svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เจาะประเด็นร้อน

10 ปี "พูดคุยสันติภาพ" จึงแถลงว่า เห็นแสงสว่างปลายอุโมงค์ โดย "โคทม อารียา"

27 กุมภาพันธ์ 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

10 ปีผ่านไปนับแต่การลงนาม"ฉันทามติทั่วไปว่าด้วยกระบวนการสานเสวนาสันติภาพ" จึงเป็นโอกาสที่จะเหลียวหลังแลหน้ามาพิจารณาถึงสถานการณ์ความรุนแรง ตลอดจนอุปสรรคและความคืบหน้าของกระบวนการสันติภาพชายแดนใต้ ติดตามในเจาะประเด็น โดย "โคทม อารียา"

วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2556 ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ มีการลงนามในเอกสารชื่อ "ฉันทามติทั่วไปว่าด้วยกระบวนการสานเสวนาสันติภาพ หรือ General Consensus of Peace Dialogue Process" ผู้ลงนามในเอกสารคือตัวแทนรัฐบาลไทย (ภาคี A) ตัวแทนบีอาร์เอ็น (ภาคี B) และตัวแทนรัฐบาลมาเลเซีย

 

สาระสำคัญของเอกสาร คือ ความเห็นพ้องต้องกันระหว่างภาคีทั้งสองที่จะร่วมสานเสวนาสันติภาพ เพื่อแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ภายใต้กรอบของรัฐธรรมนูญไทย โดยมีรัฐบาลมาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวก 


10 ปีผ่านไปนับแต่การลงนามในครั้งนั้น จึงเป็นโอกาสที่จะเหลียวหลังแลหน้ามาพิจารณาถึงสถานการณ์ความรุนแรง ตลอดจนอุปสรรคและความคืบหน้าของกระบวนการสันติภาพชายแดนใต้

 

ฉันทามติทั่วไป ว่าด้วยกระบวนการสานเสวนาสันติภาพ

 

เมื่อความขัดแย้งชายแดนใต้ทวีความรุนแรงขึ้นนับแต่วันที่ 4 มกราคม 2547 ที่มีการปล้นปืนที่ค่ายปิเหล็ง จังหวัดนราธิวาสเป็นต้นมา มีผู้เสียชีวิตประมาณ 7,000 คน ในระยะแรก ฝ่ายความมั่นคงและฝ่ายประชาสังคมก็ยังจับชนต้นปลายไม่ได้ว่า อะไรคือสาเหตุหลักที่ทำให้ผู้เห็นต่างจำนวนหนึ่งก่อความรุนแรงในพื้นที่ การดำเนินการของฝ่ายความมั่นคงได้เน้นแต่การปราบปราม ยังผลให้เหตุการณ์รุนแรงเพิ่มขึ้นถึงระดับสูงสุดในปี 2550 และระดับความรุนแรงลดลงเล็กน้อยหรือทรงตัวอยู่จนถึงปี 2557

 

จากนั้นก็เริ่มลดลงทุกปีจนถึงปี 2563 อาจเป็นเพราะฝ่ายความมั่นคงระมัดระวังมากขึ้น ใช้สันติวิธี (ในความหมายว่าทำตามกฎหมาย) และเคารพสิทธิมนุษยชนมากขึ้น หรืออาจเป็นเพราะฝ่ายขบวนการที่ต่อสู้ด้วยอาวุธกับรัฐ อ่อนกำลังลง และกำลังจัดหาคนรุ่นใหม่เพื่อมาสืบทอดการต่อสู้ที่ยาวนาน อย่างไรก็ดี ในปี 2564 แนวโน้มความรุนแรงกลับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย    

วัตถุประสงค์ของฝ่ายความมั่นคงน่าจะได้แก่การดำรงไว้ซึ่งบูรณภาพของดินแดน และการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรง ตลอดจนคุ้มครองผู้ที่อาจตกเป็นเป้าของความรุนแรง โดยมีชาตินิยมรวมศูนย์ของรัฐไทยเป็นอุดมการณ์

 

