svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เจาะประเด็นร้อน

จี้ มท. -กกต. แจงปม"ราษฎรไม่ได้สัญชาติไทย"นำมาคำนวณแบ่งเขต"เลือกตั้ง66"

31 มกราคม 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"โคทม อารียา" อดีตกกต. จี้ มท.- กกต. เร่งแจงปม นำฐานข้อมูล"ราษฎรไม่ได้สัญชาติไทย" มาคิดคำนวณแบ่งเขตเลือกตั้ง คาดนายกฯน่าจะ"ยุบสภา"หลังอภิปรายทั่วไป ก่อนปิดสมัยประชุม

31 มกราคม 2566 "นายโคทม  อารียา" อดีตกรรมการการเลือกตั้ง  (กกต.)  เปิดเผยผ่าน"เนชั่นทีวีออนไลน์"  ถึงกรณีที่"นายสมชัย ศรีสุทธิยากร"  อดีตกรรมการการเลือกตั้ง( กกต.) ออกมาโพสต์ข้อความเตือน กกต.ชุดปัจจุบันที่นำฐานข้อมูล"ราษฎรไม่ได้สัญชาติไทย" จากกระทรวงมหาดไทย มาร่วมคำนวณแบ่งเขตเลือกตั้ง ว่า  โดยปกติการแบ่งเขตเลือกตั้ง ควรยึดทะเบียนราษฎร ตามที่กระทรวงมหาดไทยส่งมาให้  ตามที่ตนเองเข้าใจ ข้อมูลจำนวนราษฎรที่ส่งจากมหาดไทยไม่น่ารวมคนที่ไม่มีสัญชาติไทย อย่างไรก็ตามอาจไม่แม่นในรายละเอียด ต้องเช็กข้อกฎหมายอีกครั้ง

 

โคทม  อารียา อดีตกรรมการการเลือกตั้ง

 

"อดีตกกต.ท่านนี้"  กล่าวถึง ช่วงการทำงานที่มีการนำฐานข้อมูลราษฎรมาแบ่งเขต ตอนนั้นไม่ได้แยก"ผู้ไม่ได้สัญชาติไทย"  กกต.ขณะนั้นจึงได้ประชากรที่มีสัญชาติไทยมาแบ่งเขตตามนั้น ไม่ได้มีปัญหาอะไรมากมาย

 

กรณีที่"นายสมชัย" ตั้งข้อสังเกตรอบนี้ ทำให้อยากรู้เหมือนกันว่ามีนัยสำคัญแค่ไหน เพราะประชากรที่"ไม่ได้สัญชาติไทย" แล้วนำไปนับรวมกันไม่น่ามีจำนวนมากเท่าไหร่  

ส่วนที่นายสมชัย ยกคำนิยาม "ราษฎร" ตามราชบัณฑิตยสภา หมายความว่า ผู้ที่เป็นคนของประเทศ ถือสัญชาติเดียวกัน"นายโคทม"  กล่าวว่า   เป็นการตีความข้อกฎหมาย เพราะกฎหมายบอกว่า ให้ถือประชากรในทะเบียนราษฎร

 

"คราวนี้ไม่ทราบว่า กระทรวงมหาดไทย ตีความ ในทะเบียนราษฎรรวมกันหรือแยกกันอยู่ แต่ความจริงน่าจะแยกกัน แต่อีกแง่มุมหนึ่ง ในความหมาย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต้องให้บริการ ทั้งได้"สัญชาติไทย"และ"ไม่ได้สัญชาติไทย" จำนวนหนึ่ง รวมทั้งเด็กเล็ก อายุยังไม่ถึงให้นับรวม" 

จี้ มท. -กกต. แจงปม"ราษฎรไม่ได้สัญชาติไทย"นำมาคำนวณแบ่งเขต"เลือกตั้ง66"

ข้อสังเกตของ "นายสมชัย" มองการณ์ข้างหน้าประเด็นการนำราษฎรไม่ถือสัญชาติไทยมาคำนวณแบ่งเขต  อาจทำให้การเลือกตั้งมีปัญหา ถึงขั้นมีผู้เห็นแย้งขอตีความทำให้การเลือกตั้งโมฆะได้หรือไม่ "นายโคทม"  กล่าวว่า  ที่ผ่านมาไม่เห็นด้วยอย่างมากที่มีประเด็นปัญหาหนึ่งแล้วส่งผลทำให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ อย่างสมัยก่อน หันคูหาเลือกตั้งทำนองว่าจะไม่เป็นความลับ 

"ผมคิดว่าการจะประกาศให้การเลือกตั้งทั่วไปเป็นโมฆะทั้งหมด ต้องมีเหตุผลที่หนักหนาสาหัสจริงๆ ฉะนั้นหากมีข้อสงสัยเรื่องนี้ ผมคิดว่าเคลียร์เรื่องนี้ก่อนจะไปถึงจุดนั้น โดย กระทรวงมหาดไทย และ กกต.น่าตัดสินได้ในเรื่องนี้ ส่วนข้อกฎหมายอื่นๆ ถ้ามหาดไทย กกต.ไม่แน่ใจ ก็ปรึกษานักกฎหมาย ที่รู้เรื่องนี้ชัดเจน เพราะหากปล่อยสถานการณ์จนเรื่องไปถึงศาลรธน. ให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะหรือไม่ เสียหายมากมายเหมือนเล่นตลก"

 

