วงความก้าวหน้าในด้านอื่น ๆ ความขัดแย้งเป็นเรื่องธรรมดา

แต่เราขัดแย้งกันในทางการเมืองมาตั้งแต่ปี 2548 ความพยายามให้เกิดความสมานฉันท์ ความปรองดองที่ผ่านมาไม่เป็นผล อันที่จริงต้องดำเนินกระบวนการ (มรรค) แล้วผล (ความปรองดอง) ย่อมจะเกิดแก่กระบวนการที่แยบคาย เป็นอุปายโกศล

ผมขอเสนอว่า เราควรดำเนินการอย่างน้อยในสองด้าน

1. ผู้ที่สนใจการเมือง โดยเฉพาะผู้มีบทบาทสำคัญทางการเมืองทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล ควรพูดคุยกัน หรือสานเสวนาสมานไมตรีกันบ่อย ๆ ถกแถลงและยอมรับความแตกต่างด้วยความเคารพ เพื่อให้เกิดความไว้วางใจ ความสัมพันธ์ที่ดี และไมตรีจิต ที่จะช่วยทำให้กิจต่าง ๆ ลุล่วงไป

2. กิจทางการเมืองที่ควรทำคือการปฏิรูปโครงสร้างทางกฎหมายและการจัดองค์กรทางการเมือง ตลอดจนดำเนินการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรม หากรายการตรวจเช็คที่ร่างไว้ข้างต้น หรือที่จะมีการดัดแปลงแก้ไขต่อไป สามารถช่วยให้มองกิจที่ควรทำได้ชัดเจนขึ้น ก็เป็นเรื่องที่น่ายินดี

อนึ่ง เมื่อพรรคการเมืองรวมกันเพื่อจัดตั้งรัฐบาลโดยมีเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรได้แล้ว ก็ควรมีการถกแถลงอย่างจริงจัง (genuine deliberation) เพื่อให้ได้ข้อตกลงในการบูรณาการนโยบายที่แต่ละพรรคใช้ในการหาเสียง เข้าด้วยกันเป็นนโยบายของพรรคร่วมรัฐบาล

หากจะใช้รายการตรวจเช็คนโยบายด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมวัฒนธรรม เป็นเครื่องมือหนึ่งของการร่วมถกแถลงนโยบายดังกล่าว ก่อนรับเข้าร่วมรัฐบาลอย่างเป็นกิจจะลักษณะแล้วละก็ หวังได้ว่าการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลจะมีประสิทธิภาพและราบรื่นสืบไป 

logoline