ส่วนฝ่ายขบวนการฯซึ่งมีองค์กร บีอาร์เอ็น เป็นกำลังหลักนั้น ต่อสู้เพื่อการกำหนดวิถีของตนเอง (self-determination) และต้องการปลดปล่อยดินแดนปาตานีที่ประกอบด้วย 3 จังหวัดชายแดนใต้ และ 4 อำเภอในจังหวัดสงขลา ที่ประชากรประมาณ 85 % มีชาติพันธุ์มลายูและนับถือศาสนาอิสลาม (เป็นชาวมลายูมุสลิม)

 

แฟ้มภาพ  สถานการณ์ดูแลความไม่สงบในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้

 

โดยอ้างว่าดินแดนแห่งนี้เคยรุ่งเรืองและเคยเป็นเอกราชก่อนที่ชาวสยามจะมายึดครอง จนเป็นเหมือนอาณานิคมสยามในปัจจุบัน พวกเขามีความรักชาติพันธุ์ รักถิ่นกำเนิดเป็นอุดมการณ์ 

 

ความขัดแย้งเชิงอุดมการณ์ดังกล่าวถูกยกระดับในระหว่างการต่อสู้รุนแรง โดยการใช้ความรุนแรงมักนำไปสู่การตอบโต้เอาคืน และการทำร้ายผู้บริสุทธิ์

 

อย่างไรก็ดี ในการปฏิบัติการของฝ่ายความมั่นคง บางครั้งจะเน้นสันติวิธี ไม่ใช้วิธีปิดล้อมตรวจค้นในวงกว้าง จะใช้ก็แต่ในกรณีที่มีหมายจับหรือการไล่ติดตามอย่างกระชั้นชิด (hot pursuit)

หลังการก่อเหตุ ในปี 2557 กรณีปิดล้อมตรวจค้นตามด้วยวิสามัญฆาตกรรม (extrajudicial killing ซึ่งบางคนใช้คำว่า "การสังหารนอกกระบวนการยุติธรรม" ) ได้ลดลงต่ำสุด เหลือเพียง 5 ราย ในช่วง 4 ปีต่อมา (ปี 2558 ถึงปี 2561) วิสามัญฆาตกรรมได้เพิ่มมากขึ้นโดยมีค่าเฉลี่ย 10.5 รายต่อปี และในช่วง 4 ปีถัดไป (ปี 2562 ถึงปี 2565) ค่าเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเป็น 21 รายต่อปี

 

ชาวมลายูมุสลิมจำนวนหนึ่งถือว่าผู้ถูกวิสามัญฆาตกรรมเช่นนี้เป็น “ซะฮีด” หรือผู้เสียชีวิตในการญีฮาดเพื่อศาสนา เหตุการณ์เช่นนี้ย่อมตอกย้ำความขุ่นเคืองใจที่มีมาแต่ในอดีต

 

ในปลายปี 2562 องค์กรเอกชนระหว่างประเทศองค์กรหนึ่งได้อำนวยความสะดวกให้มีการพูดคุยกันนอกรอบระหว่างตัวแทนรัฐบาลและบีอาร์เอ็นที่กรุงเบอร์ลิน ซึ่งผลการประชุมถูกตั้งชื่อว่า “การริเริ่มเบอร์ลิน หรือ Berlin Initiative” ซึ่งได้ใช้เป็นกรอบในการพูดคุยอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนมกราคม 2563 ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ 


ในระหว่างการระบาดของโรคโควิด-19 บีอาร์เอ็นประกาศหยุดยิงฝ่ายเดียว โดยไม่มีปฏิบัติการทางทหารใด ๆ ถ้าไม่ถูกโจมตีก่อน ในเดือนมกราคม 2565 เมื่อการระบาดทุเลาลง การพูดคุยอย่างเป็นทางการก็เริ่มขึ้นอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งมีการตกลงในประเด็นสารัตถะของการพูดคุย ได้แก่การลดความรุนแรง การเปิดโอกาสปรึกษาหารือระหว่างผู้นำขบวนการฯ กับประชาชนในพื้นที่ และการแสวงหาทางออกทางการเมือง นอกจากนี้ ยังมีการตกลงกันในเรื่อง “ข้ออ้างอิง” ( Term of Reference หรือ TOR) ว่าด้วยกระบวนวิธีการปฏิบัติตามข้อตกลงที่จะมีร่วมกันต่อไป 

 