"นายโคทม" ยังได้กล่าวถึง กรณี "กกต."ได้หารือ"นายวิษณุ เครืองาม" รองนายกฯ โดยเปรยถึงภายหลังกฎหมายลูกการเลือกตั้งประกาศใช้ ขอเวลาทำงาน 45 วัน "นายโคทม" กล่าวว่า ช่วงเวลาที่ผู้มีอำนาจคิดว่าเหมาะสม 45 วัน ไม่มีน้ำหนักเพียงพอเพราะเป็นเรื่องทางเทคนิค การ"ยุบสภา"เป็นเรื่องทางการเมืองมากกว่า

 

โคทม  อารียา อดีตกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)

 

อย่างไรก็ตาม ถ้าแบ่งเขตไม่เสร็จก็"ยุบสภา"ได้ เพราะมีกฎหมายเลือกตั้งพร้อมแล้ว ถ้า"ยุบสภา" คุณไปดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมายแบ่งเขตให้เสร็จหลังจากนั้น แล้วมีเวลาเตรียมการเลือกตั้ง สรรหาผู้สมัคร เป็นเรื่องความรับผิดชอบฝ่ายเทคนิคอย่างกกต. และความรับผิดชอบของพรรคการเมืองที่จะดำเนินการให้ทัน 

 

อีกอย่าง "ยุบสภา"ทำให้เวลายาวขึ้น เลือกตั้งพ้น 45 วันไปแล้ว แต่ไม่เกิน 60 วัน สามารถเอาให้เต็มที่เลย ช้า 15 วัน ก็ยังได้ ถ้าแบ่งเขตไม่ทัน เป็นสองประเด็นแยกกัน เทคนิค กระบวนการที่ต้องทำ กับการ การตัดสินใจทางการเมืองที่จะยุบสภา  ไม่จำเป็น ต้องรอให้แบ่งเขตเสร็จถึงยุบสภา 

 

 

 

"นายโคทม" กล่าวว่า ความเห็นส่วนตน มองจากไทม์ไลน์การเลือกตั้ง  น่าจะยุบก่อนหมดวาระสภา 23 มีนาคม 2566 เพราะถ้ายุบก่อน เวลายาวขึ้น 45 - 60 วันจัดการเลือกตั้ง เปิดโอกาสให้เวลา ส.ส.ไปสังกัดพรรคมีเวลา 30 วัน ไม่น่ายุบสภาก่อน วันที่ 6 ก.พ. เพราะอาจมีกฎหมายบางฉบับที่รัฐบาลต้องการทำให้สำเร็จ หรืออาจมีประเด็นอภิปรายทั่วไป โดยไม่ลงมติซึ่งคาดว่าจะอภิปรายระหว่างวันที่  15- 16  ก.พ.ตรงนี้จะเป็นโอกาสฝ่ายค้านและรัฐบาลให้ข้อมูลประชาชนรับทราบ  ถ้าจะยุบสภาก่อนวันที่ 14 ก.พ. จะถูกครหาหนีอภิปรายอีก

 

"ฉะนั้น ถ้าจะให้ดี หลังวันที่ 15 -16 ก.พ. แต่ถ้าเลยไปมากๆ  เช่นสภาปิดสมัยประชุม 28 ก.พ. แล้วยังไม่ยุบสภา ประชาชนอาจตั้งข้อสงสัย หมดสมัยประชุมแล้ว จะยุบทำไม ถ้าจะอ้างประหยัดงบประมาณก็ไม่ใช่  การยุบสภา อาจอยู่ระหว่างช่วง 15 - 28 ก.พ. สุดท้ายคงต้องเดาใจนายกรัฐมนตรี"  นายโคทม กล่าว 

 

โคทม  อารียา  อดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2566  "นายสมชัย  ศรีสุทธิยากร"  อดีตกกต.ได้ออกมาโพสต์ข้อความ โดยระบุว่า  กกต.คำนวณจำนวน ส.ส. โดยเอาคนที่ไม่มีสัญชาติไทยมารวมด้วย

 

ข่าวล่าสุดวันนี้ 30 มกราคม 2566 กกต.ประกาศจำนวน ส.ส. เขตในแต่ละจังหวัด โดยเอาจำนวนราษฎร 66,090,475 คน หารด้วย 400 ได้จำนวนราษฎรเฉลี่ย 165,226 คนต่อจำนวน ส.ส. 1 คน โดยอ้างข้อมูลจากสำนักทะเบียนกลาง กระทรวงมหาดไทย สิ้นสุดเมื่อ 31 ธันวาคม 2565

 

เมื่อดูข้อมูลของสำนักทะเบียนกลางที่ลงในราชกิจจานุเบกษา พบว่า มีการแยกราษฎร เป็น 2 ประเภท คือที่มีสัญชาติไทย 65,106,481 คนและไม่มีสัญชาติไทย 983,994 คน

รวมเป็น 66,090,475 คน

 

การคำนวณราษฎร ตามมาตรา 86 ของรัฐธรรมนูญ แม้ไม่มีการระบุชัดเจนว่าราษฎรหมายถึงใคร แต่การตัดสินใจเอาคนที่ไม่สัญชาติไทยมารวม ถือเป็นสิ่งที่ถูกต้องหรือไม่ เป็นเครื่องหมายคำถามขนาดใหญ่

 

เพราะหากเอามารวมแล้วคิดเพิ่มจำนวน ส.ส.เขตได้ ต่อไป จังหวัดที่มีคนสัญชาติอื่นมาอยู่มาก ๆ ก็จะได้ ส.ส.เขตเพิ่ม

 

คิดแบบนี้ถูกต้องแล้วหรือไม่ ฝากไปพิจารณากัน

 

logoline