แฟ้มภาพ  1 เม.ย.65  อุสตาซ อานัส อับดุลเราะห์มาน (หรือ นายฮีพนี มะเร๊ะ) หัวหน้าคณะผู้แทนของกลุ่มบีอาร์เอ็น ในการพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนใต้ พูดในงานแถลงข่าวที่โรงแรมแห่งหนึ่ง ใกล้กรุงกัวลาลัมเปอร์

 

เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2565 คณะทำงานร่วมได้ยอมรับหลักการทั่วไปของกระบวนการพูดคุยสันติภาพ ที่รวมถึงการหาทางออกทางการเมืองตามเจตจำนงของประชาคมปาตานี ภายใต้หลักของรัฐเดี่ยวและรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

 

การตอกย้ำถึงการยอมรับรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะมาตรา 1 นั้น เท่ากับการยอมรับว่าจะไม่มีการแบ่งแยกดินแดน หรือจะใช้สำนวนว่าการขอดินแดนคืนก็คงไม่ได้ ขณะเดียวกัน รัฐบาลไทยได้พยายามที่จะให้การยอมรับแก่ข้อเรียกร้องหลักของฝ่ายขบวนการฯ
 

นั่นคือ ยอมรับว่าอัตลักษณ์ปาตานีนั้นแตกต่างจากอัตลักษณ์ชนชาติไทย แม้ผู้มีอำนาจหน้าที่ระดับสูงบางคนยังห่วงกังวลเกี่ยวกับการแสดงออกของอัตลักษณ์มลายูในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และยังมีแนวคิดการบังคับกลมกลืนทางวัฒนธรรมอยู่ไม่น้อย

 

ก่อนการครบรอบ 10 ปีของการพูดคุยสันติภาพเพียงไม่กี่วัน มีการประชุมที่เป็นทางการที่กรุงกัวลาลัมเปอร์เมื่อวันที่ 21-22 กุมภาพันธ์ 2566 หัวหน้าคณะพูดคุยฝ่ายรัฐบาลได้แก่ พล.อ.วัลลภ รักเสนาะ หัวหน้าคณะพูดคุยฝ่าย บีอาร์เอ็นได้แก่ อุซตาส อานัส อับดุลเราะห์มาน โดยมี พล.อ.ตันศรี ดาโตะซรี ซุลกีฟลี ไซนัล อะบิดิน ที่เพิ่งได้รับแต่งตั้งจากรัฐบาลใหม่ของมาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวก และมีผู้เชี่ยวชาญร่วมสังเกตการณ์ด้วย

 

17 ก.พ.66 เกิดเหตุระเบิดรถยนต์กระบะ 4 ประตู ยี่ห้อโตโยต้า รุ่นรีโว่ ของตำรวจ ระหว่างเข้าตรวจสอบที่เกิดเหตุ เผารถทำถนนของ บริษัท ยะลาไฮเวย์

แต่ก่อนจะนำเสนอผลการพูดคุยครั้งล่าสุดนี้ ขอเล่าถึงเหตุการณ์ความรุนแรงตามด้วยวิสามัญฆาตกรรมที่เพิ่งเกิดขึ้นเหตุการณ์หนึ่ง จากรายงานข่าวของสำนักข่าวอิสรา เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ เวลา 11.30 น. สภ.บันนังสตา จังหวัดยะลา ได้รับแจ้งว่าเกิดเหตุลอบวางระเบิดและซุ่มยิงเจ้าหน้าที่ตำรวจ ที่บ้านสนามบิน ตำบลเขื่อนบางลาง ทำให้ พ.ต.ต.ประสาน คงประสิทธิ์ สารวัตรสืบสวน สภ.บันนังสตา ซึ่งเพิ่งเข้าปฏิบัติหน้าที่ที่โรงพักได้เพียง 1 วัน เสียชีวิต และมีผู้ได้รับบาดเจ็บ 4 คน ซึ่งถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลบันนังสตา

 

ก่อนเกิดเหตุเจ้าหน้าที่ตำรวจกำลังเดินทางด้วยรถกระบะเข้าไปตรวจสอบ หลังจากได้รับแจ้งว่ามีการเผารถทำถนนของบริษัทยะลาไฮเวย์เมื่อคืนที่ผ่านมา แต่ระหว่างทาง คนร้ายได้จุดชนวนระเบิดที่ฝังไว้กลางถนนลูกรังแล้วเข้าโจมตี จนทำให้เจ้าหน้าที่เสียชีวิตและบาดเจ็บดังกล่าว แสดงว่าเป็นการล่อให้เจ้าหน้าที่เข้าตรวจสถานที่เพื่อจะได้ทำร้ายด้วยระเบิด ซึ่งเป็นยุทธวิธีที่ผู้ก่อเหตุเคยใช้มาแล้วหลายครั้ง

 

ก่อนหน้านี้หนึ่งวันคือวันที่ 16 กุมภาพันธ์ ได้มีการเผารถทำถนนในพื้นที่ อำเภอบันนังสตาสองจุดคือ 1) ที่บ้านสนามบิน ตำบลเขื่อนบางลาง เบาะนั่งคนขับของรถบดถนน 2 คันได้รับความเสียหายจากเพลิงไหม้ และ 2) ที่บ้านบือซู ตำบลบันนังสตา ล้อยางของรถตัก 1 คัน ได้รับความเสียหายจากเพลิงไหม้ นอกจากนี้ ในช่วงเช้าของวันเดียวกันที่อำเภอธารโต จังหวัดยะลา รถเกรดถนนของหน่วยทหารช่าง 3 คัน ถูกวางเพลิง แต่ในกรณีหลัง ไม่มีการลอบวางระเบิดทำร้ายเจ้าหน้าที่ที่เข้าไปตรวจสอบในพื้นที่

 

21 ก.พ.66 เจ้าหน้าที่หน่วยปฏิบัติการพิเศษร่วมสนธิกำลัง 3 ฝ่ายเข้าพิสูจน์ทราบเป้าหมาย หลังประชาชนให้ข้อมูล ว่ามีผู้ก่อเหตุรุนแรงที่เกี่ยวข้องกับเหตุระเบิดในพื้นที่ เข้าไปอาศัยหลบซ่อนตัว ในพื้นที่หมู่บ้านมายอ หมู่ที่ 6 ต.ธารโต อ.ธารโต จ.ยะลา

ต่อมาเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ เมื่อเวลาประมาณ 04.30 น. เจ้าหน้าที่หน่วยปฏิบัติการพิเศษร่วมจังหวัดยะลา สนธิกำลัง 3 ฝ่ายเข้าพิสูจน์ทราบเป้าหมายซึ่งประชาชนให้ข้อมูลว่า มีผู้ที่เกี่ยวข้องกับเหตุระเบิดเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ที่ทำให้ พ.ต.ต. ประสานเสียชีวิต เข้าไปอาศัยหลบซ่อนอยู่ในบ้านหลังหนึ่ง ที่หมู่ที่ 1 ตำบลบ้านแหร อำเภอธารโต จึงเข้าไปทำการ "ปิดล้อม ตรวจค้น" แล้วทำ "การเจรจาเกลี้ยกล่อม"  ให้บุคคลที่หลบซ่อนอยู่ภายในบ้านออกมามอบตัว  โดยมีผู้นำท้องที่และผู้นำศาสนาเข้าร่วมเจรจาด้วย แต่ไม่เป็นผล กระทั่งเวลา ประมาณ 05.20 น. มีการยิงต่อสู้กัน เป็นผลให้มีผู้เสียชีวิต 1 ราย ทราบชื่อภายหลังว่า อิบรอเฮม สาและ อายุ 42 ปี โดยเจ้าหน้าที่สามารถยึดอาวุธปืนพกขนาด 9 มม. ที่คาดว่าเป็นของผู้ตายได้หนึ่งกระบอก

 

ภายหลังเหตุการณ์ เจ้าหน้าที่ได้ปิดกั้นและนำกำลังเข้าตรวจสอบ พร้อมใช้ความระมัดระวังในการเข้าจุดเกิดเหตุ ขณะเดียวกัน "พล.ท.ศานติ ศกุนตนาค" แม่ทัพภาคที่ 4 ได้สั่งการให้ทุกหน่วยแจ้งกำลังพลให้มีความพร้อม ระมัดระวัง ณ ที่ตั้งฐานปฏิบัติการ ด่านตรวจ จุดตรวจ รวมทั้งชุดปฏิบัติการพิทักษ์พื้นที่ เพื่อป้องกันการก่อเหตุในพื้นที่อื่น ๆ เพื่อตอบโต้เจ้าหน้าที่

 

จากรายงานของกลุ่มด้วยใจ เรื่อง “การสังหารนอกกระบวนการยุติธรรม” (คำคำนี้ใช้แทนคำว่าวิสามัญฆาตกรรม) โดยกลุ่มด้วยใจได้รวบรวมข้อมูลระหว่างปี 2547 ถึงปี 2565 พบว่า จำนวนผู้เสียชีวิตระหว่างการคุมขัง และจำนวนผู้ถูกวิสามัญฆาตกรรมภายหลังการปะทะ มีทั้งสิ้น 503 ราย (ล่าสุดในปี 2565 มี 18 ราย) วิสามัญฆาตกรรมในบางครั้งนำไปสู่การตอบโต้ของฝ่ายขบวนการฯ เช่น การวางระเบิด

 

หลังจากนั้นฝ่ายความมั่นคงก็ตอบโต้กลับโดยเพิ่มจำนวนวิสามัญฆาตกรรม ประหนึ่งว่ามั่นใจแล้วว่าใครคือผู้ทำผิด จึงไม่ต้องเสียเวลาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม จะเห็นได้ว่าปัจจัยหนึ่งที่อาจช่วยลดความรุนแรงคือการปฏิเสธวัฏจักร "การก่อเหตุ – วิสามัญฆาตกรรม – การก่อเหตุ - ..." พร้อมทั้งปรับปรุงกระบวนการยุติธรรมให้รวดเร็วและเที่ยงธรรมยิ่งขึ้น เพื่อให้ฝ่ายขบวนการฯยอมรับว่าดีกว่าการก่อเหตุ และฝ่ายความมั่นคงยอมรับว่าดีกว่า "การสังหารนอกกระบวนการยุติธรรม"

 

เมื่อเกิดการปิดล้อมตรวจค้น (เฉพาะกรณีที่มีหมายจับหรือการไล่ติดตามอย่างกระชั้นชิด (hot pursuit) หลังการก่อเหตุ ดังที่กล่าวข้างต้น) ผู้ต้องสงสัยก็อาจยอมมอบตัวเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม และฝ่ายรัฐก็รวบรวมพยานหลักฐานอย่างตรงไปตรงมาและให้ศาลเป็นผู้ตัดสิน

 

กลางดึกวันที่ 16 ส.ค.65 เกิดเหตุระเบิด 17 จุด มีความเสียหายใน จ.ปัตตานี 2 จุด จ.ยะลา 4 จุด และ จ.นราธิวาส 5 จุด

 

กลุ่มด้วยใจมีข้อเสนอในการเลิกการวิสามัญฆาตกรรม ซึ่งผมขอนำมาเสนอโดยสังเขปดังนี้


1)  เมื่อเกิดวิสามัญฆาตกรรม ให้มีกระบวนการตรวจสอบที่เชื่อถือได้ (ผมขอเสริมว่า มิใช่เชื่อเพียงคำกล่าวของฝ่ายความมั่นคงว่าทำดีที่สุดแล้ว ให้เวลาการเจรจาแล้ว ฝ่ายผู้ถูกปิดล้อมยิงก่อน ฯลฯ)


2)  ยกเลิกการประกาศใช้กฎหมายพิเศษ (ผมขอเสริมว่า เพราะกฎหมายพิเศษให้อำนาจเจ้าหน้าที่มากเกินไป อีกทั้งไม่ต้องให้รับผิดชอบทางอาญาและทางแพ่ง ดังนั้น เมื่อความรุนแรงได้ลดลงมากแล้ว ควรใช้กฎหมายปกติเมื่อมีการทำผิดกฎหมาย)


3)  หลักฐานประกอบการกล่าวหาต้องไม่ใช้การคำซัดทอดของผู้ต้องสงสัยอีกคน


4)  ไม่ใช้พลเรือนเป็นโล่ในการเข้าตรวจค้นบ้านต้องสงสัย


5)  ในเมื่อผู้เข้าปิดล้อมเป็นต่อ เพราะใช้เจ้าหน้าที่จำนวนมากและมีอาวุธครบมือ จึงสามารถปิดล้อมได้เป็นเวลานาน เพื่อให้โอกาสมากที่สุดแก่การเจรจาให้ผู้ต้องสงสัยเข้ามอบตัว


ขอกลับไปที่การพูดคุยสันติสุข ( ราชการหลีกเลี่ยงการใช้คำว่าสันติภาพ) ครั้งที่ 6 ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์เมื่อวันที่ 21-22 กุมภาพันธ์ ภายหลังการประชุม ผู้อำนวยความสะดวกเป็นผู้แถลงผลการประชุม ดังนี้


1. คณะพูดคุยเพื่อสันติสุขฯ และคณะผู้แทน BRN เห็นพ้องที่จะร่วมกันจัดทำ "แผนปฏิบัติการร่วมเพื่อสร้างสันติสุขแบบองค์รวม หรือ Joint Comprehensive Plan towards Peace (JCPP)" เพื่อเป็นแนวทางขับเคลื่อนการพูดคุย ให้คืบหน้าในรูปแบบที่ครอบคลุมและเป็นองค์รวม อีกทั้งมีกรอบเวลาที่ชัดเจนในการปฏิบัติตามเจตนารมณ์ของหลักการทั่วไปของกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ (General Principles of the Peace Dialogue Process) โดย JCPP จะมีเนื้อหาสำคัญ 2 ส่วน คือ การลดความรุนแรงในพื้นที่และการจัดการปรึกษาหารือกับประชาชนเพื่อนำไปสู่การแสวงหาทางออกทางการเมือง


2.  คู่พูดคุยเห็นชอบกำหนดกรอบเวลาในการดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ JCPP เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติในปี 2566 และ ปี 2567 ซึ่งทั้งสองฝ่าย คาดหวังว่า จะสามารถบรรลุฉันทามติในการยุติความขัดแย้งและนำข้อสรุปที่ได้จากกระบวนการดังกล่าวไปสู่การปฏิบัติเพื่อแก้ปัญหาและนำสันติสุขที่ถาวรสู่พื้นที่อย่างยั่งยืนต่อไป


3.  คู่พูดคุยได้มอบหมายให้คณะทำงานทางเทคนิคของแต่ละฝ่ายนัดหมายจัดการหารือแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นกันอย่างไม่เป็นทางการในช่วงระหว่างเดือนมีนาคม - พฤษภาคม 2566 เพื่อร่วมกันจัดทำรายละเอียดของ JCPP ให้เสร็จสิ้นและนำเสนอต่อการพูดคุยแบบเต็มคณะในเดือนมิถุนายน 2566 เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ


4.  คู่พูดคุยต่างแสดงความยินดีต่อผู้อำนวยความสะดวกในโอกาสเริ่มปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องว่า ความมุ่งมั่นและความตั้งใจจริงในการปฏิบัติงานของตันศรี ซุลกีฟลีฯ มีส่วนสำคัญในการสนับสนุนให้คู่พูดคุยบรรลุความเห็นพ้องเบื้องต้นเกี่ยวกับ JCPP ในการพูดคุยฯ ครั้งนี้ และจะมีส่วนช่วยให้การจัดทำและการปฏิบัติตาม JCPP ในระยะต่อไปเป็นไปอย่างราบรื่นตามกรอบเวลา


คณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ขอยืนยันเจตนารมณ์ในการเดินหน้าการพูดคุยฯ อย่างต่อเนื่องตามนโยบายของรัฐบาล และขอเชิญชวนประชาชนและผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนร่วมกันสร้างสภาวะแวดล้อมที่เอื้อต่อการสร้างสันติสุขที่ยั่งยืนให้แก่พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อไป


ในบรรดาหัวข้อที่ตั้งชื่อว่าเป็นสารัตถะ 3 ข้อ ได้แก่

1) การลดความรุนแรง

2) การปรึกษาหารือระหว่างผู้เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะฝ่ายขบวนการกับประชาชนในพื้นที่อย่างเปิดกว้างและปลอดภัย

3) การหาทางออกทางการเมือง นั้น หัวข้อที่ 2) ควรมีการขยายความว่าจะปรึกษาหารือกันในประเด็นใดบ้าง ทราบมาว่าคณะทำงานทางเทคนิคมีข้อเสนอให้คุยกันใน 5 ประเด็นต่อไปนี้


1. รูปแบบการปกครอง 

2. เศรษฐกิจและการพัฒนา 

3. อัตลักษณ์ ศาสนา ภาษาและวัฒนธรรม 

4.กระบวนการยุติธรรมและการเยียวยา และ 

5.การศึกษา 


อันที่จริง ควรยกประเด็นสิทธิมนุษยชน ทั้งในแง่การส่งเสริม และการป้องกันการละเมิดสิทธิมนุษยชนทั้งในข้อกฎหมายและการปฏิบัติ ตลอดจนการแปลงเปลี่ยนความขัดแย้งด้วยสันติวิธี มาปรึกษาหารือกันด้วย


เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ผมได้ไปฟังการประชุมเรื่อง "การเลือกตั้งทั่วไปปี 2566 และวิกฤติสิทธิมนุษยชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้" ที่จัดโดยสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย องค์กรนิรโทษกรรมสากล ประเทศไทย และมูลนิธิผสานวัฒนธรรม มีผู้ที่อยู่ในภาคประชาสังคมชายแดนใต้เข้าร่วมหลายคน ที่ประชุมได้เสนอข้อมูลและอภิปรายความเห็นเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนอย่างกว้างขวาง

 

ในส่วนที่เกี่ยวกับการเสริมสร้างสันติภาพ มีการเน้นในเรื่องพหุวัฒนธรรม ซึ่งหมายถึงการเคารพความแตกต่าง มิใช่การทำให้เหมือนกัน ความปรารถนาดีมิใช่เพียงทำตาม "กฎทองคำ" ที่ว่า "จงปฏิบัติต่อผู้อื่นอย่างที่เราปรารถนาให้เขาปฏิบัติต่อเรา" หากควรทำตาม "กฎทองคำขาว" ที่ว่า "จงปฏิบัติต่อผู้อื่นตามที่เขาต้องการให้เราปฏิบัติ" ด้วย

 

กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ควรเอาใจเขาใส่ใจเรา เรื่องเล่าในที่ประชุมคือ นายทหารคนหนึ่งให้หมวกกอล์ฟเป็นของขวัญแก่กรรมการอิสลามประจำจังหวัด เขาชอบเล่นกอล์ฟและคิดว่ากรรมการอิสลามประจำจังหวัดจะชอบหมวกกอล์ฟเช่นเดียวกับเขา หารู้ไม่ว่าผู้รับของขวัญรวมทั้งผู้นำศาสนาอิสลามไม่เล่นกอล์ฟสักคน 


ถ้าจะให้เดา ผู้นำบีอาร์เอ็น ผู้นำมารา ปาตานี ที่เป็นภาคีการพูดคุยสันติภาพ ต่างต้องการให้รัฐบาลให้เกียรติและยอมรับสถานภาพของกลุ่มขบวนการฯ ว่าเป็นผู้นำในการต่อสู้ในนามของชาวปาตานีส่วนใหญ่ แต่จนถึงปัจจุบัน รัฐบาลไม่ยอมแม้แต่จะลงนามในเอกสารที่เป็นข้อตกลงที่คณะพูดคุยก่อนหน้านี้ได้พ้องกันอย่างดิบดี


วิทยากรคนหนึ่งในการประชุมดังกล่าว ยกตัวอย่างขบวนการเรียกร้องเอกราชของประเทศบาสก์ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสเปน หลังการต่อสู้ด้วยอาวุธอย่างยาวนาน ปีกการเมืองของขบวนการฯได้เริ่มการต่อสู้ทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย เมื่อปีกการเมืองประสบความสำเร็จทางการเมืองมากขึ้น ดินแดนบาสก์มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว การใช้ความรุนแรงก็ลดลง


ข้อเสนอที่น่าสนใจจากหลายฝ่าย คือการทำให้การพูดคุยสันติภาพเปิดกว้างขึ้น เช่น ให้อยู่ภายใต้การนำของฝ่ายพลเรือน (civilianization)  รวมทั้งการมีผู้หญิงเป็นตัวแทนในคณะพูดคุยฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายขบวนการฯ (สัก 1 ใน 3 ก็ยังดี) และถ้าฝ่ายขบวนการฯจะรวมกลุ่มอื่นที่เคยอยู่ในมารา ปาตานีด้วยก็น่าจะดี


หากเราช่วยกันก้าวข้ามอุปสรรค ก็หวังได้ว่าคำแถลงของผู้อำนวยความสะดวกที่ว่า เริ่มเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์นั้น จะเป็นจริงมากขึ้น       

 

logoline